ฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อกันได้หลายรูปแบบ ถึงแม้อาการจะไม่รุนแรงมาก แต่มีอัตราการเสียชีวิตพบได้มากที่สุดในเด็กเล็ก ด้วยการรักษาโรคนี้ยังไม่สามารถทำได้โดยตรง จึงต้องให้ความสำคัญกับอาการป่วยของลูกน้อย ไปจนถึงการป้องกันเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ หากมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น
โรคฝีดาษลิง เกิดจากอะไร ?
เกิดจากการติดต่อของเชื้อไวรัส Othopoxvirus จากสัตว์สู่คน และจากคนสู่คน โดยปกติแล้วจะไม่เกิดการระบาดที่รุนแรงมากนัก แต่ในช่วงที่มีอากาศร้อน จะทำให้เกิดการระบาดได้มากขึ้น และเป็นที่น่าสนใจ คือ ถึงแม้จะติดต่อได้ยาก แต่การระบาดกลับกระจายตัวไปในหลายประเทศแล้วในตอนนี้ โรคนี้มีอาการที่ไม่รุนแรง แต่มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดในกลุ่มของเด็กเล็ก
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปลูกฝี ป้องกันฝีดาษลิงได้จริงไหม คนรุ่นใหม่ไม่เคยปลูกฝีควรทำอย่างไร ?
ฝีดาษลิง อันตรายกับเด็กมากแค่ไหน ?
อัตราการเสียชีวิต เมื่อป่วยเป็นโรคร้ายนี้ คือ 10 % ของผู้ป่วย โดยสาเหตุหลักของการเสียชีวิตนั้น มาจากภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ภาวะสมองอักเสบ, การติดเชื้อในปอด และการขาดน้ำ เป็นต้น เชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง ทำให้น่ากลัวในส่วนของอาการแทรกซ้อนเท่านั้น และในอัตราผู้เสียชีวิตส่วนมากจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ทำให้ต้องระมัดระวัง เนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อผ่านกันได้
โดยทาง WHO (World Health Organization) ได้เผยข้อมูลว่าการระบาดมีการแพร่กระจายไปแล้ว 15 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย, อิสราเอล, แคนาดา, สวิตเซอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, เบลเยียม, อิตาลี, โปรตุเกส, ออสเตรเลีย, สเปน, เยอรมนี, สวีเดน, สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์
วิดีโอจาก : TNN Online
การติดต่อของฝีดาษลิงเกิดยากแต่ต้องระวัง
นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลว่า ฝีดาษลิงถือเป็นโรคที่ติดต่อได้ยากกว่าโรคฝีดาษ และโดยทั่วไปจะมีอาการไม่รุนแรง โรคนี้สามารถติดมาได้จากสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ชนิดมีฟันแทะ เช่น กระต่าย, หนู หรือกระรอก เป็นต้น และยังติดต่อได้จากคนสู่คน ด้วยเหตุนี้เองทำให้มีความเสี่ยงทั้งคนทั่วไป รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน
- การติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ : สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสทางผิวหนัง หรือเยื่อเมือก เช่น ตา, จมูก, และ ปาก เป็นต้น หรือจากสารคัดหลั่ง ของสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสนี้, การถูกสัตว์ดังกล่าวกัด หรือข่วน, การสัมผัสเครื่องมือ เครื่องใช้ที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัส ไปจนถึงการนำซากสัตว์ที่มีเชื้อมาปรุงเป็นอาหาร ก็สามารถทำให้เกิดการติดต่อได้เช่นกัน
- การติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ : การติดต่อหลัก ๆ แล้วจะติดต่อผ่านละอองฝอยทางระบบหายใจขนาดใหญ่ เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรืออยู่ใกล้กับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง รวมไปถึงการสัมผัสสารคัดหลั่ง, เลือด, เชื้อโรคตามผิวหนัง รวมไปถึงของใช้ต่าง ๆ ของผู้ป่วย
หลังจากรับเชื้อไปแล้ว จะมีระยะฟักตัวประมาณ 7 – 14 วัน อาจนานมากที่สุดประมาณ 21 วัน หากเป็นเด็กเล็ก จะต้องมีการติดตามคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ โรคระบาดร้ายแรงในอดีตเกิดจากอะไร รุนแรงแค่ไหน ?
อาการฝีดาษลิง เป็นอย่างไร ?
จากข้อมูลของ แพทย์หญิง มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ แสดงให้เห็นว่า “ฝีดาษลิง” มีความแตกต่างกับ “ฝีดาษ” อยู่พอสมควร ผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังติดเชื้อไปแล้วประมาณ 12 วัน โดยให้สังเกตอาการ ดังนี้
- จะมีไข้มาก่อนอาการอื่น ๆ
- มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- เจ็บคอ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- มีอาการซึม
ความแตกต่างกันของทั้ง 2 โรคนี้ คือ ฝีดาษ จะไม่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งแตกต่างกับฝีดาษลิง และฝีดาษลิง ยังมีอาการผื่นขึ้นตามใบหน้า หรือกระจายไปยังผิวหนังส่วนอื่น ๆ ผื่นดังกล่าวจะเป็นตุ่มแดงนูน แล้วจะกลายเป็นตุ่มน้ำ และเป็นตุ่มหนองตามลำดับ จนสุดท้ายตุ่มจะแตกออก และแห้งกลายเป็นสะเก็ด
ฝีดาษลิง รักษาได้อย่างไร ?
หากพบผู้ป่วย หรือผู้ที่มีอาการเข้าข่ายให้รีบแยกผู้ป่วย เฝ้าระวัง และป้องกันระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย โดยเฉพาะเด็ก ๆ เพราะร่างกายอาจยังไม่แข็งแรงพอ จากนั้นให้รีบนำตัวเข้าพบแพทย์เพื่อรับการดูแลต่อไป ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่สามารถรักษาโรคนี้ได้โดยตรง ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาต้านไวรัส เช่น Brincidofovir, Cidofovir หรือ Tecovirimat เป็นต้น
ดังนั้นการรักษาที่ดีที่สุดของทุกคนในตอนนี้ คือ การป้องกันไม่ให้ตนเองติดเชื้อ โดยสามารถรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ ซึ่งสามารถช่วยได้ มีประสิทธิภาพจากการทดสอบแล้วสูงสุด 85 % ในการป้องกันโรคฝีดาษลิง แต่ไม่ได้หมายความว่ารับวัคซีนไปแล้วจะทำให้ไม่ติดเชื้อ หากเกิดการติดเชื้อจะทำให้อาการลดลงได้กว่าปกติ
วัคซีนเป็นทางเลือกที่ได้ผลที่สุดในเวลานี้
จากที่กล่าวไปแล้วว่า โรคฝีดาษลิง ยังไม่สามารถรักษาได้โดยตรง จึงต้องพึ่งวัคซีนของโรคฝีดาษ (วัคซีนไข้ทรพิษ) ไปก่อน โดยนอกจากการรับวัคซีน ยังมีวิธีอื่นที่สามารถช่วยป้องกันโรคนี้ได้ เช่น หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง, เลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ หรือคนที่มีความเสี่ยง หรือกำลังป่วย, งดทานอาหารที่ทำมาจากสัตว์ป่า, ล้างมือ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ รวมไปถึงวิธีที่เด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก คือ “การปลูกฝี”
ทำไมเด็กยุคใหม่ไม่ได้รับการปลูกฝี
ในอดีตกาลปลูกฝีเป็นวิธีป้องกันโรคร้ายอย่าง ฝีดาษได้เป็นอย่างดี เพราะเคยมีการระบาดมาก่อน จนกระทั่ง พ.ศ. 2523 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีประกาศว่าไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษถูกควบคุมแล้ว และถูกกำจัดไม่มีการระบาดหลงเหลืออยู่แต่อย่างใด ทำให้ชาวไทยลดความนิยมในการปลูกฝีให้กับเด็กเล็กมาเรื่อย ๆ จนในปัจจุบันมีการปลูกฝีน้อยลงไปมาก ทำให้เด็กเล็ก หรือลูกน้อยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้นั่นเอง
ถึงแม้ว่าจะมั่นใจในการป้องกันฝีดาษลิงกับลูกน้อยแล้ว การเฝ้าระวัง และการสังเกตอาการป่วยของลูก เป็นสิ่งที่ยังคงต้องทำอยู่ เนื่องด้วยร่างกายของเด็ก อาจยังไม่แข็งแรงเท่ากับผู้ใหญ่ การติดเชื้อที่มีความอันตรายต่ำ สามารถรุนแรงได้ไม่ใช่เพียงแค่เชื้อไวรัส Othopoxvirus เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเชื้ออื่น ๆ ด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ฉีดวัคซีนให้เด็ก ดียังไง ทำไมเด็ก ๆ ควรได้รับการฉีดวัคซีน
ไวรัสคืออะไร มาจากไหน รวมเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัส
โรคระบาด อดีต ปัจจุบันและอนาคต เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคระบาด
โรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ โรคระบาดร้ายแรงในอดีตเกิดจากอะไร รุนแรงแค่ไหน?
ที่มา : bbc.com, bangkokbiznews.com , pptvhd36.com