การฝึกวินัยลูกเป็นเรื่องท้าทายที่พ่อแม่ทุกคนต้องเผชิญ ซึ่งหลายครั้งอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่าง ฝึกวินัยให้ลูก อาจทำให้รู้สึกท้อแท้ ก่อตัวเป็นความสงสัยว่าทำไมลูกถึงไม่เชื่อฟัง หรือดื้อรั้น? บทความนี้จะชวนมาค้นหาสาเหตุ และไขข้อข้องใจ 10 ข้อผิดพลาด! ที่ทำให้ ฝึกวินัยลูก ไม่สำเร็จ พร้อมแนะนำวิธีสร้างวินัยเชิงบวก เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกวินัยลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวด้วย
สารบัญ
ทำไม? ต้อง ฝึกวินัยลูก ความสำคัญของการสร้างวินัยให้ลูกน้อย
“วินัย” คือ ระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับ ที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลหรือกลุ่มคน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข การฝึกวินัยให้ลูกจึงหมายถึง การฝึกให้ตัวลูกเข้าใจความสำคัญของการทำตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้นั่นเองค่ะ
ตัวอย่างวินัยในชีวิตประจำวัน |
|
วินัยส่วนตัว | การตื่นนอนให้ตรงเวลา การทำการบ้าน การดูแลความสะอาดของตัวเอง |
วินัยในสังคม | การเคารพผู้อื่น การรักษาความสะอาดในที่สาธารณะ การปฏิบัติตามกฎจราจร |
วินัยในโรงเรียน/องค์กร | ความตรงต่อเวลา การปฏิบัติตามคำสั่งของครู/หัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา การไม่ละเมิดกฎของโรงเรียน |
การฝึกวินัยลูกเป็นเหมือนการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่าที่สุดอย่างหนึ่งเลยค่ะ เพราะวินัยไม่ใช่แค่การสอนให้ลูกทำตามคำสั่ง แต่เป็นการปลูกฝังให้คุณสมบัติสำคัญหลายอย่างที่จำเป็นต่อการเติบโตและใช้ชีวิตในสังคม ทั้งความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ความอดทน การเคารพผู้อื่น สร้างความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจในตัวเอง รวมถึงการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ การฝึกวินัยให้ลูกตั้งแต่เด็กยังมีประโยชน์ในด้านการลดปัญหาพฤติกรรม ลูกจะรู้จักควบคุมตัวเองและเข้าใจกฎระเบียบของสังคม เป็นการปูพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและการใช้ชีวิตในอนาคตอย่างมีความสุขได้ด้วย
10 ข้อผิดพลาด! ที่ทำให้ ฝึกวินัยลูก ไม่สำเร็จ
เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเติบโตเป็นเด็กดี มีวินัย แต่หลายครั้งการ ฝึกวินัยลูก ก็ไม่ค่อยได้ผลอย่างที่หวัง ลองทบทวนดูสิคะว่าคุณพ่อคุณแม่ได้เผลอทำ 10 สิ่งต่อไปนี้ ที่นับว่าเป็น ข้อผิดพลาด ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้ ฝึกวินัยลูก ไม่สำเร็จ หรือเปล่า
-
คิดไปเองก่อนว่า “ลูกยังเด็ก…ยังทำไม่ได้”
ผู้ใหญ่มักมองเรื่องวินัยแบบตรงๆ ทื่อๆ ว่า คือ “กรอบ” หรือ “กฎข้อบังคับ” ที่ควรปฏิบัติตาม จึงคิดว่าการฝึกวินัยลูกน้อยเป็นเรื่องยาก จึงถอดใจ หรือรอให้เป็นหน้าที่ของคุณครูโรงเรียน ซึ่งความจริงนั้น วินัยของลูกน้อยไม่ใช่การทำตามกฎข้อบังคับ แต่เป็นการสร้างวินัยในตนเองอันเกิดจากการรู้เหตุ รู้ผล และเลือกปฏิบัติด้วยความสมัครใจ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องมีความเชื่อมั่นก่อนว่าลูกน้อยสามารถเรียนรู้เรื่องวินัยได้หากได้รับการอบรมสั่งสอนด้วยวิธีที่เหมาะสมกับช่วงวัย
-
ขาดการสื่อสารกับลูกเรื่องเหตุผลการฝึกวินัย
พ่อแม่บางบ้านไม่ได้อธิบายเหตุผลให้ลูกฟังว่าทำไมต้องฝึกวินัย ลูกจึงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำตามกฎ ทำไมต้องทำตามที่ผู้ใหญ่บอก จึงไม่เกิดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง คุณพ่อคุณแม่จึงควรอธิบายเหตุผลกับลูกว่า ทำไมต้องทำ สิ่งที่ทำดีกับตัวเองและผู้อื่นอย่างไร แบบนี้ลูกจะทำอย่างมีความหมายและรู้คุณค่า
-
สอนด้วยคำว่า “อย่า” เพียงอย่างเดียว
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้คำพูดที่ขัดแย้งกัน บอกให้ลูกทำอย่างหนึ่ง แต่กลับทำอีกอย่าง ลูกจึงไม่รู้ว่าควรเชื่ออะไร หรือบ่อยครั้งที่สอนลูกด้วยคำว่า “อย่า” มากกว่าการบอกว่า “ควรทำอย่างไร” เช่น บอกลูกว่า “อย่าโยนเสื้อลงพื้น” แต่ลูกยังทำทุกครั้ง นั่นเป็นเพราะลูกไม่ได้รับคำอธิบายว่า ทำไมไม่ควรทำ แต่หากบอกลูกว่า “ควรถอดเสื้อแล้วใส่ลงตะกร้า” พร้อมอธิบายเหตุผล เช่น แม่จะได้หยิบไปซักง่ายขึ้น หรือ เพื่อช่วยแม่แยกเสื้อผ้าใช้แล้ว ลูกจะเรียนรู้สิ่งที่ควรทำ และปฏิบัติต่อเนื่องเพราะอยากช่วยแบ่งเบางานคุณแม่ เป็นต้น
-
ไม่ลงมือทำเป็นแบบอย่าง
สิ่งแรกของข้อผิดพลาดที่ทำให้ ฝึกวินัยลูก ไม่สำเร็จ อาจเพราะคุณพ่อคุณแม่ลืมมองย้อนกลับมาที่ตัวเองค่ะว่า ได้เป็นตัวอย่างที่ดีพอให้กับลูกแล้วหรือยัง เช่น ไม่เล่นโทรศัพท์บนโต๊ะอาหาร ทำงานบ้านตามหน้าที่ มีความตรงต่อเวลา ฯลฯ ซึ่ง Role Model อย่างคุณพ่อคุณแม่นี่แหละที่จะตัวอย่างทำให้ลูกเห็นว่า ทุกคนในบ้านต่างรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้ เด็กอย่างลูกก็สามารถรับผิดชอบหน้าที่ได้เช่นกัน แต่ถ้าเราออกคำสั่งโดยไม่ลงมือทำให้เห็น ลูกก็จะไม่เชื่อถือและไม่อยากทำตามค่ะ
-
ขาดความอดทน คาดหวังผลลัพธ์แบบทันทีทันใด
การสร้างวินัยให้ลูกต้องค่อยเป็นค่อยไปค่ะ พ่อแม่หลายบ้านจึงถอดใจเพราะไม่เห็นผลลัพธ์รวดเร็วอย่างที่คาดหวัง ที่น่ากังวลคือ บางบ้านสรุปจบความไม่ได้ดังใจด้วยการทำโทษ ซึ่งยิ่งทำให้สถานการณ์ในบ้านแย่ลงไปอีก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความอดทนและรอคอยผลสำเร็จให้ได้ เพราะ “วินัย” ไม่ใช่กิจกรรมพิเศษ แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้ชีวิตประจำวันร่วมไปกับการมีพ่อแม่คอยชี้แนะ ทำเป็นตัวอย่าง หรือทำไปพร้อมกันกับลูก เช่น เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ชวนลูกช่วยกันจับผ้าห่มคนละมุมแล้วพับให้เล็กลง ก่อนลุกจากที่นอน หรือบอกลูกว่า “ช่วยแม่อุ้มหมอนใบนี้ไปวางที่เดิมตรงนั้นหน่อยค่ะ” ใช้คำพูดให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนให้ความช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ได้ตามกำลัง ลูกจะอยากทำให้มากกว่าการถูกออกคำสั่งค่ะ
-
ทนไม่ไหวเมื่อเห็นลูกทำสิ่งที่ฝืนใจ
ฝึกวินัยให้ลูก ไม่ใช่เพียงการอดทนรอคอยให้ถึงเวลาของความสำเร็จโดยไม่ถอดใจเท่านั้น แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องทนให้ได้ที่จะเห็นลูกงอแง หรือร้องไห้ ในช่วงของการฝึกเพราะต้องทำสิ่งที่ฝืนใจ ไม่อยากทำ แค่รู้น้ำตาไหลใจพ่อแม่ก็ร่วง… ต้องอดทนค่ะ เพราะเมื่อถึงเวลาผลลัพธ์จะคุ้มค่าแน่นอน ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจลองปรับเปลี่ยนคำพูดในการฝึกลูกเพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากทำสิ่งนั้นๆ โดยไม่ฝืนใจได้ค่ะ
เช่น ลองตั้งคำถามว่า “ลูกรู้สึกยังไง ที่ได้ลองทำการบ้านให้เสร็จก่อนไปเล่น” คำตอบอาจดีหรือไม่ดีก็ได้ ซึ่งเราต้องยอมรับความรู้สึกลูกก่อน แล้วชื่นชมในความพยายาม แล้วค่อยๆ อธิบายเหตุผลว่า “แม่รู้ว่าหนูอยากไปเล่น แต่วันนี้พอทำการบ้านเสร็จก่อน ลูกก็ไม่ต้องกังวล มีเวลาเล่นเพิ่มขึ้น ได้คุยกับแม่นานขึ้นด้วย แม่อยากให้หนูลองทำต่อไปนะลูก” จะช่วยให้ลูกได้ใช้เหตุผลในการคิดชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของสิ่งที่ทำ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการทดลองทำต่อไปได้โดยไม่ฝืนใจค่ะ
-
ให้รางวัลมากเกินไป
การให้รางวัลลูกบ่อยเกินไป หรือมากเกินไป จะทำให้ลูกคาดหวังรางวัลทุกครั้งที่ทำเรื่องดีๆ ครั้งต่อไปลูกอาจแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ดังนั้น ลูกจำเป็นต้องรู้และเข้าใจว่ารางวัลที่ดีที่สุดคือการที่ได้ลงมือทำสิ่งที่ดี โดยไม่ต้องมีสิ่งตอบแทน เช่น มีวินัยการออมเงิน ลูกจะมีเงินออมเป็นรางวัล มีวินัยในการเก็บของเล่น รางวัลคือลูกจะหาของได้ง่ายขึ้นในการเล่นครั้งต่อไป และบ้านก็เป็นระเบียบด้วย
-
เผลอตะโกนหรือตะคอกใส่ลูก
ความซนของลูกน้อยเกิดขึ้นได้ทุกวันและแทบจะตลอดเวลาค่ะ ซึ่งความดื้อของลูกเป็นชนวนชั้นดีของการกระตุ้น “อารมณ์ความโกรธ” ของคุณพ่อคุณแม่ ทำให้บ่อยครั้งที่ “การตะโกน” หรือ “โพล่ง” บางคำพูดใส่ลูกเพื่อห้าม บอก ออกคำสั่ง ถูกนำมาใช้ อันเป็นการฝึกวินัยให้ลูกแบบผิดวิธี เพราะเด็กๆ จะไม่สามารถซึมซับการรเรียนรูได้ถูกตะโกนใส่ ลูกจะยิ่งปิดกั้นหรือบางครั้งอาจโต้ตอบกลับมาด้วยความโกรธระดับเดียวกัน ลองรับมือกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูกด้วยน้ำเสียงราบเรียบ กิริยาที่สงบ ใจเย็น จะดีต่อการฝึกวินัยให้ลูกน้อยมากกว่าค่ะ
-
เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นอยู่เสมอ
การนำลูกไปเปรียบเทียบกับพี่น้อง หรือเด็กในวัยเดียวกันจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกแย่ อาจเกิดความอับอาย เข้าใจผิดว่าไม่ได้รับความรัก หรือเกิดความไม่พอใจ กลายเป็นไม่ปรับปรุงพฤติกรรมในที่สุดค่ะ ทั้งนี้ การฝึกวินัยให้ลูกสิ่งสำคัญคือมุ่งเน้นไปที่วิธีการที่ลูกปฏิบัติ โฟกัสที่ความตั้งใจและความพยายามของลูก ไม่เกี่ยวกับผลลัพธ์หรือวิธีที่เด็กคนอื่นหรือพ่อแม่บ้านอื่นใช้นะคะ
-
ขาดความสม่ำเสมอ ฝึกวินัยลูก แบบปล่อยปละละเลย
การจะเกิดวินัยจำเป็นต้องอาศัยกฎระเบียบที่แน่นอนค่ะ การเปลี่ยนแปลงหรือละเว้นกฎบางข้อไปเรื่อยๆ บังคับใช้กฎบ้าง ไม่บังคับใช้บ้าง จะทำให้ลูกสับสนและไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ลูกจะเรียนรู้ผิดๆ ว่าการฝ่าฝืนกฎไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ดังนั้น กฎต้องเป็นกฎ ทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ อย่าพยายามหาข้ออ้างเพื่อปล่อยผ่านนะคะ
ข้ออ้างที่พ่อแม่มักใช้หลีกเลี่ยงการฝึกวินัยลูก |
|
|
แน่นอนว่าลูกน้อยไม่ควรถูกดุเพราะทำผิดโดยไม่ตั้งใจ แต่ข้ออ้างที่บอกว่าลูกไม่ได้ตั้งใจแล้วปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไปโดยไม่ถูกฝึกวินัยก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำค่ะ ซึ่งลูกควรได้รับการฝึกให้แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ทำนมหก ต้องรู้จักหยิบผ้ามาเช็ดทำความสะอาด เป็นต้น |
|
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่เข้มงวดกวนขันกับลูกเมื่อวานนี้ ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะนำมาใช้ได้ว่า ไม่ควรอบรมลูกจากการกระทำที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ เพราะการฝึกวินัยต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ลูกสับสนจนเกิดปัญหาพฤติกรรมค่ะ |
|
ไม่เถียงค่ะว่าลูกยังเด็ก แต่การแยกแยะพฤติกรรมที่ปกติ และเป็นปัญหาออกจากกันให้ได้เป็นเรื่องสำคัญ การปล่อยลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยอ้างว่า “เป็นพฤติกรรมของเด็ก” หรืออ้างว่า “ยังไงลูกก็ไม่ฟังหรอก” นั้นก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดีแน่นอน |
|
แน่นอนว่าย่อมมีบางวันที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเหนื่อยล้ากับการงาน กิจวัตรประจำวัน รวมถึงการเลี้ยงลูก แต่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะนำมาใช้หลีกเลี่ยงการฝึกวินัยลูก หรือการลงโทษเมื่อลูกทำผิดกฎ ควรพยายามขุดพลังงานขึ้นมาฝึกวินัยลูกสม่ำเสมอ เพื่อช่วยแบ่งเบาระดับของปัญหาพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตค่ะ |
5 เคล็ดลับ ฝึกวินัยลูก ให้สำเร็จ
แม้จะมีข้อผิดพลาดมากถึง 10 ข้อที่ทำให้ ฝึกวินัยลูก ไม่สำเร็จ แต่! สามารถใช้เพียง 5 วิธีช่วยสร้างสร้างวินัยเชิงบวก จัดการกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูกน้อยได้อย่างสร้างสรรค์ สร้างความเข้าใจให้ลูกสามารถแยกแยะได้ว่าพฤติกรรมใดที่ควรทำ ควรหลีกเลี่ยง ดังนี้ค่ะ
-
กำหนดกติการ่วมกัน โดยลูกมีส่วนร่วม
การให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการกำหนดของรางวัล บทลงโทษ สร้างกฎกติกาภายในบ้านร่วมกันจะทำให้ลูกเข้าใจที่มา รู้ว่าเหตุผล และความสำคัญของข้อตกลงที่มีนั้นเป็นอย่างไร โดยไม่รู้สึกว่ากำลังถูกควบคุมหรือบังคับ แต่จะเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงด้วยความเต็มใจและสมัครใจ
-
พูดคุยอย่างจริงใจ และให้เกียรติ
สิ่งแรกที่จะแสดงความจริงใจของพ่อแม่ในการพูดคุยกับลูกได้คือ การพูดคุยในระดับสายตาลูก ซึ่งเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้ลูกมีสมาธิในการฟังมากขึ้น ยังสามารถรับรู้การแสดงความรัก ความใส่ใจ ความห่วงใย และการให้เกียรติที่จะรับฟัง ซึ่งส่งผ่านสายตาคุณพ่อคุณแม่มาได้ด้วย
-
มีทางเลือกแต่มีขอบเขต
การเสนอทางเลือกเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกวินัยให้ลูกได้ค่ะ แต่ต้องมีขอบเขตด้วย คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อรับฟัง ตอบสนองความต้องการและความรู้สึกของลูก เช่น การถามลูกว่า “พรุ่งนี้เช้าวันหยุด ลูกอยากช่วยพ่อล้างรถ หรืออยากช่วยแม่รดน้ำต้นไม้” ช่วยให้ลูกได้แสดงความต้องการและความรู้สึก และได้รับการตอบสนองเป็นคำตอบที่ลูกกลั่นกรองแล้ว เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยจูงใจให้ลูกได้ตัดสินใจทำ มากกว่าการบอกให้รู้ หรือการเสนอทางเลือกแบบไม่มีขอบเขต
-
บ่มเพาะวิธีจัดการอารมณ์ให้ลูก
คุณพ่อคุณแม่ที่เปิดใจรับฟังจะทำให้ลูกเปิดใจมากขึ้น โดยเฉพาะการแสดงความเห็นอกเห็นใจในขณะที่ลูกมีความคับข้องใจ และแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรบอกหรืออธิบายให้ลูกเข้าใจว่าอารมณ์ขณะนั้นคืออะไร สาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์มาจากไหน พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างไร พฤติกรรมที่ควรจะเป็นคืออย่างไร เช่น “แม่เข้าใจที่หนูโกรธ ที่เพื่อนมาแย่งของเล่นจากมือหนู หนูเลยตีเพื่อน ถ้าหนูพร้อมจะพูดดีๆ กับเพื่อนเมื่อไร หนูเดินไปบอกเพื่อนนะคะว่าหนูขอของเล่นคืน และขอโทษที่ตีเพื่อนค่ะ”
การทำแบบนี้จะช่วยให้ลูกใจเย็นลงจนสามารถทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ว่าอารมณ์และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมคืออะไร ต้องจัดการอย่างไร พร้อมบอกพฤติกรรมที่คาดหวัง รวมถึงให้เวลาลูกได้คิด ได้เตรียมตัว เป็นการช่วยให้ลูกเรียนรู้การจัดการความรู้สึกของตัวเองได้
-
คำชมช่วยสร้างความมั่นใจ
หนึ่งในวิธีฝึกวินัยที่ทำให้ลูกปฏิบัติตามอย่างเต็มใจคือ การมอบคำชมเชยลูกที่มีประสิทธิภาพค่ะ โดยควรเป็นการชมที่เจาะจงพฤติกรรม เช่น “ลูกทำได้ดีมาก ที่เก็บของเล่นเอง ลูกมีความรับผิดชอบมาก ช่วยแม่ได้มากเลยค่ะ” การถูกชมจะทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่มีความเชื่อมั่น และไว้ใจในตัวลูก
การฝึกวินัยลูกนั้นเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจเหตุและผล การรู้หน้าที่ และการลงมือทำด้วยตนเอง เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความอดทนและความสม่ำเสมอนะคะ 10 ข้อผิดพลาดที่เรานำมาเสนอ เพียงเพื่อเป็นหลักยึดให้คุณพ่อคุณแม่ได้ลองทบทวนตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยง และฝึกวินัยลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ลูกเติบโตเป็นเด็กที่มีวินัยและมีความสุขค่ะ
ที่มา : www.scb.co.th , www.parents.com , www.phyathai-sriracha.com , hd.co.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ควันบุหรี่มือสองในบ้าน ทำร้ายลูก-เมีย เสี่ยงโรคในผู้หญิงและเด็ก
อย่าเพิ่งตื่นตูม! ลูกพูดคำหยาบ กำราบอย่างนุ่มนวลได้ด้วย 7 เทคนิคง่ายๆ
7 วิธี สอนลูกให้มี Logical Thinking รู้ถูกผิด รู้หน้าที่ อยู่เป็น คิดได้