เพราะเด็กเป็นวัยที่ซุกซนและมักอยู่ไม่นิ่ง จนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งในบ้าน ลูกอาจเผลอไปวิ่งเล่นหรือหยิบข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเตรียมพร้อมได้ โดยการจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยแก่ลูก วันนี้เราจะพามาดูวิธี จัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดค่ะ มาดูกันว่าจะมีวิธีไหนบ้าง
อุบัติเหตุใกล้ตัวลูกรัก มีอะไรบ้าง
ก่อนอื่นเลยเรามาดูอุบัติเหตุภายในบ้านก่อนดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง เพราะวัยเด็กเป็นซุกซนและกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายภายในบ้าน คุณพ่อคุณแม่จึงต้องรู้จักอุบัติเหตุใกล้ตัวลูกเพื่อให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดค่ะ
- การนอนคว่ำ : หากลูกยังเล็กมาก ๆ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ลูกนอนคว่ำนะคะ เพราะอาจทำให้เด็กถูกกดทับจนเสี่ยงขาดออกซิเจนได้ รวมถึงควรนอนห่างกับลูกประมาณ 1 เมตร เพื่อป้องกันการนอนทับลูกจนทำให้ลูกหายใจไม่สะดวกหรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
- การใช้บันได : อย่างที่รู้กันว่าเด็กเล็กควรอยู่ให้ห่างจากบันได เพราะเมื่อเด็กเริ่มหัดพลิกคว่ำและเริ่มคลาน ก็อาจเผลอไปปีนบันไดตอนอยู่ลำพัง จนทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกและเกิดแผลฟกช้ำได้
- การใช้ห้องน้ำ : ห้องน้ำในบ้านก็เป็นอีกพื้นที่ที่ผู้ปกครองควรระวัง โดยเฉพาะอุปกรณ์ซักล้าง สารเคมีต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งมีดโกนนวดก็สำคัญเช่นกัน รวมทั้งถังน้ำในห้องน้ำก็อาจเสี่ยงทำให้ลูกก้มตัวลงไปตกลงและจมน้ำได้ ดังนั้น อย่าลืมปิดประตูห้องน้ำหลังจากใช้เสร็จด้วยนะคะ
- อุบัติเหตุในครัว : ภายในครัวมักจะมีอุปกรณ์ที่เป็นอันตรายกับเด็กเสมอ ทั้งแก้ว จาน ชาม มีด และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเก็บอุปกรณ์ในครัวให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ หากลูกยังเล็กมาก ๆ ควรจับตาดูลูกอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เข้าใกล้บริเวณครัว
- การเล่นปลั๊กไฟ : บ่อยครั้งที่เรามักเห็นข่าวเด็กโดนไฟดูด เพราะด้วยความซุกซนและมักสงสัย ลูกอาจเผลอแหย่นิ้วไปในรูปลั๊กไฟหรือสัมผัสกับอุปกรณ์ที่มีไฟฟ้า จนทำให้ถึงขั้นโดนไฟดูด คุณพ่อคุณแม่จึงต้องระมัดระวังเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นพิเศษ
- การรับประทานอาหาร : แม้จะอยู่บนโต๊ะอาหารแต่ก็เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะอุปกรณ์รับประทานอาหารของลูก ควรมีขนาดที่เหมาะสม คุณแม่ไม่ควรให้ลูกรับประทานอาหารเร็ว ๆ และไม่ควรวางของมีคมไว้บนโต๊ะ เพราะลูกอาจเผลอคว้ามาเล่นจนทำให้มีดบาดได้
- การเล่นอุปกรณ์ทำงาน : หากในบ้านมีห้องทำงาน คุณพ่อคุณแม่อาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะลูกอาจเข้าไปเล่นอุปกรณ์เครื่องต่าง ๆ เช่น กรรไกร คัตเตอร์ เข็มหมุด หรือที่ตัดกระดาษได้ ดังนั้น จึงต้องเก็บให้เรียบร้อยและอาจห้ามไม่ให้ลูกเข้าไปเล่นในห้องทำงานค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อุบัติเหตุในเด็ก อุบัติเหตุเกิดขึ้นกับลูก ได้ง่าย ๆ พร้อมวิธีป้องกันอุบัติเหตุในเด็ก
จัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก ทำอย่างไร
การจัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก เป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ เพราะเราไม่สามารถคาดเดาอุบัติเหตุว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ได้ เพราะถึงแม้จะอยู่ในบ้านก็เป็นอันตรายเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย เพื่อช่วยคุ้มกันความปลอดภัยให้แก่ลูกค่ะ
1. เก็บอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด
สายไฟและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ถือเป็นสิ่งของอันตรายสำหรับเด็กเป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้โดยการใช้สายม้วนหรือเทปกาวมาช่วยในการเก็บสายไฟให้เป็นระเบียบ รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น เตารีด เครื่องดูดฝุ่น ที่ม้วนผม ปลั๊กพ่วง คุณพ่อคุณแม่ควรเก็บทันทีหลังจากใช้เสร็จแล้ว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการโดนไฟดูดหรือไฟช็อตของลูกน้อย
2. ติดตั้งรั้วบริเวณบันได
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่มีเวลาว่างดูแลลูกน้อย และต้องปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพังบ่อย ๆ ควรติดตั้งรั้วบริเวณบันไดบ้าน เพราะเด็กอาจปีนขึ้นไปเล่นบนบันได เสี่ยงต่อการตกลงมาได้ ดังนั้น ให้หารั้วมากั้นไว้บริเวณบันไดก็จะช่วยเสริมความปลอดภัยในบ้าน และป้องกันไม่ให้ลูกขึ้นไปเล่นจนตกลงมา นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถติดตั้งรั้วบริเวณที่เป็นอันตรายสำหรับเด็กภายในบ้านได้ค่ะ
3. เก็บของมีคมทุกชนิด
อย่างที่รู้กันว่าเราควรเก็บของมีคมทุกชนิดให้พ้นมือเด็ก ไม่ว่าจะเป็นมีด ช้อน ส้อม คัตเตอร์ หรือแม้กระทั่งเครื่องเขียนอย่างปากกา ดินสอ เป็นต้น คุณพ่อคุณแม่ควรเก็บใส่กล่องให้เรียบร้อย หรือวางไว้บนที่สูง เพื่อป้องกันลูกหยิบมาเล่น จนทำให้ของมีคมบาด หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่มีห้องทำงานส่วนตัว ก็ควรปิดประตูให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันลูกเข้าไปเล่นนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อุทาหรณ์ของมีคม! พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกเกิดอุบัติเหตุ
4. เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่มีเหลี่ยมมุม
บ่อยครั้งที่ลูกมักเดินชนขอบโต๊ะหรือเตียงจนทำให้เกิดรอยฟกช้ำบ่อย ๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถแก้ได้โดยการเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่มีมุมเหลี่ยม โดยการหาแผ่นปิดบริเวณมุมเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเดินชนจนเกิดการบาดเจ็บ หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากจัดห้องนอนลูกก็แนะนำให้ซื้อใหม่ยกเซตได้เลยนะ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยเสริมความปลอดภัยให้แก่ลูกได้เป็นอย่างดี
5. เก็บสารเคมีให้พ้นมือเด็ก
แน่นอนว่าสารเคมีเป็นสิ่งอันตรายสำหรับเด็กเป็นอย่างมาก ยิ่งภายในบ้านก็มีสิ่งของหลายอย่างที่เป็นอันตรายแก่เด็ก เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาเช็ดกระจก น้ำยากปรับผ้านุ่ม หรือผงซักฟอก เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องใช้เสมอ ดังนั้น คุณพ่อคุณจึงควรเก็บสารเคมีต่าง ๆ ไว้บนที่สูง ๆ หรือใส่ไว้ในตู้แล้วล็อกกุญแจอีกชั้นก็จะช่วยป้องกันลูกเข้าไปหยิบของเหล่านั้นมาเล่นได้
6. ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท
ทราบไหมคะว่าประตูและหน้าต่าง ก็สามารถสร้างความอันตรายให้แก่ลูกน้อยได้ บางทีลูกอาจเล่นซนจนเผลอปีนหน้าต่างออกไป ทำให้หกล้มจนเกิดการบาดเจ็บ หรือบางทีลูกอยากเปิดประตู ก็พยายามปีนป่ายประตูจนตกลงมา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องล็อกประตูและหน้าต่างให้สนิททุกครั้ง แล้วใช้ที่กั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกปีนขึ้นไปเล่น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ห้องนอนเด็กอ่อน ต้องจัดอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง พ่อแม่มือใหม่ต้องอ่าน!
7. ไม่วางถังน้ำใกล้ลูก
การวางถังน้ำหรืออ่างน้ำใกล้ ๆ เด็กเล็ก ก็สามารถสร้างอันตรายได้เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่อาจเคยเห็นข่าวเด็กจมน้ำจากอ่างภายในบ้าน เพราะฉะนั้น ต้องห้ามวางภาชนะที่ใส่น้ำไว้ใกล้ ๆ ลูกนะคะ ไม่ว่าจะเป็น โอ่ง อ่างอาบน้ำ หรือถังน้ำ รวมทั้งบ่อปลา และสระว่ายน้ำ เพื่อป้องกันลูกปืนขึ้นไปเล่นจนเผลอลื่นตกไป นอกจากนี้ อย่าปล่อยลูกให้อยู่ลำพังเพียงเด็กขาด หรือพาเข้าไปอยู่ในห้องนอนและห้องนั่งเล่น เพื่อให้ห่างจากภาชนะเหล่านั้นมากที่สุด
8. ทำความสะอาดพื้นบ้านเสมอ
สำหรับเด็กที่ชื่นชอบการวิ่งเล่นในบ้าน คุณพ่อคุณแม่จึงอาจต้องใส่ใจพื้นบ้านเป็นพิเศษ หากพบว่าพื้นบ้านมีความลื่น ก็อาจหาปูพรมหรือเสื่อน้ำมันเพื่อช่วยป้องกันลูกวิ่งเล่นจนหกล้ม นอกจากนี้ หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าบริเวณบ้านนั้นเปียกน้ำ ก็ควรหมั่นทำความสะอาดพื้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นห้องครัว ห้องน้ำ หรือห้องนั่งเล่นก็ตาม ก็ควรนำผ้ามาเช็ดถูบ่อย ๆ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการลื่นล้มค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับวิธี จัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก เพียงเท่านี้คุณพ่อคุณแม่ก็รู้จักวิธีรับมือกับอุบัติเหตุภายในบ้านมากขึ้น แต่จริง ๆ แล้วก็ยังมีอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในบ้านที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวังอีกมากมาย ดังนั้น อย่าลืมดูแลลูกอย่างใกล้ชิด และจัดเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบเรียบร้อยนะคะ เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุให้แก่ลูกแล้ว ยังทำให้บ้านน่าอยู่มากขึ้นด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อุทาหรณ์ของมีคม! พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกเกิดอุบัติเหตุ
ลูกหกล้ม หัวโน ดูแลอย่างไร ควรปล่อยให้ลูกลุกด้วยตัวเองดีไหม?
น้ำร้อนลวก ไฟไหม้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับเด็ก ๆ ภายในบ้าน คุณแม่ควรระวัง
ที่มา : tuneprotect, jaymartinsurance, tuneprotect, bolttech