อันตรายมาก ลูกหูชั้นกลางอักเสบหากปล่อยไว้เสี่ยงหูหนวก
อันตรายมาก ลูกหูชั้นกลางอักเสบหากปล่อยไว้เสี่ยงหูหนวก หากเด็กเป็นไข้หวัด 3-4 วัน ยังงไม่หายและมีอาการปวดหูร่วมด้วยควรพาไปพบคุณหมอ
หูชั้นกลางอักเสบ
ผศ.พญ.นันทิการ์ สันสุวรรณ ภาควิชา โสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก สรุปได้ ดังนี้
1. หูชั้นกลางอักเสบพบได้ในเด็กอายุระหว่าง 3 เดือนถึง 11 ปี และพบมากในเด็กอายุระหว่าง 6 ถึง 11 เดือน
2. โรคหูชั้นกลางอักเสบสามารถเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย
3. หากเกิดจากเชื้อไวรัส ร่างกายสามารถรักษาให้หายเองได้
4. หากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียจะทำให้หายช้า และสามารถเป็นซ้ำได้อีก หรือเป็นพร้อมกันทั้งสองข้าง และใช้เวลาในการรักษานาน
5. เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบที่พบบ่อย คือ เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ ซึ่งเป็นเชื้อที่พบในลำคอและโพรงจมูกของเด็กเล็ก เป็นเชื้อที่มีความรุนแรง แฝงตัวมากับเชื้อหวัดและปอดบวม
อาการ
อาการของเด็กที่ป่วยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ คือ
1. เด็กมักมีไข้สูง ร้องกวน งอแง บางรายอาจมีอาการของไข้หวัด และภูมิแพ้ร่วมด้วย
2. เด็กอาจแสดงอาการว่าปวดหูมาก โดยใช้มือจับบริเวณหู หรือดึงใบหูของตัวเอง
3. เด็กที่ป่วยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบจะตรวจพบเยื่อแก้วหูแดง อาจพบน้ำ หรือหนองอยู่ในหูชั้นกลาง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ
1. อายุ เด็กที่อายุน้อยกว่า 7 ปี ท่อยูสเตเชี่ยนจะมีขนาดเล็ก สั้น และวางตัวในแนวราบกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อจากจมูกและคอได้ง่าย
2. เพศ มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
3. กรรมพันธุ์ หากมีพ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นหูอักเสบบ่อย ๆ พบว่าเด็กมีโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อนมากขึ้น
4. บุหรี่ ถ้ามีคนในบ้านสูบบุหรี่จะทำให้เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และการติดเชื้อในหูชั้นกลาง
5. การดูดขวดนม โดยเฉพาะการนอนดูดนม จะทำให้เกิดการอุดตันและสำลักนมเข้าท่อยูสเตเชี่ยน ดังนั้นหากจำเป็นต้องให้นม ควรให้ในท่าที่ศีรษะเด็กสูงกว่าลำตัว
6. เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอ เช่น เด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ เด็กที่ติดเชื้อ HIV เป็นต้น
7. เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูในสถานรับเลี้ยงเด็ก พบการเกิดหูชั้นกลางอักเสบมากขึ้น
8. เด็กที่มีโครงสร้างใบหน้าผิดปกติ เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ดาวน์ซินโดรม เป็นต้น
อันตราย!! ลูกหูชั้นกลางอักเสบหากปล่อยไว้เสี่ยงหูหนวก
ผศ.พญ.นันทิการ์ สันสุวรรณ ได้กล่าวถึง อันตรายที่เกิดจากหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก ไว้ว่า โรคหูชั้นกลางอักเสบ มักมาพร้อมกับโรคหวัด พ่อแม่และกุมารแพทย์มักมุ่งไปที่การรักษาอาการไข้หวัด และมองว่าอาการเจ็บหูเป็นเพียงอาการข้างเคียง และเมื่อเด็กหายจากโรคหวัดแล้ว พ่อแม่ก็มักลืมติดตามรักษาโรคหูอักเสบของเด็ก ซึ่งอันตรายมาก เพราะหากเด็กไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและอย่างจริงจัง โรคนี้จะมีโอกาสพัฒนาไปสู่โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคหูชั้นกลางอักเสบชนิดมีของเหลวขัง และโรคหูหนวกได้ในอนาคต
ข้อควรสังเกต
พ่อแม่ควรสังเกต หากลูกเล็ก โยเย ร้องกวน หรือไม่ยอมดูดนม บางครั้งอาจมีไข้ตัวร้อนร่วมด้วย หรือมีน้ำหนองไหลออกมาให้เห็น ขอให้สงสัยว่า ลูกน้อยของท่านอาจเป็นโรคนี้และควรพาไปพบคุณหมอทางด้านหู คอ จมูก หรือกุมารแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าในรูหูมีการอักเสบ บวมแดง หรือมีน้ำหนองขังอยู่ภายในหรือไม่ จะได้รักษาอย่างทันท่วงที และถูกต้อง
การป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ
พญ.ศิริเพ็ญ มุขบัณฑิตพงษ์ กุมารแพทย์ ให้คำแนะนำในการป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบนั้นทำได้โดย
1. ควบคุมภาวะภูมิแพ้ โดยการกำจักสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ขนสัตว์ ดอกไม้ เป็นต้น
2. ควรให้ทารกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน นักวิจัยพบว่า เด็กที่กินนมแม่ในช่วง 4 เดือนแรก จะมีภาวะการติดเชื้อของหูชั้นกลาง ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ เพราะในนมแม่มีภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อได้
3. เวลาเด็กกินนมและอาหาร พยายามให้ลูกอยู่ในท่านั่งหรือศีรษะสูงกว่าลำตัว อย่าให้เด็กหลับขณะที่ขวดนมยังคาอยู่ในช่องปาก
4. งดสูบบุหรี่ภายในบ้านหรือสถานที่เลี้ยงเด็ก
5. เปลี่ยนสถานบริการรับเลี้ยงเด็กจากขนาดใหญ่ที่มีเด็กจำนวนมาก มาเป็นขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนเด็กที่น้อยกว่า
6. การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมค็อกคัส ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคหูชั้นกลางอักเสบและปอดอักเสบ พบรายงานการลดลงของการเกิดหูชั้นกลางอักเสบได้ประมาณ 32%
เรื่องน่ารู้
90 % ของเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มีโอกาสเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง และเนื่องจากหูชั้นกลางอยู่ใกล้กับฐานสมอง และมีช่องทางเชื่อมปอดได้ ดังนั้น หากลูกเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ เชื้อโรคจะสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้
โรคหูชั้นกลางอักเสบเป็นโรคที่ป้องกันได้ เวลาที่ลูกเป็นหวัดและมีไข้ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ลูกมีอาการปวดหู เด็กเล็ก ๆ มักจะเอานิ้วแหย่เข้าไปในหู ดึงใบหูตนเอง หรืออาจมีหนองไหลออกจากหู เป็นต้น ควรรีบพาเด็กไปพบคุณหมอโดยด่วน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไปเสี่ยงเป็นหูหนวกได้นะคะ
ที่มา : 1
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
https://www.rcot.org/2016/People/Detail/221
ลักษณะใบหู บอกได้ว่าพ่อแม่จะมีวาสนาหรือไม่ อนาคตลูกจะเป็นเช่นไร