คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายคน คงมีความกังวลต่าง ๆ เกี่ยวกับลูกน้อยที่เพิ่งเคยเจอกันครั้งแรก ทุกอย่างคือเรื่องใหม่ที่คุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยต่างก็ต้องเผชิญร่วมกัน มีทั้งความสุขและความกังวลเลยใช่ไหมคะ และเรื่องนึงที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะกำลังสงสัยกันอยู่คงเป็นเรื่อง ทารกระยะแรกเกิด เด็กแรกเกิดใน 1 เดือนแรกนั้น ต้องดูแลอย่างไร ลักษณะของลูกจะเป็นอย่างไร เรามาดูกันเลยค่ะ
ทารกระยะแรกเกิด
ทารกระยะแรกเกิด คือทารกที่อายุ 4 สัปดาห์ หรือ 28 วันค่ะ เด็กแรกเกิดทุกคนที่เกิดมาภูมิคุ้มกันยังไม่มากพอที่จะมาต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ทำให้ต้องมีการปรับตัว และได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากพ่อแม่ การที่พ่อแม่จะดูแลทารกให้มีสุขภาพที่ดีได้ ต้องมาดูลักษณะของทารกระยะแรกเกิดที่ถูกต้องกันค่ะ
ลักษณะของ ทารกระยะแรกเกิด
น้ำหนัก น้ำหนักเฉลี่ยของทารกในประเทศไทยนั้นอยู่ที่ 3,000 กรัม หรือประมาณ 3 กิโลกรัม ความยาวของตัวประมาณ 50 เซนติเมตร ศีรษะจะดูโตถ้าเทียบกับลำตัว ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้ทุกส่วน หากจับทารกนอนคว่ำ จะจับศีรษะให้หันไปทางซ้ายหรือทางขวาก็ไม่ได้ทำให้ทารกหายใจลำบากแต่อย่างใด ทารกจะสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดังหรือตกใจจากแรงสะเทือน ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวเป็นเรื่องโดยปกติของทารก แต่หากทารกนอนนิ่งเฉยไม่ค่อยตอบสนองอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับสมอง
ผิวหนัง
ลักษณะของผิวหนังทารกส่วนมากจะ บาง ใส จนเห็นเส้นเลือดฝอยได้ สีผิวมักจะมีสีแดงหรือชมพู มีขนอ่อนอยู่ตามลำตัว ทารกบางคนอาจจะมีภาวะตัวเหลือโดยสังเกตได้จากสีตาขาวจะมีสีออกเหลือง ๆ โดยจะพบได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรก สีผิวจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองออกส้ม หากพบปัญหานี้ให้พาทารกไปพบแพทย์ค่ะ
ศีรษะ
ขนาดของศีรษะทารกโดยเฉลี่ยคือ เส้นรอบวง 35 เซนติเมตร ตำแหน่งกลางศีรษะหรือที่เรียกว่ากระหม่อมจะมีลักษณะเป็นช่องนุ่ม ๆ สี่เหลี่ยม เนื่องจากศีรษะส่วนนี้ยังไม่มีกระดูกแข็ง ๆ มาหุ้ม ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษด้วยนะคะ โดยปกติศีรษะส่วนนี้จะปิดเต็มเมื่ออายุ 1 ปี 6 เดือนโดยประมาณค่ะ
สะดือ
หลังจากคลอดแล้วทารกจะมีสายสะดือติดอยู่ จะมีลักษณะเป็นสีขาวขุ่น มองเห็นเส้นเลือดดำ โดยสายสะดือนี้จะแห้งและหลุดไปเองได้ภายใน 7-10 วัน อาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ไม่เป็นอันตรายค่ะ
ขาโก่ง
เด็กทารกจะมีลักษณะขาโก่งตามธรรมชาติ ฉะนั้นไม่ควรดัดขาเด็กทารก เพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น บาดเจ็บที่ข้อหรือกระดูก ทารกที่ขาโก่งจะค่อย ๆ หายได้เองเมื่ออายุ 2 ปี
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : Apgar Score คือ อะไร การตรวจร่างกายของเด็กแรกเกิด แม่ ๆ ควรรู้ไว้
การหายใจ
โดยปกติทารกจะหายใจมากกว่าเด็กโตเกือบเท่าตัว โดยหายใจนาทีละประมาณ 30-40 ครั้ง ถ้าทารกไม่ได้มีอาการหอบหรือไอ ตัวเขียวจะถือว่าปกติค่ะ
อุจจาระ
หลังจากทารกคลอดออกมาแล้ว จะถ่ายอุจจาระภายใน 24 ชั่วโมงแรก ลักษณะของอุจจาระจะมีสีดำปนดำ หรือที่เรียกว่า ขี้เทา หลังจากทารกได้ทานนมแล้ว อุจจาระจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองในที่สุดค่ะ จะใช้เวลาประมาณ 4-5 วันแรก ทารกอุจจาระหลังทานนมเกือบทุกครั้ง อาจจะอุจจาระ 3-6 ครั้งต่อวัน
ช่องคลอด
ทารกแรกเกิดอาจจะมีเลือดออกเล็กน้อยทางช่องคลอดสำหรับทารกเพศหญิง เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนของแม่สู่ลูก จะเกิดหลังจากคลอด 3-4 วันแรก
เต้านม
ทารกทั้งเพศชายและหญิง จะมีเต้านมที่นูนเป็นเต้าขึ้นเล็กน้อย บางคนอาจจะมีน้ำนมไหลออกมาเล็กน้อย ถือเป็นการเปลี่ยนตามธรรมชาติ ไม่ควรไปบีบหรือเค้นออก เพราะอาจจะเกิดการอักเสบได้ ให้ปล่อยไว้และจะหายได้เอง
อาหารของ ทารกระยะแรกเกิด
ทารกแรกเกิด จนถึง 6 เดือน ให้ทานนมแม่เพียงอย่างเดียวตามที่ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำ เพราะในน้ำนมแม่มีน้ำและสารอาหารเพียงพอต่อลูกน้อย การที่แม่ให้นมลูกทันทีหลังคลอดได้จะดีที่สุด และให้ลูกทานนม 8-12 ครั้งต่อวัน การให้นมลูกแต่ละครั้ง คุณแม่ต้องทำความสะอาดหัวนม ลานนม ล้างมือให้สะอาด
การอุ้มทารกระยะแรกเกิด
- การอุ้มทารกในท่าปกติ คือการอุ้มทารกในท่าตะแคงเข้าหาอกแม่ ท้ายทอยของทารกอยู่บนข้อพับแขน แขนของแม่แนบไปตามลำตัวลูก อีกมืออุ้มประคองส่วนก้นและขา
- การอุ้มเรอ ให้อุ้มทารกพาดบ่า ใช้ไหล่ช่วยกดท้อง มืออีกข้างลูบหลังไล่ลม หรือจับทารกนั่ง ใช้มือจับที่อกทารก และลูบหลังช่วยไล่ลม
การอาบน้ำทารกระยะแรกเกิด
การอาบน้ำทารกควรทำวันละ 1-2 ครั้งต่อวัน และในการอาบน้ำต่อครั้ง ไม่ควรใช้เวลานานเกินไปเพราะทารกอาจจะไม่สบายได้ ก่อนที่จะอาบน้ำคุณแม่หรือคุณพ่อจะต้องล้างมือให้สะอาด ผสมน้ำอุณหภูมิปกติและน้ำอุ่นไม่ให้เย็นหรือร้อนจนเกินไป จากนั้นเริ่มทำความสะอาดใบหน้า และซอกหู ใบหู แล้วจึงเริ่มอาบน้ำ ใช้ฟองน้ำชุบน้ำแล้วเช็ดตัวทารกอย่างเบามือ ทำความสะอาดทั้งด้านหน้าและด้านหลังอย่างระมัดระวัง โดยใช้มือจับใต้รักแร้เพื่อล็อกไม่ให้ลื่นหลุดมือ หลังจากอาบน้ำแล้ว ให้อุ้มขึ้นมาวางบนผ้าสะอาดค่อยซับน้ำเบา ๆ จนแห้งสนิท จากนั้นใส่เสื้อผ้าได้เลยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ฉีดวัคซีนเด็ก ต้องฉีดอะไรบ้างที่สำคัญต่อทารกแรกเกิด เพื่อภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด
วิธีเล่นกับลูกน้อย แรกเกิด – 1 ปี เสริมสร้างพัฒนาการแบบปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ
เลือก ชุดเด็กแรกเกิด อย่างไร? ให้เหมาะและปลอดภัยสำหรับลูก สิ่งที่คุณแม่ควรรู้