วิธีเก็บรักษา ภาพอัลตราซาวด์ลูกน้อย ให้อยู่กับเราไปนานๆ

undefined

ภาพอัลตราซาวด์ลูกน้อย ความทรงจำล้ำค่าที่พ่อแม่ทุกท่านอยากเก็บไว้ตราบนานเท่านาน จะเก็บรักษาอย่างไรไม่ให้ซีดจาง เรามีเคล็ดลับดีๆ มาฝากคุณแม่ค่ะ

ภาพอัลตราซาวด์ลูกน้อย ภาพแรกของลูกเป็นความทรงจำล้ำค่าที่พ่อแม่ทุกท่านอยากเก็บไว้ตราบนานเท่านาน แต่ปัญหาที่พบบ่อยคือภาพเหล่านี้มักซีดจางเร็ว แล้วจะเก็บรักษาภาพความทรงจำอันแสนพิเศษนี้อย่างไรให้คงอยู่ตลอดไป เรามีเคล็ดลับดีๆ มาฝากคุณแม่ค่ะ

 

อัลตร้าซาวด์ครั้งแรก กี่สัปดาห์

โดยทั่วไปแล้ว จำนวนครั้งของการอัลตราซาวด์ตลอดการตั้งครรภ์จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสุขภาพของคุณแม่และทารก รวมถึงนโยบายของแต่ละโรงพยาบาลหรือคลินิก แต่ตามมาตรฐานมักจะมีการอัลตราซาวด์หลักๆ ดังนี้

  • ครั้งที่ 1: ช่วงไตรมาสแรก (ประมาณ 6-12 สัปดาห์)

อัลตร้าซาวด์ครั้งแรก มีจุดประสงค์เพื่อ ยืนยันการตั้งครรภ์ ตรวจสอบตำแหน่งการตั้งครรภ์ว่าอยู่ในโพรงมดลูก หรือมีภาวะท้องนอกมดลูก

โดยการอัลตร้าซาวด์จะเป็นวิธีประเมินอายุครรภ์ที่แม่นยำที่สุด และกำหนดวันคลอดที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงนับจำนวนทารก และประเมินความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์เบื้องต้นค่ะ

  • ครั้งที่ 2: ช่วงไตรมาสที่สอง (ประมาณ 18-22 สัปดาห์)

ครั้งนี้เป็นการอัลตราซาวด์ที่สำคัญมากที่เรียกว่า อัลตราซาวด์คัดกรองความผิดปกติแต่กำเนิด โดยคุณหมอจะตรวจดูโครงสร้างของทารกอย่างละเอียด ตั้งแต่สมอง หัวใจ กระดูกสันหลัง แขน ขา อวัยวะภายในต่างๆ เพื่อคัดกรองความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้ง ตรวจดูตำแหน่งของรกและปริมาณน้ำคร่ำ การอัลตร้าซาวด์ในครั้งนี้ยังสามารถบอกเพศลูกได้อีกด้วย หากทารกอยู่ในท่าที่เหมาะสม

  • ครั้งที่ 3: ช่วงไตรมาสที่สาม (ประมาณ 30-36 สัปดาห์)

เพื่อประเมินการเจริญเติบโตของลูกน้อย ทั้งน้ำหนักตัว ขนาดศีรษะ และความยาวกระดูก นอกจากนี้ยังช่วยตรวจสอบตำแหน่งของทารกว่ากลับหัวพร้อมสำหรับการคลอดหรือยัง รวมถึงประเมินตำแหน่งของรกว่ามีภาวะรกเกาะต่ำหรือไม่ ตลอดจนปริมาณน้ำคร่ำและสุขภาพโดยรวมของลูกก่อนคลอด

บทความที่เกี่ยวข้อง ไขข้อข้องใจ รู้ได้อย่างไรว่าลูกกลับหัวแล้ว อาการลูกกลับหัว เป็นแบบไหน ?

 

ภาพอัลตราซาวด์ลูกน้อย

กรณีที่อาจต้องอัลตราซาวด์บ่อยขึ้น

นอกเหนือจาก 3 ครั้งหลักนี้แล้ว คุณแม่บางท่านอาจได้รับการอัลตราซาวด์บ่อยกว่าปกติ หากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น

  • มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เลือดออกผิดปกติ
  • เป็นโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • ตั้งครรภ์แฝด
  • ทารกมีการเจริญเติบโตผิดปกติ หรือสงสัยความผิดปกติบางอย่าง
  • มีการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด
  • หรือตามดุลยพินิจของสูติแพทย์ที่ดูแลครับ

 

ภาพแรกในชีวิต ความทรงจำที่พิเศษ

เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์และตรวจครรภ์ โดยปกติแล้ว คุณหมอจะให้ภาพอัลตราซาวด์ลูกน้อยแก่คุณแม่เพื่อให้คุณแม่ได้เห็นพัฒนาการของลูกน้อย และเก็บไว้เป็นที่ระลึก โดยส่วนใหญ่จะให้ภาพเป็นกระดาษเทอร์มอลที่พิมพ์ออกมาให้เลย 

อย่างไรก็ตาม หลายโรงพยาบาลอาจไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอในห้องตรวจ ด้วยเรื่องของข้อกำหนดของโรงพยาบาล แต่บางที่อาจมีบริการเสริม เช่น การบันทึกภาพหรือวิดีโอลงในแฟลชไดรฟ์ หรือส่งเป็นไฟล์ดิจิทัลให้ทางอีเมล (ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)

หากคุณแม่ต้องการเก็บ ภาพอัลตราซาวด์ลูกน้อย ไว้เป็นที่ระลึก ควรสอบถามคุณหมอหรือพยาบาลตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าทางโรงพยาบาลมีนโยบายอนุญาตให้คุณแม่บันทึกภาพไว้หรือไม่ค่ะ

 

ภาพอัลตราซาวด์ลูกน้อย

วิธีเก็บรักษา ภาพอัลตราซาวด์ลูกน้อย ให้อยู่กับเราไปนานๆ

เมื่อคุณแม่ได้ ภาพอัลตราซาวด์ลูกน้อย มาแล้ว แน่นอนว่าภาพใบเล็กๆ นี้มีความหมายต่อจิตใจของพ่อแม่อย่างมาก และอยากเก็บรักษาความทรงจำอันล้ำค่านี้ไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราจึงมีเคล็ดลับดีๆ ในการถนอม ภาพอัลตราซาวด์ลูกน้อย ให้อยู่คู่กับคุณไปนานๆ มาฝากค่ะ

  • หลีกเลี่ยงความร้อนและแสง

ภาพอัลตราซาวด์ส่วนใหญ่เป็นกระดาษเทอร์มอล ซึ่งไวต่อความร้อนและแสงมาก ดังนั้น ห้ามเก็บในที่ร้อนจัด หรือโดนแสงแดดและแสงจากหลอดไฟโดยตรงเด็ดขาด เพราะจะทำให้ภาพซีดจางอย่างรวดเร็ว

  • ลดการสัมผัสโดยตรง

น้ำมันจากนิ้วมือของเราสามารถเร่งให้หมึกจางได้เร็วขึ้น ดังนั้น พยายามหลีกเลี่ยงการจับหรือสัมผัสภาพบ่อยๆ 

  • งดใช้เทปกาวและซองพลาสติกทั่วไป

สารเคมีในเทปกาวและพลาสติกบางชนิดสามารถทำปฏิกิริยากับกระดาษเทอร์มอล ทำให้ภาพเสื่อมสภาพหรือจางหายไปได้

  • ห้ามเคลือบพลาสติกแข็งด้วยความร้อน

หลายคนอาจคิดว่าการเคลือบจะช่วยถนอมภาพ แต่ในกรณีของภาพอัลตราซาวด์ซึ่งเป็นกระดาษเทอร์มอล ความร้อนจากเครื่องเคลือบจะทำลายภาพจนอาจมองไม่เห็น

 

ภาพอัลตราซาวด์ลูกน้อย

 

ทางเลือกอื่นๆ ในการเก็บรักษา ภาพอัลตราซาวด์ลูกน้อย

เพื่อให้มั่นใจว่าความทรงจำนี้จะอยู่กับคุณไปตลอด เราขอแนะนำทางเลือกในการเก็บรักษา ภาพอัลตร้าซาวด์ลูกน้อย อย่างถาวร ดังนี้

1. สแกนหรือถ่ายภาพด้วยความละเอียดสูง

นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเก็บรักษา ภาพอัลตร้าซาวด์ลูกน้อย คุณสามารถสแกนภาพต้นฉบับ หรือใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพให้คมชัดที่สุด แล้วเก็บไว้ในหลายๆ ช่องทาง เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือบริการคลาวด์อย่าง Google Photos หรือ iCloud เพื่อป้องกันข้อมูลสูญหาย

2. พิมพ์ซ้ำลงบนกระดาษโฟโต้คุณภาพสูง

เมื่อคุณได้ไฟล์ดิจิทัลแล้ว ลองนำไปพิมพ์ซ้ำลงบนกระดาษโฟโต้คุณภาพดี ที่มีความคงทนต่อแสงและเวลามากกว่ากระดาษอัลตราซาวด์ต้นฉบับ ภาพที่ได้จะมีสีสันที่คงทนและคมชัดกว่ามาก

3. จัดทำเป็น Photobook

หากคุณมีภาพอัลตราซาวด์หลายภาพ หรืออยากเก็บรวมกับภาพความทรงจำอื่นๆ ในช่วงตั้งครรภ์ การทำ Photobook เป็นอีกทางเลือกที่น่ารักและช่วยเก็บรักษาภาพได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งคุณสามารถเปิดดูได้ทุกเมื่อ

 

ภาพอัลตราซาวด์ใบเล็กๆ ที่คุณหมอมอบให้นั้น ไม่ใช่แค่เพียงกระดาษธรรมดา แต่คือ “ความทรงจำที่พิเศษ” ของพ่อแม่ เป็นหลักฐานชิ้นแรกของการเริ่มต้นชีวิตน้อยๆ ที่กำลังจะเติบโตขึ้นในโลกใบนี้

ในหลายๆ ครั้ง ด้วยข้อจำกัดของโรงพยาบาลที่อาจไม่อนุญาตให้มีการถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอในห้องตรวจ ทำให้ภาพอัลตราซาวด์ที่ได้มานั้นยิ่งมีความหมายและคุณค่ามากยิ่งขึ้น เพราะนี่คือภาพความทรงจำเพียงไม่กี่ภาพที่คุณจะได้เห็นลูกน้อยในครรภ์

ดังนั้น การเรียนรู้วิธี การดูแลรักษาภาพอัลตราซาวด์ลูกน้อยอย่างถูกวิธี จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ความทรงจำอันแสนพิเศษนี้คงอยู่คู่กับเราไปตราบนานเท่านาน ไม่ซีดจางไปตามกาลเวลา

 

ที่มา : OBG Social หมอสูติคู่มือถือคุณ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ไขข้อข้องใจคุณแม่ อัลตร้าซาวด์ดูเพศลูกได้ตอนไหน ท้องกี่เดือนถึงรู้เพศลูก

คนท้อง อัลตราซาวด์ 4 มิติ กี่เดือน ซาวด์ 4 มิติ ที่ไหนดี ราคา ปี 2568

เล่นกับลูกยังไงให้ฉลาด? 10 วิธี กระตุ้นประสาทสัมผัสลูกในครรภ์

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!