ยาคุมเม็ดฉุกเฉิน อีกหนึ่งการแก้ปัญหาที่ทั้งคนทั่วไปและแพทย์แนะนำพร้อมย้ำเสมอว่า “ควรใช้ในกรณีที่ฉุกเฉินหรือพลาดจริงๆ” เพราะนั่นคือวิธีการคุมกำเนิดที่ควรใช้หลังการมีเพศสัมพันธ์ทันที เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผน ซึ่งไม่ควรนำมาใช้คุมกำเนิดตามปกติและไม่ใช้วิธีที่ดีในการวางแผนครอบครัวด้วย!
ในอดีตเคยมีการเรียกยาเม็ดจำพวกนี้ว่า “ยาคุมหลังร่วมเพศ” หรือ “ยาคุมชั่วคราว” หรือแม้กระทั่ง “Morning After” ที่เป็นชื่อเรียกที่ชวนให้คนเข้าใจผิด และนำไปสู่การใช้ยาแบบผิดวัตถุประสงค์ ที่แฝงมาด้วยผลข้างเคียงในร่างกายของผู้หญิงเราในระยะยาว
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ไม่ใช่การคุมกำเนิดแบบธรรมดาที่คุ้นเคยอย่างเช่น ยาเม็ด 21 เม็ด หรือ ยาเม็ด 28 เม็ด แต่เป็นการผลิตขึ้นมาโดยมีสูตรเฉพาะเพื่อให้ผู้หญิงไว้ใช้ในช่วงที่เกิดปัญหาและไม่มีความประสงค์หรือต้องการตั้งครรภ์เท่านั้น
ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย จะมีชื่อที่คุ้นหูอยู่บ่อยครั้ง อาทิ โพสตินอร์, มาดอนนา, แมรี่พิงค์ ที่มีจำนวน 2 เม็ด โดยยาจะมีปริมาณของลีโวนอร์เจสเตรลที่ 0.75 มิลลิกรัม และแบบ 1 เม็ด ที่รู้จักในชื่อของเมเปิ้ลฟอร์ท, แทนซี่ วัน ที่มีปริมาณยาลีโวนอร์เจสเตรลประกอบอยู่ที่ 1.5 มิลลิกรัม ที่ให้ประสิทธิภาพครอบคลุมไม่ต่างจากชนิด 2 เม็ด แถมยังให้ความสะดวกสบายในแง่ที่ไม่ต้องแบ่งเวลากินให้ลืม
หมายเหตุ : วิธีกินยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดเม็ดให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การกินยาให้ไวที่สุดหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ทันที โดยไม่ควรเกิน 72 ชม. ทางการแพทย์เน้นย้ำเรื่องการใช้ยาคุมฉุกเฉิน โดยได้ให้เหตุผลว่าถึงแม้จะเป็นการคุมกำเนิดที่ช่วยในการควบคุมการตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะปลอดภัย 100% นอกจากนี้ยังไม่รองรับโรคติดต่อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์อีกด้วย
บทความที่น่าสนใจ ราคายาคุมฉุกเฉิน แต่ละยี่ห้อเท่าไหร่บ้าง เทียบราคาอย่างละเอียด
ถอด 5 ข้อสงสัย ทำไม ยาคุมเม็ดฉุกเฉิน ถึงไม่ควรใช้เกินที่แพทย์แนะ
- ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน เมื่อเทียบกับวิธีการคุมกำเนิดชนิดอื่นแล้ว นับเป็นการคุมกำเนิดที่ประสิทธิภาพต่ำ และไม่ควรใช้ติดต่อกัน
- ยาคุมกำเนิดชนิดฉุกเฉินมีปริมาณของฮอร์โมนที่ค่อนข้างสูงมาก สูงกว่ายาคุมปกติ (21 หรือ 28 เม็ด) อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงและอาการผิดปกติต่างๆ เช่น อาการคลื่นไส้, อาเจียน, เวียนหัว, ประจำเดือนเลื่อน
- ยาฉุกเฉินยิ่งใช้บ่อยยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดต่ำลงเรื่อยๆ เท่ากับว่าโอกาสในการตั้งครรภ์ก็จะเพิ่มมากขึ้น
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีหน้าที่ป้องกันการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีการยับยั้งไข่ตก ทำให้การเคลื่อนตัวของอสุจิช้าลง รวมไปถึงขัดขวางการฝังตัวอ่อน นั่นหมายความว่า ถ้าเกิดวันที่กินยาเป็นวันหลังไข่ตก เท่ากับว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะป้องกัน
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินทั้งแบบ 1 หรือ 2 เม็ด ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ และมีทางเลือกที่ดีกว่าในการคุมกำเนิด อาทิ ถุงยางอนามัย, ยาเม็ดคุมกำเนิดรายเดือน, การฝังยาคุม หรือ ห่วงอนามัย เป็นต้น
รวมความเชื่อแบบผิดๆ ที่มีต่อ “ยาคุมเม็ดฉุกเฉิน”
อย่างที่บอกข้างต้นว่ามีหลายครั้งที่มีความเข้าแบบผิดๆ ว่า การกินยาคุมฉุกเฉินหลังการมีเพศสัมพันธ์ จะทำให้ไม่ท้อง ซึ่งเป็นการเข้าใจแบบเหมารวมที่ผิด เพราะยาฉุกเฉินมีหน้าที่แค่ “ช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์จากเดิมเท่านั้น”
นอกเหนือไปกว่านั้นยังมีบางคนเข้าใจว่า “การกินยาคุมชนิดนี้สามารถทำให้เกิดภาวะแท้งได้” ซึ่งความเชื่อและความเข้าใจข้อนี้ก็ปิดเช่นกัน อย่างที่บอกว่ายาตัวนี้เพียงแค่ช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ แต่ถ้าร่างกายของเราถึงวันไข่ตก แถมยังมีการปฏิสนธิของตัวอสุจิเข้าไปแล้วด้วย ก็เปลืองเงินเปล่า
หลายคนเคยตั้งคำถามว่า “การที่มีเลือดออกกะปริบกะปรอยหลังการกินยาฉุกเฉินนั้น เป็นเรื่องที่อันตรายหรือไม่” ต้องตอบก่อนว่าด้วยตัวยานั้นมีการปรับฮอร์โมนแบบฉับพลัน ซึ่งการกระตุ้นของยาตัวดังกล่าวย่อมส่งผลข้างเคียง โดยในบางครั้งอาจมีเลือดกะปริบกะปรอยทันทีหลังกินยา, ประจำเดือนมาเร็วหรือช้ากว่าปกติ, ประจำเดือนหมดไวกว่าปกติ ซึ่งอาการดังกล่าวนับเป็นผลข้างเคียงโดยปกติ แต่ถ้าหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายวัน นานเกินสัปดาห์ หรือในเดือนถัดไปยังมีอาการเหมือนเดิม ควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัย
ยาคุมฉุกเฉิน สรุปแล้วเป็นอันตรายหรือว่าปลอดภัย?
ข้อมูลจากสถาบันสูตินรีแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American College of Obstetrics and Gynecology : ACOG) เคยศึกษาและวิจัยผลกระทบข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยพบว่าการใช้อย่างถูกวิธีและใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉินจริงๆ ย่อมไม่ก่อผลกระทบใดที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ นอกจากนี้ “องค์การอนามัยโลก” ยังได้บรรจุยาคุมเม็ดฉุกเฉินไว้ในบัญชียา พ.ศ.ปี 2539 ด้วย
แต่ในขณะเดียวกันก็มีคำเตือนสำหรับผู้ที่มีประวัติโรคลมชัก, โรคหัวใจ, เลือดแข็งตัว หรือโรคที่เกี่ยวเนื่องกับเส้นเลือดหัวใจ ควรปรึกาาแพทย์ก่อนการใช้ยา หรืออาจจะปรับใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีความปลอดภัยกว่าแบบผสม แต่อย่างไรก็ตามตั้งแต่มีการผลิตและใช้ยามา ยังไม่พบว่ามีรายงานการเสียชีวิตหรืออาการแทรกซ้อนอื่นที่ร้ายแรงจากการใช้ยาฉุกเฉินนี้
เคยมีการตั้งคำถามว่า “จริงหรือไม่ที่ผู้หญิงหลายคน หันมาใช้ยาคุมฉุกเฉิน” ซึ่งได้คำตอบว่าเป็นจำนวนมากจริง โดยมักเป็นประเทศในแถวยุโรป เนื่องจากการจำหน่ายยาที่อยู่ในรูปแบบง่ายต่อการใช้, มีฮอร์โมนต่อเม็ดที่สะดวกต่อการกิน อีกทั้งยังมีใบกำกับยาชัดเจนที่ถูกต้อง สำหรับแพทย์และผู้ที่ต้องการใช้ยา
เพราะยาคุมฉุกเฉินถูกผลิตขึ้นมา เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ใช้เพื่อช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ, การถูกล่วงละเมิดทางเพศ-ข่มขืน, การฉีกขาดของถุงยางอนามัยระหว่างร่วมรัก ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงในอนาคต หรือต้องการคุมกำเนิดในระยะยาว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมและปลอดภัยจะดีกว่า
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง
10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ยาคุมกำเนิด ที่สาว ๆ ไม่ควรมองข้าม
ราคายาคุมฉุกเฉิน แต่ละยี่ห้อเท่าไหร่บ้าง เทียบราคาอย่างละเอียด
ยาคุมกำเนิดแบบฉีด อีกหนึ่งทางเลือกป้องกันการตั้งครรภ์ที่ได้ผลดี!
ยาคุมฉุกเฉินเม็ดเดียว ผลลัพธ์ไม่ต่างกับแบบ 2 เม็ด
ที่มา (paolohospital) (whaf.or.th) (rsathai.org)