อันตรายจากการปล่อยให้ลูกฟันน้ำนมผุ ผลกระทบมากกว่าที่คุณคิด

การแปรงฟันให้ลูกอาจเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ท้าทายสำหรับหลายครอบครัว เนื่องจากลูกมักไม่ให้ความร่วมมือ จนบางครั้งคุณแม่เริ่มอ่อนใจ คิดว่าไม่เป็นไร เอาไว้ฟันแท้ขึ้นค่อยดูแลก็ได้ คุณแม่ทราบไหมคะว่า หากปล่อยให้ลูกฟันน้ำนมผุ มีผลกระทบตามมามากกว่าที่คิด

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

อันตรายจากการปล่อยให้ ลูกฟันน้ำนมผุ ผลกระทบมากกว่าที่คุณคิด

ดูแลและเอาใจใส่ อย่าปล่อยให้ ลูกฟันน้ำนมผุ

ผู้ช่วยศาตราจารย์ทันตแพทย์หญิงลลิตกร พรหมมา คลินิกศัลยศาสตร์ช่องปาก โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ฟันน้ำนมสามารถผุได้ตั้งแต่อายุเพียง 9 เดือน หากขาดการดูแลที่ดี ทั้งนี้ เนื่องจากชั้นเคลือบฟันของฟันน้ำนมจะบางกว่าชั้นเคลือบฟันของฟันแท้มาก คือหนาประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้เท่านั้น นอกจากนี้ ฟันน้ำนมยังมีแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของความแข็งแรง เช่น แคลเซียม และฟอสฟอรัสน้อยกว่าในฟันแท้ จึงทำให้ฟันน้ำนมผุได้ง่ายและเร็วกว่าฟันแท้มาก

โดยฟันน้ำนมซี่หน้าบนจะผุได้ง่ายกว่าฟันหน้าล่าง เนื่องจากการดูดขวดนมจะทำให้ฟันน้ำนมซี่หน้าบนสัมผัสกับน้ำนมได้มากและนาน อีกทั้งบริเวณฟันน้ำนมบนจะมีน้ำลายไหลผ่านน้อยกว่าฟันน้ำนมล่าง ทำให้น้ำลายไม่ได้ช่วยชะล้างคราบน้ำนมและน้ำตาลที่ติดอยู่บนฟันออกไปได้ จึงเกิดการสะสมของน้ำตาลที่ฟัน อีกบริเวณที่ฟันน้ำนมผุง่ายก็คือ ฟันกรามน้ำนมด้านบดเคี้ยว เพราะเป็นซี่ที่อยู่ด้านใน ทำให้ทำความสะอาดได้ยาก

ลูกฟันน้ำนมผุเพราะพ่อแม่นั่นแหละ

  • การเลี้ยงดูของครอบครัว เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกฟันน้ำนมผุ ได้แก่
    • ปล่อยให้เด็กนอนหลับไปพร้อมกับขวดนม จึงทำให้น้ำตาลที่อยู่ในน้ำนมหรือนมผงสามารถทำลายเคลือบฟันน้ำนมได้
    • การรับประทานขนมกรุบกรอบและขนมหวาน แล้วไม่ยอมแปรงฟัน ผู้ปกครองที่ไม่เห็นความสำคัญของฟันน้ำนม จึงไม่ใส่ใจต่อการแปรงฟันน้ำนมของลูกมากนัก อีกทั้งไม่ช่วยแปรงฟันให้ลูกทุกวัน ก็มีโอกาสที่ฟันน้ำนมจะผุได้มาก
    • ความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า เดี๋ยวฟันน้ำนมก็ต้องหลุดไป แล้วมีฟันแท้ขึ้นแทนที่ จึงไม่ใส่ใจต่อการแปรงฟันน้ำนมของลูกมากนัก
  • สาเหตุที่ไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดู อาจเกิดได้จากโครงสร้างของฟันเด็กที่ไม่สมบูรณ์ อาจเป็นเพราะคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย หรือแม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์

ผลกระทบเมื่อลูกฟันน้ำนมผุ

  • ทำให้ฟันน้ำนมซี่อื่นผุไปด้วย หากลูกฟันผุมาก ๆ ย่อมมีอาการปวดฟันตามมา โดยเฉพาะหากฟันกรามน้ำนมผุ จะสามารถลุกลามเป็นฟันผุลึกขนาดใหญ่ได้ในเวลาเพียง 6-12 เดือน และยังอาจทำให้ฟันน้ำนมซี่ที่อยู่ข้างเคียงผุตามไปได้ด้วย
  • เพิ่มโอกาสที่ฟันแท้จะผุ ฟันน้ำนมเป็นแนวนำทางการขึ้นให้กับหน่อฟันแท้ หากเกิดโรคฟันผุ มักจะมีแนวโน้มที่ฟันถาวรจะมีการผุตามไปด้วย ดังนั้น หากปล่อยให้ลูกฟันน้ำนมผุ แล้วจะมาดูแลตอนที่ฟันแท้ขึ้นนั้นไม่ทันแล้ว
  • มีผลต่อการเจริญเติบโตของลูก เมื่อลูกฟันกรามผุ ก็จะปวดฟันทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ น้ำหนักตัวลดลง บางคนอาจถึงขั้นขาดสารอาหารส่งผลต่อระดับการเจริญเติบโต พัฒนาการของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า และช่องปาก รวมทั้งกระดูกขากรรไกรด้วย
  • อาจเกิดติดเชื้อลุกลาม เนื่องจากเด็ก ๆ ที่มีฟันน้ำนมผุจะมีเชื้อโรคในช่องปากมาก หากฟันน้ำนมผุมาก อาจเกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของขากรรไกรและใบหน้า ลำคอ หรือทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตได้ เนื่องจากความต้านทานเชื้อโรคในตัวเด็กมีน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก
  • เกิดปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์ เพราะเด็กที่มีฟันน้ำนมผุมากอาจต้องถูกถอนฟัน ทำให้ฟันแท้ที่จะขึ้นตามมาขึ้นได้ช้ากว่าปกติ หรือเกิดปัญหาฟันซ้อนเกได้ เนื่องจากฟันซี่ข้างเคียงฟันน้ำนมที่ถูกถอนล้มเอียงมาแทนที่ หรือเกิดปัญหาทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง จากการมีฟันน้ำนมด้านหน้าสีดำคล้ำ เด็กจะไม่กล้าพูด กล้าคุย เพราะกลัวเพื่อนล้อเลียน

อาการปวดฟัน ส่งผลต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ของเด็กๆ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การรักษา ฟันน้ำนมผุ

หากฟันน้ำนมที่ผุไม่ลึก คุณหมอฟันจะช่วยอุดฟันให้ แต่หากฟันน้ำนมที่ผุลึกเข้าไปถึงโพรงประสาทฟัน คุณหมอฟันจะต้องรักษาด้วยการรักษาคลองรากฟันในกรณีที่ยังไม่มีการทำลายรากฟันน้ำนมและกระดูกเบ้าฟันไปมาก หรือถอนฟันในกรณีที่รากฟันน้ำนมและกระดูกเบ้าฟันละลายไปมากแล้ว อย่างไรก็ตามคุณหมอฟันจะแนะนำให้เก็บรักษาฟันน้ำนมไว้สำหรับใช้งาน และช่วยรักษาช่องว่างไว้เพื่อรอจนฟันแท้ขึ้นมาแทนที่

ในการอุดฟันน้ำนมที่ผุลึกมาก การถอนฟันน้ำนม หรือการรักษาคลองรากฟันน้ำนม คุณหมอฟันจะฉีดยาชา หรือป้ายยาชา เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกเจ็บปวดจนทนไม่ไหว

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

วิธีป้องกันไม่ให้ฟันน้ำนมผุ

ปัญหาฟันน้ำนมผุเป็นปัญหาใหญ่ และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ฟันน้ำนมของลูกผุ ต้องหมั่นใส่ใจเรื่องความสะอาดช่องปากของลูก และปฏิบัติตามข้อแนะนำต่อไปนี้

  • ฝึกให้ลูกเข้านอนโดยไม่มีนิสัยติดขวดนม
  • ป้องกันไม่ให้ลูกถือขวดนมเดินเล่น หรือปล่อยลูกนอนดูดขวดนมแล้วเผลอหลับขณะดูดขวดนมอยู่
  • สอนให้ลูกดื่มนมจากแก้วน้ำแทนขวดนม ตั้งแต่อายุ 6-12 เดือน และควรเลิกใช้ขวดนม เมื่ออายุ 1 ปีไปแล้ว

  • ฝึกนิสัยไม่ให้ลูกรับประทานขนมจุบจิบ กรุบกรอบ หรืออาหารรสหวาน เพราะเป็นสาเหตุของฟันผุ ควรให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเป็นเวลา
  • ล้างปากให้ลูกหลังดื่มนม หรือหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • แปรงฟันให้ลูกด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
  • สอนวิธีทำความสะอาดช่องปาก และการแปรงฟันอย่างถูกวิธีให้ลูก
  • พาลูกไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อจะได้รับความรู้ และแนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างถูกต้อง

หลีกเลี่ยงการให้ลูกทานขนมหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุของฟันผุ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

หากคุณพ่อคุณแม่ฝึกฝนลูก จนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ทีนี้เมื่อลูกโตขึ้นก็จะเห็นความสำคัญและสามารถดูแลสุขภาพฟันด้วยตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาลูกฟันน้ำนมผุ ก็จะไม่ใช่ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องมานั่งกังวลอีกต่อไป

แปรงฟันให้ลูกอย่างถูกวิธี

โครงการรณรงค์ "ลูกรักฟันดีเริ่มที่ซี่แรก" ภายใต้การสนันสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำวิธีแปรงฟันให้ลูกน้อย ไว้ดังนี้

สอนให้ลูกมีวินัย "แปรงฟันหลังอาหาร" ทุกครั้ง

  • แปรงฟันตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ 500 ppm ในปริมาณขนาดแตะปลายขนแปรงพอชื้น
  • เลือกแปรงสีฟันที่มีลักษณะขนแปรงนุ่ม หน้าตัดเรียบ หัวเล็กที่สามารถครอบคลุมฟันประมาณ 3 ซี่ และมีด้ามจับที่ใหญ่
  • ให้ลูกอยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนหรืออาจให้เด็กนอนบนตัก โดยที่สามารถแปรงฟันได้อย่างรอบด้านและใช้ผ้าสะอาดเช็ดเหงือกในบริเวณที่เหลือ เช็ดลิ้นด้วยผ้าสะอาด และเช็ดฟองที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ควรใช้มืออีกข้างที่ไม่ได้จับแปรงช่วยประคองคาลูก ใช้นิ้วช่วยดันแก้ม และริมฝีปากออก เพื่อให้เห็นบริเวณที่จะแปรง วิธีนี้ช่วยป้องกันไม่ให้แปรงสีฟันกระแทกถูกริมฝีปาก หรือกระพุ้งแก้มของเด็ก
  • ควรแปรงฟันให้ลูกจนถึงอายุประมาณ 7-8 ขวบ ซึ่งจะเป็นช่วงอายุที่เด็กมีการพัฒนาของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีแล้ว หรือสังเกตจากที่เด็กผูกเชือกรองเท้าได้ด้วยตัวเอง

คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบแล้วว่า การปล่อยให้ลูกฟันน้ำนมผุนั้น มีผลต่อสุขภาพของลูกในระยะยาว ไม่ใช่แค่สุขภาพฟัน แต่กระทบถึงสุขภาพร่างกาย และจิตใจของลูกด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหันมาจริงจังกับการดูแลฟันน้ำนมของลูก หากลูกไม่ให้ความร่วมมือ คงต้องพยายามหากลยุทธ์สนุกๆ มาหลอกล่อกันหน่อยแล้วล่ะ

The Asianparent Thailand เว็บไซต์ และ คอมมูนิตี้อันดับหนึ่งที่คุณแม่เลือก นอกจากสาระความรู้ที่เรามอบให้คุณแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ การวางแผนมีลูกแล้ว เรายังมีแอพพลิเคชั่น รวมถึงสื่อมัลติมีเดียหลากหลายที่ช่วยตอบโจทย์ทุกความต้องการของคุณแม่ยุคใหม่ ที่ต้องทำงาน และ ดูแลลูกไปพร้อมกัน ให้มีความมั่นใจ และ พร้อมในการดูแลลูกทุกช่วงเวลา ตั้งแต่การให้นมบุตร การดูแลตนเองหลังคลอด ท่าออกกำลังกายหลังคลอด เพื่อให้หุ่นของแม่หลังคลอดกลับมาฟิตแอนเฟิร์มอีกครั้ง  The Asianparent Thailand ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องการดูแลลูก ความรู้แม่ และ เด็กที่เต็มเปี่ยม และตอบทุกข้อสงสัยในแอพพลิเคชั่นที่เป็นสื่อกลาง และ กิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวไทย


source หรือ บทความอ้างอิง : 

healthychildren.org

www.info.dent.nu.ac.th

www.manager.co.th

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ลูกกินยาสีฟัน อันตรายหรือไม่

การดูแลช่องปากและฟันสำหรับเด็ก

 5 เคล็ดลับ ชวนลูกน้อยมาแปรงฟัน