เมื่อการผ่าคลอดเป็นสิ่งที่คุณแม่หลายคนอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การผ่าคลอดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะในปัจจุบันมีเครื่องมือมากมายที่ทำให้การผ่าคลอดเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หลังจากผ่าคลอดแล้ว คุณแม่อาจจะต้องระมัดระวัง ให้ความสำคัญกับการดูแลแผล เพื่อเลี่ยง ภาวะแผลผ่าคลอดติดเชื้อ ที่อาจเกิดขึ้นได้
ภาวะแผลผ่าคลอดติดเชื้อ คืออะไร
เป็นการติดเชื้อหลังจากการผ่าคลอด หลัก ๆ แล้วจะแบ่งเป็นการติดเชื้อจากแผลหน้าท้องด้านนอก และแผลภายในมดลูก โดยการติดเชื้อนี้มีทั้งในแบบอาการรุนแรง และแบบอาการไม่รุนแรง สามารถควบคุมดูแลให้อาการบรรเทาได้ไม่ยาก แต่อาจเกิดอันตรายหากมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้นระหว่างการติดเชื้อ เช่น อาการติดเชื้อที่ลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด ดังนั้นเมื่อคุณแม่พบว่าตนเองมีอาการที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อแผลผ่าคลอด เช่น ปวดแผลมาก, แผลมีรอยบวมแดง หรือมีไข้สูง ควรรีบพบแพทย์ทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 ข้อห้ามหลังผ่าคลอด แม่ผ่าคลอดไม่ควรทำอะไร กิจกรรมแบบไหน อาจสร้างรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ไว้ตลอดกาล
การติดเชื้อแผลผ่าคลอด เกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุที่ทำให้แผลผ่าคลอดของคุณแม่เกิดอาการติดเชื้อ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก และปัจจัยที่ควบคุมได้ อย่างไรก็ตามหากคุณแม่ทำตามคำแนะนำของแพทย์ตลอด จะทำให้มีความเสี่ยงลดลงตามขั้นตอนเช่นกัน โดยปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่
- เกิดจากเชื้อโรค : เชื้ออีโคไล ( Coli), สแตฟิโลคอกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) หรือเชื้อเอนเทอโรคอคคัส (Enterococcus) จากการสัมผัสโดยตรง หรือมาจากช่องทางอื่น หากไม่ระวังเรื่องสุขอนามัยให้ดี เพราะเชื้อเหล่านี้พบได้ง่ายตามสิ่งแวดล้อม
- ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากโรค : โรค หรือภาวะผิดปกติบางอย่าง อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดมากขึ้นได้ เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีน้ำหนักตัวมาก เสี่ยงโรคอ้วน เป็นต้น หากคุณแม่รู้ว่าตนเองมีโรคเหล่านี้ต้องบอกแพทย์ด้วย
- ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ (Chorioamnionitis) : เป็นการติดเชื้อของน้ำคร่ำ และรกที่สามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างรอทำคลอด
- ปัจจัยอื่น ๆ : ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อแผลผ่าคลอด เช่น การใช้สเตอรอยด์, เคยผ่าคลอดมาหลายครั้ง, เสียเลือดระหว่างผ่าคลอดมาก หรือการดูแลแผลหลังจากการผ่าคลอดที่ไม่ได้ประสิทธิภาพมากพอ เป็นต้น
อาการของภาวะแผลผ่าคลอดติดเชื้อ
เมื่อทำการผ่าคลอดมาเรียบร้อยดีแล้ว ต่อมาสิ่งที่แม่ท้องจะต้องให้ความสนใจมากพอ ๆ กับความน่ารักของทารกน้อย นั่นก็คือการคอยสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง ที่กำลังบอกว่าอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่แผลผ่าคลอด โดยสามารถสังเกตได้ ดังนี้
- มีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
- รู้สึกแผลผ่าคลอดมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดแผลมาก, แผลนูนเป็นก้อน, แผลปริมีเลือดซึม หรือแผลบวมแดง เป็นต้น
- จะรู้สึกเจ็บเมื่อปัสสาวะ หรืออุจจาระ และมีอาการท้องผูกอย่างรุนแรง
- มีน้ำคาวปลากลิ่นผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น มีเลือดสีเข้มปะปนออกมาทางช่องคลอดด้วย
โดยทั่วไปแล้วอาจพบอาการที่ไม่ได้รุนแรง เช่น รู้สึกไม่สบาย หรือปวดแผลกว่าปกติ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะมาทาน ไม่นานอาการก็จะบรรเทาลงไปเอง แต่หากมีอาการที่รุนแรง แพทย์จะพิจารณาในการรักษาดูแลต่อไปตามขั้นตอน
วิธีการดูแลแผลผ่าคลอดไม่ให้ติดเชื้อ
เมื่อแม่ท้องมีแผลผ่าคลอด อย่าเพิ่งเป็นกังวลไป นอกจากแพทย์จะคอยดูแลอาการแล้ว ข้อห้ามต่าง ๆ หรือการดูแลตนเองเบื้องต้นอาจมีรายละเอียดหลายอย่าง แต่ทำตามไม่ยากอย่างแน่นอน ดังนี้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดจนกว่าจะหายดี ห้ามหายามาใช้เอง กรณีมีข้อสงสัย หรือแผลเกิดความผิดปกติ ควรสอบถาม และให้แพทย์ตรวจรักษาให้โดยตรง
- แม้ว่าจะรู้สึกไปเองว่าแผลผ่าคลอดหายดีแล้ว ไม่ได้มีอาการใด ๆ แต่ถ้าแพทย์เน้นย้ำว่ายาตัวไหนต้องทานให้หมด ก็ควรทำตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรหยุดทานยาด้วยตนเอง หรือปรึกษาแพทย์ก่อนก็ได้
- สอบถามขั้นตอนการทำความสะอาด เปลี่ยนผ้าพันแผล หรือเดินทางไปคลินิกเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทำให้ก็ได้ การทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ จะลดอาการอักเสบ หรืออาการติดเชื้อได้ดี
- หากแม่ท้องผ่าคลอดอุปสรรคที่จะตามมา คือ การอุ้มทารกเพื่อให้นม เพราะอาจเกิดอาการบาดเจ็บได้ แม่ท้องควรปรึกษากับแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำท่าอุ้มทารกที่ถูกต้องหากต้องการให้นม
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้ารัดรูป หรือเสื้อผ้าที่ระบายอากาศไม่สะดวกไปก่อน จนกว่าแผลจะหายดีแล้ว และควรเลี่ยงการทาครีมบำรุงนอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง หากแผลยังไม่หายดี
- เลี่ยงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการเกร็งบริเวณแผล หรือเกิดการเสียดสีกัน เช่น เลี่ยงการก้มบ่อย ๆ หรือเลี่ยงการยกของหนัก เป็นต้น
- หากรู้สึกว่าตนเองตัวร้อน หลังการตรวจวัดไข้แล้ว พบว่ามีไข้สูง ควรพบแพทย์ทันที นอกจากนี้หากพบว่าแผลผ่าคลอดมีอาการผิดปกติ ก็รีบเดินทางไปพบแพทย์เช่นกัน
วิดีโอจาก : โค้ชเลิศพร สอนแม่และเด็ก
แผลผ่าคลอดต้องดูแลรักษานานแค่ไหน
คงเป็นเรื่องที่คุณแม่ไม่ค่อยชอบใจ หากต้องมาคอยนั่งห่วงเรื่องการติดเชื้ออยู่เรื่อย ๆ และต้องคอยดูแลแผลผ่าคลอดอย่างสม่ำเสมอ สำหรับแผลผ่าคลอดนั้นโดยทั่วไปแล้วมักจะหายไปภายใน 2 – 3 เดือน หากแม่ท้องเห็นว่าแผลแห้งสนิทแล้ว ก็ไม่ควรรีบทำกิจกรรมอะไรที่เป็นการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป เช่น การมีเพศสัมพันธ์ หรือการยกของหนักมาก เนื่องจากแผลภายนอกอาจแห้งสนิทภายใน 2 เดือน แต่สำหรับแผลในมดลูกจะใช้เวลาให้หายสนิทได้ภายใน 3 เดือนหลังคลอดนั่นเอง เมื่อครบ 3 เดือนแล้ว คุณแม่อาจลองทำกิจกรรมเบา ๆ ทดสอบดูก่อนก็ได้
แผลผ่าคลอดแม้จะหายได้เอง และความเสี่ยงติดเชื้อจะน้อยลงหากดูแลดี แต่ถ้าพบอาการผิดปกติใด ๆ ที่สงสัย ก็ควรสอบถามแพทย์ หรือเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ผ่าคลอด มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ผ่าคลอดแนวขวางหรือแนวตั้งดีกว่ากัน
คันแผลผ่าคลอด บรรเทาอาการอย่างไร ดูแลแผลผ่าคลอดยังไงไม่ให้ติดเชื้อ
คุณแม่ผ่าคลอด ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ถ้าเคยผ่าคลอดแล้วจะคลอดธรรมชาติได้หรือไม่
ที่มา : hellokhunmo, สูติศาสตร์ล้านนา, pobpad