ผู้ปกครองกำลังหาศิลปะการต่อสู้ให้ลูกเรียนอยู่หรือเปล่า ยิวยิตสูสำหรับเด็ก เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราอยากแนะนำ เพราะสามารถฝึกได้ ไม่ว่าลูกจะตัวเล็ก หรือตัวใหญ่ รับรองได้ประโยชน์หลายอย่างแน่นอน
ยิวยิตสู คืออะไร มีที่มาอย่างไร
ยิวยิตสู (Jujutsu) หรือที่เราได้ยินกันด้วยชื่ออื่น ๆ เช่น “ยูยิตสู” หรือ “จูจัตซู” ซึ่งก็คือศิลปะการต่อสู้ประเภทเดียวกัน รากฐานของกีฬาต่อสู้ชนิดนี้แต่แรกเดิมทีมาจากประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณ ปรากฏในพงศาวดารตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 ผ่านภาพวาดนักสู้ 2 คนที่ต่อสู้กัน โดยเป็นการต่อสู้กับอาวุธด้วยมือเปล่า ในสมัยโบราณมีการกำหนดชื่อเรียกการต่อสู้แบบนี้ว่า “เซ็นโงคุ ยูยิตสู” แปลว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธเบา หรือมือเปล่า กับคู่ต่อสู้ที่มีอาวุธหนัก หรือสวมเกราะอยู่ และยังมีทักษะการต่อย เตะ จับทุ่ม หรือทำให้เสียหลัก ไปจนถึงการหักข้อคู่ต่อสู้อีกด้วย
สำหรับประเทศไทยยิวยิตสูเข้ามาใน พ.ศ.2464 แต่ไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากถูกมองว่ามีความรุนแรงมากเกินไป ต่อมา พ.ศ.2552 ได้มีการจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการในเอเชียนมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ (Asian Martial Arts Games) ซึ่งตอนนั้นประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และมีนักกีฬาไทยได้รับเหรียญจากการแข่งขัน ทำให้เกิดแรงผลักดันจนมีการก่อตั้งสมาคมยูยิตสูแห่งประเทศไทยมานับแต่นั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : เรียนมวย ดีต่อเด็กอย่างไร ศิลปะป้องกันตัวแบบไทย เสริมสร้างร่างกาย
วิดีโอจาก : PingWie Studio
บราซิลเลียนยิวยิตสูต่างกับยิวยิตสูอย่างไร
บราซิลเลียนยิวยิตสู (Brazillian Jiu-jitsu) หรือ “BJJ” หลายคนอาจสับสนว่าต่างกับยิวยิตสูของญี่ปุ่นอย่างไร จริง ๆ แล้วบราซิลเลียนยิวยิตสูก็มีรากฐานมาจากยิวยิตสูญี่ปุ่น โดยมีที่มาจากในอดีตที่นักยูโดของญี่ปุ่นเดินทางไปเผยแพร่ยูโดตามประเทศต่าง ๆ จนไปถึงประเทศบราซิล มีคนบราซิลชื่อ “คาร์ลอส กราซี (Carlos Gracie)” ได้เข้าขอเป็นศิษย์และได้รับการฝึกยิวยิตสูญี่ปุ่น แต่ต่อมาก็ได้นำมาปรับใช้ ปรับแต่งตามที่ตนเองเห็นว่าสมควร คาร์ลอสมองเห็นว่ายิวยิตสูมักจะใช้แรงมาก ซึ่งคนตัวเล็กเสียเปรียบ คาร์ลอสจึงปรับมาใช้แรงส่งจากผู้โจมตีแทน
ต่อมาคาร์ลอสได้นำสิ่งที่ตัวเองดัดแปลงไปสอนคนอื่น ๆ และถูกเรียกว่ามีความเฉพาะตัวกว่าเดิมมาก ทำให้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกในบราซิลว่า “บราซิลเลียนยิวยิตสู” และค่อย ๆ ได้รับความนิยมจากการไปท้าประลองตามที่ต่าง ๆ จนได้รับความนิยมตามมาอย่างในปัจจุบันนั่นเอง
จุดเด่นของยิวยิตสู คืออะไร
กีฬาสายศิลปะป้องกันตัวแน่นอนว่าจะต้องมีเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น มวยไทยที่ใช้แทบทุกส่วนของร่างกายเป็นอาวุธ หรือ MMA ที่ใช้การต่อสู้แบบผสม และมีอิสระในการต่อสู้สูง ส่วนยิวยิตสูนั้นจุดเด่น คือ ความรวดเร็ว และรุนแรง เน้นการโจมตีที่เร็วแรงในเวลาเดียวกัน มีการใช้การทุ่ม โจมตีตามข้อของคู่ต่อสู้เพื่อให้เสียหลัก หรือเสียสมดุลในการต่อสู้ไป นอกจากนี้หากเป็นแบบบราซิลเลียนยิวยิตสู จะยังมีจุดเด่นในเรื่องของการใช้การโจมตีของคู่ต่อสู้แปรมาแรงส่งในการโต้กลับ ทำให้ศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้เหมาะกับคนตัวเล็กเป็นอย่างมาก
6 ประโยชน์ ยิวยิตสูสำหรับเด็ก
ขึ้นชื่อว่ากีฬาการต่อสู้ ประโยชน์ต่อเด็กมีมากอยู่แล้ว เมื่อลูกอายุ 7 ปีขึ้นไป ก็เหมาะที่จะหาที่เรียนยิวยิตสูแล้ว ผู้ปกครองควรเลือกที่ใกล้บ้าน เดินทางสะดวก มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ดี และครูฝึกที่มีประสบการณ์ในการสอนเด็กมาก่อน เมื่อเลือกสถานที่ได้แล้ว ประโยชน์ที่ตามมาจะมากมายแน่นอน ดังนี้
1. ได้ฝึกร่างกาย และคุ้นเคยกับการออกกำลังกาย
การได้ใช้แรง ได้ออกกำลังกาย อาจเป็นกิจกรรมที่เด็กรุ่นใหม่ ๆ อาจสนใจน้อยลง เนื่องจากปัจจุบันการเกมมือถือเข้ามามีบทบาทสำคัญมาก หรือการนั่งไถ Facebook, IG และ Twitter เป็นต้น การที่ลูกได้ฝึกยิวยิตสู จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ลูกจะได้มีโอกาสใช้เวลาว่างเพื่อฝึกฝนร่างกายได้อย่างแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย การออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญ ที่สามารถส่งเสริมพัฒนาการของลูก และสร้างเสริมนิสัยชอบออกกำลังกายของลูกได้ เป็นผลดีทั้งในระยะสั้น และในระยะยาวอย่างแน่นอน
2. ฝึกไหวพริบ และความคล่องแคล่วของร่างกาย
กีฬาประเภทศิลปะการต่อสู้ ไม่สามารถเชื่องช้า ใจลอย และจะขาดความมั่นใจ หรือความมีไหวพริบไม่ได้ เนื่องจากเป็นกีฬาที่จะต้องมีการชิงจังหวะกันอยู่ตลอดเวลาการแข่งขัน ยิวยิตสูเองก็เช่นกัน การได้ฝึกบ่อย ๆ จะทำให้ลูกเป็นคนมีไหวพริบ คิดตอบโต้ตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดรวดเร็ว ได้ฝึกการทำงานของสมอง ระบบประสาท และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เรียนรู้ที่จะแพ้ และล้มเหลว ยอมรับการตัดสินใจของตนเอง
กีฬาประเภทนี้ไม่มีการเสมอ การแข่งขันโดยทั่วไปต้องมีผู้ชนะ และผู้แพ้เสมอ ด้วยการต่อสู้แบบ 1 VS 1 ทำให้ผู้แพ้ไม่สามารถหันมากล่าวโทษใครได้ ผลของการแข่งขันเป็นไปตามการตัดสินใจของเราเองในขณะที่ต่อสู้ เป็นการฝึกการยอมรับในความผิดพลาดของตนเอง เรียนรู้ที่จะล้มเหลว และลุกขึ้นมาฝึกซ้อมใหม่ เพื่อให้ตนเองมีความสามารถมากขึ้น เป็นการเรียนรู้ความไม่ยอมแพ้ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของเด็กยุคใหม่ ที่มีการแข่งขันสูง
4. ได้มีโอกาสเข้าสังคม
ต่อให้ลูกเป็นเด็กที่เงียบ แต่ศิลปะการต่อสู้ไม่สามารถฝึกคนเดียวได้ตลอด จำเป็นจะต้องมีคู่ฝึก คู่ซ้อม คู่แข่งขัน หากลูกไปเรียนจะทำให้ได้เจอเด็กในวัยใกล้เคียงกัน ง่ายต่อการปรับตัวเพื่อเข้าสังคม ทำให้ลูกมีเพื่อนนอกห้องเรียน ได้ผ่อนคลายเมื่อได้คุย ได้ใช้เวลากับเพื่อน ๆ และเป็นอีกหนึ่งหนทางในการช่วยลูกที่อาจมีนิสัยชอบเก็บตัว หรือเข้าสังคมไม่ค่อยเก่งได้
5. ฝึกได้แม้ลูกจะตัวเล็ก
สิ่งที่สำคัญของยิวยิตสู โดยเฉพาะแบบบราซิล คือ การลดแรงที่จะใช้ต่อสู้ ด้วยการใช้แรงส่งของคู่ต่อสู้เองมาช่วยโจมตี จึงเป็นการต่อสู้ที่เน้นความรวดเร็ว แม่นยำเป็นพิเศษ กรณีนี้ทำให้ยิวยิตสูเหมาะกับทุกคน และเป็นการส่งเสริมคนตัวเล็กให้ฝึกได้ง่าย ซึ่งต่างจากศิลปะการต่อสู้แบบอื่น ๆ ที่ขนาดตัวมีผลต่อการต่อสู้ ไม่สามารถสู้กับคนที่มีตัวใหญ่กว่าได้ ดังนั้นหากผู้ปกครองมีลูกที่ตัวเล็ก ไม่สูงก็หายกังวลได้เลย
6. สามารถนำมาใช้ป้องกันตัวได้
เป็นผลพลอยได้จากการฝึกศิลปะการต่อสู้ทุกประเภท คือ สามารถนำไปป้องกันตัวในยามจำเป็นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเพิ่มโอกาสในการเอาตัวรอด หรือการถูกแกล้งจากเด็กคนอื่นได้ อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ผู้ปกครอง หรือผู้สอนจะต้องเน้นย้ำว่าห้ามนำสิ่งที่ตนเองเรียนมาไปใช้อย่างไร้เหตุผล และห้ามนำไปใช้แกล้งผู้อื่นเองด้วยนั่นเอง
การฝึกกีฬาประเภทใดก็ตาม เป็นสิ่งที่ดีสำหรับลูกรักอย่างไม่ต้องสงสัย หากเริ่มได้ตั้งแต่ยังเด็กจะยิ่งได้เปรียบ โดยเฉพาะร่างกายแข็งแรง และพัฒนาการที่ดีอย่างเห็นได้ชัด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อีสปอร์ต (E-sports) ทำความรู้จักกีฬายุคใหม่ของเด็กยุคดิจิทัล
ฟันดาบ กีฬาแห่งความท้าทาย ฝึกวินัย และความมั่นใจในเด็ก
แฮนด์บอล (Handball) กีฬาแห่งความเร็ว และการทรงตัว เหมาะกับเด็กอย่างไร