อาการคนท้องไตรมาสสุดท้าย
อาการคนท้อง ไตรมาสสุดท้าย เริ่มเข้าสัปดาห์ที่ 28 เป็นต้นไปจนถึงช่วงเวลาใกล้คลอด อาจจะมีอาการที่เคยพบมาเมื่อช่วงไตรมาสที่สอง และอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดเพิ่มขึ้นได้
อาการคนท้องไตรมาสสุดท้าย สัญญาณเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อท้องแก่เต็มที่!
- มีความอุ้ยอ้ายมากขึ้นและเห็นได้ชัดเจนจากท้องที่ใหญ่และน้ำหนักตัวที่มากขึ้น – น้ำหนักในช่วงไตรมาสนี้ โดยรวมจะเพิ่มประมาณ 5 กิโลกรัม
- เกิดอาการเจ็บท้องหลอก – เป็นอาการเจ็บท้องจากการหดรัดตัวของมดลูกในช่วงใกล้คลอด คล้ายกับการเจ็บท้องจะคลอดจริง ๆ แต่ยังไม่รุนแรง และจะเจ็บน้อยกว่า
- อาการริดสีดวงทวาร – น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะเพิ่มแรงดันในร่างกายมากขึ้น ทำให้เส้นบริเวณทวารหนักเกิดการขยาย บวม หรือเกิดเส้นเลือดขอดจนอาจมีอาการริดสีดวงทวารได้
- หายใจลำบาก – เมื่อมดลูกขยายตัว ดันอวัยวะด้านบนให้ขยับขึ้นไปดันกระบังลม ทำให้พื้นที่ปอดเหลือน้อยลง ขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการหายใจได้ลำบาก หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจสั้นได้
- มีอาการตัวบวม – นอกจากน้ำหนักที่ทำให้ร่างกายใหญ่ขึ้นแล้ว ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีอาการบวมเกิดขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำสะสมตามเนื้อเยื่อมากกว่าปกติ
- หน้าท้องขยายทำให้สะดือถูกดันจนราบหรือจุ่น และจะกลับมาเหมือนเดิมเมื่อหลังคลอด
- มีอาการปัสสาวะเล็ดเวลาไอ จาม หรือวิ่ง
- รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากศีรษะทารกลงไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- มีอาการนอนไม่ค่อยหลับหรือหลับไม่ค่อยสนิทเนื่องจากการเจ็บครรภ์เตือนหรือการดิ้นของทารกในครรภ์
- กระดูกเชิงกรานจะเริ่มขยาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับช่วงเวลาใกล้คลอดซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกปวดหน่วงบริเวณข้อสะโพกหรือปวดหัวหน่าวเวลาเคลื่อนไหว
อาการผิดปกติในช่วงไตรมาสุดท้ายที่ควรรีบไปพบแพทย์
- มีไข้สูง ไม่ทราบสาเหตุ
- เวลาปัสสาวะรู้สึกแสบ ขัด หรือเป็นเลือด
- ปวดท้องน้อยรุนแรง
- เลือดออกจากช่องคลอด อาจเป็นอาการนำของการตกเลือดก่อนคลอด
- พบว่าทารกในครรภ์ดิ้นน้อย หรือไม่ดิ้น
- มีตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น หรือคันช่องคลอด
- มีมูกเลือด มีน้ำเดิน
- มีอาการเจ็บท้องคลอด มดลูกบีบตัว รู้สึกท้องแข็งเป็นก้อนทุก 10 นาทีหรือน้อยกว่า มีการเจ็บครรภ์สม่ำเสมอและถี่ขึ้นเรื่อยๆ
การเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์ช่วงสุดท้ายใกล้คลอด
– เมื่อเริ่มเข้าสัปดาห์ที่ 32 ทารกจะมีน้ำหนักประมาณ 1800 กรัม ผิวหนังยังมีสีแดงและเหี่ยวย่น
– สัปดาห์ที่ 36 ทารกจะมีน้ำหนักประมาณ 2500 กรัม ผิวหนังเริ่มตึงขึ้นจากไขมันสะสมใต้ผิวหนัง
– ย่างเข้าสัปดาห์ที่ 37 ช่วงเวลาใกล้คลอด หรือมีการคลอดในช่วงนี้ถือว่าเป็นการคลอดที่ครบกำหนดแล้ว
ในช่วงเวลานี้คุณแม่ควรเริ่มจัดเตรียมกระเป๋าเสื้อผ้าของใช้จำเป็น สำหรับการไปโรงพยาบาลให้พร้อม สามารถหยิบไปได้ทันทีเมื่อพบอาการใกล้คลอด ไม่ต้องเครียดหรือวิตกกังวลอะไร ทำจิตใจให้ผ่อนคลายเตรียมตัวเห็นหน้าลูกน้อยและเป็นคุณแม่มือใหม่ในไม่ช้ากันค่า
สัญญาณเตือนก่อนคลอด
สัญญาณเตือนก่อนคลอด หนูพร้อมจะออกมาลืมตาดูโลกแล้ว
ยิ่งท้องแก่ ยิ่งกังวล โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ เพราะประสบการณ์ก็ไม่มี ไม่รู้ว่าตอนไหนลูกจะคลอด แม้แต่คุณแม่ที่เคยผ่านการคลอดลูกมาก่อนหลายท่านยังรู้สึกตื่นเต้นและกังวลไม่แพ้กัน เรามาดูว่า สัญญาณเตือนก่อนคลอด ที่บ่งบอกว่าคุณแม่ใกล้จะได้เจอหน้าลูกน้อยแล้ว มีอะไรบ้าง
อาการใกล้คลอด
สัญญาณเตือนก่อนคลอด หรืออาการใกล้คลอดต่าง ๆ ในช่วงโค้งสุดท้ายใกล้คลอดมีดังนี้
1. มีมูกไหลออกมาทางช่องคลอด
ระหว่างตั้งครรภ์ บริเวณปากมดลูกจะมีเมือกลักษณะเหนียวข้น มีสีขาว เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในมดลูกในระหว่างตั้งครรภ์ พอถึงช่วงใกล้คลอด ปากมดลูกจะเริ่มเปิดและบางลง เมือกนี้ก็จะหลุดออกมา และบางครั้งอาจมีเลือดผสมออกมาด้วย ซึ่งสัญญาณแบบนี้แสดงว่าคุณแม่ใกล้จะคลอดเต็มทีแล้ว
2. ท้องลด
ในช่วงใกล้คลอด ทารกในครรภ์จะเริ่มเคลื่อนศีรษะลงมาอยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน และจะสังเกตได้ว่าท้องของคุณแม่มีขนาดเล็กลง คุณแม่จะรู้สึกโล่ง ไม่อึดอัด และหายใจสะดวกขึ้น เราเรียกอาการนี้ว่า อาการท้องลด
อาการท้องลด อาจเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์ก่อนคลอด หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอด หรือในคุณแม่บางคนจวบจนใกล้คลอดแล้วท้องยังไม่ลดเลยก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่ถ้าแม่ท้องคนไหนมีอาการท้องลดแล้วละก็ เตรียมตัวได้เลย เพราะสัญญาณเตือนก่อนคลอดแบบนี้ แสดงว่าเจ้าตัวน้อยใกล้ที่จะออกมาดูโลกแล้วครับ
3. เจ็บท้อง
อาการเจ็บท้องนั้น มีทั้งแบบเจ็บท้องหลอก และเจ็บท้องใกล้คลอดจริง เรามาดูกันว่าอาการแบบไหนคืออาการเจ็บท้องจริง อาการแบบไหนคืออาการเจ็บท้องหลอกกันแน่ เพื่อจะได้เตรียมตัวไปโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที
อาการเจ็บท้องหลอก หรือเจ็บท้องเตือน
- ปวดท้องมากบ้างน้อยบ้าง เดี๋ยวถี่เดี๋ยวห่าง ไม่สม่ำเสมอ แม่ท้องบางท่านก็ปวดติด ๆ กันหลายครั้งแล้วก็หายปวด
- เมื่อได้นอนพัก หรือเปลี่ยนท่าทาง อาการก็จะดีขึ้น
- ความเจ็บปวดจะคล้าย ๆ กับการปวดประจำเดือน
- มักมีอาการเจ็บบริเวณท้องน้อย
อาการเจ็บท้องจริง
- มีอาการปวดอย่างสม่ำเสมอ และปวดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
- ท้องแข็งตึง
- แม่ท้องจะรู้สึกเริ่มเจ็บบริเวณส่วนบนของมดลูกก่อนแล้วจึงเจ็บร้าวไปที่หลัง
- หากเดินหรือเคลื่อนไหวจะมีอาการเจ็บมากขึ้น
- อาจมีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอดร่วมด้วย
สัญญาณเตือนก่อนคลอดมีอะไรอีกบ้างที่ต้องระวัง ติดตามต่อหน้าถัดไป —>
4. น้ำเดิน
อาการถุงน้ำคร่ำแตก หรือ น้ำเดิน เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนก่อนคลอด แสดงว่ามดลูกเริ่มบีบตัวหดเล็กลงเพื่อบีบให้ศีรษะของเด็กเคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกราน จึงทำให้มีน้ำออกมาเป็นลักษณะใส ๆ คล้ายน้ำปัสสาวะ แม่ท้องที่มีอาการน้ำเดินมีโอกาสมากถึง 80 % ที่จะคลอดภายใน 12 ชั่วโมง หากแม่ท้องมีอาการเช่นนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
5. ปากมดลูกเปิด
ปกติแล้ว ปากมดลูกของคนท้องจะหนาเล็กน้อย และปิดค่อนข้างแน่นสนิท เพื่อช่วยปกป้องทารกในครรภ์จากอันตรายภายนอก แต่ร่างกายของคนท้อง จะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายใกล้คลอด โดยปากมดลูกจะเริ่มอ่อนนุ่ม บางลง และสั้นลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเปิดขยายกว้างขึ้นเต็มที่ประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อให้ทารกคลอดออกมาได้สำเร็จ
เมื่อใกล้ถึงเวลาคลอด ปากมดลูกจะเริ่มเปิดและขยาย ทำให้มูกและเลือดบริเวณปากมดลูกไหลออกมาทางช่องคลอด และอาจทำให้เส้นเลือดบริเวณปากมดลูกมีการแตกทำให้มีเลือดออกมาพร้อมมูก ซึ่งนั่นก็เป็น อาการใกล้คลอด ให้รีบไปโรงพยาบาลได้เลย
สัญญาณเตือนก่อนคลอดอื่น ๆ ที่ต้องระวัง
นอกจาก อาการใกล้คลอด ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว หากแม่ท้องมีอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ควรรีบเตรียมตัวไปโรงพยาบาลทันที
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- ลูกไม่ดิ้น หรือดิ้นน้อยลงกว่าปกติ
- น้ำคร่ำเป็นสีน้ำตาล เขียว เหลือง หรือสีอื่น ๆ นอกเหนือจากสีใสหรือสีชมพู
- อาเจียนไม่หยุด
ที่มา : www.guruobgyn.com
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
อาการคนท้องที่พบบ่อยในไตรมาสแรก
6 อาการยอดฮิตตอนท้อง ที่มองข้ามไม่ได้