คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ ความจริงแล้ว เด็กอ้วน ไม่ใช่เด็กที่น่ารัก แถมยังเสี่ยงต่อโรคอื่น ๆ อีกเพียบ คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกการกินของลูก เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน หรือเป็น เด็กอ้วน เพราะอาจจะเกิดโรคต่าง ๆ ที่ตามมา
เด็กอ้วนไม่ใช่เด็กน่ารัก แต่เป็นจุดเริ่มต้นของสารพัดโรค
“โรคอ้วน” เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากกว่าปกติ จนเกิดผลเสียต่อสุขภาพ
เมื่อไหร่ถึงเรียกอ้วน ประเมินโดยใช้กราฟแสดงน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง ตามอายุและเพศของเด็ก แล้วอยู่ในเกณฑ์เริ่มอ้วนหรืออ้วน
สาเหตุของโรคอ้วน
- โรคทางกายหรือกลุ่มอาการทางพันธุกรรมที่มีภาวะอ้วนร่วมด้วย โดยกลุ่มนี้มักมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ เช่น Down’s syndrome, Prader-Willi syndrome และโรคทางต่อมไร้ท่อ เช่น ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) หรือขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- อ้วนธรรมดา เกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เมื่อพลังงานที่เข้ามากกว่าที่เราใช้ออก ทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกาย
“กินมาก” เกินกว่าความต้องการ
”กินไม่เหมาะ” ชอบกินอาหารพลังงานสูง ในขณะที่ กินผักและผลไม้น้อย
”ใช้ไม่หมด” เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ไม่ค่อยออกกำลังกาย และใช้เวลาส่วนมากอยู่หน้าจอโทรทัศน์
บทความที่เกี่ยวข้อง : หญ้าหวาน สารให้ความหวานยอดฮิต หวานอย่างไร ให้ไร้โรคอ้วน
ผลเสียที่จะเกิดขึ้นเมื่อปล่อยให้ลูกอ้วนเกินไป
- กระดูกและข้อ เมื่อข้อรับน้ำหนักมากนาน ๆ ทำให้มีขาโก่งในวัยเด็ก และหัวกระดูกสะโพกเลื่อนในวัยรุ่นได้
- หัวใจและหลอดเลือด พบมีความดันโลหิตสูง และมีความเสี่ยงของหลอดเลือดอุดตันที่หัวใจหรือสมองเพิ่มขึ้น
- ทางเดินหายใจ มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น เด็กนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้เด็กง่วง หลับในห้องเรียน มีผลต่อการเรียนได้
- ทางเดินอาหารและโรคตับ พบโรคนิ่วในถุงน้ำดี ภาวะไขมันสะสมที่ตับ นำไปสู่ โรคตับอักเสบ ตับแข็ง และตับวายได้
- ระบบต่อมไร้ท่อ ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ มีภาวะต่อต้านอินซูลินนำไปสู่เบาหวานชนิดที่ 2 โดยในเด็กอ้วนอาจพบผื่น acanthosis nigricans เป็นส
- น้ำตาลดำนูนหนาที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบ ซึ่งพบร่วมกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
- จิตใจและสังคม พบว่า เด็กอ้วนขาดความภูมิใจในตนเอง วิตกกังวล และมีภาวะซึมเศร้าได้
- และเมื่อติดตามเด็กโรคอ้วน พบว่า 69% ของเด็กอายุ 6 – 9 ปี และถึง 83% ของวัยรุ่นอายุ 10 – 14 ปี กลายเป็นโรคอ้วนในผู้ใหญ่
- เคลื่อนไหวตัวลำบาก เชื่องช้าขาดคความคล่องตัว เมื่อเกิดอุบัติเหตุเช่นหกล้ม หรือพลัดตกจะเจ็บมากกว่าเด็กที่ไม่อ้วน
- น้ำหนักตัวมาก ทำให้กระดูกและข้อต่อเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร
- ทำให้เป็นโรคเบาหวาน เพราะเด็กที่อ้วนมากร่างกายจะมีภาวะดื้ออินซูลิน เมื่อร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้เด็กมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจนกลายเป็นโรคเบาหวานในที่สุด นำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อ ตา ไต ระบบประสาทและหัวใจ
- เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะเด็กที่ชอบกินของมัน ของทอด เช่น มันฝรั่งทอด ไก่ทอด เบค่อน หมูสามชั้นเป็นต้น
- เด็กอ้วนมักมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและมีปัญหาหัวใจขาดเลือดได้ง่าย
- คนอ้วนมักนอนกรน เนื่องจากกล้ามเนื้อทางเดินหายใจเกิดการหย่อนตัวจนหลอดลมตีบลง เมื่อมีลมหายใจผ่านจะทำให้กล้ามเนื้อนั้นสั่นเกิดเป็นเสียงกรน เด็กอ้วนบางรายจะมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นเนื่องจากกล้ามเนื้อทางเดินหายใจหย่อนปิดกั้นหายใจไม่สะดวก ทำให้เลือดมีออกซิเจนน้อยลงขณะหลับ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีปัญหาภาวะหัวใจโตร่วมด้วย
- ทำให้เกิดไขมันสะสมในตับ มีความเสี่ยงเป็นโรคตับอักเสบ และมีปัญหาทางไต
- มีปัญหาด้านจิตใจเพราะถูกเพื่อนล้อ ทำให้ขาดความมั่นใจ ไม่อยากไปโรงเรียน ปรับตัวเข้าสังคมยาก
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไขมันในเลือดสูงในเด็กอ้วน อันตรายที่พ่อแม่อย่ามองข้าม
แนวทางการรักษาเด็กที่เป็นโรคอ้วน
เมื่อเด็กอ้วน ควรมาพบแพทย์ เพื่อประเมินความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อน และพิจารณาเจาะเลือดเพิ่มเติมเมื่อมีข้อบ่งชี้ เป้าหมาย เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้คงเดิม หรือลดลงโดยมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นตามปกติ และป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยขึ้นกับอายุของเด็กและความรุนแรงโรคอ้วน
- ปรับพฤติกรรมการกิน โดยกินอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณพอดี ลดอาหารพลังงานสูง เช่น ขนมขบเคี้ยว น้ำหวาน เลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ไขมันสูง ปรับเปลี่ยนการทำอาหาร จากทอด ผัด เจียว เป็น ต้ม นึ่ง ย่าง แทน เพิ่มการกินผักและผลไม้ และในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปให้กินนมพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนยแทน
- ปรับพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น เดินแทนนั่งรถ ทำงานบ้านเอง ออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น ลดเวลาหน้าจอโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ ให้น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน จากการศึกษาพบว่า เด็กที่ใช้เวลาหน้าจอโทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์ มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน เป็นโรคอ้วนมากกว่ากลุ่มที่อยู่หน้าจอน้อยกว่า 2 ชั่วโมง ทั้งจากพฤติกรรมกินไปดูโทรทัศน์ไป และจากการซื้ออาหารและขนมตามโฆษณาเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การรักษาโรคอ้วนในเด็กนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของครอบครัวเป็นหลัก โดยดูแลเด็กไปในทิศทางเดียวกัน เป็นแบบอย่างที่ดีในการเลือกกินอาหาร ชมเชยให้กำลังใจเด็กเมื่อมีพฤติกรรมที่เหมาะสม รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมในบ้าน เช่น ไม่เก็บขนมในบ้านให้เด็กหยิบกินได้ง่าย
โภชนาการช่วยได้ ลดน้ำหนักอย่างไรไม่ให้ลูกขาดสารอาหาร
เมื่อรู้ถึงพิษภัยและอันตรายของโรคอ้วนในเด็กแล้วคุณพ่อคุณแม่ควรหันมาใส่ใจเรื่องอาหารการกินของลูกให้มากขึ้น โดย
- ควรให้เด็กกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารมันๆ ทอดๆ ขนมหวาน น้ำหวานและน้ำอัดลมโดยเฉพาะเด็กวัย 2 ขวบขึ้นไป
- ไม่ควรห้ามลูกไม่ให้กินอาหารหรือขนมชนิดใดชนิดหนึ่งเพราะจะกลายเป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากกินมากขึ้น ควรอนุญาติให้กินในปริมาณที่พอดีหรือให้กินเฉพาะในโอกาสพิเศษ
- อย่าใช้อาหารเป็นเครื่องลงโทษหรือให้รางวัลแก่เด็ก การให้เด็กอดอาหารเพื่อเป็นการทำโทษอาจทำให้เด็กกังวลว่าจะกินไม่อิ่มทำให้เด็กพยามกินมากขึ้นเท่าที่มีทำได้ หากใช้ขนมหวานเป็นรางวัลให้ลูกจะทำให้เด็กเข้าใจว่าขนมและของหวานเป็นอาหารที่มีคุณค่ายิ่งกินมากขึ้นไปอีก
- ให้ลูกมีส่วนร่วมในการคิดเมนูอาหาร ออกไปเลือกซื้อวัตถุดิบ และลงมือช่วยทำอาหาร คุณแม่ควรให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำและเลือกซื้ออาหารขณะทำกิจกรรมร่วมกันด้วย
- วางแผนการทำอาหารล่วงหน้า สับเปลี่ยนเมนูเพื่อไม่ให้ลูกเบื่อและให้ลูกกินอาหารที่ตัวเองชอบบ้างเป็นระยะ
- สนับสนุนให้ลูกออกกำลังกาย พาออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านให้ได้ใช้พลังงานเพิ่มขึ้น จะได้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเติบโตสมวัย
ที่มา : 1
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
https://www.nksleepcare.co.th/how-snoring-happens/
วิจัยเผย คนท้องอ้วนอันตราย มีผลร้ายกับแม่และลูก มาดูเหตุผลไปพร้อมกัน!
10 ผลไม้ลดความอ้วน ผลไม้น้ำตาลน้อย กินยังไงก็ไม่อ้วน กินแล้วดีต่อร่างกาย