นมแม่ปั๊มเก็บไว้ได้กี่วัน ถ้าจะเก็บให้ได้นานขึ้นต้องเก็บอย่างไร

น้ำนมแม่นั้น เป็นอาหารที่ดีที่สุดของลูกน้อย เราจะมาดูกันว่า นมแม่ปั๊มเก็บไว้ได้กี่วัน ถ้าจะเก็บให้ได้นานขึ้นต้องเก็บอย่างไร

นมแม่ปั๊มเก็บไว้ได้กี่วัน ถ้าจะเก็บให้ได้นานขึ้นต้องเก็บอย่างไร

คุณแม่หลายท่านมักจะมีความสงสัยว่า นมแม่ปั๊มเก็บไว้ได้กี่วัน แล้วถ้าจะเก็บน้ำนมให้ได้นานขึ้น ต้องเก็บที่ไหน และเก็บอย่างไร เราไปไขข้อข้องใจนี้กันเลยครับ

น้ำนมแม่เก็บอย่างไร

เรามาเริ่มต้นที่ภาชนะเก็บน้ำนมกันก่อนครับ โดยคุณแม่อาจจะใช้ถุงเก็บน้ำนม หรือขวดแก้วที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนแล้ว และควรเก็บน้ำนมในปริมาณที่เพียงพอให้ลูกกินในแต่ละมื้อ

เวลาที่คุณแม่เก็บน้ำนมนั้น ถ้าภาชนะที่ใส่เป็นขวด ให้เหลือที่ว่างในขวดไว้ประมาณ ¼ – ½ นิ้ว ปิดฝาขวดให้สนิท แต่ไม่ต้องแน่นมากเกินไปนะครับ แต่ถ้าเป็นถุงเก็บน้ำนม ให้รูดซิปปิดให้สนิทโดยเหลือที่เผื่อสำหรับอากาศในถุงด้วย เพราะเมื่อนำน้ำนมไปแช่แข็งแล้วจะทำให้เกิดการขยายตัวได้ และการเก็บน้ำนมในถุงเก็บน้ำนมจะช่วยประหยัดพื้นที่ในตู้เย็นได้มากกว่า

นมแม่ปั๊มเก็บไว้ได้กี่วัน

การเก็บน้ำนมแม่นั้นสามารถเก็บได้ทั้งในอุณภูมิห้อง ในตู้เย็น หรือในกระติกน้ำแข็ง ส่วนจะเก็บไว้ที่ไหน ได้นานเท่าไหร่นั้น เรามาดูรูปภาพประกอบให้เข้าใจง่ายๆกันดีกว่าครับ

คำแนะนำอื่นๆเรื่องการเก็บน้ำนมแม่

  • หากเก็บน้ำนมในตู้เย็นที่มีอุณภูมิยิ่งต่ำ และคงที่ จะยิ่งเก็บได้นาน นอกจากนั้นแล้ว อากาศร้อนก็มีผลต่อการเก็บรักษาอุณภูมิของตู้เย็นด้วยเช่นกัน หากอากาศยิ่งร้อน ระยะเวลาในการเก็บน้ำนมก็จะสั้นลง
  • กรณีที่คุณแม่ต้องการเพิ่มปริมาณน้ำนมเข้าไปในน้ำนมที่ถูก ‘แช่เย็น’ อยู่แล้ว คุณแม่สามารถทำได้ แต่น้ำนมที่ปั๊มเพิ่มเข้าไป ก็จะมีอายุการเก็บรักษาเท่ากับน้ำนมเดิมที่อยู่ในถุงนั้น
  • หากคุณแม่ต้องการเพิ่มน้ำนมเข้าไปในน้ำนมเดิมที่ถูก ‘แช่แข็ง’ อยู่ คุณแม่ต้องแน่ใจว่าน้ำนมที่จะใส่เพิ่มเข้าไปใหม่นั้น ต้องผ่านการแช่เย็นมาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และปริมาณของน้ำนมที่จะเพิ่มเข้าไป ก็ต้องไม่มากกว่าปริมาณน้ำนมเดิมที่มีอยู่
  • หากเก็บน้ำนมไว้ระยะหนึ่ง เมื่อนำมาใช้แล้วคุณแม่เห็นว่าน้ำนมแยกตัวออกจากกัน คือเป็นส่วนของน้ำ และไขมันที่ลอยอยู่ด้านบน ก็ไม่ต้องตกใจไป เพียงเขย่าน้ำนมให้เข้ากัน ก็สามารถนำมาใช้ได้ตามปกติครับ
  • ถ้าคุณแม่ต้องการแช่แข็งน้ำนมที่ปั๊ม ควรทำทันทีหลังจากที่ปั๊มเสร็จ และไม่ควรปั๊มจนเต็ม ควรเหลือที่ว่างไว้ด้วย เพราะน้ำนมจะขยายตัวเมื่อถูกแช่แข็ง
  • ถ้าคุณแม่ใช้ถุงสำหรับเก็บน้ำนม อย่าลืมดูรอบถุงด้วยว่ามีรูรั่วหรือไม่ เมื่อนำออกมาละลายก็ควรระวังถุงที่เก็บน้ำนมล้มลงมาหกเมื่อน้ำนมละลายด้วยนะครับ

น้ำนมแม่ที่แช่เก็บไว้ เอามาอุ่นให้ลูกกินอย่างไร

วิธีนำน้ำนมแม่ที่แช่เก็บไว้ มาอุ่นให้ลูกกินนั้น มีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

  • นำน้ำนมออกมาจากช่องแช่แข็ง ลงมาแช่ไว้ในช่องเย็นธรรมดา ล่วงหน้า 1 คืน เพื่อให้น้ำนมค่อยๆละลายไปเอง น้ำนมที่เอาลงมาแช่ช่องธรรมดานี้ หากยังไม่ได้ใช้จะเก็บได้อีกประมาณ 2 – 3 วัน
  • เมื่อจะให้ลูกกิน จึงนำออกมาวางไว้นอกตู้เย็น ทิ้งไว้ให้หายเย็น หรือนำไปแกว่งในน้ำก๊อกก็ได้นะครับ โดยน้ำนมที่วางไว้นอกตู้เย็นนี้อยู่ได้ประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง
  • หากรีบ หรือต้องการให้น้ำนมละลายเร็ว ก็อาจนำไปแกว่งในน้ำอุ่นเพื่อให้หายเย็น แต่ควรผ่านความร้อนให้น้อยที่สุด ห้ามใช้น้ำร้อนหรือไมโครเวฟนะครับ เพราะความร้อนจะทำให้สารอาหารที่มีประโยชน์ในน้ำนมสูญเสียไปได้

สำหรับน้ำนมที่นำมาใช้แล้วนั้น ห้ามนำกลับไปแช่แข็งอีก และอย่าลืมนำน้ำนมเก่ามาใช้ก่อน ตามวันและเวลาที่จัดเก็บนะครับ


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

ict.sci.psu.ac.th

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

จะรู้ได้ไงว่าปั๊มนมเกลี้ยงเต้า แล้วทำไมต้องให้นมเกลี้ยงเต้าด้วยล่ะ

ปั๊มนมอย่างไรให้ได้น้ำนม ไม่ต้องกลัวลูกไม่พอกิน

ปั๊มนมแล้วมีเลือดปน แบบนี้จะเป็นอะไรไหม

บทความโดย

P.Veerasedtakul