ภาวะแท้งบุตร เป็นภาวะที่คุณแม่หลาย ๆ คนไม่พึงปรารถนาที่จะต้องพบเจอ หรือมีช่วงเวลาเหล่านี้เกิดขึ้นกับตนเอง แต่ในบางครั้ง เราเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ความกังวลที่ว่า แท้งแล้วจะกลับมีลูกได้ตอนไหน แล้วจะมีความเสี่ยงที่จะแท้งอีกหรือไม่ เรามีคำตอบมาฝากค่ะ
การแท้งบุตรคืออะไร ? ช่วงไหนที่มีความเสี่ยง ?
การแท้งบุตร คือ การสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ที่ตัวอ่อน หรือทารกในครรภ์ถูกขับออกมาก่อนตั้งครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ที่พบได้ประมาณ 10-15% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด
โดยการแท้งนั้นอาจเกิดขึ้นในช่วงที่คุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 4-20 สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 13 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่ที่มีอาการแท้งหรือต้องยุติการตั้งครรภ์คงสงสัยว่า แท้งแล้วจะกลับมีลูกได้ตอนไหน มาดูกันค่ะ
อาการแท้งลูกเป็นอย่างไร ?
โดยมากเราจะสังเกตได้ว่า ส่วนใหญ่ของผู้ที่เกิดอาการแท้งนั้น มักจะมีเลือดออกทางช่องคลอด โดยเริ่มจากการที่มีเลือดไหลออกเล็ก ๆ น้อย ๆ พอได้เปื้อนผ้าก่อน ต่อมาก็จะมีการไหลออกของเลือด คล้ายกับช่วงที่มีประจำเดือน
สำหรับผู้ที่มีเลือดไหลออกในช่วงแรก หากได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ งดการทำงานหนัก งดการมีเพศสัมพันธ์ เลือดก็จะหยุดไหไปเอง และส่งผลให้ไม่เกิดการแท้งได้
ในขณะที่บางรายในขณะที่มีเลือดไหลออกเล็กน้อย แต่มีอาการปวดท้องที่รุนแรง หรือปวดเป็นพัก ๆ คล้ายกับการปวดประจำเดือน หรือบางคนที่เคยคลอดลูกมาแล้ว และรู้สึกเหมือนตนเองเจ็บท้องคลอด หากมีลักษณะดังกล่าว นับว่าเข้าข่ายของการแท้งชนิดที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
บทความที่เกี่ยวข้อง : 11 สิ่งที่แม่ท้องต้องรู้ น้ำหนักตอนท้อง แท้งคุกคาม วิธีเร่งคลอด โดยคุณหมอสูติ
สัญญาณบ่งบอกอาการแท้ง มีอะไรบ้าง?
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการแท้ง สามารถสังเกตลักษณะอาการเตือนที่บอกว่าแท้ง ได้ดังนี้
- เลือดหรือมูกเลือดออกทางช่องคลอด
- มีอาการปวดท้องน้อย
- มีอาการปวดหลัง (มากกว่าที่เคยเป็น)
- น้ำหนักตัวลด รู้สึกว่ามดลูกแข็งตัวหรือบีบตัวบ่อย
- เป็นตะคริวบ่อย อ่อนล้าหมดแรงได้ง่าย
- รู้สึกท้องมีขนาดเล็กลงหรือไม่โตขึ้นเลย
- อาการที่ตั้งครรภ์หายไป เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ตึงคัดเต้านม เป็นต้น
- มีกลิ่นเหม็นจากของเสียที่ขับออกจากช่องคลอด
แท้งแล้วจะกลับมีลูกได้ตอนไหน ?
แน่นอนว่า เมื่ออาการแท้งเกิดขึ้น ร่างกายของเราจำเป็นจะต้องใช้เวลาในการปรับตัว จากการบอบช้ำ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ และสาเหตุที่ทำให้เกิดการแท้งของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน รวมถึงการรักษา และการทำหัตถการของคนท้อง เช่น
- การแท้งสมบูรณ์ : การแท้งลักษณะนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ร่างกายจะสามารถขับเยื่อต่าง ๆ พร้อมทั้งตัวอ่อนออกได้เองทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องทำการขูดมดลูก ดังนั้นการแท้งลักษณะนี้ โดยมากจะสามารถทำการตั้งครรภ์ต่อไปได้ทันที แต่ถ้าจะให้ดี ควรเว้นช่วงไปก่อนประมาณ 1 – 3 เดือน เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัว แล้วจึงค่อยมีบุตรใหม่จะดีที่สุด
- การขูดมดลูก เนื่องจากการแท้ง : หากภายหลังจากเกิดการแท้งเกิดขึ้น แล้วแพทย์จำเป็นจะต้องขูดมดลูก โดยมาก ทางแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเว้นช่วงของการตั้งครรภ์ครั้งใหม่ออกไปก่อน อย่างน้อย 3 เดือน ในกรณีที่จะต้องทำการผ่าตัดเนื้องอกมดลูก ที่จำเป็นจะต้องผ่าตัดผ่านผนังมดลูกเข้าไป จำเป็นจะต้องเว้นช่วงการตั้งครรภ์ครั้งใหม่ออกไปอีก 6 – 12 เดือน เพราะการผ่าตัดอาจทำให้เกิดแผลบริเวณกล้ามเนื้อมดลูกได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : งานวิจัยชี้ ดื่มกาแฟเกินวันละ 2 แก้ว เสี่ยงท้องยาก และแท้งบุตร
ควรคุมกำเนิดหลังแท้งลูกหรือไม่
สำหรับผู้ที่ยังไม่รีบร้อนในการมีลูก โดยมากแพทย์จะแนะนำให้มีการคุมกำเนิดหลังจากการแท้งลูกไปก่อน เนื่องจากประจำเดือนหลังการแท้งบุตรนั้น จะกลับมาค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะการแท้งที่เกิดขึ้นกับอายุครรภ์น้อย ๆ
ควรคุมกำเนิดตอนไหน ?
หลังจากแท้งได้ 2 สัปดาห์ ควรทำการคุมกำเนิดโดยทันที เนื่องจากจะมีโอกาสในการตั้งครรภ์ได้เร็วกว่า เมื่อเทียบกับการคลอดบุตรตามปกติ ซึ่งวิธีการคุมกำเนิดนั้น สามารถใช้ได้ทุกวิธี ไม่ว่าจะเป็น การกินยาเม็ดคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด เป็นต้น
ควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังการแท้งหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าต้องมีการขูดมดลูกหรือ เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูก ให้งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรือจนกว่าอาการต่าง ๆ จะหายเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม พบว่าการตกไข่สามารถเกิดขึ้นได้ใน 2 สัปดาห์หลังการแท้ง ดังนั้น หากต้องการมีเพศสัมพันธ์ และยังไม่อยากตั้งครรภ์ก็ควรหาวิธีคุมกำเนิดด้วยนะคะ
แท้งแล้วมีโอกาสแท้งอีกหรือไม่
สำหรับผู้ที่เคยแท้งเองมาก่อนจะมีโอกาสแท้งได้ในครรภ์ต่อไปสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเคยแท้งติดต่อกันตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ดังนั้น การตั้งครรภ์ในแต่ละครั้งนั้น คุณแม่ควรรีบไปฝากครรภ์เสียแต่เนิ่น ๆ และพักผ่อนให้มาก
ส่วนผู้ที่เคยแท้งติดต่อกัน 3 ครั้งขึ้นไป ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของมดลูกหรือทารกในครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และแก้ไขก่อนที่จะตั้งครรภ์ต่อไป
ป้องกันการแท้งลูกได้อย่างไร ?
การแท้งลูกในบางภาวะ เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ แต่การป้องกัน และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการแท้งลูก จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งคุณแม่ควรปฏิบัติดังนี้
- ฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตนเองตั้งครรภ์
- พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อครรภ์
- หากิจกรรมทำเพื่อไม่ให้เกิดความเครียด
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแท้งลูก เช่น การสูบบุหรี่, ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และสม่ำเสมอ
- งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 3 เดือนแรก
- หากพบความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ ควรรีบพบแพทย์ทันที
อาการแท้ง หรือภาวะแท้งสามารถหลีกเลี่ยงได้ ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกาย และจิตใจ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และที่สำคัญ เมื่อตรวจพบว่าตนเองตั้งครรภ์ ควรรีบไปฝากครรภ์โดยทันที แม้ว่ายังเป็นเพียงครรภ์อ่อนก็ตาม เพราะการให้แพทย์คอยติดตามผล และดูแลสุขภาพทั้งของคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์ ก็จะช่วยให้เราสามารถห่างไกลจากภาวะแท้ง และภาวะเสี่ยงอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกันค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
สาเหตุของการแท้งลูก และวิธีป้องกัน แม่จะป้องกันการแท้งบุตรได้อย่างไร
เซ็กส์บ่อยแค่ไหนถึงท้อง มีเพศสัมพันธ์ทุกวันท้องไหม มีเซ็กส์ช่วงไหนท้องง่ายสุด
ครรภ์เป็นพิษ อันตรายต่อคนท้องอย่างไร อาการครรภ์เป็นพิษเริ่มแรกเป็นแบบไหน
ที่มา : Pobpad