พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ของทารก แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ กล้ามเนื้อมัดเล็ก และกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ซึ่งการส่งเสริมพัฒนาการนี้พ่อแม่สามารถช่วยเสริมสร้างให้ลูกตั้งแต่แรกเกิดได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นทักษะต่าง ๆ และสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor Development)
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ หมายถึง ความสามารถของร่างกายในการทรงตัว การเคลื่อนไหว และการเคลื่อนที่ เช่น การชันคอ การนั่ง การยืน และการคว่ำ เป็นต้น
- เด็กทารกแรกเกิด: งอแขนขา เคลื่อนไหวเท่ากัน 2 ด้าน
- 1 เดือน: หันหน้าซ้ายขวา
- 2 เดือน: ชันคอ
- 4 เดือน: ยกแขนดันตัวชูขึ้นในท่าคว่ำ
- 6 เดือน: คว่ำหงายได้เอง
- 9 เดือน: นั่งได้มั่นคง คลาน เกาะยืน
- 12 เดือน: เกาะเดิน
- 15 เดือน: เดินเองได้
- 18 เดือน: วิ่ง ยืนก้มเก็บของ
- 2 ปี: เตะลูกบอล กระโดด 2 เท้า
- 3 ปี: ขึ้นบันไดสลับเท้า ถีบรถ 3 ล้อ
- 4 ปี: ลงบันไดสลับเท้า กระโดดขาเดียว
- 5 ปี: กระโดดสลับเท้า เดินต่อเท้า
กิจกรรมเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดใหญ่
หากลูกของคุณอยู่ในช่วง 1-3 ขวบ สามารถเน้นส่งเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ได้จากการที่ให้ลูกเดินด้วยตัวเองเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงตัว และความสัมพันธ์ของแขนและขา แม้กระทั่งการเดินแล้วล้มก็เป็นทักษะหนึ่งที่เด็ก ๆ จะได้เรียน รวมถึงการใช้กล้ามเนื้อเพื่อระมัดระวังในการเดินครั้งต่อไป
เมื่อเด็กโตขึ้นอายุในช่วงวัย 3-6 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น รักในการสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ดังนั้น พ่อแม่จึงควรส่งเสริมให้ลูกใช้กล้ามเนื้อส่วนนี้จากการให้ลูกวิ่งเล่นในสวน การเล่นดินเล่นทราย การเล่นเครื่องเล่นในสวนสาธารณะ ล้วนเป็นกิจกรรมที่สร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการสร้างพื้นฐานทักษะด้านอารมณ์และสังคมได้อีกด้วย
บทความเพิ่มเติม : กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มีกิจกรรมอะไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไร
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor Development)
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก เป็นการใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ รวมถึงการใช้สายตา การใช้มือเพื่อกระทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง เช่น การควบคุมกล้ามเนื้อมือ ตา ปาก การหยิบจับ การขีดเขียน เป็นต้น
- เด็กทารกแรกเกิด: ปฏิกิริยาสะท้อนที่ฝ่ามือ
- 1 เดือน: กำมือแน่น
- 2 เดือน:กำมือหลวม มองตาม
- 4 เดือน: คว้าของใกล้ตัว
- 6 เดือน: หยิบของมือเดียว เปลี่ยนมือได้
- 9 เดือน: ใช้นิ้วหยิบของเล็ก ๆ
- 12 เดือน: หยิบของใส่ถ้วย/ใส่กล่อง
- 15 เดือน: วางก้อนไม้ซ้อน 2 ชั้น
- 18 เดือน: วางก้อนไม้ซ้อน 3 ชั้น
- 2 ปี: วางก้อนไม้ซ้อน 6 ชั้น
- 3 ปี: วาดวงกลมตามแบบ
- 4 ปี: วาดสี่เหลี่ยมตามแบบ
- 5 ปี: วาดสามเหลี่ยมตามแบบ
กิจกรรมเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก
คุณพ่อคุณแม่สามารถหัดให้ลูกโดยการใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ในการหยิบจับสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ สำหรับเด็กที่มีอายุ 1-3 ปี พ่อแม่อาจสอนให้ลูกน้อยพับกระดาษเป็นชิ้นเล็ก ๆ สอนให้ลูกขีดเขียนโดยใช้ดินสอวาดเป็นเส้นตรงหรือเส้นโค้ง หรือตามรอยประก็ได้
พอลูกน้อยอายุ 3-6 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้เขาได้เล่นกิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะมากขึ้นใช้ของเล่นเสริมพัฒนาการ เช่น การร้อยลูกปัดเป็นสร้อย การตัดกระดาษ ทำงานประดิษฐ์ การระบายสี วาดภาพ แบบฝึกหัดคัดลายมือ ปั้นดินน้ำมัน หรือแม้แต่การออกไปเล่นกีฬา เช่น การฝึกโยนรับลูกบอล
พัฒนาการในเด็ก
คือ เรื่องของความเปลี่ยนแปลงความสามารถในการทำหน้าที่ในเรื่องวุฒิภาวะของอวัยวะ และระบบต่าง ๆ รวมถึงตัวบุคคลที่สามารถทำสิ่งที่ยาก ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งพ่อแม่ควรหมั่นสังเกตสัญญาณเตือน…ว่าลูกมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเพื่อน ๆ วัยเดียวกันหรือไม่ เพราะหากปล่อยไว้นาน ๆ ไม่รีบรักษาจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตของเด็กได้
บทความเพิ่มเติม : คุณแม่รู้ไหม ? ให้ลูก ๆ เล่น วิ่งไล่จับ ช่วยเสริมพัฒนาการเด็ก ๆ ได้ดี !
พัฒนาการของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 5 ด้าน
- พัฒนาการด้านร่างกาย คือ ความสามารถของร่างกายในการทรงตัว เคลื่อนไหว เคลื่อนที่โดยการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ประสาทสัมผัสต่าง ๆ รวมถึงการใช้ตา และมือประสานกันในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
- พัฒนาการด้านสติปัญญา คือความสามารถในการเรียนรู้ เข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ เหตุผล ความคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ รวมถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหา
- พัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์ คือความสามารถในด้านความรู้สึก และการแสดงออกทางอารมณ์ แยกแยะและควบคุมอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ
- พัฒนาการด้านสังคม คือความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีทักษะการปรับตัวในสังคม มีความรับผิดชอบ ร่วมมือกับผู้อื่น และมีความเป็นตัวของตัวเอง การช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน การปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับกาลเทศะ มีมารยาท และระเบียบวินัย
พัฒนาการด้านจิตวิญญาณ คือการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการรู้จักคุณค่าของชีวิตของตนเอง มีกำลังใจในการควบคุมตนเองให้เลือกดำรงชีวิตในทางที่ชอบที่ควรและสร้างสรรค์ นำมาสู่การรู้จักคุณค่าชีวิตของคนอื่น ๆ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และพัฒนาการด้านคุณธรรม ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของชีวิตที่ดีงาม
สาเหตุของการบกพร่องทางด้านพัฒนาการ
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์เปราะ กลุ่มอาการพราเดอร์ วิลลี่ กลุ่มอาการแองเจลแมน เป็นต้น
- ความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลาง
- การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อหัดเยอรมัน การติดเชื้อเอชไอวี เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
- การได้รับสารพิษ เช่น fetal alcohol syndrome พิษจากตะกั่ว เป็นต้น
- ความผิดปกติ และภาวะแทรกซ้อนในการคลอด เช่น ภาวะขาดออกซิเจน บิลลิรูบินในเลือดสูง คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย เป็นต้น
- ความผิดปกติเกี่ยวกับเมตาบอลิซึม เช่น ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น
- ขาดสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็ก
- การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ขาดการกระตุ้นพัฒนาการ
สัญญาณเตือนพัฒนาการล่าช้าของเด็ก
- ไม่สนใจทำกิจกรรมหรือไม่สามารถทำกิจกรรมใด ๆ ได้ตามที่เด็กในวัยนั้นควรทำ
- สนใจในสิ่งที่เด็กคนอื่นไม่สนใจ และรู้สึกสนุกกับสิ่งบางอย่าง หรือของเล่นมากกว่าการเล่นหรือพูดคุยกับคนอื่น
- ไม่ยอมสบตา และพยายามหลบหลีกอยู่เสมอ
- หงุดหงิดง่าย ไม่สามารถทำอะไรง่าย ๆ อย่างเด็กคนอื่นได้
- แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเมื่อเทียบกับเด็กที่มีอายุเท่ากัน
- เหม่อลอย จ้องอยู่กับอะไรก็ไม่รู้ และชอบพูดคนเดียวเป็นประจำ
- ไม่ยอมเข้าหาพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดู
- ล้มง่าย เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว
สาเหตุที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า
- เกิดความผิดปกติของยีนหรือโครโมโซมที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่เด็ก
- เกิดจากที่แม่สัมผัสสิ่งที่เป็นอันตรายก่อนหรือหลังคลอด เช่น ตะกั่ว หรือยาอันตราย
- เกิดจากการขาดสารอาหารที่เพียงพอต่อร่างกายลูกน้อย
- การติดเชื้อ เช่น โรคหัดเยอรมัน เชื้อเอชไอวี
- การคลอดก่อนกำหนด
- ภาวะซึมเศร้าของคุณแม่เอง
- การขาดการดูแลเอาใจใส่ทารกในครรภ์
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีพัฒนาการล่าช้า ควรพาลูกมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจคัดกรอง และประเมินพัฒนาการด้วยเครื่องมือที่เป็นมาตรฐาน หาสาเหตุ รวมถึงอาจส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การส่งตรวจทางพันธุกรรม การตรวจระดับไทรอยด์ฮอร์โมน การถ่ายภาพสมอง ตรวจการมองเห็นหรือการได้ยิน เป็นต้น เพื่อจะได้รักษาให้ตรงกับสาเหตุ ร่วมกับการกระตุ้นพัฒนาการโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หากคุณพ่อคุณแม่ดูแล้วว่าลูกไม่สามารถทำกิจกรรม หรือมีพฤติกรรมตามที่กำหนดไว้ พ่อแม่ควรจดพฤติกรรมของลูกน้อย แล้วนำไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาแนวทางแก้ไข อย่ารอให้สายเกินไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ฝึกลูกเขียนหนังสือ ด้วยดินสอไม้ พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เสริมสมาธิเจ้าตัวน้อย
อาหารที่เด็กเล็กไม่ควรกิน อาหารอันตรายกินแล้วลูกเสี่ยงตาย-พัฒนาการช้า
ฝึกลูกอย่างไรให้มีความอดทน รู้จักรอคอย ไม่กลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง!
ที่มา : med