จากกรณีข่าวการหายตัวไปของน้องจีน่า เด็กหญิงวัย 1 ขวบ 11 เดือน ที่ภายหลังพบว่าถูกลักพาตัว แล้วถูกปล่อยทิ้งไว้คนเดียวนานกว่า 4 วัน ถึงแม้น้องจะปลอดภัยดี แต่ใช่ว่าเด็กเล็กรุ่นเดียวกันจะโชคดีอย่างนี้ อย่างกรณีของการหายตัวไปของน้องชมพู่ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ที่เป็นข่าวสะเทือนขวัญใครหลาย ๆ คน ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้คงจะไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้เกิดขึ้นกับลูกตัวเองเป็นแน่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนลูกให้รู้วิธีป้องกันตัวเมื่อเกิดหลงทางหรือพลัดหลงกับคุณพ่อคุณแม่ รวมไปถึงหากลูกน้อยหายไปคุณพ่อคุณแม่จะต้องทำอย่างไร ลูกหายไปต้องทำยังไง วันนี้เรามีแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาฝากกัน
วิธีสอนลูก หากลูกเกิดพลัดหลง
1. ห้อยสายข้อมือข้อมูลลูก
หากลูกยังเด็กเกินไป อาจจะยังจำอะไรไม่ได้มากนัก หรืออาจจะยังพูดไม่คล่องด้วยซ้ำ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ ควรห้อยสายข้อมือที่มีข้อมูลอย่างเบอร์โทรพ่อแม่ ชื่อและนามสกุลลูก จะทำให้เมื่อพลัดหลงแล้วหาเจอง่ายขึ้น
บทความที่น่าสนใจ : ป้องกันเด็กหาย!!! เริ่มที่พ่อแม่สอนลูกให้ถูกทาง
2. สอนให้ลูกจำชื่อพ่อแม่ และเบอร์โทรศัพท์พ่อแม่ให้ได้
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกจำชื่อของคุณพ่อคุณแม่ได้ ทั้งชื่อจริงและชื่อเล่น รวมไปถึงเบอร์โทรศัพท์ เพราะเมื่อหากพลัดหลงกัน หากลูกจำเบอร์โทรศัพท์ได้ ก็จะทำให้สามารถตามหาคุณพ่อคุณแม่ได้ง่ายที่สุด หรือจะเป็นการได้ตะโกนเรียกชื่อของคุณพ่อและคุณแม่ เพราะหากเรียกเพียงแค่พ่อ หรือแม่อย่างเดียว เสียงอาจถูกกลืนไปกับเสียงของผู้คนและเด็กคนอื่น ๆ ได้
3. สอนให้ลูกจำชื่อเล่น ชื่อจริงของตัวเองให้ได้
อีกหนึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกน้อยให้จำได้คือ ชื่อเล่น และชื่อจริงของตัวลูกเอง ซึ่งถ้าหากลูกน้อยสามารถเขียนได้ก็จะดีมาก ๆ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ลูกต้องพลัดหลงกับพ่อแม่ แล้วตำรวจถามชื่อลูก ซึ่งตัวลูกอาจจะยังพูดไม่ค่อยชัด ก็ให้ลูกใช้วิธีเขียนให้ดูก็ได้เหมือนกัน
4. สอนให้ลูกรู้จักของความช่วยเหลือจากตำรวจ
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกขอความช่วยเหลือจากตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ โดยให้คุณพ่อคุณแม่เขียนกระดาษโน๊ตที่มีข้อมูลของคุณพ่อคุณแม่เอง เก็บไว้กับตัวลูก เมื่อเกิดเหตุการณ์พลัดหลงกับพ่อแม่ ลูกจะได้นำกระดาษโน๊ตยื่นให้ตำรวจทำการช่วยเหลือต่อไปได้
5. หากพลัดหลง ให้ลูกตะโกนดัง ๆ เพื่อเรียกพ่อแม่
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกตะโกนเรียกชื่อของคุณพ่อคุณแม่ทันทีเมื่อพลัดหลง เพราะบางทีคุณพ่อคุณแม่อาจจะอยู่ใกล้ ๆ แต่มองไม่เห็น ซึ่งหากเรียกเพียงแค่พ่อ หรือแม่อย่างเดียว เสียงอาจถูกกลืนไปกับเสียงของผู้คนและเด็กคนอื่น ๆ ได้
6. สอนให้ลูกปฏิเสธคนแปลกหน้า
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักรับมือ หากมีคนแปลกหน้ามารับลูกที่โรงเรียนควรจะทำอย่างไร ซึ่งการปฏิเสธคนแปลกหน้านั้นมีได้หลายรูปแบบเลย ทั้งการสายหน้าแล้ววิ่งหนี หรือการหลีกเลี่ยงการสนทนา และการเดินไปหาคุณครูเพื่อขอความช่วยเหลือ เป็นต้น
7. สอนให้ลูกฝึกแก้ปัญหา
คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะหมั่นตั้งคำถามให้ลูกรู้จักแก้ปัญหา เช่น ถ้าลูกหลงทางกับพ่อแม่ลูกควรทำอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้ลูกคิด และอธิบายถึงวิธีแก้ปัญหา ต้องสอนให้ลูกรู้จักตั้งสติ หากร้องไห้จะทำให้คิดไม่ออกว่าควรแก้ปัญหานี้อย่างไร คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกได้ลองแก้ปัญหา ลองตัดสินใจดู เพื่อจะได้เตรียมรับมือได้อย่างถูกวิธี
ลูกหายไปต้องทำยังไง คุณพ่อคุณแม่จะต้องรับมืออย่างไร
1. หากลูกหายไป พ่อและแม่ควรตั้งสติให้เร็วที่สุด
2. กลับไปตามหาในจุดที่เห็นลูกเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งรวมไปถึงสถานที่ที่ลูกอาจไป
3. จดจำรายละเอียดของลูกให้ได้มากที่สุด เช่น รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย
4. นำข้อมูลไปแจ้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานที่นั้น ๆ ให้ประกาศและช่วยค้นหาลูก
5. หากแน่ใจแล้วว่าลูกหายไป ให้แจ้งความทันที ไม่ต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมง
6. ใช้ช่องทางออนไลน์เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการตามหาลูก โดยแจ้งข้อมูลของลูกพร้อมภาพ สถานที่ วันเวลาที่ลูกหายตัวไปพร้อมเบอร์ติดต่อกลับของพ่อแม่
7. คอยติดตามเรื่องจากสถานีตำรวจ และหน่วยงานที่ไปขอความช่วยเหลือ
บทความที่น่าสนใจ : รู้ไว้ก่อนสาย เพราะ “เด็กหาย” อาจเป็นลูกคุณ
ลูกหาย ไปแจ้งที่ไหนได้บ้าง
1. ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา
เบอร์โทรติดต่อ 080-775-2673
2. ศูนย์ประชาบดี
เบอร์โทรติดต่อ 1300
3. ศูนย์สวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และสตรีกองบัญชา
เบอร์โทรติดต่อ 0-2282-3892
4. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
เบอร์โทรติดต่อ 0-2225-3211
5. มูลนิธิร่วมกตัญญู
เบอร์โทรติดต่อ 0-2235-4349
6. มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
เบอร์โทรติดต่อ 0-2412-0739
7. คลื่นวิทยุ จ.ส.100
เบอร์โทรติดต่อ 1137
บทความที่น่าสนใจ :
หลาน 2 ขวบจมทะเลต่อหน้าปู่ อุทาหรณ์! อย่าปล่อยให้เด็กคลาดสายตา
ลุงพล โดนรวบแล้ว! ปิดตำนานบ้านกกกอก …แม่ชมพู่ลั่น ใครฆ่าน้องชมพู่ ต้องชดใช้กรรม
แม่ใจสลาย ! ลูกชายวัย 3 ขวบ หายตัวไป ขณะเล่นซ่อนแอบ
ที่มา : Parentsone, Passeducation, Komchadluek