เรื่องไม่คาดคิด ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ทุกฤดูร้อน ในช่วงอากาศอบอ้าว แดดแรง ๆ อย่างนี้ เด็ก ๆ มักจะชอบไปเล่นน้ำช่วงหน้าร้อน พ่อแม่ผู้ปกครองห้ามไว้วางใจ ปล่อยลูกไปเล่นน้ำตามลำพัง! มาอ่านอุทาหรณ์ ประสบการณ์ลูกจมน้ำ เรื่องราวที่คุณแม่ท่านนี้ อยากเตือนทุกคนให้ระแวดระวัง
แม่เล่าอุทาหรณ์ ประสบการณ์ลูกจมน้ำ
ขอโพสต์เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่แม่ ๆ ทุกคนนะคะ ระวังเด็กจากการจมน้ำนะคะ เราอยู่ในห้องนี้มาตั้งแต่เราเริ่มท้องแล้วค่ะ จนตอนนี้ลูกเรา อายุ 2 ขวบ 9 เดือนแล้ว เราไม่ได้เลี้ยงลูกเอง ลูกเราอยู่กับ ปู่ ย่า ส่วนเราทำงานอยู่ต่างจังหวัด ช่วงสงกรานต์เราก็กลับบ้านไปหาลูก พอใกล้เปิดงาน เรากับแฟนก็ขับรถกลับค่ะ ไปยังไม่ถึงไหนเลย มีสายของพ่อแฟนโทรมา เราก็รับพร้อมกับคิดในใจ เราอาจลืมอะไรหรือเปล่า แต่เสียงในสายกลับไม่ใช่พ่อแฟน เป็นเสียงของน้า
บอกว่า ทำใจดี ๆ นะลูกเราจมน้ำ เราทำอะไรไม่ถูกค่ะ เรายกโทรศัพท์ให้แฟนคุย เรานิ่งไปพักหนึ่ง ทั้งคิดว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง ที่ไหน แล้วใครพาไป แฟนเรารีบขับรถกลับมาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ เพราะน้าบอกว่า ตอนนี้กำลังพาน้องส่ง รพ. เราขับรถยังไม่ถึงไหน ก็โทรมาบอกว่าน้องถูกส่งตัวมาที่ รพ.ประจำจังหวัด เพราะอาการน้องหนักมาก เราร้องไห้จนไม่มีน้ำตา ยืนรอลูก รอว่าเมื่อไหร่รถส่งตัวจะมาถึง พอมาถึงเราก็ร้องอย่างเดียวค่ะ
วิดีโอจาก : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
แต่แฟนยังมีสติ ถามพ่อกับแม่ว่าเกิดอะไรขึ้น พ่อแฟนบอกว่า พอเรากับแฟนออกจากบ้านมา แกก็พาลูกเรากับหลานอีกคนซึ่งอายุใกล้เคียงกัน ห่างกันแค่ 15 วัน ออกไปทุ่งนา เพื่อที่จะเอาอาหารไปให้ไก่ ขณะที่แกเอาอาหารให้ไก่ แกคงเผลอลืมมองว่าหลานไปไหน คิดว่าหลานคงพากันเล่นตามทุ่งนา ไม่ได้เอะใจอะไร แต่ไม่ใช่แบบนั้นค่ะ เด็กพากันลงไปที่สระน้ำ ไม่แน่ใจว่าน้องพลัดตกลงไปจากบันไดหรือเปล่า เพราะไม่มีใครเห็น มีแค่หลานที่ให้การไม่ได้ค่ะ
พอปู่เอะใจ เห็นว่าหลานเงียบ ๆ เลยวิ่งตามหา ลูกเราลอยน้ำนอนคว่ำหน้า หลานอีกคนยืนในน้ำถึงหน้าอก พ่อแฟนรีบไปอุ้มลูกเราขึ้นมา เอาเศษอาหารออกจากปากน้อง น้องตัวซีด คาดว่าน่าจะหยุดหายใจแล้ว พ่อแฟนก็รีบเป่าปาก ปั๊มหัวใจเบื้องต้น แล้วพาดบ่าขับรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาในบ้าน แกตะโกนบอกญาติว่าน้องจมน้ำ ให้เอารถยนต์ออกมาพาน้องส่งโรงพยาบาล ช่วงที่นั่งรถไป ก็ช่วยกันปั๊มหัวใจน้องตลอดทาง ยังดีที่มาถึง รพ. ชีพจรลูกเรายังมีอยู่ รพ.อำเภอใส่เครื่องช่วยหายใจ ปฐมพยาบาลแล้วส่งมาที่ รพ.จังหวัด ห้องฉุกเฉิน รีบส่งตัวน้องเข้า ICU หัวอกคนเป็นแม่เหมือนใจจะขาด เหตุเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. ตอนเที่ยงนะคะ พอถึง ICU ก็ประมาณบ่ายโมง กว่าลูกเราจะฟื้นรู้สึกตัวประมาณ 10 ชั่วโมงค่ะ น้องมีอาการชักเกร็ง เนื่องจากออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ สมองขาดออกซิเจนนาน
สิ่งที่หมอเขาจะเรียกซักประวัติ
- ใครคือผู้เห็นเหตุการณ์
- เมื่อเจอแล้วทำอะไรกับตัวน้องบ้าง (การช่วยเหลือ)
- รู้ไหมว่า น้องจมนานแค่ไหน
แล้วคุณหมอก็จะชี้แจง ถึงผลที่อาจจะขึ้นกับน้องว่ามีอะไรบ้าง เรื่องนี้อันตรายถึงสมอง ถ้าน้องจมนานน้องฟื้นขึ้นมาอาจจะไม่ปกติเหมือนเดิม
คุณหมอแนะนำวิธีปฏิบัติเมื่อเจอคนจมน้ำ
- ตั้งสติ แล้วรีบพาขึ้นมาบนที่โล่ง
- ปั๊มหัวใจอย่างถูกวิธี
- ผายปอด
ไม่ต้องอุ้มพาดบ่านะคะวิธีนี้ผิด
ตอนนี้ลูกเราเริ่มรู้สึกตัวบ้างแล้ว แต่ยังถือว่าวิกฤตต้องดูอาการวันต่อวัน มีปอดติดเชื้อ หรือ ติดเชื้อในกระแสเลือดหรือเปล่า สงสารลูกมากค่ะ แต่เราไม่โทษใครนะ เรื่องแบบนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด ปู่น้องเองก็เสียใจ ฝากเรื่องนี้ไว้เตือนใจทุกๆคนนะคะ พยายามอย่าปล่อยเด็กไว้ใกล้น้ำนะคะ เพราะเราไม่รู้ว่าน้องจะเผลอไปตอนไหน ไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีกนะคะ ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่และครอบครัวน้องด้วยนะคะ
วิธีปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ อย่างละเอียด
ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก อธิบายว่า การปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีจะช่วยเหลือเด็กจมน้ำได้เด็กจมน้ำจะขาดอากาศหายใจและหมดสติน้ำที่สำลักเข้าไปในปอดแล้วจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วินาที ความพยายามที่จะเอาน้ำออก เช่น การอุ้มพาดบ่าเพื่อกระทุ้งเอาน้ำออก หรือการวางคว่ำบนกระทะใบบัวแล้วรีดน้ำออก ไม่มีความจำเป็นและอาจก่อให้เกิดผลเสียได้น้ำที่ไหลออกมาจากการกระทุ้งหรือรีดท้องนั้นเป็นน้ำจากกระเพาะอาหาร ไม่ใช่น้ำจากปอด ดังนั้น หลักการปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำที่สำคัญที่สุด คือการช่วยให้เด็กหายใจได้ให้เร็วที่สุด
การปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำที่รู้สึกตัว
หากเด็กรู้สึกตัวหายใจได้เองการปฐมพยาบาลคือการเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้าแห้งให้แก่เด็ก และนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบอาการแม้เด็กจะหายใจได้ดีในระยะแรกแต่อาจมีอาการหายใจลำบากได้ในภายหลังสาเหตุจากถุงลมในปอดถูกทำลายจากการสำลักน้ำ
การปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำที่ไม่หายใจและ/หรือ หัวใจไม่เต้น
- เรียกผู้อยู่ข้างเคียงให้มาช่วยเหลือ และให้ผู้ช่วยโทรขอความช่วยเหลือหน่วยฉุกเฉินที่ 1669
- เปิดทางเดินหายใจ โดยให้เด็กนอนราบกดหน้าผากลงและเชยคางขึ้นเบา ๆ
- ตรวจการหายใจในเวลา 3-5 วินาที โดยมองหน้าอกหรือท้องว่ามีการเคลื่อนไหวหรือไม่, ฟังดูว่ามีเสียงหายใจหรือไม่ และสัมผัส โดยแนบใบหน้าไปใกล้จมูกและปากของเด็กเพื่อสัมผัสลมหายใจ
- ช่วยการหายใจ เมื่อพบว่าเด็กไม่หายใจ ให้ประกบปากของผู้ช่วยเหลือครอบจมูกและปากเด็กและเป่าลมหายใจออก 5 ครั้งโดยให้แต่ละครั้งยาว 1-2 วินาทีและสังเกตว่าหน้าอกของเด็กขยายตามการเป่าลมหรือไม่
ในกรณีอายุน้อยกว่า 1 ปีจมน้ำ
1. คลำชีพจร บริเวณต้นแขนด้านในครึ่งทางระหว่างข้อศอกและหัวไหล่
- ถ้าเด็กไม่หายใจแต่มีชีพจร ให้ทำการเป่าปากต่อเพียงอย่างเดียว โดยทำ 20 ครั้งต่อนาที หรือ เป่าปาก 1 ครั้งต่อ 3 วินาที
- ถ้าเด็กไม่หายใจและไม่มีชีพจร ให้ทำการกระตุ้นการเต้นของหัวใจ
2. กระตุ้นการเต้นของหัวใจ
- หาตำแหน่งของการกดหน้าอกเพื่อกระตุ้นหัวใจได้โดยลากเส้นสมมติระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง
- ตำแหน่งที่จะกดคือ บนกระดูกหน้าอก ใต้ต่อเส้นสมมติที่ลากระหว่างหัวนมทั้งสองข้างลงมา 1 ความกว้างของนิ้วมือจริง
- กดโดยใช้นิ้วสองนิ้ว กดลึกให้กระดูกหน้าอกยุบลงประมาณ 1-1.5 นิ้ว ความถี่ของการกดคือกดหน้าอก 5 ครั้งสลับกับการให้ผู้ช่วยระบบหายใจเป่าปาก 1 ครั้ง
ในกรณีที่เด็กอายุมากกว่า 1 ปีจมน้ำ
1. คลำชีพจร บริเวณต้นคอ
- ถ้าเด็กไม่หายใจแต่มีชีพจร ให้ทำการเป่าปากต่อเพียงอย่างเดียว โดยทำ 20 ครั้งต่อนาที หรือ เป่าปาก 1 ครั้งต่อ 3 วินาที
- ถ้าเด็กไม่หายใจและไม่มีชีพจร ให้ทำการกระตุ้นการเต้นของหัวใจ
2. กระตุ้นการเต้นของหัวใจ
หาตำแหน่งของการกดหน้าอกเพื่อกระตุ้นหัวใจได้โดยลากนิ้วตามขอบชายโครงช้างใดข้างหนึ่งจนถึงกึ่งกลางซึ่งชายโครงทั้งสองข้างมาชนกันเรียกว่าจุดปลายล่างกระดูกหน้าอก
- ตำแหน่งที่จะกดคือ บนกระดูกหน้าอก เหนือต่อจุดปลายล่างกระดูกหน้าอก 1 ความกว้างของนิ้วมือจริง
- กดโดยใช้ส้นมือ กดลึกให้กระดูกหน้าอกยุบลงประมาณ 1-1.5 นิ้ว ความถี่ของการกดคือ
- กดหน้าอก 5 ครั้งสลับกับการให้ผู้ช่วยระบบหายใจเป่าปาก 1 ครั้ง
- ให้การกระตุ้นการเต้นของหัวใจสลับกับการเป่าปากในอัตราส่วน 5:1 จนกว่าหน่วยฉุกเฉินจะมาถึง หรือกระทำในระหว่างการนำส่งจนถึงโรงพยาบาล
3. ตรวจการหายใจและชีพจรซ้ำ ทุกนาที
theAsianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอปพลิเคชัน theAsianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก theAsianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
รู้ก่อนดีกว่า อย่าปล่อยให้เด็กจมน้ำ เรื่องสะเทือนใจของชีวิต
ปิดเทอมมรณะ เตือนพ่อแม่อย่าปล่อยให้เด็กเล่นน้ำกันลำพัง
พ่อแม่อย่าเผลอเพราะอุบัติเหตุในบ้านเกิดขึ้นได้เสมอ!
ที่มาข้อมูล : webmd thaihealth