โรคตาขี้เกียจในเด็ก (Lazy Eye)
ดวงตามีอยู่คู่เดียว ยิ่งต้องรักษาให้ดี ๆ โดยเฉพาะดวงตาของเด็กน้อย ถ้าเกิดความผิดปกติอะไร ผู้ปกครองควรสังเกต และรีบเข้ารับการรักษา ก่อนจะเป็นอะไรร้ายแรง วันนี้เราเลยจะพาคุณพ่อคุณแม่ มาทำความรู้จัก กับ โรคตาขี้เกียจในเด็ก หรือ Lazy Eye กัน
โรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye) คืออะไร ?
โรคตาขี้เกียจ หรือ Lazy Eye คืออาการที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง ผิดปกติ มองเห็นได้ไม่ดี หรือไม่ชัดเท่าตาอีกข้างหนึ่ง หลังจากนั้น ร่างกายจะเลือกใช้ตาข้างที่มองเห็นได้ชัดกว่า ทำให้การพัฒนาประสาทด้านการมองเห็น ถูกกระตุ้นแค่ข้างเดียว หรือเกิดจากตามองเห็นไม่ชัดทั้ง 2 ข้าง ทำให้สมองพัฒนาประสาทการรับรู้ส่วนอื่นแทน ตาจึงมัวทั้ง 2 ข้าง
สำหรับคนปกติ พัฒนาการด้านการมองเห็น จะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 3 เดือน และค่อย ๆ พัฒนา จนถึงอายุ 9 ปี ดังนั้น โรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye) ควรรักษาก่อนเด็กจะอายุครบ 9 ขวบ ไม่เช่นนั้น อาจจะรักษาไม่ได้อีก
โรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye) เกิดจากอะไร ?
โรคตาขี้เกียจ หรือ Lazy Eye สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะความผิดปกติ ในการมองเห็น จากหลาย ๆ สาเหตุ ดังนี้
- มีสิ่งขวางกั้น ทำให้ตามองภาพไม่ได้ (Deprivative amblyopia) เช่น หนังตาตก กระจกตาขุ่น ต้อกระจก หรือ มีเลือดออกในตา สำหรับโรคกลุ่มนี้ จะทำให้สมองส่วนการมองเห็น ไม่ได้รับการพัฒนาตามวัย
- ตาเข (Strabismic amblyopia) ทำให้สมองเลือกรับภาพ จากตาเพียงข้างเดียว เพื่อไม่ให้เกิดภาพซ้อน และถ้าสมองเลือกรับภาพจากตาใดตาหนึ่งซ้ำ ๆ เพียงข้างเดียว ตาอีกข้าง ก็อาจจะเกิดเป็นตาขี้เกียจได้
- สายตาสั้น ยาว หรือเอียงต่างกันในตา 2 ข้าง (Anisometropic amblyopia) เมื่อสายตาสั้น ยาว หรือ เอียงมาก ในตาข้างเดียว ตาข้างนั้น จะเห็นภาพไม่ชัด ถ้าไม่ได้ใส่แว่น ส่วยตาอีกข้างหนึ่ง ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน สมองก็จะเลือกให้เรามองจากตาข้างที่เห็นชัดข้างเดียว จึงทำให้ตาอีกข้างไม่ได้รับการพัฒนา จนเป็นตาขี้เกียจ
- สายตาสั้น ยาว หรือเอียงมากในตาทั้ง 2 ข้าง (Isoametrophic amblyopia) โดยที่ไม่ได้ใส่แว่น ทำให้ไม่มีตาข้างใด เห็นภาพชัดเลย สมองส่วนการมองเห็น จึงได้รับการกระตุ้นน้อย กรณีนี้ อาจทำให้เป็น โรคตาขี้เกียจ ในตาทั้ง 2 ข้างได้
จะรู้ได้ยังไง ว่าลูกเป็นโรคตาขี้เกียจในเด็ก (Lazy Eye) ?
เรื่องนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อย ว่ามีความผิดปกติ ในด้านการมองเห็นหรือไม่ เช่น หนังตาตก มีจุดขาวที่กระจกตา ตาเข ลูกชอบหยีตามอง เอียงคอมอง ต้องเข้าไปมองใกล้ ๆ หรือแสดงอาการอื่น ๆ ที่ทำให้เห็นว่า ตามองไม่ชัด
ถ้าหากลูกมีอาการผิดปกติ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ควรพาลูกไปพบแพทย์ ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะได้ รักษาได้ทันท่วงที เพราะโรคนี้ ควรรักษาก่อนเด็กอายุครบ 9 ขวบ
สำหรับเด็กอายุ 2-3 เดือน คุณแม่ อาจจะสังเกต ว่าเด็กจ้องมองคุณแม่ เวลาที่ให้นมได้หรือไม่ สายตาเด็ก จะใกล้เคียงกับผู้ใหญ่มาก เมื่อมีอายุประมาณ 3 ปี ดังนั้น ควรทดสอบสายตาเด็ก ด้วยการให้มองภาพขนาดต่าง ๆ เพื่อวัดระดับการมองเห็น และพาเด็กไปแพทย์เสมอ
แต่ถ้าหากลักษณะภายนอก ไม่มีความผิดปกติอะไรเลย คุณพ่อคุณแม่ อาจจะลองทดสอบการมองเห็นของลูก ด้วยการปิดตาทีละข้าง แล้วเอาของเล่นมาหลอกล่อ หากตาข้างใดของลูก ไม่มีปฏิกิริยาต่อของเล่น แสดงว่าตาข้างนั้นของลูก อาจจะมองไม่เห็น หรือเห็นไม่ชัดเจน อาจจะมีความเสี่ยง เป็นโรคตาขี้เกียจได้
วิธีการรักษา โรคตาขี้เกียจในเด็ก (Lazy Eye)
การรักษาโรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye) ควรรักษาตั้งแต่ ตอนที่ลูกยังอายุน้อย ๆ จะมีโอกาสกลับมามองเห็นเป็นปกติ ได้มากกว่าการรักษาตอนโต หรืออายุเกิน 9 ขวบแล้ว ซึ่งการรักษานั้น สามารถทำได้หลายวิธี แพทย์จะพิจารณา และเลือกวิธีการรักษา ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย
- กระตุ้นให้ตาหายขี้เกียจ : แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ วิธีการกระตุ้นให้ตาหายขี้เกียจ บังคับสมองให้ใช้สายตาข้างที่ขี้เกียจบ้าง เช่น การปิดตา หรือการใช้ยาหยอดตาข้างที่ดี เพื่อให้ตาพร่ามัว และให้ตาอีกข้างที่ขี้เกียจ ได้กลับมาทำงาน จนกว่าจะใช้งานได้ปกติ และสามารถใช้งานร่วมกับอีกข้างพร้อมกัน มองเห็นเป็นภาพเดียวกัน ได้ปกติ
- ใส่แว่น : สำหรับเด็กที่มีสายตาสั้นยาวไม่เท่ากันมาก ๆ ทั้งสองข้าง ควรให้เด็กใส่แว่น เพื่อให้ตาทั้งสองข้าง ทำงานและมองเห็นชัดเท่ากัน ป้องกันไม่ให้ตาข้างใดข้างหนึ่ง ทำงานมากจนเกินไป
- ผ่าตัด : ในกรณีที่เด็กมีกล้ามเนื้้อลูกตาเข เป็นต้อกระจก หนังตาตก ซึ่งเป็นสาเหตุ ของโรคตาขี้เกียจ แพทย์อาจใช้วิธีการผ่าตัด เพื่อให้ตาสามารถมองเห็นได้ อย่างเป็นปกติ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีการเล่นให้เป็นประโยชน์ การเล่นเพิ่มพัฒนาการ ทักษะของเด็ก เล่นอย่างไรให้ดี?
คนท้องกับเทียนหอม แม่ท้องต้องระวัง เทียนหอมมีผลต่อร่างกายแม่และลูก!