ลูกน้อยจะเริ่มมีใบหูเกิดขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 8 ของการตั้งครรภ์ กำเนิดรอยพับเล็ก ๆ ที่จะเจริญเติบโตไปเป็นอวัยวะสำหรับการได้ยิน หลาย ๆ คนเชื่อว่า ลักษณะของใบหู สามารถบ่งบอกได้ว่า คนคนนั้นเป็นคนอย่างไร มีดวงชะตา วาสนา แม้กระทั่งว่า สามารถที่จะ ดูโหงวเฮ้งจากลักษณะใบหู ได้ นอกจากพัฒนาการด้านการได้ยินที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องหมั่นสังเกตแล้ว อาจจะต้องลองพินิจพิจารณารูปใบหูของลูกดูว่า ลูกเรามีบุญวาสนาขนาดไหนกัน
ใบหูของทารกจะเจริญเติบโต และมีความสามารถในการได้ยินเสียงของคุณพ่อคุณแม่ ตั้งแต่ที่อยู่ในครรภ์แล้ว โดยจุดเริ่มต้นของอวัยวะนี้ จะเริ่มจากรอยพับเล็ก ๆ ข้างศีรษะ และพัฒนาต่อไปจนกลายเป็นใบหูที่สมบูรณ์
การเจริญเติบโตของใบหู และพัฒนาการด้านการได้ยินของทารก
ใบหูของทารกจะเจริญเติบโต และมีความสามารถในการได้ยินเสียงของคุณพ่อคุณแม่ ตั้งแต่ที่อยู่ในครรภ์แล้ว โดยจุดเริ่มต้นของอวัยวะนี้ จะเริ่มจากรอยพับเล็ก ๆ ข้างศีรษะ และพัฒนาต่อไปจนกลายเป็นใบหูที่สมบูรณ์ ดังนี้
- 8 สัปดาห์ ลูกน้อยในครรภ์จะเริ่มมีรอยพับของผิวหนังที่สองข้างของศีรษะ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะเจริญเป็นใบหูต่อไป
- 12 สัปดาห์ ลักษณะของใบหู เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง
- 14 สัปดาห์ ใบหูจะเริ่มเคลื่อนเข้ามาอยู่ในตำแหน่งข้าง ๆ ใบหน้า และเริ่มเห็นคางชัดเจนขึ้นด้วย
- 20 สัปดาห์ ระบบหูชั้นกลาง และชั้นในจะพัฒนาสมบูรณ์ ถ้าหากว่าได้ยินเสียงดังมาก ๆ ลูกจะดิ้นแรง มีการตอบโต้ และอาจจะยกมือขึ้นมาปิดบริเวณใบหูได้
- 22 สัปดาห์ ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญ เพราะลูกจะจำเสียงร้องเพลง และเสียงพูดคุยของคุณแม่ได้
- 26 สัปดาห์ ลูกสามารถดิ้นตามจังหวะเพลงได้
- 31 สัปดาห์ สามารถแยกเสียงที่คุ้นเคย เช่น เสียงคุณพ่อ คุณแม่ และเสียงดนตรีที่แตกต่างกันได้
เมื่อคลอดออกมาแล้ว คุณแม่อาจต้องคอยสังเกตว่า ลูกน้อยมีพัฒนาการทางด้านการได้ยินที่ดีหรือเปล่า ใบหูมีขนาดปกติหรือไม่ เพราะหากลูกมีใบหูที่เล็กมากเกินไป อาจเสี่ยงต่อการมีภาวะใบหูเล็กผิดปกติแต่กำเนิดได้
ลักษณะโรคใบหูเล็กแต่กำเนิด เป็นอย่างไร ?
ภาวะใบหูเล็กแต่กำเนิด เป็นความผิดปกติของการสร้างใบหู ขณะที่ยังเป็นตัวอ่อนอยู่ในครรภ์มารดา ภาวะนี้ เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ไม่มีใบหูเลย ใบหูขาดหายไปเป็นบางส่วน จนถึงใบหูขนาดเล็กกว่าปกติ ลักษณะใบหูที่ผิดปกตินี้ อาจเกิดขึ้นเพียง 1 ใน 5,000 เท่านั้น
ลักษณะใบหูของทารกบอกอะไรได้บ้าง ?
หลาย ๆ คนเชื่อว่า ลักษณะของใบหู สามารถบ่งบอกได้ถึงฐานะ วาสนาของพ่อแม่ การเลี้ยงดูที่ได้รับในช่วงวัยเด็ก สติปัญญา โรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนลักษณะนิสัยไปจนถึงตอนโตได้เช่นกัน การ ดูโหงวเฮ้งจากลักษณะใบหู ของลูก สังเกตได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 14 ปี โดยเพศหญิงให้เริ่มต้นดูที่หูขวา เพศชายให้เริ่มต้นดูที่หูซ้าย
ลักษณะของใบหู สามารถบ่งบอกได้ถึงฐานะ วาสนาของพ่อแม่ การเลี้ยงดูที่ได้รับในช่วงวัยเด็ก สติปัญญา โรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนลักษณะนิสัยไปจนถึงตอนโตได้เช่นกัน
มาดูกันว่า ใบหูแบบไหน เป็นคนอย่างไร ?
- หูได้มาตรฐาน : ส่วนบนของใบหูเสมอคิ้วส่วนปลาย ส่วนติ่งหูเสมอจมูก บ่งบอกว่า ฐานะทางบ้านมีความมั่นคงตั้งแต่เด็ก
- ติ่งหูยาว หรือหูใหญ่ : คือคนที่ติ่งหูยาวกว่าปลายจมูก ถ้ามีความแข็ง และหนา แสดงว่า เป็นคนที่มีสติปัญญาดี สมองดี ไตมีความสมบูรณ์
- ติ่งหูสั้น : คือคนที่ติ่งหูสั้นกว่าปลายจมูก หมายถึง ไตไม่ค่อยแข็งแรง อายุไม่ค่อยยืนยาว
- หูเล็ก และบางอ่อน : คือคนที่ขาดพลังด้านสติปัญญา ไตไม่สมบูรณ์ อายุสั้น ขาดความกระตือรือร้น ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่มีความหนักแน่น
- ใบหูกาง : จะไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ และมักมีความเป็นเด็ก
- ใบหูแหลม และลีบติดศีรษะ : เป็นลักษณะหูที่ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะบ่งบอกว่าเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร
- หูสูงกว่าคิ้ว : หมายถึงคนที่มีความทะเยอทะยาน มีความกระตือรือร้นไขว่คว้าหาชื่อเสียง มีปัญญาโดดเด่น เชื่อมั่นในตัวเองสูง และเป็นเด็กที่มีความสามารถสูงกว่าเด็กวัยเดียวกัน
- หูต่ำกว่าคิ้ว : เป็นคนพูดจริงทำจริง เก่งด้านประสานงาน จะประสบความสำเร็จเมื่ออายุมาก เป็นคนที่ชอบประจบเอาใจ และมักเชื่อคนอื่นได้ง่าย
- ติ่งหูหนา มีเนื้อเยอะ : แสดงว่าจะมีคนคอยอุปถัมภ์ช่วยเหลืออยู่สม่ำเสมอ แต่จะมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้น ๆ
- รูหูกว้าง : แสดงว่าเป็นคนที่เปิดกว้างด้านความคิด มีทัศนคติที่ดี มีโอกาสเดินทางเก็บเกี่ยวประสบการณ์แปลกใหม่ ในอดีตว่ากันว่า เป็นหญิงไม่ควรหูกว้าง แต่ปัจจุบันไม่ค่อยถือสาเท่าไหร่
- รูหูแคบ : จะเป็นพวกอนุรักษนิยม
- ใบหูมีสีแตกต่างจากผิว : ถ้าหูเป็นสีแดง หรือดำคล้ำขึ้น บ่งชี้ว่ากำลังป่วยหนัก
เชื่อกันว่า เด็กที่ได้รับการเอาใจใส่ และการดูแลจากคนในครอบครัวอย่างดี ชีวิตวัยเด็กที่สมบูรณ์ จะมีลักษณะของใบหูที่ไม่บาง ไม่มีรอยหยักที่ขอบหู ไม่กางมากจนเกินไป และมีสีเหลืองอมชมพู ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรใช้วิจารณญาณในการอ่าน เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของแต่ละบุคคล ก็แตกต่างกันไป และขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัยด้วย
การดูแลใบหูของทารก ทำได้อย่างไร ?
เป็นสิ่งสำคัญมากที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องรักษาความสะอาดให้กับใบหูของลูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือโรคที่อาจทำให้เกิดความพิการทางการได้ยินได้
การทำความสะอาดใบหูของลูกนั้น ใช้เพียงผ้าสำหรับเช็ด สำลีก้อน และน้ำอุ่น ก็เพียงพอ ไม่ควรใช้คอตตอนบัด หรือไม้แคะหู เพราะจะอันตรายกับส่วนประกอบในใบหูของลูกมาก ๆ การแคะขี้หูก็เช่นกัน สำหรับลูกน้อยในตอนนี้ ขี้หูค่อนข้างจะมีประโยชน์ในการป้องกันฝุ่นละออง เชื้อแบคทีเรีย และเป็นสารหล่อลื่น การแคะหูลูก อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้มากกว่า
ใช้สำลีก้อน หรือผ้าสำหรับเช็ด ชุบน้ำอุ่น บีบให้หมาด และเช็ดรอบใบหูของลูก ทั้งด้านนอก และด้านหลัง ข้อควรระวังคือ อย่าให้ผ้าเปียกเกินไป เพราะอาจทำให้น้ำเข้าหูลูกได้ และไม่ควรแหย่เข้าไปในรูหูของลูก
ขั้นตอนการทำความสะอาดใบหูของลูก
การทำความสะอาดใบหูของลูก ควรทำเป็นประจำ วิธีการคือ ใช้สำลีก้อน หรือผ้าสำหรับเช็ด ชุบน้ำอุ่น บีบให้หมาด และเช็ดรอบใบหูของลูก ทั้งด้านนอก และด้านหลัง ข้อควรระวังคือ อย่าให้ผ้าเปียกเกินไป เพราะอาจทำให้น้ำเข้าหูลูกได้ และไม่ควรแหย่เข้าไปในรูหูของลูก
หยอดยาละลายขี้หูให้ลูก ทำอย่างไร ?
หากลูกน้อยจำเป็นต้องใช้ยาหยอดหู หรือคุณพ่อคุณแม่ต้องการจะหยอดยาละลายขี้หูให้กับลูก สามารถทำได้ดังนี้
- ให้ลูกนอนตะแคง หันหูข้างที่ต้องการจะหยอดขึ้นข้างบน
- ค่อย ๆ ดึงใบหูส่วนล่างอย่างเบามือ เพื่อเปิดช่องรูหูให้กว้างขึ้น
- หยดยาหยอดหูตามปริมาณที่แพทย์แนะนำ
- เพื่อให้ตัวยาไม่ไหลออกจากหูของลูก ให้อยู่ในท่านอนสักพัก 2 – 3 นาที จากนั้นจึงค่อยพลิกตัวไปอีกข้าง ให้หูข้างที่หยอดยาแล้ว อยู่ด้านล่าง
- ใช้ทิชชูซับส่วนที่ไหลออกมาจนหมด
อวัยวะต่าง ๆ ภายในหูของลูกบอบบางมาก การทำความสะอาด การแคะขี้หูให้ลูก การใช้ยาหยอดหู ควรจะทำภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และทำด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก
ที่มา: craniofacial, kapook, HR Magazine Thailand , healthline.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ดูดวงทารกจากเดือนเกิด วาสนาดีไหม โตไปเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่หรือเปล่า
ดวงกับอาชีพค้าขาย เลือกอาชีพตามวันเกิด ชีวิตรุ่งเรือง ไม่มีตกอับ ยิ่งขยันยิ่งรวย
ดวงไม่ใช่เนื้อคู่กัน อยู่ด้วยกันได้ไหม วิธีแก้ดวงที่ไม่ใช่เนื้อคู่ ให้อยู่กันยาวจนใคร ๆ ก็ต้องอิจฉา
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!