สำหรับรายการ TAP Ambassador ของเราในสัปดาห์นี้ มาพร้อมกับประเด็นที่น่าสนใจมาก ๆ เพราะเป็นเรื่องที่คุณแม่หลาย ๆ ท่านได้โพสไว้ในแอปพลิเคชัน theAsianparent โดยหัวข้อในวันนี้คือ “ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และโควิดในเด็ก ที่พ่อแม่ควรแยกให้ออก ” ซึ่งในวันนี้ theAsianparent จะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมาไขข้อข้องใจไปพร้อม ๆ กันกับคุณหมอแอม แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของจิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาสมองและการเรียนรู้ของเด็ก
ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และโควิดในเด็ก แตกต่างกันอย่างไร และสามารถสังเกตได้อย่างไร
ก่อนอื่นต้องขอแบ่งออกมาเป็น 2 อย่างก่อน ระหว่างชื่อโรค กับชื่อเชื้อ ชื่อเชื้อ เช่น เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ เชื้อโรต้า เชื้อโควิด ส่วนชื่อโรค เช่น หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดติดเชื้อ ซึ่งทั้ง 2 จะไม่เหมือนกัน โดยเชื้อ 1 ชนิดอาจจะก่อให้เกิดโรคได้หลายโรค แต่ถ้าหากพูดถึงโควิด ไข้หวัดใหญ่และโควิดต่างก็เป็นชื่อเชื้อ แต่เชื้อโรคทั้ง 2 ชนิดนี้ มักจะส่งผลกระทบกับปอด เพราะฉะนั้นประเภทของโรคที่มาจากเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้คือ ปอดบวม ซึ่งจริง ๆ แล้ว ซึ่งอันที่จริงแล้วเชื้อโรคทั้ง 2 นี้ สามารถที่จะแพร่กระจายเข้าสู่สมองได้ ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 90% ที่เชื้อจะลงสู่ปอด ซึ่งจะมีส่วนน้อยจริง ๆ ที่มีอาการขึ้นสมอง ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ มีอาการซึม ชัก และถึงขั้นหมดสติได้
บทความที่น่าสนใจ : กลัวลูกติดโควิด จน ไม่กล้าพาลูกไปฉีดวัคซีน มีผลเสียอย่างไร
มีข้อสังเกตอะไรบ้าง ที่จะทำให้เรารู้ว่าลูกเราเป็นปอดบวม
สำหรับการสังเกตนั้น สามารถไล่เป็นลำดับตั้งแต่ที่เชื้อเริ่มเข้ามาที่จมูกได้ดังนี้ เริ่มจากอาการที่ลูกจะเริ่มมีน้ำมูก หากเชื้อลงไปที่คอจะมีอาการเจ็บคอ คออักเสบ หากเชื้อโรคลงไปที่หลอดลม จะมีอาการหลอดลมอักเสบ และไอค่อนข้างถี่ หากเชื้อโรคลงไปที่ปอด จะทำให้มีอาการหอบ ซึ่งสาเหตุมาจาก เวลาที่หายใจ เราต้องใช้ปอดในการนำออกซิเจนเข้าร่างกาย แต่ถ้าเชื้อโรคลงไปที่ปอดเมื่อไหร่ ก็จะทำให้ปอดเริ่มไม่ดี และทำให้การหายใจนำออกซิเจนเข้าไปได้ไม่เต็มที่ และจะทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ซึ่งการติดเชื้อโควิดนั้น ไม่ได้ทำให้เป็นโรคหอบ แต่ถ้ามีอาการของโรคหอบอยู่แล้ว ถ้าได้รับเชื้อโควิดเข้าไป อาจทำให้มีอาการทรุดหนักกว่าเดิม
อาการอะไร ที่ถือว่าเป็น Red code คุณแม่ต้องพาน้องไปหาหมอโดยด่วน
สำหรับอาการ Red code ที่ควรพาไปหาหมอ ก็คือ อาการหอบ เพราะเป็นสัญญาณว่าลูกเริ่มหายใจเองไม่ไหวแล้ว ซึ่งอาการหอบจะทำให้หายใจเร็ว หายใจไม่ทัน ซึ่งเด็กบางคนอาจมีอาการหอบจนซี่โครงยก เป็นร่องตรงบริเวณซี่โครง และเวลาที่หอบมาก ๆ จะมีการหายใจจนจมูกบาน รวมถึงอาการป่วยอื่น ๆ ที่ควรจะต้องรีบพาลูกไปพบหมอได้แก่ ไข้สูง ซึม ชัก หากมีอาการเหล่านี้ควรถือว่าเป็น Red code ที่ควรรีบพาไปหาหมอให้เร็วที่สุด
สังเกตอย่างไร ว่าลูกเสี่ยงเป็นโควิด
สำหรับวิธีสังเกตนั้นง่ายมาก เพราะเด็กส่วนใหญ่จะติดจากคนภายในบ้าน ซึ่งวิธีการสังเกตคือ ดูว่าคนในบ้าน รวมถึงตัวคุณพ่อคุณแม่เองนั้น เป็นโควิดหรือเปล่า และยังรวมไปถึงคนที่เข้าออกในบ้านด้วย ว่ามีการระมัดระวังตัวดีไหม หรือมีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อหรือเปล่า แต่ในเด็กบางคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดอาการรุนแรงจากโควิด ได้แก่ เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบ เพราะภูมิคุ้มกันที่ยังไม่แข็งแรง นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมช่วง 1 ปีแรกของเด็ก มักจะต้องฉีดวัคซีนเยอะมาก ส่วนเด็กประเภทถัดไปคือ เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบ โรคที่เกี่ยวกับหัวใจ ไต ตับ และปอด เพราะเด็กเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง และเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางสมอง เช่น โรคลมชัก โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่เสี่ยงต่ออาการรุนแรง
หากเด็กเคยติดเชื้อโควิด แต่หายแล้ว จะมีโอกาสที่จะกลับไปเป็นอีกรอบไหม ?
เพราะเชื้อหลาย ๆ ตัว โดยเฉพาะเชื้อไวรัส นั้นสามารถที่จะกลายพันธุ์ได้ ซึ่งเมื่อเชื้อโรคเกิดการกลายพันธุ์ ก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันจดจำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น หรือผู้สูงอายุ หากเคยติดเชื้อแล้ว ก็สามารถเป็นซ้ำได้
เด็กที่อายุ 1 ขวบ หายใจเสียงดัง หายใจติดขัด สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง
หากเด็กมีอาการหายใจเสียงดัง หายใจติดขัด ต้องดูอาการว่าเป็นในช่วงไหน และอาการหายใจติดขัดแบบไหน ถ้ามีอาการหายใจติดขัดหลังกินนมเสร็จ จะเกิดจากการที่นมไหลย้อนขึ้นไป แนะนำว่าควรให้นอนหมอนสูงซักพัก จึงให้ลงนอนตามปกติ แต่ถ้าหากมีอาการหายใจติดขัดในช่วงอากาศเย็น ช่วงกลางคืน ส่วนใหญ่จะเกิดจากอาการน้ำมูแห้ง น้ำมูกแข็ง ให้จับลูกตั้งหัวขึ้นนิดหน่อย ลองส่องรูจมูกของลูก และหยอดน้ำเกลือ 1 – 2 หยดลงไป ก็จะช่วยละลายให้น้ำมูกนิ่มขึ้นได้
หากลูกมีเสมหะเยอะ คุณแม่สามารถช่วยเคาะปอดให้ลูกได้ไหม
ต้องบอกเลยว่า สามารถทำได้ โดยวิธีการเคาะปอดนั้น สามารถดูได้จากคลิปที่ทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาธิต และให้ความรู้เกี่ยวกับการเคาะปอด โดยจะต้องเลือกดูซักหน่อยว่าเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือได้ โดยการเคาะปอดเด็กนั้น ต้องอาศัยความรู้ เพราะถ้าหากเคาะมั่ว ๆ อาจทำให้เด็กมีอาการอันตรายได้ โดยมีข้อควรระวังคืออายุของลูก และน้ำหนักมือของคุณแม่ และจะต้องสังเกตอาการเป็น
บทความที่น่าสนใจ : จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกน้อยสายตาสั้นและหูหนวก หรือลูกพัฒนาการช้า กันแน่
และสำหรับหัวข้อ ” ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และโควิดในเด็ก ที่พ่อแม่ควรแยกให้ออก ” นั้น ต้องขอเน้นย้ำในเรื่องของอาการสำคัญ หากเด็กเป็นต้องรีบไปพบแพทย์ คือ อาการไข้สูง ซึม ชัก และอาการหอบ ถ้ามีอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้ได้ทันที ส่วนประเด็นถัดมานั้น คือ การติดเชื้อโควิดในเด็กนั้นมักจะติดมาจากคนในบ้าน หากกลัวว่าลูกจะติด ง่ายที่สุดคือการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เด็กยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ ตัวผู้ใหญ่เองก็ควรที่จะไปฉีดวัคซีนป้องกันไว้ ส่วนอีกประเด็นคืออยากจะเน้นย้ำในเรื่องของวัคซีน ที่หลายคนไม่กล้าที่จะพาลูกไปฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก เพราะกลัวลูกจะติดโควิด ซึ่งหลายโรคนั้น มีความเป็นอันตรายต่อเด็กมากกว่าโควิด หากเป็นไปได้ก็ควรที่จะรับไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน
บทความที่น่าสนใจ :
สอนลูกอย่างไรให้เป็นเด็กที่เคารพตนเอง และยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น
กลัวลูกติดโควิด จน ไม่กล้าพาลูกไปฉีดวัคซีน มีผลเสียอย่างไร
ที่มา : คุณหมอแอม แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ
เจ้าของเพจ เรื่องเด็ก ๆ by หมอแอม