บทบาทสมมุติ (Role-playing) เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความฝัน, จินตนาการ และพัฒนาการให้กับเด็กได้ดีกิจกรรมหนึ่ง ด้วยการรับบทเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ตัวตนของเด็กเอง อาจเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง หรือไม่ได้มีอยู่จริงก็ได้ กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เด็กได้มีโอกาสในการเข้าสังคม ได้พูดคุย และเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ตามที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เรียนรู้ วันนี้เราจึงจะมาแนะนำการสวมบทบาทที่น่าสนใจกัน
บทบาทสมมุติ คืออะไร
การเล่นบทบาทสมมุติเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อย ที่ได้ความสนุกไปด้วยในตัว โดยหลักการของการเล่นบทบาทสมมุติ คือ การให้เด็กได้มีโอกาสเปลี่ยนบทบาทหน้าที่เป็นบุคคลหนึ่ง เช่น การได้เป็นตำรวจแล้วทำหน้าที่เหมือนกับตำรวจตามที่เด็กต้องการ เพราะเขาอาจมีความฝันโตขึ้นไปอยากเป็นตำรวจ โดยให้คุณพ่อเป็นโจรที่คอยซ่อนแอบ หรือการสวมบทบาทเป็นนักบินอวกาศ ออกผจญภัยโดยให้คุณแม่เป็นมนุษย์ต่างดาว เพื่อเป็นการเสริมสร้างจินตนาการ และเปิดโลกกว้างให้กับลูก ๆ เป็นต้น
การเล่นสวมบทบาทนั้นมีอยู่มานานแสนนานแล้วในวัยเด็ก ซึ่งในช่วงวัยเด็กของแต่ละคนก็มีทั้งคนที่เคยเล่น และคนที่ไม่เคยเล่น หากจะเปรียบง่าย ๆ ก็คงเหมือนกับการเป็นดาราที่จะได้เล่นเป็นตัวละครหนึ่ง ๆ ที่มีอุปนิสัย และอาชีพไม่เหมือนกับตัวตนของนักแสดงจริง ๆ นั่นเอง และด้วยกิจกรรมนี้ที่ส่วนมากจะพบได้ในเด็กเล็ก จึงเป็นไปได้ยากหากจะนำการสวมบทบาทมาให้เด็กวัยรุ่น หรือคนวัยโตมาเล่นกันเอง อาจทำให้ไม่ได้รับความสนุกสนานเทียบเท่ากับช่วงวัยเด็กเล็กอีกแล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : เกมปริศนาสำหรับเด็ก ช่วยฝึก 3 วิชาหลัก ปูพื้นฐานสำหรับการเข้าเรียน
วิดีโอจาก : พัฒนาทักษะสมอง EF
ประโยชน์ที่เด็กจะได้จากการเล่นบทบาทสมมุติ
สิ่งแรกที่ต้องได้จากการทำกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก แน่นอนว่าจะต้องมีความสนุกสนานอย่างแน่นอน กิจกรรมส่วนมากมักแฝงไปด้วยข้อคิด และการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่มากขึ้น การเล่นสวมบทบาทเป็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยก็เช่นกัน แต่นอกจากความสนุกแล้วเด็ก ๆ ยังได้ประโยชน์อีกหลานอย่าง ได้แก่
- เติมเต็มความฝัน : เด็ก ๆ หลายคนอาจมีความใฝ่ฝันเกี่ยวกับหน้าที่การงานในอนาคต และอยากจะทำให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งก็มีอยู่หลากหลายอาชีพ การสวมบทบาทนั้นไม่ได้มีขอบเขตที่จำกัด จึงสามารถทำให้เด็กเรียนรู้ความหมาย และหน้าที่ของอาชีพต่าง ๆ ในระดับเบื้องต้นได้ เป็นการเติมเต็มความฝัน และสร้างกำลังใจให้เด็กมีแรงบันดาลใจให้ทำตามความฝันต่อไปในอนาคต
- เสริมจินตนาการ : หากจะกล่าวถึงบทบาทที่มีอยู่จริงก็สามารถทำได้ แต่หากเป็นบทบาทที่ไม่มีอยู่จริงจะทำได้ไหม คำตอบคือ ก็ได้เช่นกัน ในการสวมบทบาทบางอย่างอาจเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นจากจินตนาการ เช่น การได้เป็นฮีโร่ปราบปีศาจ การได้เป็นนักสำรวจดวงดาว หรือสวมบทบาทเป็นอัศวินที่ต้องปราบมังกรเพื่อช่วยเจ้าหญิง เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถเป็นจริงได้ แต่ก็ยังได้ข้อคิด และเป็นการเสริมสร้างจินตนาการที่ดีให้กับลูก ถือเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่เด็กควรจะมี
- การได้เข้าสังคม : เพื่อแก้ปัญหาเด็กที่มีสังคมน้อย หรือไม่กล้าแสดงออก หากปล่อยไว้อาจมีแนวโน้มเป็นเด็กที่มีกำแพงสูง ไม่อยากให้คนอื่นมายุ่งเกี่ยวมาก หรือมีอาการไม่มั่นใจในตัวเองเมื่ออยู่ในสังคม หากเกิดสิ่งเหล่านี้และติดตัวเป็นอุปนิสัยไปจนโต จะทำให้แก้ได้ยากมาก การได้เล่น บทบาทสมมุติ เป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหานี้ เพราะจะต้องเล่นร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือการเล่นกับเพื่อน ๆ ทั้งหมดนี้จะทำให้เด็กได้พูดคุย ได้แสดงออกมาอย่างหลากหลาย อีกทั้งยังเป็นการได้ใช้เวลาร่วมกันของคนในครอบครัวอีกด้วย
สวมบทบาทสนุก ๆ เล่นได้ทุกเวลา
นอกจากการสวมบทเป็นอาชีพในฝันที่สามารถทำได้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เบื้องต้น และความสนุกสนานแล้ว การปรับเปลี่ยนให้กิจกรรมมีความท้าทาย ด้วย บทบาทสมมุติ ที่อาจไม่ได้มีอยู่จริงก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน เราจึงขอยกการทำกิจกรรมดังกล่าวขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนไอเดียสำหรับบทบาทอื่น ๆ ต่อไป
ฮีโร่ผู้พิทักษ์เมือง
การได้เป็นฮีโร่ อาจเป็นความฝันของใครหลายคนในวัยเด็ก ด้วยความสามารถพิเศษที่เอาไว้ช่วยผู้คน คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกจินตนาการว่าตนเองเป็นฮีโร่ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนผ่านการทำภารกิจต่าง ๆ เช่น ล้างจานให้ถูกวิธี ทานอาหารที่มีผักให้หมดไม่เหลือทิ้งขว้าง หรือการเก็บของเล่นตามพื้น เป็นต้น
วิธีการเล่น
- ให้ลูกสวมบทฮีโร่โดยเอาผ้าบาง ๆ ผูกกับไหล่คล้ายผ้าคลุม อาจใส่หน้ากากเพิ่มเติมเพื่อความสมจริง
- ให้แม่เป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยมีพ่อเป็นตัวร้ายที่เบื้องหลัง โดยจะมีภารกิจให้ลูกทำตามที่ต้องการ
- ลูก ๆ ต้องทำภารกิจที่กำหนดให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด โดยภารกิจแต่ละอันจะได้รับกุญแจ 1 ดอก
- การสวมบทบาทนี้จะจบก็ต่อเมื่อหมดเวลาทำภารกิจ ให้นับว่าลูกทำภารกิจเสร็จและได้รับกุญแจเป็นจำนวนกี่ดอก หากครบตามกำหนดจะถือว่าลูกเป็นฮีโร่ที่ช่วยผู้คนไว้ได้
- หลังเล่นจบแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ความรู้กับลูกได้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เด็กได้ทำนั้นมีผลดีอย่างไรในชีวิตจริง
อัศวินอังกฤษปราบมังกร
จะทำอย่างไรหากมีมังกรร้ายมาจับราชินีออกไปจากอาณาจักร ? คงต้องมีคนสวมบทบาทเป็นอัศวินปราบมังกร นั่นก็คือเด็กน้อยผู้กล้าหาญภายในบ้าน ด้วยการทายคำศัพท์เกี่ยวกับสัตว์ป่า หรืออาจเป็นคำศัพท์รูปแบบอื่นภาษาอื่น เพื่อรวบรวมเหล่าสหายไปช่วยปราบมังกร
วิธีการเล่น
- ให้แม่เป็นราชินีที่โดนมังกรจับตัวไป ให้พ่อเป็นมังกรร้ายขวางทางอยู่ ส่วนลูกจะได้เป็นอัศวินที่ออกเดินทาง
- เด็กจะต้องไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของบ้านเพื่อทายคำศัพท์ภาษาอังกฤษจากมังกร คำศัพท์จะเกี่ยวกับสัตว์ตามพื้นที่ต่าง ๆ หากทายถูกสัตว์เหล่านั้นจะกลายเป็นเพื่อนของอัศวิน
- การทายคำศัพท์อาจมีความยากง่ายแล้วแต่ทักษะที่ต้องการ และไม่ควรให้เวลาเกิน 30 นาที
- เมื่อครบกำหนดเวลาจะต้องมานับคำศัพท์ที่เด็กทายถูกว่ามีกี่คำ และถึงจำนวนที่กำหนดหรือไม่ หากสามารถทำได้อัศวินจะชนะและช่วยราชินีไว้ได้
นักการค้าสมองใส
การได้เป็นพ่อค้าแม่ค้าเป็นสิ่งพื้นฐานที่เด็ก ๆ ชอบเล่นกัน ด้วยการได้รับบทคอยคิดราคาสินค้า และเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของคนที่มาซื้อของเพื่อเรียนรู้ถึงการแสดงออกในที่สาธารณะ และการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง
วิธีการเล่น
- เด็กจะได้รับบทเป็นเจ้าของกิจการค้าขายตามที่ต้องการ โดยจะมีพ่อเป็นลูกค้าจอมขี้โกง ส่วนแม่เป็นลูกค้าใจดี สลับหมุนเวียนกันไปแต่ละรอบ
- เมื่อลูกค้ามาจะแสดงพฤติกรรม และซื้อของสมมุติต่าง ๆ อาจนำของเล่นมาวางประกอบได้ และปิดท้ายด้วยการรวมราคาสินค้าด้วยการบวกเลข
- จากนั้นให้เด็กรวมราคา และให้แสดงความคิดเห็นว่ากิริยาท่าทาง หรือการพูดของลูกค้าแต่ละรอบนั้นน่าเอาเป็นแบบอย่าง หรือเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่
- หากเด็กเล่นจบแล้ว 1 รอบควรรีบบอกทันทีว่าเด็กคิดเลขถูกไหม และสามารถแยกแยะคนที่มีความนอบน้อม หรือไม่มีมารยาทต่อบุคคลอื่นได้ถูกต้องหรือไม่ก่อนขึ้นรอบต่อไป
การทำกิจกรรมเหล่านี้อาจให้ลูกเล่นกับเพื่อน ๆ ก็ได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรแบ่งเวลามาทำกิจกรรมกับลูกด้วยความเต็มใจด้วย เพื่อให้ได้มีโอกาสได้สานสัมพันธ์กัน ช่วยให้ลดอาการเหินห่างของคนในครอบครัวได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เนื้อเพลงเสริมพัฒนาการ สนุกพร้อมความรู้ เหมาะกับเด็กวัยกำลังเรียน
แนะนำ E-Book ฟรีสำหรับหนูน้อยวัยเรียน และเรื่องต้องระวัง
ลูกไร้ความ “มั่นใจในตัวเอง” เกิดจากอะไร ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม