อย่างที่ทุกคนทราบกันดี ว่าในนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหาร เพราะยิ่งลูกได้รับน้ำนมแม่มากเท่าไรก็ยิ่งส่งผลดีกับลูก แล้วเคยสงสัยไหมว่า นมแม่อยู่ได้กี่ชั่วโมง แล้วจะเก็บรักษาอย่างไรให้นมแม่อยู่ได้นานที่สุด และยังคงเก็บคุณค่าของน้ำนมไว้อย่างครบถ้วน วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเถอะ
นมแม่อยู่ได้กี่ชั่วโมง และประโยชน์ของนมแม่มีอะไรบ้าง
นมแม่นั้นอุดมไปด้วยสารอาหารครบถ้วน เหมาะสมกับความต้องการของทารกแรกเกิด ช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างสมบูรณ์ พร้อมทั้งเป็นส่วนสำคัญ ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคต่าง ๆ มากมาย เพราะในนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์กับทารกดังนี้
- โปรตีน: นมแม่มีโปรตีนชนิดวีต้าอัลบูมิน (Whey Protein) และเคซีน (Casein) ย่อยง่าย ดูดซึมได้ดี ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาการของกล้ามเนื้อ สมอง และระบบต่าง ๆ ของร่างกาย
- ไขมัน: นมแม่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3) และโอเมก้า 6 (Omega-6) ในสัดส่วนที่เหมาะสม ช่วยพัฒนาการสมอง สายตา ระบบประสาท และระบบภูมิคุ้มกัน
- คาร์โบไฮเดรต: นมแม่มีแลคโตส (Lactose) น้ำตาลชนิดพิเศษ ย่อยง่าย เป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับทารก
- วิตามินและแร่ธาตุ: นมแม่มีวิตามินและแร่ธาตุครบถ้วน เช่น วิตามินเอ วิตามินบีรวม วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก สังกะสี ไอโอดีน จำเป็นต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- อื่น ๆ: นมแม่ยังมีสารสำคัญอื่น ๆ เช่น เอนไซม์ ฮอร์โมน เซลล์ภูมิคุ้มกัน ที่ช่วยต่อต้านเชื้อโรค ทั้งยังส่งเสริมระบบย่อยอาหาร และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกอีกด้วย
ที่มา : bangkokhospital.com
นมแม่อยู่ได้กี่ชั่วโมง และควรเก็บรักษานมแม่อย่างไร
สำหรับระยะเวลาในการเก็บรักษานมแม่ นั้นขึ้นอยู่กับวิธีในการเก็บรักษา โดยหากเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง (26-32 องศาเซลเซียส) นมแม่ก็จะเก็บได้อยู่ราว ๆ 3-4 ชั่วโมง แต่หากเก็บรักษาในตู้เย็นที่ช่องธรรมดา (0-4 องศาเซลเซียส) จะสามารถเก็บได้ 3-5 วัน โดยควรเก็บไว้ด้านในสุดของตู้เย็น และไม่ควรเก็บไว้บริเวณประตูตู้เย็น แต่หากเก็บไว้ในตู้เย็นช่องแช่แข็ง (-18 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า) จะสามารถเก็บน้ำนมแม่ได้นานถึง 6 เดือน สำหรับนมแม่ที่ผ่านการแช่แข็ง เมื่อต้องการนำมาใช้ ให้นำลงมาแช่ในตู้เย็นช่องธรรมดาล่วงหน้า 1 คืน (12 ชั่วโมง) และสามารถเก็บไว้ได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่ควรนำนมแม่ที่ละลายแล้วกลับไปแช่แข็งอีก ส่วนนมแม่ที่เหลือจากการป้อนลูก หากต้องการเก็บไว้ป้อนลูกอีก แนะนำให้ใช้ภายใน 1-2 ชั่วโมง
การเก็บรักษานมแม่ควรทำอย่างไร
สำหรับการเก็บรักษานมแม่ควรใช้ภาชนะที่สะอาด ปิดสนิท ปราศจากเชื้อโรค โดยมักจะนิยมถุงเก็บน้ำนมแม่ เพราะเนื่องจากสะดวก หาซื้อง่าย พกพาสะดวก แต่จะต้องไล่อากาศออกให้หมดก่อนเก็บ หรือจะพบว่าบางคนอาจจะใช้ขวดนม หรือถ้วยสำหรับเก็บน้ำนมก็ใช้ได้เช่นกัน แต่ต้องไม่ลืมที่จะล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อให้ถูกวิธี และอีกหนึ่งข้อสำคัญที่คุณแม่ควรรู้คือ คุณแม่ควรระบุวันและเวลาที่ปั๊มนมลงไปให้ชัดเจน สิ่งสำคัญคือต้องไม่ลืมว่าควรใช้ฉลากติดบรรจุภัณฑ์และน้ำหมึกที่จะใช้เขียนติดบนบรรจุภัณฑ์ควรเลือกที่สามารถกันน้ำและความชื้นได้ เพราะในตู้เย็นมีความชื้นสูง ฉลากและน้ำหมึกที่ไม่กันความชื้นอาจทำให้ฉลากเสียหายจนดูไม่ออกว่าเขียนอะไรลงไป
ที่มา : enfababy.com, bumrungrad.com
หากต้องการนำนมแม่ที่แช่เย็นมาใช้ ต้องทำอย่างไร ?
หากต้องการนำน้ำนมแม่ที่แช่ไว้ในตู้เย็นออกมาใช้อย่างถูกต้องนั้น คุณแม่ควรนำน้ำนมแม่ที่แช่เย็นออกมาอุ่นด้วยการนำมาใส่ในขวดนม จากนั้นนำไปวางไว้ในชามที่บรรจุน้ำอุ่นไว้ ไม่แนะนำให้นำไปอุ่นในไมโครเวฟ หากเป็นการละลายนมที่เก็บไว้ในช่องแช่แข็ง แนะนำให้คุณแม่นำถุงเก็บน้ำนมที่เป็นน้ำแข็งออกมาเก็บในช่องแช่ธรรมดาข้ามคืนเพื่อให้คืนสภาพ จากนั้นให้นำมาเทใส่ขวด แล้วจึงแช่ในน้ำอุ่น ไม่แนะนำให้อุ่นนมแม่ในไมโครเวฟเช่นกัน
ที่มา : s-momclub.com
นมแม่แบบใด ที่ไม่ควรให้ลูกกิน
โดยทั่วไปแล้ว นมแม่มีประโยชน์ต่อลูกมาก และควรให้ลูกกินให้มากที่สุด แต่ในบางกรณีที่นมแม่ อาจจะ ไม่เหมาะสม หรือเป็นอันตราย ต่อลูก ดังนี้
1. นมแม่ที่มีสีผิดปกติ
- นมแม่ที่มีสีน้ำตาล สนิม หรือสีแดง อาจเกิดจากเลือดปน มักเกิดขึ้นใหม่ ๆ หลังคลอด ไม่เป็นอันตราย รอสังเกตอาการ ประมาณ 2-3 วัน จะดีขึ้น
- นมแม่ที่มีสีดำ ควรหยุดให้นม และปรึกษาแพทย์ อาจมีปัญหาสุขภาพ
2. นมแม่ที่มีกลิ่นผิดปกติ
- หากนมแม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว หรือกลิ่นเน่า แสดงว่านมเสียไม่ควรให้ลูกกิน
- นมแม่ที่มีกลิ่นยา หรือกลิ่นสมุนไพร ที่เกิดจากยา หรืออาหารที่แม่ทาน โดยทั่วไปปลอดภัย แต่ควรสังเกตอาการลูก หากมีอาการแพ้ ควรหยุดทาน และปรึกษาแพทย์
3. นมแม่ที่มีเชื้อโรค
- แม่ที่เป็นโรคติดต่อ เช่น HIV ไวรัสตับอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการให้นมลูก
- นมแม่ที่ปนเปื้อน จากแบคทีเรีย หรือเชื้อโรค ไม่ควรให้ลูกกิน
4. นมแม่ที่มีสารเคมี
- แม่ที่ทานยา หรืออาหารที่มีสารเคมี ควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับการให้นมลูก
- นมแม่ปนเปื้อน จากสารเคมี ไม่ควรให้ลูกกิน
5. นมแม่ที่มีแอลกอฮอล์
- แม่ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรให้นมลูก จนกว่าแอลกอฮอล์จะหมดฤทธิ์
การเก็บน้ำนมแม่ที่ถูกวิธีนั้น จะช่วยให้น้ำนมแม่สามารถอยู่ได้นาน มีสารอาหารครบถ้วนเหมือนตอนเพิ่งปั๊มใหม่ ๆ ซึ่งคุณแม่ควรเลือกวิธีการเก็บรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้การจัดเก็บน้ำนมมีประสิทธิภาพมากที่สุด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ แม่ให้นมเสี่ยงขาดสารอาหาร ยิ่งบำรุงครบ ยิ่งช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำนมแม่
สต็อกน้ำนมเหลือง สต็อกนมแม่หลังคลอด ทำอย่างไร แค่ไหนถึงพอ
แม่ให้นมกินอะไรได้บ้าง เทคนิคเพิ่มคุณภาพน้ำนมแม่ ช่วยให้ลูกรัก แข็งแรง หัวไว อารมณ์ดี