จากข่าวใหญ่วันที่ 3 เดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับ ข่าวเด็ก 14 ยิงห้างดัง จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และมีผู้เสียชีวิตร่วมด้วย ก่อนที่คนร้ายจะยอมวางอาวุธ และถูกจับกุมในเวลาต่อมา จนมีการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นว่าเด็กอายุ 14 คนนี้มีอาการป่วยทางจิตเวช ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจกระทำเรื่องดังกล่าว ในขณะที่บางสื่อพยายามเล่นประเด็นของการติดเกม และมองข้ามการดูแลของคนเป็นพ่อเป็นแม่ไป
ข่าวเด็ก 14 ยิงห้างดัง เกมคือสาเหตุหรือไม่
อย่างที่กล่าวไปว่ามีการเปิดข้อมูลว่าคนร้ายมีอาการทางจิตเวช ถึงแม้จะมีการค้นประวัติว่าเป็นเด็กที่ชอบเล่นเกม หรือติดเกม แต่เกมไม่ได้ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่รุนแรง เว้นเสียแต่ว่าผู้ที่เล่นนั้นไม่สามารถแยกแยะ ขาดการคิดวิเคราะห์ และไม่มีผู้ปกครองให้คำแนะนำ หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ เป็นเรื่องของตัวบุคคลที่ไม่แยกแยะเอง และเป็นเรื่องของครอบครัวที่ปล่อยปละละเลยมากเกินไปในสื่อต่าง ๆ ที่ลูกหยิบยกขึ้นมาดู หรือเล่นในแต่ละวันจนติดเป็นนิสัย
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Massey ประเทศนิวซีแลนด์ ได้มีการทบทวนการศึกษาอย่างละเอียด ผลออกมาว่าความสัมพันธ์ที่พบระหว่างวิดีโอเกมและความก้าวร้าวนั้นไม่สูงพอที่จะบอกได้ว่าเป็นปัจจัยหลักของความก้าวร้าวในเด็ก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของมหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษในหัวข้อความสัมพันธ์ระหว่างวิดีโอเกมและความก้าวร้าวในวัยรุ่น ซึ่งมีการระบุว่า ข้อสรุปในการศึกษาสมัยก่อนอาจเป็นผลมาจากอคติของนักวิจัยที่มีต่อวิดีโอเกม มากกว่าจะให้ความสำคัญกับผลลัพธ์จริง ๆ
เครดิตรูปภาพจาก : BBC NEWS ไทย
พฤติกรรมที่พ่อแม่ต้องระวัง คอยสังเกตลูกอยู่เสมอ
ในยุคดิจิทัลการเข้าถึงข้อมูล และสื่อต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องง่าย หากขาดการสอดส่องดูแล ขาดการควบคุม และการให้คำแนะนำ จะทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะ “พฤติกรรมเลียนแบบ” ที่เกิดจากทั้งความอยากเลียนแบบตัวละครในวิดีโอเกม ทั้ง ๆ ที่พื้นฐานของบุคคลทั่วไปจะสามารถแยกแยะเรื่องสมมติในเกม กับความจริงออกจากกันได้ แต่เพราะเด็กไม่ได้รับคำแนะนำ และขาดการวิเคราะห์จนนำไปเลียนแบบได้ สิ่งนี้จึงต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องระวัง โดยเฉพาะเด็กที่อายุยังน้อย
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงประเด็นในเรื่องของภาพยนตร์ด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีภาพยนตร์ที่สื่อถึงความรุนแรงออกมาให้ดูบ่อยครั้ง ถึงแม้จะโดนแบนไม่ให้เข้าฉาย แต่ถ้าเด็กต้องการดู ก็สามารถหาดูได้จากโลกออนไลน์อยู่ดี ไปจนถึงการเลียนแบบข่าวดัง ข่าวกราดยิงต่าง ๆ เมื่อมีข่าวเหล่านี้ขึ้นจอ พ่อแม่ก็ควรพูดคุยกับลูกเช่นกัน ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ดี ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะอะไร ก่อนที่เด็กอายุน้อยเหล่านี้จะคิดเป็นอย่างอื่น
สัญญาณที่บอกว่าลูกมีอาการทางจิตเวช
นอกจากเรื่องการลอกเลียนแบบแล้ว อีกอย่างหนึ่งจากข้อมูลข่าวคือ การมีอาการทางจิตเวชที่น่าเป็นห่วง เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในเด็กเช่นกัน ซึ่งมีสาเหตุที่หลากหลาย เช่น ความกดดันที่มากเกินไป ทั้งในแง่ของชีวิต หรือการศึกษา, เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี บุคคลรอบตัวแสดงพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของลูก ไปจนถึงความห่างเหิน ความไม่เอาใจใส่ของพ่อแม่จนทำให้เด็กเกิดความกังวล หรือพยายามมองหาที่พึ่งอื่น เกิดการเข้าใจ และการเรียนรู้ผิด ๆ จากที่ควรจะเป็น ซึ่งสามารถสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าต้องพาลูกไปพบแพทย์ ดังนี้
- มีอารมณ์แปรปรวน ชอบตะโกน ทำลายข้าวของ พูดจาไม่สุภาพ หรือทำร้ายผู้อื่น ไปจนถึงการพยายามที่จะทำร้ายตนเอง
- มีโลกส่วนตัวสูงเกินไป ไม่สุงสิงกับใคร พยายามปิดบังมีความลับ หวาดระแวง
- แสดงความอิจฉาผู้อื่น ต้องการสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น เกิดการเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลอื่นมากเกินไป
- ไม่สามารถยับยั้งความต้องการของตนเองได้ ทำอะไรไปโดยไม่คิดถึงผลที่ตามมา หรือถึงแม้จะรู้ผลกระทบแต่ก็ยังทำ ไม่มีการห้ามใจตนเองเลย
- มีพัฒนาการบางอย่างที่ล่าช้าอย่างชัดเจน เช่น การอ่าน การเขียน การคำนวณ ไปจนถึงการคิดวิเคราะห์ หรือการเข้าสังคม เป็นต้น
หากพบว่าลูกมีสัญญาณที่ผิดปกติ ผู้ปกครองควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจ และรับคำแนะนำในการรับมือ ก่อนที่จะมีอาการรุนแรง นอกจากนี้อย่าลืมที่พยายามใช้เวลากับลูก เรียนรู้นิสัย ตัวตนของลูก คอยสังเกตห่าง ๆ ว่าลูกเสพสื่อแบบไหน มีพฤติกรรมอย่างไรเมื่ออยู่กับเพื่อน ทั้งนี้ก็เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยทั้งสำหรับตัวของลูกเอง และสำหรับบุคคลอื่นด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทำไมลูกก้าวร้าว ต้นตอของปัญหาความก้าวร้าวในตัวเด็ก มีแบบไหนบ้าง
เกมมือถือ มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง ? ทำอย่างไรไม่ให้ลูกติดเกม
โรคทางจิตเวช โรคจิตคืออะไร ? รวมทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคจิตเวช
ที่มา : bbc, saranukromthai, royalsocietypublishing