คนท้องเป็นตะคริว ต้องกินอะไร ? วิธีป้องกันและบรรเทาอาการ

แม่ตั้งครรภ์ที่ประสบปัญหา ตะคริวกวนใจ นอกจากการออกกำลังกายยืดเหยียดแล้ว ยังแก้ไขที่อาหารการกินได้ด้วยนะคะ มาดูกันว่าคนท้องเป็นตะคริว ควรกินอะไรดีเพื่อบรรเทาอาการ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ กำลังถูก “ตะคริว” รบกวนการนอนหลับพักผ่อนอยู่หรือเปล่าคะ? แล้วรู้ไหมว่า “การกิน” ของคุณแม่ส่งผลต่อการเกิดตะคริว ซึ่งในทางกลับกัน การกินนี่แหละที่มีส่วนช่วยป้องกันและบรรเทาอาการ ตะคริวคนท้อง ได้ เพราะอย่างที่รู้กันว่าอาหารที่คุณแม่กินเข้าไปล้วนมีผลต่อสุขภาพโดยรวม การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์จึงสามารถช่วยให้ร่างกายคุณแม่แข็งแรง รวมทั้งป้องกันปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น อาการตะคริว ที่อาจเกิดขึ้นด้วย อาหารการกินจะทำให้ตะคริวหายไปได้ยังไง คนท้องเป็นตะคริว ต้องกินอะไร ? มีวิธีวิธีป้องกันและบรรเทาอาการให้คุณแม่ได้ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นอย่างไรบ้าง มาติดตามไปพร้อมกันค่ะ

ตะคริวเกิดจากอะไร? สาเหตุ คนท้องเป็นตะคริว

“ตะคริว” เป็นอาการที่พบได้บ่อย อาจเรียกได้ว่าเป็นปกติ ในคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยส่วนใหญ่ปัญหา คนท้องเป็นตะคริว มักเกิดช่วงในอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 21-24 หรือไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ และเป็นมากที่สุดในช่วง 2 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด เนื่องจากร่างกายคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก สาเหตุหลักที่คนท้องเป็นตะคริว มีดังนี้

  • ขาดแคลเซียม คือมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เนื่องจากทารกในครรภ์ต้องนำแคลเซียมไปใช้สร้างกระดูกและฟัน
  • ร่างกายขาดน้ำ รวมถึงมีความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย ซึ่งเป็นผลจากความต้องการสารอาหารที่เพิ่มขึ้นของทั้งคุณแม่และลูกน้อยนั่นเอง
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ในช่วงตั้งครรภ์น้ำหนักตัวที่มากขึ้นของคุณแม่จะทำให้ขาทั้งสองข้างต้องแบกรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบหมุนเวียนโลหิตบริเวณขาตึงแน่นเกินไปจนเกิดตะคริวได้
  • ขนาดท้องโตขึ้น เมื่อท้องคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้น มดลูกจะไปกดทับตรงตำแหน่งของอุ้งเชิงกราน เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณน่องขาดออกซิเจนและเป็นตะคริว

ทั้งนี้ ไม่เพียงการยืน หรือเดินเท่านั้น ที่อาจเกิดตะคริว ในช่วงที่คุณแม่นั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะเป็นเวลานานๆ ก็ทำให้เลือดเดินไม่สะดวก เกิดของเสียคั่งบริเวณน่อง กล้ามเนื้อหดตัวจนเกิดตะคริวขึ้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคุณแม่ท้องบางคนถูกตะคริวรบกวนช่วงเวลานอนตอนกลางคืนจนต้องตื่นกลางดึกบ่อยมากๆ ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพออีกด้วย

อาการ คนท้องเป็นตะคริว

ภาวะตะคริวในคุณแม่ตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นขณะที่ไอ จาม หรือเปลี่ยนท่านั่งค่ะ โดยส่วนใหญ่มักเกิดในบริเวณท้องและข้อเท้า ซึ่งกรณีเป็นที่ข้อเท้าจะรู้สึกเจ็บปวดมาก เนื่องจากการหดเกร็งอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อจนเป็นก้อนแข็งๆ ทั้งนี้ คุณแม่อาจค่อยๆ ยืดกล้ามเนื้อออกให้อยู่ในความยาวที่ปกติของกล้ามเนื้อนั้นๆ และยืดจนกระทั่งหายปวด ซึ่งอาจกินเวลาประมาณ 1-2 นาที เสร็จแล้วลองปล่อยมือดูว่ากล้ามเนื้อยังเกร็งอยู่ไหม ถ้ายังมีอยู่ให้ทำซ้ำจนกระทั่งปล่อยมือแล้วไม่มีอาการเกร็งตัว

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น คนท้องเป็นตะคริว

ตะคริวที่น่อง
  • เหยียดขาข้างที่เป็นออกให้สุด
  • ใช้มือข้างหนึ่งประคองส้นเท้าไว้ มืออีกข้างดันปลายเท้าขึ้นลงช้าๆ แล้วนวดที่น่องเบาๆ
  • ไม่ควรนวดแรงเพราะกล้ามเนื้ออาจจะบาดเจ็บ ทำให้ตะคริวกลับมาอีกได้
ตะคริวที่ต้นขา
  • เหยียดขาข้างที่เป็นออกให้สุด
  • ใช้มือข้างหนึ่งประคองส้นเท้าไว้ ส่วนมืออีกข้างค่อยๆ กดลงบนหัวเข่า
  • นวดต้นขาบริเวณที่เป็นจะตะคริวเบาๆ
ตะคริวนิ้วเท้า
  • เหยียดนิ้วเท้าตรง
  • ลุกขึ้นยืนเขย่งเท้าเดินไปมา เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว
  • นวดบริเวณนิ้วเท้าเบาๆ
  • ถ้าเป็นตะคริวที่นิ้วมือให้เหยียดนิ้วมือออก เพื่อให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นคลายออก
ตะคริวบริเวณท้อง
  • กรณีเป็นตะคริวบริเวณท้องอย่างต่อเนื่อง ควรขอแนะนำจากแพทย์ ซึ่งหากมีเลือดออกจำนวนมากร่วมกับการเป็นตะคริว ควรรีบพบแพทย์ทันที

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

คนท้องเป็นตะคริว ต้องกินอะไร ? สารอาหารที่ช่วยป้องกันตะคริว

อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นค่ะว่า อาการตะคริวของแม่ท้องสามารถป้องกันและบรรเทาได้ด้วย “อาหารการกิน” โดยเฉพาะการดื่มนมและการกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงจะช่วยลดการเกิดตะคริวได้ ซึ่งอาหารที่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการตะคริว ได้แก่

  • นมและผลิตภัณฑ์จากนม

นมและผลิตภัณฑ์จากนม ชีส โยเกิร์ต ผักใบเขียวเข้ม ปลาแซลมอน ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้ งา และถั่วต่างๆ เป็นอาหารที่อุดมแคลเซียม (Calcium) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการหดตัวของกล้ามเนื้อ จำเป็นต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท

  • ผักใบเขียวเข้ม

ผักใบเขียวเข้ม เป็นอาหารที่อุดมด้วย แมกนีเซียม (Magnesium) ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและป้องกันการหดเกร็ง คุณแม่ที่ร่างกายขาดแมกนีเซียมจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งและเป็นตะคริวได้ โดยเฉพาะตอนกลางคืน ซึ่งอาหารที่มีแมกนีเซียมสูงอื่นๆ ที่แม่ท้องที่กังวลเรื่องตะคริวควรกิน เช่น ดาร์กช็อกโกแลต ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วต่างๆ อโวคาโด

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • กล้วย

ผลไม้อย่างกล้วย อโวคาโด ส้ม หรืออาหารจำพวกมันฝรั่ง ถั่ว ธัญพืช มีโพแทสเซียม (Potassium) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท รวมถึงช่วยควบคุมสมดุลของน้ำและแร่ธาตุในร่างกาย นอกจากนี้ผักใบเขียวบางชนิดและในเนื้อสัตว์ก็ว่ามีโพแทสเซียมเช่นกัน

  • เนื้อสัตว์

เนื้อสัตว์ นม ไข่ เป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับแม่ท้อง เนื่องจากเป็นอาหารธรรมชาติที่มีโซเดียม (Sodium) เป็นส่วนประกอบ เพราะหากร่างกายแม่ท้องสูญเสียโซเดียมไปมากๆ จากการสูญเสียเหงื่อออกก็อาจทำให้เกิดตะคริวได้ ซึ่งร่างกายควรได้รับอยู่ที่ประมาณ 3.8 กรัมต่อวัน และไม่ควรเกิน 5.8 กรัมต่อวัน นอกจากนี้ ของโปรดของคุณแม่หลายคนอย่าง ขนมขบเคี้ยว ก็เป็นอาหารที่อุดมโซเดียมเช่นกัน แต่คุณแม่จำเป็นต้องควบคุมปริมาณโซเดียมจากการกินขนมขบเคี้ยวด้วย เพราะหากได้รับโซเดียมมากเกินไปเสี่ยงต่ออาการบวม ดังนั้น เลือกรับโซเดียมจากอาการตามธรรมชาติหรือจากการเกลือที่ใช้ปรุงอาหารในทุกๆ เมนูแทนดีกว่าค่ะ

  • ข้าวกล้อง

ข้าวกล้องนั้นอุดมด้วยวิตามินบี (Vitamin B) ซึ่งวิตามินบีหลายชนิด เช่น วิตามินบี 1 / วิตามินบี 6 / และวิตามินบี 12 มีบทบาทสำคัญในการทำงานของระบบประสาท โดยแหล่งอาหารของวิตามินบีนอกจากข้าวกล้องแล้วก็มี เนื้อสัตว์ ถั่ว ธัญพืช ผักใบเขียว และไข่

  • ไข่แดง

การกินไข่แดงจะทำให้ร่างกายคุณแม่ได้รับวิตามินดี (Vitamin D) ซึ่งเป็นวิตามินที่ทำงานร่วมกับแคลเซียม โดยจะช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น การขาดวิตามินชนิดนี้จึงอาจส่งผลให้ คนท้องเป็นตะคริว ได้ง่ายขึ้นด้วย และแหล่งอาหารที่มีวิตามินดีคือ ปลาที่มีไขมันสูง เห็ด และนมที่มีการเสริมวิตามินดีเข้าไปด้วยค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ตัวอย่างเมนูอาหารป้องกันตะคริวของแม่ท้อง

มื้อเช้า
  • โจ๊กใส่ไข่และผักใบเขียว
  • นม 1 แก้ว
มื้อกลางวัน
  • แกงจืดเต้าหู้หมูสับ
  • ผัดผักรวมมิตร
  • ข้าวสวย
มื้อเย็น
  • ปลาทูต้มเคียงผักลวก
  • ซุปเห็ด
  • นมเปรี้ยว
  • มีข้อควรระวังคือ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเลี่ยงอาหารรสจัด เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด และควรกินอาหารที่ปรุงสุกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ ควรงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเพราะอาจส่งผลต่อการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอได้

 

วิธีอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหา คนท้องเป็นตะคริว

นอกเหนือจากการกินอาหารที่อุดมแคลเซียม แมกนีเซียม และแร่ธาตุต่างๆ ตามที่บอกไปแล้ว ยังมีวิธีอื่นที่คุณแม่สามารถทำได้เพื่อผนึกกำลังในการป้องกันคนท้องเป็นตะคริว ดังนี้ค่ะ

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน (แก้วละ 240 มิลลิลิตร) ช่วยป้องกันการขาดน้ำ กำจัดของเสียในร่างกาย ช่วยในการสร้างเซลล์และลำเลียงสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด หากคุณแม่เกิดภาวะขาดน้ำเนื่องจากดื่มน้ำน้อยเกินไปในแต่ละวัน ก็อาจทำให้เป็นตะคริวได้ง่ายขึ้นค่ะ

  • หมั่นยืดกล้ามเนื้อ

คุณแม่ควรบริหารกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะการยืดกล้ามเนื้อน่องก่อนนอน จะช่วยลดอาการตึงของกล้ามเนื้อ ป้องกันการเป็นตะคริวได้ วิธีที่แนะนำคือ

  1. ยืนห่างจากกำแพงประมาณ 1 ช่วงแขน
  2. วางเท้าขวาไว้หลังเท้าซ้ายเล็กน้อย
  3. เอนตัวไปข้างหน้าให้มือแตะกำแพง ยืดหลังให้ตรง
  4. ดันสะโพกไปด้านหน้าเล็กน้อย และหายใจเข้าลึก ๆ ทำค้างไว้ประมาณ 30 วินาที
  5. ทำซ้ำโดยสลับข้าง

ทั้งนี้ หลังยืดกล้ามเนื้อเสร็จแล้วควรนวดกล้ามเนื้อเบาๆ ลุกขึ้นเดินไปรอบๆ ประมาณ 2–3 นาที โดยอาจประคบร้อนบริเวณเท้าหรือน่องเพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ แต่ต้อระวังไม่ให้อุณหภูมิสูงจนรู้สึกแสบร้อนผิว

  • ออกกำลังกายเบาๆ

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย การเดินเบาๆ หรือโยคะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะการยืนหรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานเป็นสาเหตุที่อาจทำให้เป็นตะคริว การลุกเดินเปลี่ยนอิริยาบถทุก 1–2 ชั่วโมง หรือออกกำลังกายเบาๆ เช่น โยคะ หรือว่ายน้ำ ตามคำแนะนำของแพทย์ นอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวคุณแม่แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และป้องกันการเกิดตะคริวได้ด้วย

  • ใช้หมอนรองขาเวลานอน

กรณีแม่ท้องเป็นตะคริวขณะเข้านอนตอนกลางคืนบ่อยๆ แนะนำว่าควรดื่มนมให้มากขึ้นก่อนนอน และยกขาสูง โดยใช้หมอนรองขาให้สูงจากเตียงประมาณ 10 ซม. หรือ 4 นิ้ว

ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว “ตะคริว” จะหายได้เองภายในเวลาสั้นๆ แต่หากคุณแม่เป็นตะคริวบ่อย รู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรง ขาบวมแดง หรือจับดูแล้วรู้สึกอุ่นบริเวณที่เป็น อาจเป็นสัญญาณของลิ่มเลือดอุดตัน ควรไปพบแพทย์ทันทีนะคะ

 

ที่มา : www.phyathai.com , www.bpksamutprakan.com , www.pobpad.com , www.phyathai.com , hdmall.co.th

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ปวดท้องร้าวไปหลัง ระหว่าง ตั้งครรภ์ สัญญาณเตือน! หรือแค่ปวดธรรมดา?

เส้นดำกลางท้อง บอกเพศลูก จริงมั้ย? ไขข้อข้องใจพร้อมวิธีดูแลผิวแม่ท้อง

14 ข้อห้ามคนท้อง พฤติกรรมเสี่ยงแท้ง ของแม่ตั้งครรภ์ ห้ามทำแบบนี้

บทความโดย

จันทนา ชัยมี