เปลี่ยนผู้ร้าย อุปกรณ์ IT กับลูก … ให้กลายเป็นพระเอกตัวจริง
หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องออกมาตรการมารองรับวิกฤติ อุปกรณ์ IT กับลูก และเมื่อโลกได้ออกแรงเหวี่ยงทางเทคโนโลยีนี้ออกมาเพื่อประโยชน์แล้ว เราซึ่งเป็นพ่อแม่จะหมุนตัวรับกับกระแสของ IT นี้อย่างไร? เพื่อที่จะทำให้ผู้ร้ายกลับใจมาเป็นพระเอกในการพัฒนาการเรียนรู้ของลูกได้อย่างแท้จริง
สถิติจากงานวิจัยของเด็กในวัย 0-7 ปี พบว่าพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก ๆ ต่ำลงทุกด้านและส่งผลกระทบเป็นปัญหาในช่วงวัยรุ่น อันเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกถึงความน่ากลัวของ IT แต่ในเมื่อเราซึ่งเป็นพ่อแม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในชีวิตประจำวัน และไม่สามารถหลีกเลี่ยงกับคลื่นกระเเสแห่ง IT นี้ได้ เราก็จำเป็นที่จะต้องตั้งรับและรู้เท่าทัน อุปกรณ์ IT กับลูก
1. สอนให้ลูกเข้าใจว่าอุปกรณ์ IT คือเครื่องมือในการทำงานของผู้ใหญ่: คนเป็นพ่อแม่ต้องแสดงออกอย่างชัดเจน ว่าเวลาไหนที่จะทำงาน เวลาไหนคือเวลาครอบครัว เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ IT ที่บ้าน ก็บอกกับลูกและแสดงให้เห็นจริงว่ากำลังใช้ในการ “ทำงาน” เพื่อให้ลูกเข้าใจ Concept ของเครื่องมือ
บทความใกล้เคียง: เด็กไทยติดมือถือหนึบ!!
2. เมื่อลูกมีคำถามเกี่ยวกับ IT ควรแนะนำการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการสืบค้นความรู้อย่างถูกวิธี: เพราะข้อดีของ IT คือเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ ที่เราสามารถใช้สืบค้นความรู้ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อลูกอยู่ในวัยเรียนรู้ การสืบค้นด้วย IT อย่างถูกวิธีจะช่วยสอนการใช้ IT ที่ถูกต้องแก่เด็ก รวมทั้งการแนะนำ web ที่เหมาะกับวัยของลูก ซึ่งจะช่วยต่อยอดความรู้ของลูกไปเรื่อย ๆ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เผลอ ๆ อาจจะเกิดประเด็นความรู้ใหม่ ๆ ในการพูดคุยกับลูก หลายครั้งที่การสืบค้นช่วยให้ทั้งพ่อ แม่ และลูกได้เปิดโลกกว้างไปด้วยกัน
3. พึงระวังที่จะใช้ IT เพื่อเป็นเพียงผู้ช่วยในการทำกิจกรรม: เด็ก ๆ ในวัย 0-7 ปียังเป็นวัยที่เน้นการเรียนรู้ด้วยกิจกรรม ดังนั้นเครื่องมือ IT จะมีประโยชน์ในเรื่องของ “ภาพและเสียง” เท่านั้น การทำกิจกรรมอื่น ๆ ลูก ๆ ต้องเรียนรู้จากของจริงจึงจะเกิดประโยชน์ ต้องสมดุลย์น้ำหนักในการใช้งานให้ดี เพราะเครื่องมือ IT ใช้ง่ายสะดวก และถ้าใช้บ่อย ๆ เราอาจเคยชินจนละเลยที่จะพาเด็ก ๆ ไปเรียนรู้จากประสบการณ์จริง พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า IT ไม่ใช่พี่เลี้ยงลูก หรือแม้กระทั่งของเล่นสำหรับเด็กค่ะ
บทความใกล้เคียง: ทำอย่างไรเมื่อลูกติดเกม
4. พาเด็กไปเรียนรู้จากของจริงหลังรู้จักสิ่งต่าง ๆ จาก IT: เป็นการแตกหน่อทางความคิด เนื่องจากเด็ก ๆ ในวัย 0-7 ปีจะเรียนรู้ได้ดีผ่านประสบการณ์ทางร่างกาย ดังนั้นยิ่งสัมผัสเยอะเส้นใยประสาทที่รับสัมผัสก็จะส่งข้อมูลของการเรียนรู้เข้าไปบันทึกไว้ในคลังสมองน้อย ๆ ของลูกมากขึ้นเท่านั้นค่ะ เลือกจากหน้าจอเพื่อให้รู้ว่าเด็ก ๆ สนใจอะไรและพาไปเรียนรู้ของจริง คือการเรียนรู้ที่เป็นสุขเพราะลูกได้เลือก และคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถใช้เครื่องมือค้นหาเส้นทางอีกด้วย win win ทั้งลูกและเรานะคะ
5. แสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์ IT ไม่ใช่เรื่องที่ตอบสนองทุกสิ่งในชีวิตของลูกได้ ใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น: บางครั้ง บางเวลา บางสถานที่ เช่น การทำอาหารร่วมกัน การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ฯลฯ เด็ก ๆ ควรเรียนรู้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกทุกคนต้องนั่งสนทนาพูดคุยกัน ไม่ใช่เวลาที่ทุกคนจะต่างคนต่างรับประทาน หรือต่างคนต่างทำงาน เมื่อคุณพ่อคุณแม่เก็บอุปกรณ์ IT ต่าง ๆ ไป เวลาที่ใช้ร่วมกันก็จะเป็นเวลาคุณภาพ และต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์มากกว่าการสื่อสารผ่าน IT ค่ะ
6. จัดเวลาในการเรียนรู้จาก IT ให้เป็นเวลา และเลือกเนื้อหาที่เหมาะกับวัย: การกำหนดเวลาในการใช้เครื่องมือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเด็ก ๆ ยังไม่มีวินัยเพียงพอที่จะควบคุมตนเองในการใช้เครื่องมือ การกำหนดเวลา เช่น “วันนี้เราจะเล่นเกมคำศัพท์ใน tablet กัน 10 นาที” เด็ก ๆ ก็ต้องรู้ว่า 10 นาทีคืออะไร เข็มยาวชี้ที่เลขไหน เป็นต้น และเลือกเนื้อหาที่เด็กๆจะได้เรียนรู้จาก IT ให้เหมาะสมกับวัยของลูก เมื่อเด็ก ๆ ได้รับการปลูกวินัยเรื่องเวลาที่ดี ต่อไปเด็ก ๆ จะเรียนรู้เวลาที่เหมาะสมในการใช้เครื่องมือต่อไป
เท่านี้ IT ก็จะกลายเป็นพระเอกตัวจริง ที่จะช่วยคุณพ่อคุณแม่ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ มาเป็นผู้ช่วยในการเลี้ยงลูกอย่างมีความสุข และยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างสมดุลย์กันแล้วนะคะ
โดย ครูป๋วย
บทความใกล้เคียง: แอพสอนเลขบนไอแพดที่ใช้ได้ฟรี
เด็กติดอินเทอร์เน็ต สื่อออนไลน์ ติดมือถือ ติดคอม แก้ไขและป้องกันได้อย่างไร?
บทความต่างประเทศที่น่าสนใจ Best Educational iPad and Android Apps for Toddlers and Babies