คุณแม่ท่านไหนหวั่นใจกันบ้าง เมื่อหันมาเจอกับอาการ กลั้นหายใจ ของลูกน้อย หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ จะเป็นอันตรายหรือไม่ ต้องรับมืออย่างไร เชื่อว่าคุณแม่ทั้งหลายต่างพยายามหาคำตอบ เพื่อการดูแลลูกน้อยให้ดีที่สุด
ถึงแม้ว่าการกลั้นหายใจจะดูเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่อย่าลืมว่าหากคุณพ่อคุณแม่ดูแลลูกน้อยอย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะเข้าใจอาการดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นอาการหิว อาการง่วง ไม่สบายตัว โดยเริ่มต้นสังเกตจากการร้องไห้เป็นอันดับต้น ๆ เพราะการร้องไห้นั่นก็คือการสื่อสารของทารกนั่นเองค่ะ
วันนี้ theAsianparent จะพามาทำความรู้และเข้าใจกับทารกร้องกลั้นกันค่ะ จะรับมือลูกร้องกลั้นอย่างไรดี ติดตามอ่านที่นี่มีคำตอบ!
กลั้นหายใจ คืออะไร ?
ภาวะกลั้นหายใจในเด็ก หรือ Breath holding สามารถพบได้ในเด็กเล็ก ตั้งแต่ช่วงอายุ 6 เดือน ไปจนถึง 5 ปี โดยส่วนมากมักพบได้บ่อยในเด็กอายุ 1 ถึง 3 ปี เป็นเพราะเด็กมักมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอัตราการหายใจ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองกับความโกรธหรือเจ็บปวด
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกชอบร้องกลั้น เป็นอันตรายไหม ต้องรับมืออย่างไร?
โดยส่วนใหญ่เด็กมักกลั้นได้นานถึง 1 นาที (ส่วนใหญ่มักไม่เกิน 10-20 วินาที) คล้าย ๆ กับนิ่งหมดสติไปช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จนบางครั้งอาจทำให้ใบหน้า ปาก และ เล็บเขียว แล้วร้องดังขึ้นมาใหม่
การร้องกลั้นเป็นคนละอย่างกับการชักนะคะ ในช่วงที่ทารกร้องกลั้นจะมีการตอบสนองของร่างกายอีกอย่างคือหัวใจจะเต้นช้าลง จากนั้นก็จะตื่นขึ้นมาเอง หายใจเป็นปกติ สีผิวกลับมาแดงเหมือนเดิม จังหวะการร้องกลั้นมักกินเวลาประมาณ 1 นาที
ทำไมลูกถึงร้องกลั้น
การร้องกลั้นของลูกน้อยนั้น เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด ความโกรธ โมโห ถูกขัดใจ หงุดหงิด เป็นต้น แต่อาการร้องกลั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับทารกทุกคนนะคะ ทางการแพทย์พบว่า มีลักษณะทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย คือ ทารกที่มีการร้องกลั้นจำนวนร้อยละ 25 จะพบว่า พ่อหรือแม่ตอนเด็ก ๆ ก็เคยมีอาการร้องกลั้นมาก่อนเหมือนกัน โดยปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ลูกเกิด อาการร้องกลั้น ได้แก่
- ถูกขัดใจ
- โกรธ
- โมโหมาก ๆ
- เจ็บปวด
- ความเครียด
- หรือเมื่อกลัวอะไรมาก ๆ
ลูกน้อยร้องกลั้นอันตรายหรือไม่
- การร้องกลั้นเป็นการตอบสนองของร่างกายทารก นอกเหนือการควบคุมของจิตใจ หมายความว่า อาการร้องกลั้นนี้เกิดขึ้นเองโดยที่ทารกไม่ได้ตั้งใจ
- การร้องกลั้นไม่มีอันตรายต่อสุขภาพหรือสมอง สำหรับอาการตัวเขียวที่เกิดขึ้น ก็ไม่มีอันตรายเช่นกัน ยกเว้นในเด็กที่มีโรคหัวใจ หรือโรคระบบหลอดเลือด ซึ่งต้องได้รับการดูแลจากคุณหมอต่อไป
- การร้องกลั้นลักษณะนี้ สามารถพบได้บ่อยในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึงอายุ 2 – 3 ขวบ หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ หายไปเองโดยที่คุณแม่ไม่จำเป็นต้องแก้ไขอะไร
ลูกร้องกลั้นแบบไหนไม่น่าไว้วางใจ
ทารกร้องกลั้นหรือลูกร้องกลั้นที่ไม่น่าไว้วางใจ คือ มีประวัติว่าทารกหรือเด็กเล็กนั้นมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หรือมีความผิดปกติของหัวใจ ซึ่งอาจมีอาการร้องกลั้นเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ดังนั้น หากอาการร้องกลั้นเกิดขึ้นบ่อยจนคุณแม่เกิดความกังวล ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งจะดีที่สุดค่ะ
กรณีที่ทารกหรือเด็กเล็กเป็นโลหิตจางคุณหมอจะเสริมธาตุเหล็กบำรุงเลือดเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อาจมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากพบว่า มีลักษณะของการเต้นของหัวใจผิดจังหวะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการร้องกลั้นนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : การร้องไห้ครั้งแรกของทารกแรกเกิดสำคัญอย่างไร
ลูกร้องไห้ไม่หยุดต้องทำอย่างไร ?
ลูกร้องไห้ไม่หยุด งอแงบ่อย โดยเฉพาะทารกแรกเกิด จนพ่อแม่อดคิดไม่ได้ว่าลูกร้องทำไมกัน บางทีจะว่าลูกหิวนมก็ไม่ใช่ ง่วงนอนก็ไม่เชิง ทำให้บางครั้งพ่อแม่เดาใจลูกน้อยไม่ถูกเลยจริง ๆ สำหรับพ่อแม่คนไหนที่มีปัญหาว่า ลูกน้อยร้องไห้ทำไม อยากจะสื่อสารอะไรกับแม่ ลองทำความเข้าใจตามประเภทต่อไปนี้ก็ได้ค่ะ
1. ลูกร้องไห้เพราะหิวนม
ปกติแล้วเวลาที่ลูกร้องพ่อแม่ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าลูกหิว แน่นอนว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกร้องไห้
พ่อแม่ควรทำอย่างไร : พ่อแม่ต้องดูการตอบสนองของลูกน้องในระหว่างที่ร้องไห้ ดูว่าลูกน้อยทำเสียงดูด หรือดูดนิ้วไปด้วยหรือเปล่า หากมีอาการพยายามหาเต้านมแม่ นั่นแหละคืออาการที่บอกว่าลูกหิวนมแล้ว
2. ลูกร้องไห้เพราะอยากเรอ
ทารกบางคนจะรู้ตัวว่าตอนนี้รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว จากการที่พวกเขากินอากาศเข้าไประหว่างที่ดื่มนมแม่ ทำให้พวกเขาร้องออกมา เพื่อเป็นสัญญาณว่าตอนนี้รู้สึกแน่นท้อง หรือบอกว่าตอนนี้รู้สึกจุกเสียด
พ่อแม่ควรทำอย่างไร : ทุกครั้งหลังจากที่ลูกน้อยกินนมแม่แล้ว คุณแม่อย่าลืมอุ้มลูกเรอให้ลมที่ผ่านเข้าไปในท้องได้ออกมาด้วย โดยเฉพาะลูกน้อยที่ดื่มนมจากขวด
3. ลูกร้องไห้เพราะรู้สึกแฉะ
เด็กมักจะฉี่บ่อย ทำให้ในแต่ละวันพ่อแม่ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมให้บ่อยมาก ๆ แต่สำหรับบางวันลูกน้อยอาจจะฉี่หรือขับถ่ายมากกว่าปกติ ดังนั้นพ่อแม่ก็อย่าลืมหมั่นดูผ้าอ้อม ว่ามีฉี่หรืออึออกมาเยอะหรือไม่
พ่อแม่ควรทำอย่างไร : พยายามเปลี่ยนผ้าอ้อมลูกน้อยทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเป็นผื่นแดงจากผ้าอ้อมด้วย โดยการสัมผัสดูว่าผ้าอ้อมของลูกแฉะแล้วหรือยัง
วิธีดูแลลูกเมื่อทารกร้องไห้ไม่มีเสียง
- เมื่อลูกร้องกลั้น คุณแม่ต้องควบคุมสติอารมณ์ของตนเอง อย่าเพิ่งตื่นตระหนกเพราะจะยิ่งทำให้ลูกตกใจมากขึ้น
- ให้คุณแม่อุ้มลูกน้อยมาแนบอก สำรวจลูกน้อยและบริเวณใกล้เคียงว่ามีสิ่งใดที่เป็นอันตรายหรือไม่
- ควรให้ลูกน้อยได้พักผ่อนอย่างเพียงพอในแต่ละวัน เพราะอาการขี้วีน โมโหง่าย และร้องไห้อยู่บ่อย ๆ นั้น อาจเกิดจากสาเหตุของการพักผ่อนไม่เพียงพอก็เป็นได้
- เบี่ยงเบนความสนใจของลูก พาออกไปจากสถานที่ดังกล่าว ออกไปที่อากาศถ่ายเท เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศจะทำให้ทารกสงบขึ้นค่ะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อทารกร้องไห้ไม่มีเสียง หรือมีอาการร้องกลั้นบ่อย ๆ ควรพาลูกน้อยมาตรวจอย่างละเอียด หากพบว่าทารกร้องไห้ไม่มีเสียงหรือร้องกลั้น จากความเจ็บป่วยทางร่างกาย คุณหมอจะได้ดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกร้องไห้ไม่หยุดรับมืออย่างไร ? ร้องไห้แบบไหนเข้าข่าย โคลิค
ลูกร้องไห้ไม่หยุด ลูกร้องแบบนี้บอกอะไร พ่อแม่ต้องทำยังไง?
ทารกร้องไห้ไม่มีเสียง ทารกชอบร้องกลั้น ลูกร้องไห้ ตัวสั่น ร้องไห้หนักมาก แต่ไม่มีเสียง
ที่มา : babimild.com