คุณแม่หลาย ๆ คน เป็นกังวลใจที่ ลูกหัวแบน ลูกหัวเบี้ยว ไม่รู้จะแก้ปัญหายังไงดี แล้วก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ให้ลูกหัวทุย สวย เหมือนเด็กคนอื่น วันนี้ เราจะมาทำความเข้าใจกับภาวะศีรษะแบน หรือ หัวแบน ที่เรารู้จักกัน และเราจะมาดูกันว่า ภาวะนี้แก้ไขได้หรือไม่ ต้องทำอย่างไรบ้างเมื่อมีลูกหัวแบน และจะมีวิธีป้องกันที่ทำให้ลูกหัวไม่แบนอย่างไรบ้าง ไปติดตามดูกันค่ะ
ภาวะศีรษะแบนในทารก หัวแบน หัวเป็นร่อง คืออะไร
ภาวะศีรษะแบน หรือ ทารกหัวแบน คือ ภาวะความผิดปกติที่มักจะเกิดขึ้นกับกะโหลกศีรษะของทารก เด็กที่มีภาวะนี้ จะมีกะโหลกท้ายทอยแบนราบ บางครั้งอาจจะแบนแค่ข้างใดข้างหนึ่ง จนดูเหมือนหัวเบี้ยว และบางครั้งก็แบนทั้ง 2 ข้าง อาจเกิดขึ้นได้ในตอนที่เด็กอยู่ในท้องแม่ หรือ อาจจะเกิดขึ้นหลังจากที่เด็กเกิดมาแล้วสักพัก
หัวแบน ทารกหัวแบนเกิดจากอะไร
ภาวะหัวแบน อาจเกิดได้จากการที่คุณแม่มีขนาดมดลูกเล็กเกินไปสำหรับขนาดตัวลูก จนทำให้มดลูกบีบรัดศีรษะเด็ก ซึ่งเด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือเด็กแฝด มักจะได้รับความเสี่ยงนี้ แต่โดยส่วนใหญ่ ศีรษะของเด็กจะกลับสู่สภาพปกติเมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 6 สัปดาห์ ทั้งนี้ ภาวะหัวแบนก็อาจเกิดจากแรงคลอดธรรมชาติ ที่เมื่อตอนคลอดเด็กอาจจะถูกช่องคลอดบีบศีรษะแน่นเกินไป หากคุณแม่มีน้ำคร่ำเยอะ ก็จะช่วยลดแรงบีบจากช่องคลอดได้ค่อนข้างมาก ส่วนเด็กบางคนที่เพิ่งจะมาหัวแบนหลังจากการคลอด ก็อาจจะมาจากการที่นอนผิดท่า นอนหงายนานไป หรือนอนตะแคงไปที่ด้านใดด้านหนึ่งนานเกิน ไม่มีการเปลี่ยนท่านอน จนทำให้หัวผิดรูปและเบี้ยวไปที่ด้านใดด้านหนึ่ง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 หมอนหัวทุยที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย ซื้อไว้ติดบ้าน หายห่วงเรื่องลูกหัวแบน
ทารกหัวเบี้ยว
และนอกจากนี้ ภาวะหัวแบน ก็อาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกายได้เช่นเดียวกัน หากเด็กเป็นโรคคอเอียงอยู่แล้ว อาจทำให้มีเลือดออกในกล้ามเนื้อคอ จนเกิดเป็นพังผืดรั้งให้คอเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ส่งผลให้เด็กหันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่งตลอดเวลา และมีภาวะหัวแบนในที่สุด หรือหากเด็กมีรอยแยกของกะโหลกศีรษะที่เชื่อมปิดเร็วกว่าปกติ เด็กก็จะมีศีรษะเล็ก ผิดรูปผิดร่าง จนดูหัวแบน และอาจมีผลต่อสมองและพัฒนาการของเด็กได้ในอนาคต หากลูกน้อยเรามีภาวะทั้ง 2 อย่างนี้ คุณหมอจะแนะนำให้ทำการรักษาโดยเร็วที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 หมอนหัวทุยที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย ซื้อไว้ติดบ้าน หายห่วงเรื่องลูกหัวแบน
หัวเป็นร่อง หัวแบน ควรทำอย่างไร แก้ยังไง
หากเด็กหัวแบน แต่ว่าไม่ได้เกิดจากภาวะคอเอียงหรือความผิดปกติของกะโหลกศีรษะ คุณแม่สามารถทำวิธีง่าย ๆ ต่อไปนี้ได้เองที่บ้าน เพื่อช่วยให้ศีรษะลูกกลับมามีสภาพที่ปกติ
- ลองจัดท่านอนให้เด็กใหม่ โดยเน้นให้เด็กนอนตะแคงสลับทั้งซ้ายขวาบ่อย ๆ ไม่นอนหันไปด้านใดนานจนเกินไป
- เมื่อต้องให้นมลูก ให้อุ้มสลับข้างซ้ายที ข้างขวาที จากนั้นก็คอยสังเกตว่า หลังจาก 2-3 เดือน อาการหัวแบนหายไปหรือไม่
- หากเด็กไม่ยอมหันไปในด้านที่เราต้องการ ให้ลองใช้ของเล่นล่อเด็กให้หันไปทางที่ต้องการ โดยอาจจะใช้ของเล่นที่มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง หรือไม่ก็เสียงดีดนิ้วล่อเด็กได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 หมอนเด็ก ยี่ห้อไหนดี? คุณแม่สายซื้อออนไลน์ไม่ควรพลาด
ลูกหัวแบน ป้องกันอย่างไร
แม่ ๆ หลายคนก็คงอยากให้ลูกมีหัวที่สวย ไม่แบน หรือไม่เบี้ยว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กหัวแบนตั้งแต่เนิ่น ๆ หลังการคลอด คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจัดท่านอนให้ลูก ๆ ตั้งแต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังการเกิด นอกจากการนอนสลับข้างซ้ายขวาตามที่บอกไปข้างต้น คุณพ่อคุณแม่สามารถจัดให้ลูกนอนคว่ำขณะที่ลูกตื่น และไม่ให้ลูกนั่งคาร์ซีทหรือนั่งรถเข็นในท่าเดิมนานจนเกินไป นอกจากนี้ ไม่ควรอุ้มลูกพาดไหล่แค่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น พยายามสลับข้างให้บ่อย ๆ จะดีที่สุด
ปัญหาหัวแบนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับเด็กแรกเกิด หากคุณแม่หมั่นสังเกตเด็กและหมั่นทำตามที่คุณหมอแนะนำ รับรองว่าเด็ก ๆ จะกลับมามีหัวที่ทุยสวยได้ในเร็ววันอย่างแน่นอนค่ะ ถ้าคุณแม่ทำวิธีเหล่านี้แล้ว เด็กยังอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้เข้าปรึกษาคุณหมอให้ไวที่สุด จะดีกว่าค่ะ เพื่อที่คุณหมอจะได้ช่วยหาวิธีปรับเปลี่ยนกะโหลกเด็ก ให้เข้ารูปได้ทันท่วงทีนะคะ แต่หากลูก ๆ ของคุณแม่ไม่ได้มีปัญหาหัวแบน หรือ หัวเบี้ยว แต่คุณแม่ก็อยากให้ลูกหัวทุย กลม และสวย ก็สามารถอ่านเกี่ยวกับวิธีจัดท่านอนให้ลูกต่อได้ที่นี่ ลูกนอนท่าไหนหัวสวย จัดท่านอนให้ทารกแรกเกิดหัวทุย และปลอดภัย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
7 หมอนหัวทุยที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย ซื้อไว้ติดบ้าน หายห่วงเรื่องลูกหัวแบน
10 หมอนเด็ก ยี่ห้อไหนดี? คุณแม่สายซื้อออนไลน์ไม่ควรพลาด
ท่านอนทารก 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 64
เครดิตภาพ : https://drcarrierigoni.com
ที่มา : parenting.firstcry.com