ประกันสุขภาพเด็กแรกเกิด สำคัญยังไง? เลือกแบบไหนให้เหมาะกับลูกน้อย

เรื่องของ "ประกัน" อาจไม่ได้สร้างประสบการณ์ที่ดีนักสำหรับคุณพ่อคุณแม่บางบ้าน แต่กับสุขภาพของลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาค่ะ เรามีข้อมูลเรื่อง ประกันสุขภาพเด็กแรกเกิด มาฝากกัน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

“ลูกน้อย” คือความสุขของครอบครัวค่ะ ซึ่งแน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนล้วนกังวลกับความแข็งแรงของ “ความสุข” นี้ โดยเฉพาะในเรื่องของ “สุขภาพ” การทำประกันสุขภาพให้ลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดจึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ให้ความสนใจ เป็นตัวเลือกของปราการด่านแรกที่จะพิทักษ์และคุ้มครองสุขภาพร่างกายของลูก แต่ก็มีอีกหลายครอบครัวที่ยังไม่ได้ทำความเข้าใจ หรือตัดสินใจให้ “ประกันสุขภาพ” เป็นตัวช่วย วันนี้เลยจะมาพูดถึงเรื่องนี้กันค่ะ ไม่ขายประกันนะคะ แต่จะมาชวนทำความเข้าใจไปด้วยกันว่า ประกันสุขภาพเด็กแรกเกิด สำคัญยังไง? เลือกแบบไหนให้เหมาะกับลูกน้อย มาหาคำตอบไปพร้อมกันค่ะ

ทำความเข้าใจเรื่องของ “ประกันสุขภาพ”

“ประกันสุขภาพ” คือ การประกันภัยที่มีการตกลงชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย ทั้งจากการเจ็บป่วยด้วยโรคภัย หรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เป็นประกันที่เหมาะกับบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากภาครัฐ หรือประกันสังคมอยู่แล้วก็ตาม หากเป็นคนเจ็บป่วยบ่อย เสี่ยงต่อการมีโรคประจำตัวในอนาคต การทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งรูปแบบและคุณลักษณะโดยทั่วไปของประกันสุขภาพที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้มีดังนี้ค่ะ

  • ความคุ้มครอง

โดยทั่วไป “ประกันสุขภาพ” จะให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณี “ผู้ป่วยใน” (IPD) ซึ่งผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่คุ้มครองไปถึงกรณี “ผู้ป่วยนอก” (OPD) ที่รับการรักษาโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ดังนั้น หากต้องการความคุ้มครองกรณี OPD คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำประกันเพิ่ม หรือเลือกแบบประกันที่มีความคุ้มครองผู้ป่วยนอกรวมอยู่ด้วยค่ะ

ซึ่งปกติแล้วความคุ้มครองกรณีผู้ป่วยนอก จะมีการกำหนดวงเงินคุ้มครองการรักษาแต่ละครั้ง เช่น สูงสุด 2,000 บาทต่อครั้ง โดยรวมค่าแพทย์และค่ายาแล้ว รวมถึงกำหนดจำนวนครั้งของการรักษาต่อปีด้วย เช่น 30 ครั้งต่อปี และประกันสุขภาพที่มีความคุ้มครอง OPD จะมี “ค่าเบี้ยประกันที่สูงกว่า” แบบ IPD อย่างเดียว

  • รูปแบบ

นอกเหนือจากความคุ้มครองของประกันสุขภาพแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจเพิ่มเติมคือรูปแบบของการทำประกันสุขภาพ ที่มีทั้ง “แบบเดี่ยว” และ “แบบพ่วง” ดังนี้

  1. แบบเดี่ยว หมายถึง ทำเฉพาะประกันสุขภาพเท่านั้น
  2. แบบพ่วง หมายถึง ต้องทำประกันชีวิตก่อน จึงจะสามารถทำประกันสุขภาพแนบท้ายประกันชีวิตได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกแบบให้ตอบโจทย์แผนการเงิน เช่น ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
เมื่อครบกำหนดสัญญา และชำระเบี้ยประกันครบตามเงื่อนไข จะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินก้อน เพื่อเป็นทุนการศึกษาหรือเงินก้อนตั้งต้นชีวิตให้ลูก
  • ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
ให้ความคุ้มครองสูง คุ้มครองนานหลายปี เบี้ยประกันไม่แพง ช่วยให้ลูกมีความคุ้มครองชีวิตยาวนานจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ทั้งนี้ หากเทียบค่าเบี้ยประกัน การซื้อประกันสุขภาพแบบเดี่ยวจะถูกกว่าเพราะไม่เสียค่าเบี้ยประกันชีวิต แต่โอกาสที่เบี้ยประกันจะสูงขึ้นในปีถัดๆ ไปก็จะมีมากกว่าด้วย เนื่องจากถือเป็นประกันวินาศภัยที่การปรับขึ้นเบี้ยประกันในปีต่ออายุทำได้ง่ายกว่า แต่ไม่ว่าจะทำประกันสุขภาพแบบไหน คุณพ่อคุณแม่ก็ยังสามารถเคลมหรือเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลได้ตามวงเงินคุ้มครองที่กำหนดค่ะ

  • ข้อยกเว้น

ไม่ว่าจะเลือกประกันสุขภาพแบบไหน เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจคือ “ข้อยกเว้นไม่คุ้มครอง” รวมถึง “ระยะเวลารอคอย” หรือ “ระยะเวลาที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครอง” (Waiting Period) ซึ่งบริษัทประกันแต่ละแห่งจะกำหนดระยะเวลารอคอยแตกต่างกัน เช่น 15 วัน, 30 วัน ดังนั้น ก่อนเลือกทำประกันสุขภาพให้ลูก ควรศึกษารายละเอียดให้ดี

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • เบี้ยประกันสุขภาพ = เบี้ยทิ้ง

ประกันสุขภาพเป็นสัญญาปีต่อปี และเบี้ยประกันจัดเป็น “เบี้ยทิ้ง” หมายถึง หากปีใดไม่มีการเคลมหรือเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล ความคุ้มครองจะหมดไป ไม่มีเงินคืนให้ อาจมีเพียงส่วนลดค่าเบี้ยประกันให้ในปีถัดไปเท่านั้น

ประกันสุขภาพเด็กแรกเกิด สำคัญยังไง?

คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านอาจมีความลังเลว่าการซื้อ ประกันสุขภาพสำหรับลูกน้อยวัยแรกเกิด จำเป็นหรือไม่ เพราะในวันที่ลืมตาดูโลก ลูกก็เป็นทารกน้อยที่สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีปัญหาสุขภาพอะไรเลย อย่างไรก็ตาม บางครั้งเรื่องไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นเสมอค่ะ ประกันสุขภาพเด็กแรกเกิด จึงอาจมีความสำคัญดังนี้

  • สุขภาพของเด็กแรกเกิดมีความเปราะบาง

ทารกแรกเกิดนั้นยังมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรงนักค่ะ ทำให้ลูกน้อยมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นมากมาย หรือมีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ประกันสุขภาพเด็กแรกเกิด จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลได้หากลูกน้อยเจ็บป่วยกะทันหัน ซึ่งลูกไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองเจ็บป่วยหรือไม่สบาย แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตให้เป็น หากเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยอาจซื้อยาให้ลูกกินเองได้ แต่ถ้าเจ็บป่วยร้ายแรงกว่านั้น ก็จำเป็นต้องอาศัยการวินิจฉัยของแพทย์เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องตรงจุด

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเด็กสูง

ค่ารักษาพยาบาลของเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กมักมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าผู้ใหญ่ ประกันสุขภาพเด็กแรกเกิด จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่วางใจได้ว่าได้สร้างความคุ้มครองให้ลูกตั้งแต่แรกเกิด หากรอให้ลูกโตหรือเข้าโรงเรียนก่อนแล้วเกิดเหตุฉุกเฉินลูกมีอาการป่วยที่ไม่คาดคิด อยากทำประกันสุขภาพ อาจทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อน หรือต้องจ่ายเบี้ยประกันสูงขึ้น

  • ความคุ้มครองที่ครอบคลุม

ประกันสุขภาพสำหรับเด็กแรกเกิดมักให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุม เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าตรวจรักษาต่างๆ รวมถึงการฉีดวัคซีน ซึ่งจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่วางแผนค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน

ประกันสุขภาพเด็กแรกเกิด “ส่วนใหญ่” ให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง?

ค่ารักษาพยาบาล คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้ง “ผู้ป่วยใน” และ “ผู้ป่วยนอก”
ค่าห้อง คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
ค่าอาหาร คุ้มครองค่าอาหารสำหรับผู้ป่วยในระหว่างพักรักษาตัว
ค่าตรวจรักษาต่างๆ คุ้มครองค่าตรวจเลือด ค่าเอกซเรย์ และค่าตรวจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ค่าฉีดวัคซีน บางแผนประกันอาจมีการคุ้มครองค่าฉีดวัคซีนให้ด้วย
ค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน
  • สร้างความอุ่นใจให้พ่อแม่

การมีประกันสุขภาพจะทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกอุ่นใจและมั่นใจว่าหากลูกน้อยเจ็บป่วย จะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดได้อย่างทันท่วงที

How to เลือก ประกันสุขภาพเด็กแรกเกิด ยังไงดี?

การทำประกันสุขภาพให้ลูกน้อยเป็นเสมือนการจ่ายเงินก้อนหนึ่ง เพื่อลดโอกาสการใช้จ่ายเงินจำนวนมากกว่าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งก่อนทำประกันสุขภาพให้ลูกน้อยควรพิจารณากำลังความสามารถในการจ่ายค่าเบี้ยประกัน ไม่ให้เป็นภาระหนักจนเกินไป รวมถึงนำปัจจัยต่อไปนี้ไปพิจารณาในการเลือก ประกันสุขภาพเด็กแรกเกิด กันค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • เปรียบเทียบแผนความคุ้มครอง

ควรมีการหาข้อมูล เปรียบเทียบแผนความคุ้มครองของบริษัทประกันแต่ละแห่ง เพื่อเลือกแผนประกันที่เหมาะสมกับความต้องการและงบประมาณของครอบครัว รวมถึงวงเงินคุ้มครองที่ต้องการ ซึ่งประกันสุขภาพจะกำหนดความคุ้มครองรวมต่อการรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง ยิ่งวงเงินสูง ค่าเบี้ยประกันก็ยิ่งสูงตาม จึงควรเลือกวงเงินคุ้มครองที่มองว่าเพียงพอ รวมถึงต้องพิจารณาความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน ซึ่งหากแบ่งประกันสุขภาพตามความครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล อาจแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

  • แบบเหมาจ่าย
จะกำหนดเพียงวงเงินคุ้มครองรวมต่อการรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง โดยไม่กำหนดวงเงินคุ้มครองค่ารักษาแต่ละรายการ หรือกำหนดเพียงบางรายการ เช่น ค่าห้อง
  • แบบแยกค่าใช้จ่าย
กำหนดวงเงินคุ้มครองรวมต่อการรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง และวงเงินคุ้มครองค่ารักษาแต่ละรายการ เช่น ค่าห้อง ค่าหมอ ค่ายา ค่าผ่าตัด หากรายการค่ารักษาใดเกินวงเงิน คุณพ่อคุณแม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้นของรายการนั้น ๆ

จะเห็นว่า ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายมีโอกาสครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นมากกว่าแบบแยกค่าใช้จ่าย ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ค่าเบี้ยประกันแบบเหมาจ่ายสูงกว่าด้วย ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการทำประกันสุขภาพให้ลูกน้อย โดยให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นมากที่สุด สามารถเลือกประกันแบบเหมาจ่าย แต่ต้องยอมรับค่าเบี้ยประกันที่สูงขึ้นได้ ทั้งนี้ อาจสรุปรูปแบบประกันสุขภาพเหมาจ่ายเด็กเล็ก (ช่วงอายุ 0-6 ปี) ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. เบี้ยแพง แต่ทุนสูง จ่ายแล้วจบ ไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติม เป็นกลุ่มที่มักไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมอะไร เมื่อเจ็บป่วยสามารถเคลมได้ ไม่ต้องร่วมจ่าย ไม่ต้องมีผู้ปกครองร่วมสมัครด้วย ทำให้ค่ารักษาไม่บานปลาย คุมค่าใช้จ่ายได้ จ่ายเฉพาะค่าเบี้ยประกันประมาณ 50,000-70,000 บาทต่อปี
  2. เหมาจ่าย ความคุ้มครองสูง แต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติม กลุ่มนี้จะมีเบี้ยประกันที่ถูกกว่าแบบแรก แต่จะมีข้อกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น ต้องทำร่วมกับผู้ปกครอง และ/หรือ ต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วย 20-35% ของค่ารักษาพยาบาลต่อการเข้ารักษาต่อครั้ง ซึ่งข้อดีคือ เบี้ยประกันถูกกว่าแบบแรก แต่หากเคลมบ่อย รวมๆ แล้วอาจทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า จึงเป็นประกันที่เหมาะกับกรณีผู้เอาประกันมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว เพื่อมาช่วยในส่วนของค่ารักษาพยาบาลที่ต้องร่วมออก 20-35% นั่นเอง
  3. เหมาจ่าย ความคุ้มครองน้อย มีเบี้ยที่ถูกกว่ากลุ่มแรก แต่จะมีการกำหนดทุนประกันในส่วนของค่าห้อง และค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้อาจมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินยอดความคุ้มครองที่ระบุในกรมธรรม์ด้วย เช่น กรมธรรม์มีความคุ้มครองค่าห้องที่ 2,000 บาทต่อวัน หากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อัตราค่าห้องอยู่ที่ 4,000 บาทต่อวัน ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบส่วนต่าง 2,000 บาทที่เพิ่มขึ้นมาเอง จึงเป็นประกันที่เหมาะกับคุณพ่อคุณแม่ที่มีสถานพยาบาลประจำของลูกที่ไม่แพงมากนัก เช่น โรงพยาบาลของรัฐ
  • เลือกแผนประกันที่ครอบคลุมโรงพยาบาลที่ต้องการ

อย่ามองข้ามความสำคัญของเรื่อง “โรงพยาบาล” ที่ประกันสุขภาพครอบคลุมความคุ้มครองค่ะ เพราะอาจมีบางกรณีที่โรงพยาบาลที่พาลูกน้อยเข้ารับการรักษาแจ้งว่า “ไม่สามารถใช้ประกันสุขภาพที่มีอยู่ได้” ดังนั้น เช็กให้ดีว่าโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทประกันภัยมีที่ไหนบ้าง เพื่อความสะดวกในการเข้ารับการรักษาค่ะ

  • อ่านรายละเอียดสัญญาประกันให้เข้าใจก่อนทำสัญญา

เพื่อให้แน่ใจว่าเข้าใจรูปแบบ แผนประกัน ข้อกำหนด ข้อยกเว้น และเงื่อนไขต่างๆ อย่างชัดเจน

การทำประกันสุขภาพให้ลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดนับเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งความคุ้มค่าอยู่ที่การช่วยให้คุณพ่อคุณแม่มั่นใจได้ว่าลูกน้อยจะได้รับการดูแลที่ดีที่สุดเมื่อเจ็บป่วย นอกจากครอบคลุมจะเรื่องค่าใช้จ่ายและช่วยรับรองความปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว ยังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทั้งในแง่การเงินและสุขภาพด้วย

 

 

ที่มา : www.nonthavej.co.th , www.prachachat.net , www.tgia.org

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ลักษณะของ ทารกระยะแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด มีอะไรบ้างที่พ่อแม่ต้องรู้

ท่าอุ้มเด็กแรกเกิด 4 ท่าปลอดภัย สร้างความผูกพัน กระตุ้นพัฒนาการทารก

ลูกไม่นอนกลางวัน ทำไงดี เคล็ดลับทำให้ลูกหลับปุ๋ยใน 5 นาที

บทความโดย

จันทนา ชัยมี