ลูกน้อยเป็นดั่งดวงใจของคุณพ่อคุณแม่ การอยากเอาใจใส่ในการเลี้ยงลูกตั้งแต่ยังเล็กเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวต้องการ เลี้ยงทารกให้อารมณ์ดี ทำได้ไม่ยาก ถ้ารู้วิธี ใครอยากให้เจ้าตัวน้อยมีรอยยิ้มที่สดใสตลอดวันเรามีวิธี
5 เคล็ดลับ เลี้ยงทารกให้อารมณ์ดี ลูกน้อยยิ้มได้ทุกเวลา
ลูกน้อยอารมณ์ดี ผู้ปกครองก็ยิ้มตาม รายละเอียดในการดูแลลูกให้มีความสุขทั้งจิตใจ และร่างกายแข็งแรง คือ การให้ความสำคัญกับกิจวัตรประจำวันทั่วไปของทารก ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง
วิดีโอจาก : เด็กทารก Everything Channel
1. เวลานอนกลางคืน
การกำหนดเวลานอนนั้นเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะทำให้ลูกน้อยเข้าใจถึงเวลากลางวันกลางคืน ในช่วงกลางคืนนั้นเป็นเวลาที่จะนอนหลับยาว ๆ มากกว่าการตื่นขึ้นมาเล่น คุณแม่ควรเริ่มต้นเตรียมลูกน้อยให้พร้อมสำหรับการนอนหลับด้วยการทำกิจวัตรเหล่านี้เป็นประจำก่อนนอนทุกวัน เช่น อาบน้ำเจ้าตัวน้อยใส่ชุดนอน และร้องเพลงกล่อมหรือเล่านิทานก่อนนอน หัวใจสำคัญคือความสม่ำเสมอเมื่อมันกลายเป็นกิจวัตรประจำวันในการนอนแล้วลูกน้อยของคุณก็จะนอนหลับได้ง่ายในทุกวัน ตื่นมาอารมณ์ดีสดชื่น
2. เวลานอนกลางวัน
คุณแม่สามารถกำหนดเวลานอนกลางวันของลูกน้อยได้ว่าเวลาไหนที่ลูกควรจะได้นอน แทนที่จะปล่อยให้ลูกหลับไปเองตอนไหนก็ได้ โดยสังเกตว่าในขณะที่ลูกเล่นและเริ่มง่วงนอน คุณแม่ก็สามารถสร้างบรรยากาศของการนอนด้วยการเปิดไฟสลัว ๆ ร้องเพลงกล่อมลูก เพื่อให้ลูกน้อยสามารถนอนหลับได้ ทำแบบนี้เป็นประจำทุกวัน ลูกก็จะเริ่มรับสัญญาณและรู้เมื่อถึงเวลาที่ต้องนอนหลับ
3. เวลาอาบน้ำ
หลังสายสะดือหลุดคุณแม่สามารถอาบน้ำลูกน้อยในอ่างอาบน้ำได้แล้ว การสร้างกิจวัตรประจำวันในการอาบน้ำจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกสดชื่น มีผิวพรรณที่สะอาด สุขภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวันที่มีสภาพอากาศร้อน
4. เวลาอาหาร
เมื่อเจ้าตัวน้อยเริ่มต้นที่จะให้มื้อหยิบอาหารหรือเริ่มเรียนรู้การจับช้อนเพื่อกินอาหารเองได้แล้ว การกำหนดช่วงเวลาประจำสำหรับมื้ออาหารนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เริ่มต้นด้วยการให้ลูกได้นั่งบนเก้าอี้ทานอาหาร และทานอาหารร่วมกันบนโต๊ะอาหาร การได้ทานอาหารร่วมโต๊ะกันในครอบครัว จะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านสังคมและพฤติกรรมการทานอาหารที่ดีต่อลูกน้อย และทำให้ครอบครัวได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นอีกด้วย โดยมีผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า เด็กที่ทานอาหารร่วมกันกับครอบครัวนั้นมักจะไม่เป็นคนซึมเศร้า และพวกหนูจะทำได้ดีเมื่ออยู่ที่โรงเรียน
5. กิจวัตรประจำวันแบบที่พ่อแม่สร้างได้
กิจวัตรประจำวันนั้นเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่จริง ๆ แล้วมันก็สามารถยืดหยุ่นได้นะคะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมและทำความเข้าใจกับความต้องการของลูกน้อยเป็นสำคัญ ดังนั้นถ้าเห็นความจำเป็นในการปรับกิจวัตรประจำวันหรือเปลี่ยนแปลงตารางเวลาบางอย่างเพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูก ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้นะคะ เพราะสิ่งที่สำคัญคือการดูแลทารกในทุก ๆ วันแบบที่ทำให้ทั้งตัวลูกและพ่อแม่มีความสุขไปด้วยกันนั่นเอง
เทคนิคลับวิธีทำให้ลูกน้อยอารมณ์ดีทั้งวัน
คุณพ่อคุณแม่เชื่อหรือไม่ว่า… การที่เราจะฝึกหรือทำให้ลูกมีอารมณ์ดีได้ทั้งวันนั้น มีวิธีแสนง่ายอยู่เพียงข้อเดียว คือการต้องเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วย “รอยยิ้มของลูก ๆ” ซึ่งนี่เป็นเรื่องเล่าและคำยืนยันของคุณแม่ท่านหนึ่ง ที่ได้มาเปิดเผยความลับนี้ในเว็บไซต์ซึ่งคุณแม่ Pam Moore ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ลูกอารมณ์เสียแต่เช้า และผลลัพธ์ที่ตามมาไม่ใช่เรื่องดีเลย….
โดยคุณแม่เล่าว่า มีวันหนึ่ง เธอได้ทำอาหารเช้าผิดเมนูให้ลูกสาววัย 5 ขวบกิน หลังจากนั้นลูกสาวของเธอก็ร้องไห้เหมือนโดนฝืนใจ เท่านั้นยังไม่พอ เนื่องจากวันนั้นเป็นวันที่หิมะตกปกคลุมไปทั่วพื้น คุณแม่ Pam Moore จึงบอกให้ลูกสาวใส่รองเท้าบูตเพื่อป้องกันหิมะ แต่เจ้าตัวน้อยดันร้องไห้ และฟาดงวงฟาดงาหนักขึ้น เพราะอยากใส่รองเท้าทั่วไปมากกว่า
พออ่านมาถึงตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่คิดว่า คุณแม่ Pam Moore ทำผิดอะไร ?
คำตอบก็คือ เพราะคุณแม่ Pam Moore ลืมเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วย “การสร้างความสัมพันธ์กับลูก” นั่นเอง เพราะแทนที่เธอจะโอบกอดลูกเพื่อต้อนรับรุ่งอรุณ หรือถามไถ่ลูกน้อยว่าหลับฝันดีไหม แต่กลับร้องขอให้ลูกสาวทำสิ่งต่าง ๆ (ที่ตัวลูกไม่ต้องการ) ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาที่สมองของเด็ก ณ เวลานั้นยังไม่พร้อมสำหรับเรื่องแบบนี้
โดยในหนังสือ The Whole-Brain Child ของ Daniel Siegel และ Tina Payne Bryson ได้อธิบายถึงเหตุผลง่าย ๆ ของเหตุการณ์นี้เอาไว้ว่า… สมองของเด็กนั้นยังไม่โตเต็มวัยที่จะห้ามอารมณ์ตนเองได้ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 ปีกว่าสมองจะสมบูรณ์พร้อม
ทั้งนี้ในทางกลับกันสมองของเด็กในวัยนี้ จะมีลักษณะแบบบูรณาการสิ่งต่าง ๆ ไว้ร่วมกัน ทั้งด้านอารมณ์และเหตุผล ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากส่งเสริมพัฒนาการสมองของเจ้าตัวน้อยในระยะยาว ควรโฟกัสไปที่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกในทุกเช้าเพื่อให้พวกเขาอารมณ์ดี แทนการไปจ้ำจี้จ้ำไชเด็ก ๆ ว่าต้องทำอะไร
3 ข้อควรระวัง ละเลยเมื่อไหร่ลูกน้อยอาจหงุดหงิด
นอกจากวิธีที่จะทำให้ลูกน้อยมีอารมณ์ดีแล้ว ยังมีเรื่องที่ต้องระวังสำหรับเด็กเล็กด้วย หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ อาจส่งผลให้ทารกมีอาการงอแง และยังส่งผลเสียต่อพัฒนาการอีกด้วย
1. นอนไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ช่วยสร้างเด็กอารมณ์ดีคุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตหรือไม่คะว่า เมื่อลูกของเรานอนไม่เต็มที่หรือได้รับการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ จะทำให้เขาหงุดหงิดได้ง่าย ร้องไห้โยเย ดังนั้นเรื่องการนอนหลับพักผ่อนของลูกน้อยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อย่าให้เขาเข้านอนดึก ฝึกการนอนแต่หัวค่ำให้เป็นนิสัยเพื่อให้เขาคุ้นเคย บรรยากาศในห้องนอนควรจะเงียบสนิท ไม่มีเสียงรบกวน การนอนหลับนอกจากจะช่วยให้ลูกอารมณ์ดียังส่งผลต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อยอีกด้วยค่ะ
2. มื้ออาหารที่ส่งผลต่ออารมณ์
การดูแลในเรื่องอาหารให้ลูกน้อยถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากหลายครั้งที่ลูกเกิดอาการอารมณ์ไม่ดีสาเหตุหนึ่งมาจากอาหาร ที่ทำให้เขารู้สึกไม่สบายตัว เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง ท้องเสีย ดังนั้นคุณแม่คุณพ่อควรใส่ใจในเรื่องอาหารให้เหมาะสมกับวัย หรือควรสังเกตว่าลูกทานอะไรลงไปแล้วมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น ๆ ในครั้งต่อไป
3. ปล่อยให้ลูกหิวอาจเป็นปัญหา
เพราะความหิว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กมีอารมณ์หงุดหงิดงอแง ดังนั้นควรให้ลูกทานข้าวให้เป็นเวลา และหากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ควรเตรียมอาหารไปให้พร้อม หรือควรให้เขาทานให้อิ่มก่อนออกไป หากคุณปล่อยให้ลูกหิวบ่อย ๆ เด็กก็จะกลายเป็นคนอารมณ์หงุดหงิดง่าย และงอแงเป็นประจำ เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดีค่ะ
หากรู้เทคนิคการดูแลให้ทารกอารมณ์ดี ไม่งอแง และแข็งแรงแล้ว ก็ลองเอาไปทำตามดู วิธีเหล่านี้ห้ามปล่อยละเลยเด็ดขาด เพราะการสร้างรากฐานกิจวัตรประจำวันที่ดีให้กับเด็กตั้งแต่เล็กเป็นสิ่งสำคัญ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
5 ข้อดีของการ ปล่อยทารกเล่นคนเดียว ลูกเล่นคนเดียว พัฒนาการทางสมอง
5 ทริคพัฒนาสมอง ลูกเล่นคนเดียว ไม่ต้องเสียว วิจัยเผยเล่นคนเดียวก็ฉลาดได้
รวม 10 เมนูอาหารสำหรับคุณหนู ทำง่าย อร่อยได้ทุกมื้อ ลูกกินแล้วติดใจ
ที่มาข้อมูล : sanook Rakluke kapook