การเลี้ยงลูกด้วยการดุว่า อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางอารณ์ของเด็ก รวมถึงสร้างบาดแผลทางใจ และยังเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก จะดีแค่ไหน ถ้าเราสามารถพูดให้ลูกเชื่อฟังได้โดยที่ไม่ต้องดุว่า มาดูเทคนิค เลี้ยงลูกแบบไม่ดุ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ เข้าใจธรรมชาติของเด็ก และ ปรับวิธีพูด ใช้คำพูดเชิงบวก ก็ทำให้ลูกเชื่อฟังได้ ง่ายกว่าที่คิด
เลี้ยงลูกแบบไม่ดุ : เข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละวัย
การเลี้ยงลูกแบบไม่ดุ เน้นการสร้างวินัยเชิงบวก โดยต้องเข้าใจธรรมชาติของวัย เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู และวิธีพูดให้สอดคล้องกับพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงวัยค่ะ
วัยเตาะแตะ (1-3 ปี) : ชอบสำรวจ อยากรู้อยากเห็น
เด็กวัย 1-3 ปี เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ใช้ประสาทสัมผัสสำรวจทุกสิ่งรอบตัว ลูกน้อยเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง ชอบลองผิดลองถูก สำหรับพัฒนาการด้านภาษา จะเริ่มพูด สื่อสารความต้องการ ด้านอารมณ์แปรปรวนง่าย
เทคนิคการเลี้ยงลูกวัยเตาะแตะ
- จัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เก็บของมีคม ของร้อน สารเคมี ให้พ้นมือเด็ก
- ให้โอกาสในการสำรวจ พาไปเดินเล่น สัมผัสธรรมชาติ อ่านหนังสือนิทาน
- ตอบสนองความต้องการพื้นฐาน อาหาร การนอน ความรัก ความอบอุ่น
- สอนด้วยความอดทน ใช้คำพูดสั้นๆ ง่ายๆ ทำซ้ำๆ
- ตั้งขอบเขต สอนให้รู้จักคำว่า “ไม่” “หยุด”
- เบี่ยงเบนความสนใจ เมื่อลูกทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการลงโทษ การตี การดุ อาจทำให้เด็กหวาดกลัว
วัยอนุบาล (3-6 ปี) : เริ่มมีสังคม เรียนรู้กฎกติกา
ช่วงวัย 3-6 ปี ลูกน้อยเริ่มเข้าสู่สังคม มีเพื่อน มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้เรียนรู้กฎกติกา มารยาททางสังคม เริ่มเข้าใจเหตุผล อธิบายได้มากขึ้น เป็นวัยที่ชอบเล่น เลียนแบบ และอยากช่วยเหลือตัวเอง
เทคนิคการเลี้ยงลูกวัยอนุบาล
- สนับสนุนให้เข้าสังคม พาไปเล่นกับเพื่อนๆ เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม
- สอนกฎ กติกา มารยาทในการอยู่ร่วมกัน การแบ่งปัน
- ให้โอกาสในการตัดสินใจ เลือกเสื้อผ้า ของเล่น กิจกรรม
- ฝึกการช่วยเหลือตัวเอง แต่งตัว กินข้าว เก็บของเล่น
- ชื่นชม ให้กำลังใจ เมื่อลูกทำสิ่งที่ดี
- อธิบายเหตุผล เมื่อลูกทำผิด
- ใช้การเสริมแรงทางบวก เช่น ติดสติ๊กเกอร์ สะสมดาว
วัยประถม (6-12 ปี) : ต้องการอิสระ มีเหตุผลมากขึ้น
ลูกวัยประถม เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ต้องการอิสระในการตัดสินใจ เข้าใจเหตุผล และสามารถโต้แย้งได้ เด็กวัยนี้จะสนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และให้ความสำคัญกับเพื่อน
เทคนิคการเลี้ยงลูกวัยประถม
- ให้พื้นที่ส่วนตัว เคารพความเป็นส่วนตัวของลูก
- เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น รับฟังความคิดของลูก
- สื่อสารด้วยเหตุผล อธิบายสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน
- ตั้งกฎระเบียบร่วมกัน ให้ลูกร่วมแสดงความคิดเห็น
- สนับสนุนความสนใจ ส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้ ทำกิจกรรมที่ชอบ
- เป็นที่ปรึกษาที่ดี คอยให้คำแนะนำ ช่วยแก้ปัญหา
- เชื่อมั่นในตัวลูก ให้กำลังใจ สร้างความมั่นใจ
เลี้ยงลูกแบบไม่ดุ : ปรับวิธีพูดให้ลูกเชื่อฟัง
การสื่อสารกับลูกเป็นสิ่งสำคัญมากในการเลี้ยงดูแบบไม่ดุ เพราะคำพูดของพ่อแม่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมของลูก การปรับวิธีพูดด้วยการใช้คำพูดเชิงบวกบ่งบอกถึงความรัก ความเข้าใจ และการยอมรับ จึงเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดี และช่วยเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดีต่อไป
-
ชมเชย สนับสนุน พูดให้กำลังใจ
- ชมเชย กล่าวชื่นชมเมื่อลูกทำสิ่งที่ดี เช่น “หนูช่วยแม่เก็บของเล่น เก่งมากเลยค่ะ” “วันนี้หนูตั้งใจเรียน คุณครูชมมาด้วย” “หนูเป็นเด็กดีมากเลย ที่แบ่งปันของเล่นกับน้อง”
- สนับสนุน ให้กำลังใจลูกเมื่อเผชิญกับความท้าทาย เช่น “ไม่เป็นไรนะลูก ลองใหม่ แม่เชื่อว่าหนูทำได้” “ถึงหนูจะทำไม่ได้ในตอนนี้ แต่หนูก็พยายามเต็มที่แล้ว แม่ภูมิใจในตัวหนูนะ”
- พูดให้กำลังใจ เสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูก เช่น “หนูเป็นเด็กดี น่ารัก และเก่งมาก” “แม่รักหนูนะ” “แม่ภูมิใจในตัวหนูมาก ที่หนูตั้งใจเรียน
-
หลีกเลี่ยงคำพูดตำหนิ ดุว่า เปรียบเทียบ
- ตำหนิ การตำหนิ ทำให้ลูกรู้สึกด้อยค่า เช่น “ทำไมหนูถึงซุ่มซ่ามแบบนี้” “หนูมันไม่เอาไหนเลย”
- ดุว่า การดุว่า ทำให้ลูกหวาดกลัว เสียความมั่นใจ เช่น “เอะอะโวยวาย น่ารำคาญ” “ดื้อแบบนี้ ระวังจะโดนตี”
- เปรียบเทียบ การเปรียบเทียบ ทำให้ลูกรู้สึกน้อยใจ ไม่มีคุณค่า เช่น “ดูน้องสิ ตั้งใจเรียนกว่าหนูอีก” “ทำไมหนูไม่เก่งเหมือนลูกบ้านโน้น”
-
หลีกเลี่ยงการขู่บังคับ
การขู่บังคับ เช่น “ถ้าหนูไม่เชื่อฟัง แม่จะไม่รักหนู” หรือ “ถ้าหนูดื้อ แม่จะตีหนู” จะทำให้ลูกหวาดกลัว และไม่ไว้วางใจพ่อแม่ ควรใช้วิธีการสื่อสารเชิงบวก เพื่อโน้มน้าวใจลูก และสร้างความร่วมมือ
- แทนที่จะพูดว่า “ทำไมหนูถึงทำแก้วแตก” ลองพูดว่า “ไม่เป็นไรนะลูก อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ”
- แทนที่จะพูดว่า “หนูเขียนหนังสือไม่สวยเลย” ลองพูดว่า “หนูพยายามเขียนแล้ว แม่เห็นถึงความตั้งใจของหนู ครั้งต่อไป ลองจับดินสอให้แน่นขึ้น แล้วค่อยๆ เขียนนะลูก”
- แทนที่จะพูดว่า “รีบๆ กินข้าวได้แล้ว สายแล้ว” ลองพูดว่า “อร่อยไหมลูก ถ้ากินข้าวเสร็จเร็วๆ เราจะได้ไปโรงเรียนทันเวลา แล้วหนูจะได้เจอเพื่อนๆ”
-
พูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล
น้ำเสียงที่นุ่มนวล แสดงถึงความรัก ความอ่อนโยน ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และเปิดใจรับฟัง หลีกเลี่ยงการตะคอก หรือใช้คำพูดที่รุนแรง ซึ่งจะทำให้ลูกหวาดกลัว ต่อต้าน และปิดกั้นตัวเอง
-
ใช้คำพูดที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย
เด็กๆ มีช่วงความสนใจสั้น ดังนั้นควรใช้คำพูดที่สั้น กระชับ ตรงประเด็น และเข้าใจง่าย เช่น “กินข้าว” “แปรงฟัน” “ใส่รองเท้า”
หลีกเลี่ยงการพูดวกวน เยิ่นเย้อ หรือใช้คำศัพท์ยากๆ ซึ่งจะทำให้ลูกสับสน และเบื่อหน่าย
-
ให้เหตุผล อธิบายว่าทำไมต้องทำแบบนั้น
การให้เหตุผล ช่วยให้ลูกเข้าใจ และยอมรับกฎระเบียบต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น
- “เราต้องแปรงฟันก่อนนอน เพื่อไม่ให้ฟันผุ”
- “เราต้องกินผักผลไม้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง”
- “เราต้องรอสัญญาณไฟเขียว ก่อนข้ามถนน เพื่อความปลอดภัย”
-
เสนอทางเลือก
การเสนอทางเลือก ทำให้ลูกรู้สึกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง เช่น
- “หนูอยากอาบน้ำก่อน หรือ กินข้าวก่อน”
- “หนูอยากใส่เสื้อสีแดง หรือ สีฟ้า”
- “หนูอยากเล่นของเล่นชิ้นไหนก่อน”
เด็กที่เติบโตมาด้วยความรัก ความเข้าใจ จะมีพัฒนาการที่ดี ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม คุณพ่อคุณแม่สามารถนำเคล็ดลับ เลี้ยงลูกแบบไม่ดุ ข้างต้นไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับลูกน้อยของแต่ละบ้าน ทำให้ลูกเชื่อฟังได้โดยไม่ต้องดุ
ที่มา : กรมสุขภาพจิต , Positive Parenting Solutions
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เลี้ยงลูกชายให้เป็นผู้นำครอบครัวที่ดี ในอนาคต วิธีสร้างสุภาพบุรุษตัวน้อยในบ้าน
เจ้าหนูจำไม ถามเก่ง ถามไม่หยุด พ่อแม่ควรรับมือยังไงดี
ปี 2025 เริ่มต้น เด็ก Gen Beta เด็กยุค AI ที่โลกไม่ควรละสายตา