อาหารไม่ได้ห้ามแค่ตอนท้องเพียงอย่างเดียว อาหารต้องห้ามแม่ให้นม ก็มีเช่นกันค่ะ เรามาดูกันค่ะว่า อาหารต้องห้ามแม่ให้นม มีอะไรบ้าง
ให้นมลูกห้ามกินอะไรบ้าง ?
-
แอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น เช่น วิสกี้ คอนยัค เหล้า บรั่นดี ไม่ควรกินเกิน 30 ซีซี หากกินเบียร์หรือไวน์ ไม่ควรเกินหนึ่งแก้ว (180 ซีซี) จะได้ไม่ต้องปั๊มนมทิ้ง แต่ถ้ากินเกิน ปริมาณดังกล่าว ต้องปั๊มทิ้งภายใน 3-6 ชม.หลังจากกินหรือจนกว่าคุณแม่จะมีความรู้สึกตัวดีหรือมีระดับสติสัมปชัญญะกลับมาเป็นปกติ เพราะปริมาณแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปจะเข้าสู่น้ำนม ทำให้ลูกมีปัญหานอนหลับมากผิดปกติ กดการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจ และเป็นอันตรายต่อตับของทารก โดยทั่วไปแล้ว หากคุณแม่กินแอลกอฮอล์ ไม่ควรนอนเตียงเดียวกับลูก เพราะอาจหลับลึกจนทับลูกเสียชีวิตได้
-
อาหารสำเร็จรูป , หมักดอง
ควรหลีกเลี่ยงอาหารดัดแปลง อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป อาหารใส่สารเคมี สารกันบูด เพราะสัมพันธ์กับการเป็นโรคมะเร็ง อาหารที่ปรุงแต่งรสมากมาย เช่น น้ำตาล เกลือ ผงชูรส สีสังเคราะห์ ขนมนมเนย ขนมหวาน เพราะทำให้เป็น โรคเบาหวาน โรคความดันสูง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และ อาหารประเภทนมวัวผลิตภัณฑ์นมวัว จะส่งผ่านมาทางน้ำนม ทำให้ลูกแพ้ได้ด้วย ทำให้มีเด็กที่แพ้อาหารและเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นเรื่อยๆ
-
คาเฟอีน
คาเฟอีน ที่อยู่ใน ชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำอัดลม กินได้เพียงหนึ่งอย่าง วันละไม่เกิน 1 แก้ว หากกินมากเกินไป อาจมีผลทำให้ลูกนอนหลับไม่ดี กระตุ้นทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ
-
นมวัว
ผลิตภัณฑ์นมวัว เช่น เบเกอรี่ ไอศครีม ชีส พิซซ่า ควรงดไปเลย ส่วนอาหารกลุ่มเสี่ยงตัวอื่นๆ เช่น นมถั่วเหลือง แป้งสาลี ไข่ อาหารทะเล ผลไม้รสเปรี้ยว หรือ อาหารที่คุณพ่อ หรือ คุณแม่แพ้ เวลาที่คุณแม่กินอาหารเหล่านี้ ให้สังเกตว่าลูกมีอาการแพ้หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 2 เดือน ได้แก่ อาการงอแงมากกว่าปกติ ผื่นผิวหนังอักเสบ คันตามตัว อาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก หายใจครืดคราด คันตา และ อาการเจ็บป่วยบ่อย
-
ถั่ว
ถั่วลิสง นมถั่วเหลือง ตระกูลถั่วต่าง ๆ หากคุณแม่รับประทาน จะเป็นตัวกระตุ้นโรคภูมิแพ้ได้ค่ะ ทางที่ดีคุณแม่ควรงดไปก่อน
-
ผักที่ทำให้เกิดแก๊ส
บร๊อกโคลี่ ดอกกะหล่ำ หน่อไม้ หากคุณแม่กินในปริมาณที่มาก จะทำให้ลูกเกิดแก๊สได้ค่ะ ควรทานให้เหมาะสม และสังเกตอาการว่าลูกมีอาการงอแง เนื่องจากปวดท้องหรือไม่
-
ปลาดิบทะเล
หากคุณแม่บริโภคปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้ลูกแพ้ได้ค่ะ คุณแม่สามารถทานได้แต่ในปริมาณที่เหมาะสม หรือหากคุณแม่งดได้ก็ควรงดไปก่อนค่ะ
-
อาหารรสจัด
ซึ่งจะต่างจากอาหารที่ประกอบด้วยสมุนไพรที่มีรสร้อน เช่น กะเพรา ขิง พริกไทย ที่ช่วยบำรุงน้ำนม ซึ่งคุณแม่บางท่านอาจเข้าใจผิดคิดว่า ยิ่งกินเผ็ดน้ำนมจะได้ไหลดี ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะอาหาร “เผ็ด” กับ อาหาร “รสร้อน” แตกต่างกัน ดังนั้น เวลากินอาหาร คุณแม่จึงควรระมัดระวัง อย่ากินอาหารที่มีรสเผ็ดมากเกินไป เพราะจะส่งผลให้ลูกรับรสเผ็ดจากน้ำนมแม่ และอาจทำให้ปวดท้องได้เช่นกัน
เทคนิคการรับประทานอาหารสำหรับคุณแม่
- รับประทานอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากขึ้น
โปรตีนเป็นองค์ประกอบสำคัญของในน้ำนม ส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อส่งผ่านไปยังลูกได้ การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนครบถ้วนและหลากหลาย เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อปลา เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ช้อนกินข้าวต่อมื้อ หรือเทียบเท่ากับไข่ไก่ 1 ฟองต่อมื้อ หรือดื่มนมประมาณ 3 แก้วต่อวัน
นอกจากนี้ การรับประทานปลาทะเลประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์จะทำให้ได้รับกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 และ DHA เพิ่มขึ้นซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาทางสมองและระบบประสาทของทารก ทั้งนี้ควรรับประทานปลาทะเลอย่างหลากหลาย เช่น ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาทู ปลาแซลมอน ปลากะพง ปลาจะละเม็ดขาว ปลานิล เป็นต้น ไม่ควรรับประทานปลาชนิดเดิมทุกวันหรือปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาฉลาม ปลาฉนาก ปลาอินทรีย์ เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของโลหะหนัก เช่น ปรอท ได้
- รับประทานผักและผลไม้ทุกมื้อ
ผักและผลไม้หลากสีเป็นแหล่งของใยอาหาร วิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนควรรับประทานผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน
- เลือกรับประทานอาหารกลุ่มข้าว-แป้งที่ขัดสีน้อยหรือไม่ขัดสี
อาหารกลุ่มข้าว-แป้งที่ขัดสีน้อยหรือไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต และธัญพืชชนิดต่างๆ เนื่องจากมีใยอาหารสูงช่วยลดการท้องผูก
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
การให้นมบุตรนั้นจะทำให้กระหายน้ำบ่อยขึ้น ควรดื่มน้ำวันละ 13-16 แก้วต่อวัน หรือดื่มน้ำ 1 แก้วใหญ่ทุกครั้งหลังการให้นมบุตร โดยปกติน้ำนมจะมีพลังงานและปริมาณน้ำเพียงพอต่อทารกอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้ทารกจิบน้ำเปล่าหลังการให้นม
- เน้นอาหารปรุงสุก สะอาด สดใหม่
การรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด สดใหม่ ทำให้ลดโอกาสการได้รับสารพิษจากแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบและอาหารค้างคืนในระยะให้นมบุตรอีกด้วย งดการสูบบุหรี่เนื่องจากการสูบบุหรี่จะมีผลให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ลดลง ปริมาณวิตามินซีในน้ำนมลดลง อีกทั้งเป็นการทำลายปอดของทารก ดังนั้นหญิงให้นมและบุคคลที่อยุ่ใกล้ชิดทารกควรงดการสูบบุหรี่
- อาหารมังสวิรัติ
หากรับประทานมังสวิรัติชนิดที่ไม่รับประทานนมและไข่ คุณแม่ระยะให้นมบุตรควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เช่น ข้าว คีนัว เต้าหู้ เมล็ดถั่ว และถั่วเปลือกแข็ง เพื่อให้ได้รับกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน เลือกรับประทานผักใบเขียวที่เป็นแหล่งของแคลเซียม เช่น ผักคะน้า ผักโขม ผักกวางตุ้ง บรอกโคลี รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีการเสริมแร่ธาตุชนิดต่างๆ เช่น แคลเซียม วิตามินดี ธาตุเหล็ก สังกะสี และวิตามินบี 12 เพื่อป้องกันภาวะขาดวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นวิตามินที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทในทารกด้วย
อาหารกระตุ้นน้ำนม
- แกงเลียงหัวปลี
อาหารเพิ่มน้ำนมแม่ที่คุณแม่ทุกคนต้องพูดถึงอย่างแน่นอนอย่างแกงเลียงหัวปลี หัวปลีช่วยในกระตุ้นให้ร่างกายเพิ่มน้ำนมมากยิ่งขึ้น และเป็นเมนูที่สำคัญเราสามารถเลือกผักมาปรุงได้ตามใจชอบ สามารถเพิ่มผักใบเขียวที่มีโฟเลทสูงได้ก็จะช่วยเพิ่มน้ำนมได้เป็นอย่างดี
- ผัดไท
เมนูผัดไทยที่ทุกคนรู้จัก จริงๆแล้วที่จะช่วยเพิ่มน้ำนมได้คือหัวปลี ผัดไทยที่มีเครื่องเคียงเป็นหัวปลีสดๆ หรือหัวปลีหั่นฝอยรับประทานกับขนมจีนน้ำพริก หัวปลีจะช่วยในการกระตุ้นร่างกายให้ผลิตน้ำนมเพิ่มได้เป็นอย่างดี
- หมูผัดขิง ไก่ผัดขิง ปลานึ่งใส่ขิง
นอกจากหัวปลีที่ช่วยเพิ่มน้ำนมได้ดีแล้วเมนูผัดขิงนี้ก็เป็นอาหารเพิ่มน้ำนมได้เป็นอย่างดีเลยเพราะนอกจากขิงจะช่วยโรคมะเร็ง แก้ท้องอืดท้องเฟ้อแล้วก็เป็นอาหารบำรุงน้ำนมได้เป็นอย่างดี ซึ่งต้องรับประทานตอนร้อนๆ เพราะจะช่วยเร่งน้ำนมดียิ่งขึ้น
- ผักผลไม้สีเขียว
ผักผลไม้ที่มีสีเขียวมีส่วนช่วยในการเพิ่มน้ำนมได้และเป็นอีกหนึ่งอาหารบำรุงน้ำนมแม่เพราะผักสีเขียวมีโฟเลทสูงที่จะช่วยบำรุงน้ำนมแม่ให้ดี ช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการและร่างกายของลูกน้อยได้ และยังมีส่วนพืชผักผลไม้ที่เป็นหนึ่งในอาหารเพิ่มน้ำนมแม่ได้คือ มะละกอ กุยช่าย ผักชีลาว ฟักทอง เมล็ดขนุนต้มสุก
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
อาหารเพิ่มน้ำนมแม่ กินอะไรแล้วน้ำนมพุ่งปรี๊ด ไม่ต้องเค้นให้เจ็บ
7 ข้อ ที่แม่ควรรู้เกี่ยวกับ นมวัว
ผักผลไม้วิตามินซีสูง ป้องกันหวัดลูก ดีต่อสุขภาพคนท้อง สร้างเนื้อเยื่อและกระดูกทารกในครรภ์
ที่มา : (Facebook: คลับปั๊มนมแบบแฮปปี้ Matella club),(bumrungrad)