ปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค หรือคอมพิวเตอร์ เป็นอุปกรณ์สื่อสารที่สำคัญไปแล้ว และการเลี้ยงลูกด้วยอุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้ เพื่อให้ลูกอยู่นิ่ง ไม่ร้องหรือไม่ดื้อ เพราะมีสิ่งกระตุ้นความสนใจอยู่ตรงหน้า ซึ่งปัญหาใหญ่ที่ตามมา คือลูกจะใช้เวลาจ้องอยู่ที่หน้าจอนานเกินไป อาจทำให้ลูกน้อยมีปัญหาสายตาตามมา เช่น ตาเอียง ตาเหล่ ตาเข ได้ เพราะฉะนั้นหาก ลูกติดจอ ตาเข ตาเหล่ อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นของลูกน้อยในระยะยาวได้มากเลยทีเดียว รวมถึงพัฒนาการด้านอื่นๆ อีกด้วย มาดูกันว่ามีวิธีป้องกันได้อย่างไรกันบ้าง
อย่างเช่นในเคสนี้ที่ คุณแม่ ภัทราภรณ์ ทับพรม ได้แชร์ประสบการณ์ของน้องน้ำอิง เมื่อเล่นโทรศัพท์นานและนอนตะแคงในการดู/เล่นโทรศัพท์ ไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัว เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจพ่อๆ แม่ๆ ถ้าไม่อยากให้ลูกตาเหล่ ตาเข อย่าปล่อยให้ลูกเล่นโทรศัทพ์นานเกินไป
แม่แชร์อุทาหรณ์ ! ลูกติดจอ ตาเข ตาเหล่ เพราะจ้องโทรศัพท์นานเกินไป
#โพสต์นี้ขอเตือนแม่ๆ พ่อๆ ที่เลี้ยงลูกตามลำพังหรือเลี้ยงลูกกันเองนะคะ
ขอเตือน : 😭 น้องน้ำอิงตอนนี้อายุ 6 ขวบ ซึ่งตอนน้องคลอดออกมาปกติทุกอย่าง ทางด้านร่างกายหรือสายตานะคะ น้ำอิงเด็ก 6 ขวบ แม่ทำงาน ไม่ได้เป็นคนดูเเลน้อง แต่ฝากน้องน้ำอิงเลี้ยงกับยาย ซึ่งยายเลี้ยงหลานด้วยอีก 3 คน
น้ำอิงจะเล่นโทรศัพท์แบบนี้เป็นประจำทุกๆ วัน แต่จะเล่นไม่ค่อยนานเท่าไหร่ ซึ่งจะเล่นโทรศัพท์อยู่กับพี่ๆ ทุกๆ วัน แต่วันเสาร์ 28 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา น้ำอิงเล่นโทรศัพท์นานผิดปกติ เล่นผิดปกติจากทุกวัน ซึ่งน้ำอิงเล่นโทรศัพท์ได้นอนตะเเคง เล่น/ดูโทรศัพท์ เป็นเวลานานมากกว่าปกติ ทำให้สายตาไปโฟกัสที่จอโทรศัพท์มากเกินไป 😭 ทำให้ลูก(ตาเอียง) 1 ข้าง ส่งผลทำให้น้องสูญเสียสายตา ไปเกินบรรยายเลยค่ะ 😭 ซึ่งตอนนี้แม่แล้วก็ยายยังทำใจไม่ได้ ไม่รู้ว่าหมอจะรักษาน้องน้ำอิงแบบไหนค่ะ? #ฝากๆ พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานตัวเอง อย่าให้เป็นเหมือนเคสหนูนะคะ #สามารถแชร์หรือศูนย์อะไรกระจายข่าวด้วยนะคะ 😭
ตอนนี้คุณแม่ได้พาน้องน้ำอิงไปพบคุณหมอแล้ว และยังอยู่ในขั้นตอนการรักษา ซึ่งน้องน้ำอิงจะต้องพบคุณหมอตาเด็กเพื่อรักษาอาการต่อไป และคุณแม่ยังไม่ทราบว่าคุณหมอจะใช้วิธีแบบไหน หรือการรักษาแบบไหนกับน้องค่ะ
ทาง theAsianparent ได้รับอนุญาตให้นำข้อความและภาพของน้องน้ำอิงจากคุณแม่ภัทราภรณ์ ทับพรม มาเป็นอุทาหรณ์ให้กับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองทุกท่าน ในการดูแลบุตรหลาน ซึ่งในปัจจุบันนี้ โทรศัพท์ แท็บเล็ต เป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ทุกคนมีและกลายเป็นความจำเป็นในชีวิตประจำวันไปแล้ว
ทำไมเด็กติดจอจึงเสี่ยง ตาเข ตาเหล่ ?
- การเพ่งมองใกล้ การจ้องมองหน้าจอในระยะใกล้เป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อตาต้องทำงานหนักในการปรับโฟกัส ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อตา และอาจนำไปสู่ภาวะตาเหล่ได้ในระยะยาว
- แสงสีฟ้า จากหน้าจอโทรศัพท์ โน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อจังหวะการหลั่งสารเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมวงจรการนอนหลับ ทำให้เด็กนอนไม่หลับ และส่งผลต่อการพัฒนาการของดวงตา
- การขาดกิจกรรมกลางแจ้ง การใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไป ทำให้เด็กขาดโอกาสในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งแสงแดดจากธรรมชาติมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาการของดวงตา
เล่นมือถือ ปัจจัยหลักที่ทำให้ตาเหล่จริงมั้ย ?
อาการตาเข ตาเหล่ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่นั้นยังไม่ทราบสาเหตุหลักที่ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่า
- เป็นความผิดปกติในการบาลานซ์ระหว่างตา 2 ข้าง
- เกิดจากสมองสั่งการกล้ามเนื้อตาผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานไม่สมดุลกัน
- เกิดจากการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อตาผิดปกติ
- เป็นผลจากเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต หรือทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดตาเขได้
- การมองเห็นผิดปกติ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในเด็ก อาจเกิดจากดวงตาข้างนั้นมีภาวะผิดปกติจากโรคบางอย่าง ทำให้ตาข้างนั้นมองไม่เห็น ส่งผลให้มีการใช้ตาข้างที่มองไม่เห็นน้อย จึงทำให้ตาข้างนั้นเข
- ตาเขจากภาวะเพ่ง โดยทั่วไปเด็กจะเพ่งเก่งกว่าผู้ใหญ่ แต่เด็กบางคนเพ่งได้มากกว่าปกติ รวมถึงเด็กที่สายตามากผิดปกติ เป็นสาเหตุทำให้เกิดตาเขได้ยาวจะทำให้เกิดการเพ่ง
ตาเหล่ หรือ “ตาเข” ภาวะผิดปกติที่เรียกว่า “ตาเขเข้าในการจากการเพ่ง”
ตาเขเข้าในการจากการเพ่ง (accommodative esotropia) คือ ภาวะที่อาการตาเขถูกกระตุ้นจากการใช้สายตามองใกล้มาก ตลอดจนการเล่นเกม จ้องโทรศัพท์ โน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต มากเกินไป แต่ต้องมีภาวะผิดปกติที่มีสายตายาวปานกลางนำมาก่อน เด็กที่เกิดภาวะนี้มักจะมีอายุประมาณ 6 เดือน ถึง 7 ปี ระยะแรกจะมีตาเขเข้าในเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเวลามองใกล้ นานเข้าจะเขทั้งมองไกลและมองใกล้ ส่วนมากเด็กจะมีสายตายาวประมาณ 400 (300 ถึง 1,000) ถ้ายาวน้อยกว่า 300 มักไม่เกิดเพราะไม่ได้เพิ่มมากนัก หรือถ้ายาวมากๆ เด็กจะไม่เพ่งเลย เพราะเพ่งอย่างไรก็ยังมองไม่ชัด จึงไม่เกิดตาเข แต่จะเกิดภาวะตาขี้เกียจแทน
สัญญาณบ่งบอกว่าลูกอาจมีปัญหาตาเข ตาเหล่
1. ตาเบน
- ดวงตาไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน อาจเห็นตาเบนเข้าใน เบนออกนอก ขึ้นบน หรือลงล่าง อาจเกิดขึ้นเฉพาะบางครั้งหรือตลอดเวลา บางรายอาจตาเบนเฉพาะเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า หรือเมื่อมองไปในระยะใกล้
2. มองเห็นภาพซ้อน
- ลูกบ่นว่าเห็นภาพเป็นสองภาพ อาจเห็นภาพซ้อนกัน หรือภาพเบลอ
3. ปวดหัว
- ปวดหัวบ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุอื่น อาการปวดหัวอาจเกิดจากความพยายามของกล้ามเนื้อตาในการปรับโฟกัสภาพ
4. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา
- ไม่อยากอ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องใช้สายตา เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นเกม
5. เอียงคอหรือหรี่ตา
- เพื่อพยายามปรับตำแหน่งศีรษะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
ลูกติดจอ ตาเข ตาเหล่ จะป้องกันได้ยังไง
ปัญหาการใช้หน้าจอมากเกินไปในเด็กเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยไว้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพตา พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็กได้
1. จำกัดเวลาในการใช้หน้าจอ
- มีตารางเวลาที่ชัดเจนสำหรับการใช้หน้าจอในแต่ละวัน และให้ลูกทำตามอย่างเคร่งครัด หากิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจมาแทนที่การใช้หน้าจอ
2. รักษาระยะห่างจากหน้าจอ
- ควรให้ลูกนั่งห่างจากหน้าจออย่างน้อย 25-30 นิ้ว หรือประมาณความยาวของแขน ให้ลูกนั่งในท่าที่ถูกต้อง ไม่ก้มหน้าจ้องหน้าจอนานเกินไป
3. ปรับความสว่างของหน้าจอ
- ปรับความสว่างของหน้าจอให้พอดีกับสภาพแวดล้อม ไม่สว่างจนเกินไปหรือมืดเกินไป
4. พักสายตาเป็นระยะ
- คือ ทุกๆ 20 นาที ให้ลูกพักสายตาด้วยการมองไปที่วัตถุที่อยู่ไกลออกไปประมาณ 20 ฟุต (ประมาณ 6 เมตร) เป็นเวลา 20 วินาที หรือกระพริบตาบ่อยๆ
5. พาลูกไปตรวจสายตาเป็นประจำ
- พาลูกไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของสายตา
6. ส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออ่านหนังสือ
- พาลูกออกไปเล่นกลางแจ้งเป็นประจำ เช่น วิ่งเล่น เล่นกีฬา หรือปลูกต้นไม้ หรือชวนลูกอ่านหนังสือที่ลูกชอบ มีรูปภาพและขนาดตัวอักษรที่ชัดเจน
7. สอนทักษะการใช้หน้าจอ
- สอนให้ลูกใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีและปลอดภัย กำหนดกฎในการใช้หน้าจอ เช่น ห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องนอน
8. หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตขณะนอน
- แสงสีฟ้าจากหน้าจออาจรบกวนการนอนหลับและส่งผลต่อสุขภาพตา และอาจส่งผลให้เกิดการปรับตัวของดวงตาที่ผิดปกติได้
การที่ลูกติดจอเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อสายตาของลูกน้อยได้หลายด้าน รวมถึงปัญหาตาเข ตาเหล่ การดูแลสุขภาพตาของลูกตั้งแต่เด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสายตาที่ดีมีผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการในด้านอื่นๆ ด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการจำกัดเวลาในการใช้หน้าจอ ส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมอื่นๆ และพาลูกไปตรวจสายตาเป็นประจำ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ หากพบว่าลูกมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับสายตา ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องค่ะ
ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท , โรงพยาบาลตา หู คอ จมูก
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อุทาหรณ์! พ่อแม่วัยใสให้นมลูกวัยเดือนเศษก่อนนอน ลูกน้อย สำลักนม เสียชีวิต
ลูกกินแต่นม ไม่ยอมกินข้าว แม่แชร์อุทาหรณ์ อยู่ๆ ลูกก็เดินไม่ได้
มาตรฐานรถโรงเรียน ควรเป็นแบบไหน? ความปลอดภัยที่ต้องไม่ละเลย