ห่วงเกินไป ใช่ว่าดี! วิจัยเผย ลูกที่ถูกเลี้ยงแบบตีกรอบ เสี่ยงซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวล

undefined

พ่อแม่ต้องระวัง ลูกที่ถูกเลี้ยงแบบตีกรอบ เสี่ยงซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวล เนื่องจากขาดโอกาสในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาด้วยตนเอง

ความห่วงใยจากพ่อแม่ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าหากตีกรอบมากเกินไป ก็สามารถผลเสียตามมาได้เช่นเดียวกัน พ่อแม่ต้องระวัง ลูกที่ถูกเลี้ยงแบบตีกรอบ เสี่ยงซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวล เนื่องจากขาดโอกาสในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยที่พ่อแม่แบบนี้ จะถูกเรียกว่า Helicopter Parents

วิจัยเผย ลูกที่ถูกเลี้ยงแบบตีกรอบ เสี่ยงซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวล

Helicopter Parents คืออะไร?

Helicopter Parents คือพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบตีกรอบ ประคบประหงม ดูแลลูก ๆ อย่างใกล้ชิด (เกินไป) เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีสิ่งใดผิดพลาด โดยคิดเอาเองว่า ฉันเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก ๆ แล้ว จนกลายเป็น “เผด็จการทางความคิด” ซึ่งในอนาคต สิ่งนี้แหละ ที่จะทำให้ลูกเสียตัวตนของตัวเองไป เนื่องจากต้องคอยทำตามกรอบที่พ่อแม่วางไว้ทุกอย่าง รวมไปถึง อาจส่งผลให้ลูก ๆ ตัองโกหกในบางครั้ง เพื่อที่ตัวเองจะได้มีอิสระ หลุดจากกรอบที่พ่อแม่วางไว้ได้บ้าง

วิจัยเผย ลูกที่ถูกเลี้ยงแบบตีกรอบ เสี่ยงซึมเศร้า

การศึกษาจากมหาวิทยาลัย ฟลอริดา สเตต (Florida State University) สำรวจวัยรุ่นอายุ 18-29 ปี พบว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงโดย Helicopter Parents จะประสบภาวะหมดไฟ ในงานที่ได้รับมอบหมาย รวมไปถึง พวกเขาจะพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ในการเปลี่ยนผ่านจากสังคมโรงเรียน สู่โลกแห่งความเป็นจริง มีปัญหาในด้านการปรับตัว มากกว่าเด็ก ๆ ที่ถูกเลี้ยงอิสระ ไม่ได้ถูกพ่อแม่ตีกรอบ

งานวิจัยจาก ภาคสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเทนเนสซีแห่งชัตตานูก้า สหรัฐอเมริกา (The University of Tennessee at Chattanooga หรือ UTC) พบว่า ผู้ปกครองของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มักเข้ามาแอบดูพฤติกรรมของลูก ว่าฝ่าฝืนกฎระเบียบอะไรบ้างไหม และมีบางบ้าน ที่ถึงขั้นกำหนดตารางเวลาเลย ว่าลูกต้องกลับบ้านกี่โมง เข้านอนกี่โมง รวมไปถึงจำกัดพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย และการตัดสินใจเรื่องการเรียนด้วย

ซึ่งการเข้ามามีบทบาทในชีวิตลูกมากไป ตีกรอบ จำกัดทุกสิ่งในชีวิตพวกเขา สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตของลูกได้ ตามงานวิจัย Helicopter Parenting and Emerging Adult Self-Efficacy: Implications for Mental and Physical Health ที่สำรวจนักศึกษา 461 คน จากมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา พบว่า พวกเขาต้องเผชิญความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ขาดความพึงพอใจในชีวิต มากกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน ที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงแบบนี้

วิจัยเผย ลูกที่ถูกเลี้ยงแบบตีกรอบ เสี่ยงซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวล

ทำไมพ่อแม่ถึงกังวลมาก จนถึงขั้นต้องตีกรอบให้ลูก?

เหตุผลที่การเลี้ยงดูแบบตีกรอบ ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นในทุกวันนั้น มีคำอธิบายหลายประการเลยค่ะ นักวิจัยบางคน พบว่า สถานภาพทางเศรษฐกิจ เป็นอีกสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้พ่อแม่ลงทุน และเข้มงวด กับการศึกษาของลูก ๆ มากขึ้นกว่าสมัยก่อน เพื่อที่จะปูทางให้พวกเขาจบมาด้วยเกรดที่ดี จากมหาลัยชั้นนำ แล้วได้งานที่มีรายได้ดีในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ดีกว่า คือ การปล่อยให้ลูกทำผิดพลาด และเรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้น ช่วยพวกเขาเมื่อพวกเขาขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่การเข้าไปช่วยเหลืออยู่เสมอ เด็กแต่ละคนแตกต่างกัน เช่นเดียวกับพ่อแม่แต่ละคน ดังนั้นการเลี้ยงดูแบบเดียว จึงไม่เหมาะกับทุกคน ดังนั้นปล่อยให้พวกเขา “เป็นอิสระ” บ้าง จะมีความสุขกันทั้งผู้ปกครอง และตัวลูกเองค่ะ

วิจัยเผย ลูกที่ถูกเลี้ยงแบบตีกรอบ เสี่ยงซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวล

เลี้ยงลูกยังไง ให้รู้ว่าพ่อแม่รักและเป็นห่วง แต่ไม่ตีกรอบ

การแสดงความรัก และความห่วงใยต่อลูก เป็นสัญชาตญาณของพ่อแม่ทุกคน แต่การแสดงออกอย่างไร ไม่ให้กลายเป็นการตีกรอบ และจำกัดการเติบโตของลูกนั้น เป็นศิลปะที่ต้องเรียนรู้

1. รับฟังและทำความเข้าใจมุมมองของลูก

  • เปิดใจรับฟัง: ให้เวลากับลูก ในการพูดคุย และแสดงความคิดเห็นอย่างตั้งใจ แม้ว่าความคิดเห็นนั้น จะแตกต่างจากคุณก็ตาม
  • ถามคำถามปลายเปิด: กระตุ้นให้ลูกคิด วิเคราะห์ และอธิบายความรู้สึกของตนเอง แทนที่จะตัดสิน หรือชี้นำคำตอบ
  • แสดงความเห็นอกเห็นใจ: พยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของลูก แม้ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเขาก็ตาม การยอมรับความรู้สึกของลูกเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารที่ดี

2. สนับสนุนและให้กำลังใจในสิ่งที่ลูกสนใจ

  • สังเกตความชอบและความถนัด: หมั่นสังเกตว่าลูกมีความสนใจในด้านใดเป็นพิเศษ และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
  • ส่งเสริมการเรียนรู้: หาโอกาสให้ลูกได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมความสนใจ และความสามารถของพวกเขา
  • ให้กำลังใจเมื่อลูกเผชิญกับความท้าทาย: สอนให้ลูกเรียนรู้จากความผิดพลาด และให้กำลังใจให้เขาลุกขึ้นสู้ต่อไป

3. วางขอบเขตที่ชัดเจน แต่ยืดหยุ่น

  • กำหนดกฎเกณฑ์ที่สมเหตุสมผล: อธิบายเหตุผลของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ลูกเข้าใจ และเปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์ (ในขอบเขตที่เหมาะสม)
  • เน้นผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ: อนุญาตให้ลูกหาวิธีการของตนเองในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ ตราบใดที่ไม่ขัดต่อกฎเกณฑ์พื้นฐาน และความปลอดภัย
  • ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ ตามพัฒนาการของลูก: เมื่อลูกเติบโตขึ้น ขอบเขตและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็ควรปรับเปลี่ยน ให้เหมาะสมกับวัย และความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น

4. ส่งเสริมความเป็นอิสระและความรับผิดชอบ

  • มอบหมายงานที่เหมาะสมกับวัย: ให้ลูกได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นใจ และความภาคภูมิใจ
  • สนับสนุนการตัดสินใจด้วยตนเอง: สอนให้ลูกคิดวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย และให้โอกาสเขาได้ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ด้วยตนเอง (ภายใต้การดูแลของพ่อแม่)
  • ให้ลูกรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง: สอนให้ลูกยอมรับผลของการกระทำของตนเอง ทั้งในด้านดีและด้านลบ

5. เป็นแบบอย่างที่ดี

  • แสดงความห่วงใยอย่างเหมาะสม: แสดงความรักและความห่วงใยต่อลูกอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่แสดงออกจนเกินขอบเขต หรือทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด
  • เคารพการตัดสินใจของผู้อื่น: แสดงให้ลูกเห็นว่า คุณเคารพความคิดเห็น และการตัดสินใจของผู้อื่น แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม
  • จัดการกับความกังวลของตนเองอย่างเหมาะสม: พ่อแม่ควรจัดการกับความกังวลของตนเอง โดยไม่ถ่ายทอดความกังวลนั้น ไปยังลูกมากเกินไป

6. เชื่อมั่นในศักยภาพของลูก

  • มองเห็นจุดแข็งของลูก: ชื่นชมและให้กำลังใจในความสามารถ และคุณลักษณะที่ดีของลูก
  • หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกับผู้อื่น: เด็กแต่ละคนมีศักยภาพ และความถนัดที่แตกต่างกัน การเปรียบเทียบจะทำให้ลูกรู้สึกด้อยค่า
  • ปล่อยให้ลูกได้เติบโตในแบบของตัวเอง: เคารพความเป็นปัจเจกของลูก และสนับสนุนให้เขาเป็น ในสิ่งที่เขาต้องการจะเป็น

การเลี้ยงดูแบบตีกรอบ หรือการเลี้ยงดูแบบประคบประหงม แม้จะมาจากความรัก และความปรารถนาดีของพ่อแม่ แต่กลับส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางอารมณ์ และจิตใจของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ลูกที่ถูกเลี้ยงแบบตีกรอบ เสี่ยงซึมเศร้า มีแนวโน้มที่จะมีความวิตกกังวลสูง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคม การปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ และเติบโตอย่างอิสระภายใต้การดูแลที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเด็กที่มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตนะคะ

ที่มา: mirrorthailand , cnbc , theconversation

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เทคนิคเลี้ยงลูกตามวัย สร้างสายใยไว้ใจ เลี้ยงลูกยังไง ให้กล้าคุยกับพ่อแม่

5 หัวใจสำคัญของการ เลี้ยงลูกสองภาษา วางกลยุทธ์ ฝึกยังไงให้ได้ผล

เลี้ยงลูกให้อดทน ในโลกที่เร่งรีบ พร้อมวิธีฝึกความอดทน สำหรับเด็กแต่ละวัย

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!