สอนลูกให้รักน้อง ดูแลน้อง ได้ตั้งแต่ในท้องแม่
เพราะเป็นที่ขึ้นชื่อว่า เมื่อลูกคนโต รู้ว่าตัวเองนั้นจะไม่ได้เป็นที่หนึ่งในบ้านแล้ว อาจเกิดพฤติกรรมที่ทำให้พ่อแม่หนักใจ หรือ เกิดอาการพี่อิจฉาน้อง ได้ วันนี้ เราจึงมีเทคนิคดีๆ ที่ให้คุณพ่อคุณแม่ สามารถไปปรับใช้ สอนลูกให้รักน้อง และ ดูแลน้อง เพื่อทำให้เกิดบรรยากาศดีๆ ในครอบครัวเพื่อต้อนรับตัวป่วนได้
เทคนิคการเตรียมพี่ให้รักน้อง
วันนี้หมอจะมาถ่ายทอดประสบการณ์เตรียมพี่ให้รักน้อง จากประสบการณ์ที่ปฏิบัติจริง เนื่องจากตอนที่ลูกสาวคนแรกของหมอจะมีน้อง เค้าอายุประมาณ 2 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองสูง และ เอาแต่ใจตัวเองอย่างมาก ที่เราเรียกกันว่า terrible twos นั่นเองค่ะ หมอ และ ครอบครัวจึงพยายามทุกๆ ทางที่จะเตรียมเค้าให้รักน้อง ตั้งแต่ก่อนน้องเกิดเพื่อให้มีปัญหาน้อยที่สุดมาดูกันนะคะว่าเราสามารถทำได้อย่างไรบ้าง
วิธีสอนพี่ให้รักน้อง
ให้รักน้อง เริ่มได้ตั้งแต่ตอนที่น้อง ยังอยู่ในท้อง
หลักการคือ ทำให้พี่ตระหนักว่า เรากำลังจะมีน้อง และ เสริมสร้างความรัก ความผูกพัน ของพี่ที่มีกับน้อง ตั้งแต่น้องยังอยู่ในท้องคุณแม่เลยค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามารถลองทำตามวิธีต่างๆ เหล่านี้ ยิ่งทำบ่อย ก็ยิ่งดีค่ะ
- ลองบอกกับลูกคนโตว่า “เรา ที่เป็นพี่ ..กำลังจะมีน้อง” พร้อมกับชี้ท้องของคุณแม่ให้ดู บอกว่าน้องยังนอนอยู่ในนี้ รอที่จะออกมาเจอลูกนะ
- ลองให้พี่ เป็นผู้ช่วย เป็นผู้พิทักษ์ให้คุณแม่ เช่น อาจให้เขาช่วยหยิบซองยาวิตามินบำรุงครรภ์ส่งให้คุณแม่กินทานวัน และ บอกขอบคุณเค้า ที่เป็นพี่ที่ดี ช่วยดูแลให้น้องให้เติบโต ตั้งแต่น้องยังอยู่ในท้องคุณแม่ แล้วลองให้เค้าจับท้องคุณแม่ที่โตขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน
- ให้พี่กอดท้องคุณแม่เหมือนกับกอดน้องอยู่ แล้วบอกรักน้องเหมือนกับคุณพ่อคุณแม่บอกรักพี่ ทุกๆ วัน
- เวลาคุณแม่ไปฝากครรภ์ อยากให้พยายามพาลูกคนอื่น ๆ ไปด้วย เพื่อให้เขารู้สึก ถึงความสำคัญของตัวเค้าเอง เห็นว่าพ่อแม่ ให้ความสำคัญของตัวเขา นอกจากนั้นการที่เค้าได้ยินเสียงหัวใจน้อง หรือ เห็นภาพน้องผ่านอัลตราซาวด์ จะช่วยทำให้เขานึกถึงน้องได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
- ลองหานิทานเรื่องเกี่ยวกับการมีพี่น้อง มาอ่านให้ฟังก่อนเข้านอนทุกวัน
- เวลาคุณพ่อคุณแม่เล่านิทานให้ลูก ๆ ฟัง ก็ให้เค้าจับท้องคุณแม่ และ บอกกับเขาว่า เราเล่านิทานให้น้องฟังด้วยกัน
สอนลูกคนโตให้ดูแลน้อง
หลังจากน้องได้เกิดมาแล้ว
หลักการคือ ทำให้พี่ทราบว่าน้องได้เกิดมาแล้ว พี่ก็ยังเป็นที่รักและได้รับการเอาใจใส่เหมือนเดิม ทุกคนในบ้านรักพี่กับน้องเท่ากันเสมอ
- บอกพี่ทันทีที่ได้เห็นน้องครั้งแรกว่า “น้องออกมาจากท้องคุณแม่แล้วนะคะ/ครับ” และ นี่คือน้องที่เค้าช่วยดูแลมา ตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่
- ให้พี่ได้สัมผัสน้องตัว โดยมีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ๆ
- ชี้ให้พี่ได้ดูอวัยวะต่างๆ เช่น มือ แขน ขา นิ้ว ของน้องที่เล็กกว่าเค้ามาก เพื่อย้ำว่า น้องยังเล็กมากจึงต้องทะนุถนอม อาจบอกเค้าว่า “จับน้องเบา เบา เพราะน้องยังเล็กอยู่ค่ะ/ครับ”
- สอนวิธีอุ้มน้องที่ถูกต้องภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้ใหญ่
- ให้พี่มีส่วนร่วมในการดูแลน้อง เช่น ช่วยหยิบของใช้น้องส่งให้คุณแม่ หยิบผ้าอ้อม ป้อนอาหาร เพื่อให้พี่รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยดูแลน้อง
- ชมเชยพี่ ที่ช่วยคุณพ่อ คุณแม่ ดูแลน้องได้
- หาเวลาทำกิจกรรมเดิม ที่คุณพ่อคุณแม่เคยทำร่วมกับพี่ ก่อนที่น้องจะเกิดมา เช่น ไปเที่ยว เล่นกัน เล่านิทานก่อนนอน โดยหากคุณแม่ต้องดูแลน้อง ก็อาจให้คุณพ่อช่วยทำแทน
- คุณแม่ควรหาเวลาเพื่อชดเชย ให้ความสนใจและทำกิจกรรมร่วมกับพี่อย่างเต็ม และ ให้ผู้อื่นช่วยดูแลน้องแทน เพื่อมิให้พี่รู้สึกไม่ดีว่า เมื่อมีน้องแล้วทำให้คุณเเม่ไม่มีเวลาให้กับพี่ หรือไม่รักพี่เหมือนเดิม
- เมื่อน้องเริ่มโต ก็ค่อยๆ สอนให้พี่รู้จักการแบ่งปัน ทั้งขนม และ ของเล่น ให้กับน้อง เพื่อป้องกันการทะเลาะ แย่งของกันระหว่างพี่น้อง
ในทางปฏิบัติ แม้หมอเองจะทำทุกอย่างที่ได้เล่ามาแล้ว ก็ยังสังเกตได้ว่า เมื่อน้องเกิดมา พี่ก็มีความรู้สึกไม่พอใจบ้าง เวลาเห็นคุณพ่อคุณแม่อุ้มน้องนานๆ หรือ ใส่ใจน้องเยอะๆ ซึ่งสมาชิกทุกคนในบ้านควรจะคอยสังเกตอารมณ์ และ พฤติกรรมของพี่ พูดคุย ทำความเข้าใจกับพี่เป็นระยะ เพื่อให้พี่มั่นใจว่าเค้ายังเป็นที่รักของทุกคนในบ้านอยู่เสมอ เมื่อพี่รู้สึกเป็นที่รัก เค้าก็จะสามารถให้ความรักแก่น้อง และค่อยๆ ยอมรับน้องเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวได้อย่างมีความสุขค่ะ
แหล่งที่มาของบทความ
https://www.healthychildren.org
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจ
วิธีทำให้พี่รักน้องตั้งแต่อยู่ในท้อง
หยุดคิด!!! ก่อนซื้อน้ำอัดลมให้ลูกดื่ม