Ray of Understanding Little Heart Club x Daisy Ray จัดกิจกรรม Family Learning Class ครั้งที่ 2/65 “อ่านลูก อ่านเรา”….รู้เค้ารู้เรา…ชีวิตแม่ไม่พัง มีแต่ปังทั้งคู่ (3-6 ปี)
Class Experience คุณพ่อคุณแม่ได้เรียนรู้
- รู้จักและเข้าใจลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ทั้ง 5 แบบของลูก
- ดูลักษณะบุคลิกภาพของลูกว่าเป็นแบบไหน และหากต้องการปรับบางบุคลิกลักษณะของเค้า จะมีวิธีการอย่างไร
- เข้าใจความเหมือน และความต่างของลูก
- รูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับลูก
- แนวทางการโน้มน้าวจิตใจลูก
- แนวทางการส่งเสริมพัฒนาการและศักยภาพของลูก
- เทคนิคการสนับสนุนเพื่อปรับข้อจำกัดของลูก
- แนวทางการเลี้ยงลูกของแม่แบบเฉพาะครอบครัว
เหมาะกับครอบครัวไหนบ้าง
- คุณพ่อคุณแม่ที่อยากใช้วิธีการเชิงบวกในการโน้มน้าวลูก
- รู้สึกว่าบางครั้งทำตามทฤษฎีคุณหมอแล้วมีข้อสงสัยหรือติดขัด
- รู้สึกว่ามาถูกทางไหม
- อยากรู้ว่าอะไรคือภูเขาน้ำแข็งในใจลูก
- พูดและ action แบบไหนที่ลูกรู้สึกว่า เรากำลังยืนอยู่เคียงข้างเค้า ในเด็กแต่ละแบบที่แตกต่างกัน
Highlight Content : เรา ‘อ่านลูก’ ไปทำไม?
Little Heart Club จัดห้องเรียน ‘อ่านลูก อ่านเรา’ สองครั้งในปี 2564 ตอนจัดครั้งแรกมีคำถามว่าเราจะอ่านลูกไปทำไม? จัดครั้งที่สองด้วยผลลัพธ์ที่ราบรื่นขึ้น ครั้นประกาศจัดครั้งที่สามในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นห้องเรียนอ่านลูกครั้งแรกของปีนี้ พ่อแม่หลายคนก็ตอบรับทันที เพราะได้รับการบอกต่อว่าเห็นผลจริง ‘เห็นผล’ คือพ่อแม่ได้ถอดบทเรียนจาก ‘ครูตุ๊ก’ ดร.พัชรี ทรัพย์ทวีพร นำกลับไปปรับใช้กับตัวเองและลูกได้จริง ‘พ่อแม่เปลี่ยน ลูกเปลี่ยน’แก่นของ ‘อ่านลูก อ่านเรา’ คือสลัดตัวตนหรืออัตตาของเราในบทบาทพ่อแม่ออกไป เพราะลูกเราแต่ละคนแตกต่าง เรานำสิ่งที่มีมาแบ่งปันกัน จุดหมายสำคัญที่สุด = เลี้ยงลูกอย่างมีความสุข
ลูกในวัย 3-6 ปีหรือยิ่งโต เรายิ่งอ่านใจลูกออกน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเขามีตัวตนชัดขึ้นทุกที ในขณะที่ภาพพ่อแม่ในใจเขาจะค่อยๆ จางลง เราจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าเบื้องหลังของลูกที่เขาแสดงออกมาแบบนี้หมายความว่าอย่างไร ทุกครั้งที่ลูกร้องไห้ ด้วยวัยเท่านี้ เขาอธิบายไม่ได้เพราะคลังศัพท์ไม่พอ แล้วเราจะตีความอย่างไร พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกผ่านพัฒนาการแต่ละช่วงวัยไปให้ได้ เราอยากเข้าใจลูก ลูกก็อยากมีคนที่เขาไว้วางใจ แล้วจะทำยังไงให้ลูกเข้าใจพ่อแม่ด้วย?
ทำยังไงให้เราเข้าใจกันและกัน ?
ห้องเรียน ‘อ่านลูก’ ย้ำว่า ก่อนที่เราจะทำความรู้จักคนอื่น พ่อแม่ต้องรู้จักตัวเองก่อน เริ่มต้นที่ตัวเรา กลับมาตระหนักรู้ตัวเรา เพื่อวางแผนใหม่ว่าจะทำยังไงต่อไปดี ห้องเรียน ‘อ่านลูก อ่านเรา’ ทุกครั้งยังคงได้รับข้อคิดใหม่ๆ เสมอ พ่อแม่ที่มาเรียนซ้ำก็ยังได้หลักคิดฉุกใจกลับไปเป็นแนวทางเลี้ยงลูกที่มีความสุขขึ้นได้อีก เรื่องสำคัญที่ ‘ครูตุ๊ก’ ย้ำหนักแน่นในห้องเรียนครั้งนี้ และ Little Heart Club อยากแชร์ให้ทุกครอบครัวได้นำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการเลี้ยงลูก คือเด็กๆ จะมี Self-esteem เห็นคุณค่าในตัวเอง รักตัวเองเป็น สามารถมีชีวิตอยู่ด้วยตัวเองได้อย่างสง่าผ่าเผย ต้องมาจากพ่อแม่ที่เป็นแบบนี้ คือมี Self-esteem ให้ลูกเห็น
มีการบ้านสามข้อที่อยากให้พ่อแม่ทำทุกวัน ทำเป็นประจำจนติดเป็นนิสัย เป็นพฤติกรรม ทำจนลูกเกิดความเคยชิน ซึมซับในดีเอ็นเอ
ข้อแรก บอกรักตัวเองทุกเช้าให้ดอกไม้แห่งความรักแก่ตัวเองเสมอ
ยิ้มกับตัวเองในกระจก บอกตัวเองเมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาในทุกเช้าว่าเธอมีลมหายใจที่จะทำประโยชน์ให้คนอื่น หรือ “วันนี้ฉันยิ้มมากกว่าเมื่อวาน มีความสุขจัง” ฝึกตัวเองให้คิดดีก่อน จึงจะฝึกลูกได้
ข้อสอง ยอมรับตัวเอง
เช่นยอมรับว่าในบ้านพ่อกับแม่แบ่งกันเป็นใหญ่ แต่ใหญ่กันคนละเรื่อง พ่อปลูกต้นไม้เก่งมาก แต่เรื่องในครัวต้องถามแม่ เป็นต้น หรือถ้าสอนการบ้านลูกเรื่องเลขต้องพ่อเท่านั้น แต่ภาษาอังกฤษต้องแม่สิ
ข้อสาม ชมตัวเองบ้าง เรื่องเล็กๆ ก็เป็นความสำเร็จและกำลังใจที่ยิ่งใหญ่นะ
เช่น คืนนี้ฉันร้องเพลงกล่อมลูกหลับ เสียงไม่เพี้ยนเลย!
ทั้งสามข้อจะช่วยสร้างพลังงานที่ดีจากภายในให้ตัวเอง ค่อยๆ ก่อเกิดการเห็นคุณค่าในตัวเอง เราจะรู้สึกตัวใหญ่ขึ้น อกผายไหล่ผึ่ง ออกเดินแต่ละก้าวอย่างสง่างามค่ะ Self-esteem ของลูกสร้างได้เมื่อพ่อแม่มี Self-esteem ก่อนค่ะมาสร้างไปด้วยกันนะคะ
“พ่อแม่อย่าตีความลูกไปเอง ต้องถามเขาว่าคิดยังไง รู้สึกยังไง”
กรณีศึกษาจากห้องเรียน “อ่านลูก” ครั้งที่สาม
ห้องเรียน ‘อ่านลูก อ่านเรา’ ครั้งที่สาม วันเสาร์ที่ผ่านมามีกรณีตัวอย่างที่ขอแบ่งปันเพิ่มเติม ห้องเรียนวันนั้นยาวเต็มวัน พ่อแม่พาลูกมาร่วมกิจกรรมทุกครอบครัว Little Heart Club แยกพ่อแม่เรียนกับครูตุ๊กหนึ่งห้อง ส่งลูกๆ ไปเล่นและทำกิจกรรมปล่อยพลังกับครูพี่เลี้ยงอีกห้องหนึ่ง สองห้องกรุกระจก สามารถมองเห็นกันได้
แน่นอนว่าระหว่างพ่อแม่เรียนอยู่ ลูกๆ ต้องวิ่งมาหา มานั่งตัก มาอยู่ในอ้อมกอดให้รู้สึกอุ่นใจเป็นระยะ ช่วงบ่ายของวันนั้น เด็กหญิงเล็กๆ คนหนึ่งวิ่งจากห้องเล่นพุ่งตัวไปหาแม่ในห้องเรียน อยู่ด้วยกันพักหนึ่งก็ต้องพาออกไปส่งห้องเล่นเช่นเดิม ปรากฏว่าเสี้ยววินาทีที่เลื่อนประตูกระจกเดินออกจากห้อง เด็กหญิงร้องไห้จ้า!
คุณแม่นึกว่าลูกสาวโยเยประสาเด็ก ทำท่าจะพากลับบ้านทันทีเพราะไม่อยากรบกวนครอบครัวอื่นเรียน ‘ครูตุ๊ก’ ของเราสะกิดคุณแม่ว่าลูกร้องไห้เพราะศีรษะชนกับขอบประตูต่างหาก คุยกับลูก ถามลูกก่อน คุณแม่ยอมรับว่าไม่ทันสังเกตว่าศีรษะลูกชนตรงไหน พอนั่งลงเสมอลูก จับตัวเขา สบตาเขา ถามเขาว่า ‘หนูร้องไห้ทำไมลูก’ ลูกสาวก็ตอบเสียงสะอื้นทันที ‘หนูเจ็บ หัวหนูชนประตู’ พอคุณแม่ไถ่ถามด้วยความใส่ใจ หนูน้อยก็หยุดร้องไห้ทันที
‘ครูตุ๊ก’ เน้นย้ำว่าพ่อแม่อย่าตีความลูกไปเอง ต้องถามเขาว่ารู้สึกยังไง ลูกร้องไห้เพราะตกใจ กอดเขา ถามเขาว่าอยากให้แม่ช่วยอะไร ชมเขาว่าลูกเก่งมาก เดี๋ยวเดียวก็หายเจ็บแล้ว ให้ต่อยอดคุยกับลูกไปเรื่อยๆ สานสายใยรักและผูกพันกับลูกให้หนักแน่น เหนียวหนึบยิ่งขึ้น ลูกจะรู้ว่าแม่นี่แหละคือที่ยึดเหนี่ยว ที่พึ่งทางใจของเขา มีแม่แล้วตกใจแป๊บเดียวก็หายแล้ว
กรณีนี้ทำให้ได้ข้อคิดว่าการเป็นพ่อแม่นั้นต้องเรียนรู้ พลิกแพลง ปรับแนวทาง ปรับใจ ในทุกวัน ห้องเรียนใช้เวลา 6 ชั่วโมงเพื่อละลายน้ำแข็งในใจเรา รู้จักตัวเรา เพื่อไปรู้จักลูก เข้าใจลูก คลี่คลายปัญหาที่พ่อแม่กำลังเผชิญในชีวิตตอนนี้ ร่วมถก แบ่งปันความข้องใจของกันและกัน สุดท้าย ตกผลึกในใจตนเอง ฟังดูนามธรรม แต่พ่อแม่ที่ร่วมเรียนและแบ่งปันคลาสนี้มาหลายครั้ง รับรู้ความเปลี่ยนแปลงในใจตัวเองอย่างดี ทุกครั้งที่เรียน จะได้ตัวตนใหม่ที่ดีกว่าเก่าเสมอ และมันทำให้เราเป็นพ่อแม่ที่ดีกว่าเดิมและมีความสุข
Little Heart Club ตั้งใจจะจัดห้องเรียน “อ่านลูก อ่านเรา รู้เค้ารู้เรา ชีวิตแม่ไม่พัง มีแต่ปังทั้งคู่” เดือนละ 1 ครั้ง ครั้งที่สี่กำหนดจัดในวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2565 รายละเอียดเพิ่มเติมและจดหมายเชิญสื่อมวลขนจะส่งตามมาเร็วๆ นี้
ความรู้สึกของพ่อแม่ที่ร่วมกัน “อ่านลูก”
- มีความรู้สึกของพ่อแม่ที่อยากบอกหลังเรียนจบคอร์สในช่วงท้าย ขอเล่าสู่กันฟังบางส่วนด้วยความขอบคุณ
- ได้รู้วิธีจัดการปัญหากับลูก ผลลัพธ์อาจไม่ออกมาตรงใจเราทุกอย่าง แต่เราได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาครับ
- ได้เข้าใจพฤติกรรมลูก รู้ว่าต้องคอยสังเกตความรู้สึกของลูกเพื่อเราจะได้เข้าใจเค้ามากขึ้น
- บางทีเราเอาความคาดหวังใส่ในตัวลูกมากเกินจนเราไม่มีความสุข คลาสนี้ทำให้เรากลับมามองตัวเรา ต้องเคลียร์ตัวเองก่อน
- ได้เปิดใจฟังลูกมากขึ้น บางทีเราเอาตัวเองไปตัดสินแทนลูก เราต้องใช้ใจเข้าไป
- แม่ต้องคุยกับลูกให้มากขึ้น เราจะได้เข้าใจเขามากกว่านี้ค่ะ
วันและเวลา
วัน : เสาร์ 19 กุมภาพันธ์ 2565
เวลา : 10.00-16.00 น.
สถานที่ : Prima Wellness Clinic Thailand รามอินทรา 14 แยก 11 เข้าซอย 100 เมตร (มีที่จอดรถ)
พิชญา มัยลาภ (แม่ป่าน)
ผู้ก่อตั้ง Little Heart Club
ผู้ก่อตั้ง Daisy Ray Education Center
แม่ผู้ส่งเสริมการเลี้ยงลูกเชิงบวกสู่หลายๆ ครอบครัว
วิทยากร :
ดร.พัชรี ทรัพย์ทวีพร (ครูตุ๊ก) ผู้อำนวยการโรงเรียนประสานมิตร โค้ชมืออาชีพที่ได้รับการรับรองจาก ICF วิทยากรและที่ปรึกษาด้านการศึกษาให้สถาบันการศึกษา
Ray of understandingconcept :
กิจกรรมนี้พาคุณพ่อคุณแม่ค้นหาห้องแห่งความลับที่อยู่ในใจลูก ภายใต้การแสดงออกที่คุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจ หรือรู้สึกว่ายากที่จะรับมือ
บทความอื่น ๆ ที่คุณาจจะสนใจ :
พ่อแม่ควรรู้! 7 วิธี สอนลูกให้รู้จักชื่อตัวเองได้อย่างไร?
สอนลูกแยกขยะ แยกขยะ อย่างไรให้ถูกต้องช่วยโลกได้ ?
สอนลูกใส่รองเท้าครั้งแรก ต้องทำอย่างไร? เทคนิคง่าย ๆ ทำตามไม่ยาก