อาหารเป็นพิษในเด็ก โรคฮิตช่วงหน้าร้อน เกิดจากอะไร รักษายังไง

โรคอาหารเป็นพิษ ถือเป็นโรคฮิตของเด็ก ๆ ในช่วงหน้าร้อน อาหารเป็นพิษในเด็ก เกิดจากสาเหตุอะไร มีอาการแบบไหน รักษายังไง เมื่อไหร่ควรไปรพ. มาดูกัน

ในช่วงเวลาที่อากาศร้อนเช่นนี้ จะมีผู้ป่วยที่มีอาการ อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะสภาพอากาศเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่อยู่ในอาหาร อาหารเป็นพิษในเด็ก เกิดจากสาเหตุอะไร มีอาการแบบไหน รักษายังไง เมื่อไหร่ควรไปโรงพยาบาล วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่องอาหารเป็นพิษกันค่ะ

อาหารเป็นพิษในเด็ก01

อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)  คืออะไร?

อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) คือ โรคที่มีการอักเสบของกระเพาะอาหาร และลำไส้ จากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ที่ปนเปื้อนในอาหาร และน้ำดื่ม โดยอาการมักเกิดขึ้นหลังจากทานอาหารไม่นานนัก

 

สาเหตุของอาหารเป็นพิษในเด็ก (Food Poisoning)  เกิดจากอะไร?

เชื้อแบคทีเรีย อันเป็นต้นเหตุของอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)  ที่พบบ่อย ได้แก่ E.coli, Salmonella และ Shigella ส่วนไวรัส อันเป็นสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ Norovirus ซึ่งการปนเปื้อนของอาหาร ด้วยเชื้อโรคเหล่านี้ มักเกิดจากอาหารที่เตรียมโดยผู้ปรุง ที่ไม่ได้ล้างมือให้สะอาดถูกสุขลักษณะอนามัย, ภาชนะที่ใช้ทำอาหาร หรือใส่อาหารไม่สะอาด, วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร มีการปนเปื้อนเชื้อโรค, การทานอาหารที่สุก ๆ ดิบ ๆ หรือผัก ผลไม้ดิบที่ล้างไม่สะอาด เป็นต้น

อาหารเป็นพิษในเด็ก

อาการของอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)  เป็นอย่างไร?

อาการของอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)  ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุ อาการอาจเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง จนถึง 1-2 วัน หลังจากทานอาหาร ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โดยมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลวมีมูกเลือดปน เบื่ออาหาร ซึ่งอาการเหล่านี้ หากไม่รุนแรง มักจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่เด็กบางคน อาจมีอาการรุนแรง จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้

 

การรักษาอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)  ทำได้อย่างไร?

สิ่งที่สำคัญ สำหรับการรักษาโรคอาหารเป็นพิษในเด็ก (Food Poisoning)  คือ การให้สารน้ำที่เพียงพอ โดยควรให้จิบน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียของสารน้ำ และเกลือแร่จากการอาเจียน หรือท้องเสีย ให้เด็กทานอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยไม่ยาก เช่น ข้าวต้ม หรือโจ๊ก ขนมปัง แครกเกอร์ ไม่ทานอาหารที่มีรสจัด หรือมีไขมันมาก งดผัก และผลไม้

อาหารที่เป็นพิษในเด็ก03

เมื่อไหร่ที่ต้องมาโรงพยาบาล จากอาการอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) 

หากเด็ก ๆ มีอาการ อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)  ที่อาการไม่ดีขึ้นเอง ภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการรุนแรง เช่น ปวดท้องรุนแรง จนทำอะไรไม่ได้ มีการขาดน้ำรุนแรง เช่น ตาโหล ปากแห้ง กระหม่อมบุ๋มลงไป ไม่ปัสสาวะเลย ใน 6 ชั่วโมง หน้ามืด วิงเวียน หรือใจสั่น มีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส  ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน หรือถ่ายดำผิดปกติ ก็ควรจะมารับการรักษา ที่โรงพยาบาลค่ะ

ทั้งนี้สำหรับทารก และเด็กเล็ก อาจเกิดภาวะขาดน้ำจากอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) ได้ง่ายกว่าเด็กโต และผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่สามารถบอกอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้ชัดเจน และยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ในการหาน้ำเกลือแร่มาดื่มเพื่อชดเชย จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

หากลูกมีอาการ อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)  ที่ไม่แน่ใจว่ารุนแรงหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็วค่ะ

 

การป้องกันอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)  ทำได้อย่างไร?

หากไม่อยากให้ลูกน้อยมีอาการอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)  คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่หมดอายุ หรือทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องนาน ๆ ให้ลูกทานแต่อาหารที่สะอาดปรุงสุกสดใหม่ ร้อน ๆ ไม่ทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยไม่ใช้ช้อนกลาง และล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนทานอาหารค่ะ

 

theAsianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น theAsianparent Thailand ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ไวรัสโคโรน่าในเด็ก อันตรายหรือไม่ ป้องกันยังไงไม่ให้ลูกติดเชื้อโควิด-19

พาลูกเที่ยวทะเลช่วยให้เด็กฉลาดได้ อยากให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีต้องพาลูกเที่ยว

ลูกนอนดึก เสี่ยงเป็น โรคอ้วนในเด็ก ภัยเงียบจากกการนอนดึก