สารพัด ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน ทำไมกินยาคุมฉุกเฉินแล้วยังท้อง ? กินยาคุมฉุกเฉินแต่ท้อง เลิกกินยาคุมธรรมดา แล้วกินยาคุมฉุกเฉินแทนได้หรือไม่ ?
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน
คงจะเคยได้ยินเกี่ยวกับการรับประทานยาคุมฉุกเฉิน เช่น “ทำไมกินยาคุมฉุกเฉินแล้วยังท้อง” “ไม่ต้องกินยาคุมแผง ๆ หรอก ยากจะตาย กินยาคุมฉุกเฉินแทนก็ได้” หรือ “ไม่ติดเอดส์หรอก เพราะกินยาคุมฉุกเฉินทัน” และยังมีอีกหลาย ๆ ประการ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดมหันต์ เกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไร ?
ยาคุมฉุกเฉินที่จำหน่ายในประเทศไทย คือ ยาลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ขนาด 0.75 มิลลิกรัม บรรจุกล่องละ 2 เม็ด มีข้อบ่งใช้เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ หลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน
เมื่อรับประทานยาคุมฉุกเฉินเข้าไป ตัวยาลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) จะเข้าไปรบกวนกระบวนการตกไข่ รบกวนการทำงานของอสุจิ ที่จะว่ายเข้าไปผสมกับไข่ รวมทั้งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อทำให้ยากแก่การฝังตัวของไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้ว การรับประทานยาคุมฉุกเฉิน จึงเป็นการลดโอกาสการตั้งครรภ์ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ตั้งครรภ์เลย เพราะกระบวนการปฏิสนธิ ยังเกิดขึ้นในร่างกายได้อยู่
ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมฉุกเฉิน
ระยะเวลาที่เริ่มรับประทานยาส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากที่สุด โดยพบว่าระยะเวลาระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ กับการรับประทานยาเม็ดแรกมีผลมาก ยิ่งห่างกันนาน ก็จะยิ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดลดลง เนื่องจากการออกฤทธิ์ของยา จะป้องกันไม่ให้ไข่กับอสุจิ ฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้น หากมีการฝังตัวไปก่อนหน้านั้นแล้ว ยาที่รับประทานเข้าไป ก็ไม่อาจจะป้องกันการตั้งครรภ์ หรือทำให้แท้งได้
ร้อยละของประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีดังนี้
- หากกินยาเม็ดแรกภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากมีเพศสัมพันธ์ จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ร้อยละ 95
- หากกินยาเม็ดแรกภายใน 25 – 48 ชั่วโมง จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ร้อยละ 85
- หากกินเม็ดแรกหลังจาก 48 ชั่วโมง ไปแล้ว ประสิทธิภาพในการป้องกันจะน้อยกว่าร้อยละ 60
ข้อจำกัดของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
นอกจากนั้น ข้อจำกัดของยาคุมฉุกเฉิน คือ สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ในครั้งนั้น ๆ ของการมีเพศสัมพันธ์ แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ สำหรับรอบเดือนที่เหลือ จึงควรมีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบที่รับประทานติดต่อกันทุกวัน การใช้ถุงยางอนามัย การใส่ห่วงอนามัย การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะ เป็นต้น โดยวิธีคุมกำเนิดได้ดีที่สุด และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ คือ การใช้ถุงยางอนามัย
บทความที่เกี่ยวข้อง ทำอย่างไรดี ยังไม่พร้อมมีลูก ?? สารพัดวิธีคุมกำเนิด ที่ช่วยคุณได้
ยาคุมฉุกเฉิน ซื้อที่ไหน ซื้ออย่างไร ?
ยาคุมฉุกเฉิน 1 กล่อง บรรจุ 2 เม็ด เม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม ควรมีเก็บไว้ครั้งละ 2 กล่อง เนื่องจากต้องรับประทานให้ครบทั้ง 2 เม็ด จึงจะครบกระบวนการ หากรับประทานเม็ดแรกแล้วอาเจียน จะต้องรับประทานเม็ดที่ 1 เข้าไปใหม่ทันที
การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินอย่างถูกวิธี
สำหรับยาคุมกำเนิดฉุกเฉินวิธีใช้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด โดยควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานเม็ดที่ 2 นับจากเม็ดแรกไป 12 ชั่วโมง (พบว่าการรับประทานยาหลังมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว 120 ชั่วโมง จะไม่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดเลย)
ที่สำคัญอีกประการคือ หากอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยา ควรกินเม็ดนั้นซ้ำอีกครั้ง
รับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินพร้อมกัน 2 เม็ดเลยได้หรือไม่ ?
หากกลัวลืมกินยาเม็ดที่ 2 ก็สามารถรับประทานพร้อมกันทั้ง 2 เม็ดพร้อมกันได้ เนื่องจากมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการรับประทานเพียงครั้งเดียว อีกทั้งยังสะดวกมากกว่าด้วย
อย่างไรก็ตาม การรับประทานยา 2 เม็ดพร้อมกัน ก็อาจมีผลข้างเคียงมากกว่า โดยพบว่าในบางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากการรับประทานยาเพียงครั้งเดียว มากกว่าการแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง
ความเข้าใจผิดที่ 1 : ทำไม กินยาคุมฉุกเฉินแต่ท้อง
กลไกของการตั้งครรภ์
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจกลไกของการตั้งครรภ์กันก่อน การตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีตัวอสุจิผสมกับไข่ ซึ่งไข่ของผู้หญิงจะสุกเดือนละครั้ง และมีอายุประมาณ 24 ชั่วโมง อายุของเชื้ออสุจิที่เข้ามาในร่างกายของสตรี จะอายุที่จะปฏิสนธิได้คือ 48 ชั่วโมง หากไข่ที่สุกแล้ว ไม่มีการปฏิสนธิ ก็จะสลายออกมาเป็นรอบเดือนในอีก 14 วันถัดมา
ช่วงของการตกไข่ จะเป็นช่วงเวลาที่จะเกิดการปฏิสนธิ และตั้งครรภ์ได้ ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 14 วันก่อนรอบเดือนจะมา แต่อาจคลาดเคลื่อนได้ก่อน หรือหลัง ประมาณ 2 วัน
หลังกินยาคุมฉุกเฉิน จะรู้ได้ไงว่าไม่ท้อง?
กลไกในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน อาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวันที่กินยา ว่าอยู่ในช่วงใดของรอบเดือน เช่น
- ถ้ารับประทานยาคุมฉุกเฉินในช่วง 14 วันแรกของรอบเดือน ยาจะถ่วงเวลาการตกไข่ ให้ช้าออกไปทำให้ไม่เกิดการปฏิสนธิ
- ถ้ารับประทานในช่วง 14 วันหลังของรอบเดือน ยาจะไปกดการทำงานของคอร์ปัสลูเทียม (Corpus luteum) ทำให้ขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนชั่วคราว และมีผลทำให้ผนังมดลูกหลุดออกมา ไม่เหมาะแก่การฝังตัวของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว จึงลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ โอกาสในการตั้งครรภ์ก็ยังมีอยู่
- กลไกการทำงานอื่น ๆ ได้แก่ ทำให้ผนังมดลูกขับเมือกเหนียวออกมาสู่ปากช่องคลอด เป็นอุปสรรคขัดขวางการเคลื่อนตัวของเชื้ออสุจิ
ความเข้าใจผิดที่ 2 : ไม่ต้องกินยาคุมที่เป็นแผง ๆ กินยาคุมฉุกเฉินแทนก็ได้
ยาคุมฉุกเฉินมีข้อบ่งใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ในกรณีฉุกเฉิน คำว่า “ฉุกเฉิน” ในที่นี้ ทางองค์การอาหารและยา ได้ระบุในเอกสารกำกับยาว่าหมายถึง การมีเพศสัมพันธ์ในคู่สามีภรรยา ที่มีการวางแผนครอบครัว และทำการป้องกันการตั้งครรภ์ แต่เกิดความผิดพลาดจาก วิธีคุมกำเนิดที่ใช้ เช่น การรั่ว หรือฉีกขาดของถุงยางอนามัย การลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไป เป็นต้น หรือใช้ในกรณีผู้หญิงที่ถูกข่มขืน
บทความที่เกี่ยวข้อง ลืมกินยาคุม 2 วัน จะทำอย่างไรดี มีผลกระทบหรือไม่?
ยาคุมกำเนิดแบบแผง vs ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
การใช้ยาเม็ดคุมกําเนิดแบบฉุกเฉินอย่างถูกต้องภายหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันการตั้งครรภ์ พบว่า มีอัตราการตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้ร้อยละ 2 ผู้ที่ไม่ได้รับประทานยาเม็ดคุมกําเนิดแบบฉุกเฉินจะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 8 หรือกล่าวได้ว่ายาเม็ดคุมกําเนิดแบบฉุกเฉิน สามารถลดภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้ประมาณร้อยละ 75 เท่านั้น
เรียกได้ว่ายาเม็ดคุมกําเนิดแบบฉุกเฉิน มีประสิทธิภาพต่ำกว่าวิธีคุมกําเนิดแบบปกติทั่ว ๆ ไป ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราการตั้งครรภ์ในผู้ที่ใช้ยาเม็ดคุมกําเนิดแบบฉุกเฉิน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เริ่มต้นรับประทานยา และช่วงเวลาของการมีเพศสัมพันธ์ว่า อยู่ในช่วงใดของรอบเดือน ดังนั้น ถ้านําเอายาเม็ดคุมกําเนิดแบบฉุกเฉินมาใช้บ่อยครั้ง จึงมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงไม่ควรจะนำยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมาใช้แทนยาคุมกำเนิดแบบปกติ
ยาคุมฉุกเฉิน ห้ามกินเกินกี่ครั้ง
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน 1 แผง จะมี 2 เม็ด ไม่ควรรับประทานเกิน 2 แผง หรือ 4 เม็ด ภายในรอบเดือนเดียว เพราะอาจจะส่งผลต่อระบบที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ได้
ยาคุมฉุกเฉิน กินบ่อยอันตราย มีอาการข้างเคียงของผู้ที่ใช้ประจำ เช่น
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- เลือดออกกะปริดกะปรอย
- มีเลือดออกมากระหว่างรอบเดือน
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ปวดท้อง
- เจ็บคัดเต้านม
- มีโอกาสที่ยาจะขาดประสิทธิภาพ
- มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกเพิ่มขึ้น
หลังจากรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินไปแล้ว หากประจำเดือนยังไม่มาเกินกว่า 1 สัปดาห์ ควรตรวจดูว่าเป็นเพราะตั้งครรภ์หรือไม่ หากสงสัยควรไปปรึกษาแพทย์
บทความที่เกี่ยวข้อง ตั้งครรภ์กี่วันถึงจะตรวจเจอ กี่วันถึงจะรู้ว่าท้อง อาการขณะตั้งครรภ์เป็นอย่างไร
ความเข้าใจผิดที่ 3 : ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์
การใช้ยาคุมฉุกเฉินนั้น ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางอนามัยต่างหาก จึงจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
จะเห็นได้ว่ายาคุมฉุกเฉินควรใช้ในกรณีฉุกเฉินดังที่กล่าวข้างต้นเท่านั้น โดยประสิทธิภาพก็ขึ้นกับวิธีการรับประทาน และภายในเวลาที่กำหนดด้วย ยิ่งรับประทานช้าประสิทธิภาพก็จะยิ่งน้อยลง หรือไม่มีประสิทธิภาพเลย
อย่างไรก็ตาม เอกสารกำกับยาก็ได้แจ้งข้อควรระวังว่า “ถึงแม้จะใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ก็อาจตั้งครรภ์ได้” ดังนั้น หลังจากทานยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว ควรที่จะต้องป้องกันด้วยวิธีอื่น เช่น ใส่ถุงยางอนามัย จนกว่าประจำเดือนจะมา และป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์ใด ๆ ด้วย
บทความที่คุณอาจจะสนใจ :
วิธีกินยาคุม คุณผู้หญิงควรกินยาคุมยังไง หรือกินตอนไหนบ้าง
ฝังยาคุม กับ กินยาคุม ต่างกันอย่างไร ? มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง
กินยาคุมตอนท้อง ท้องแล้วกินยาคุม จะอันตรายต่อลูกในท้องไหม
แหล่งที่มา : med.cmu.ac.th , who.int/en