บล็อกหลังคลอดลูก คืออะไร มีแบบไหนบ้าง ปลอดภัยต่อแม่ท้องหรือไม่

วิธีหนึ่งที่ช่วยระงับความเจ็บปวดขณะแพทย์ทำคลอด คือ บล็อกหลังคลอดลูก สามารถทำได้ทั้งในการคลอดแบบธรรมชาติและการผ่าคลอด  การบล็อกหลังคลอดลูกนี้  คุณแม่มือใหม่อาจยังมีความกังวลว่า ขณะทำการคลอดและหลังคลอดแล้ว จะส่งผลข้างเคียงต่อตนเองและทารกหรือไม่ เราไปดูกันว่า วิธีบล็อกหลังมีกี่แบบ และมีแบบใดบ้าง

 

บล็อกหลังคลอด

บล็อกหลังคลอดลูก มีแบบไหนและมีขั้นตอนอย่างไร

คุณแม่ที่ไม่เคยผ่านการคลอดลูกมาก่อน มักจะกล้า ๆ กลัว ๆ เมื่อได้ยินคำว่าบล็อกหลังคลอดลูก ซึ่งการวางยาชานี้ จะถูกดำเนินการโดยวิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะทำการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง ผ่านเข้าชั้นผิวหนัง เพื่อทำให้บริเวณกลางลำตัวตั้งแต่บั้นเอว ชาไปถึงช่วงล่าง คุณแม่จะยังมีสติ สามารถพูดคุย ตอบโต้กับคนรอบข้างได้ การฉีดยาชาจะทำเมื่อปากมดลูกเปิดออกมาประมาณ 3-4 เซนติเมตร หรือทางการแพทย์เรียกว่าช่วง Active Phase ของการคลอดบุตร ตอนนี้แหละที่มดลูกจะบีบ หด และขยายตัว ทุก ๆ 3-4 นาที

 

1. บล็อกหลังแบบ Epidural

การบล็อกหลังแบบนี้ วิสัญญีแพทย์จะนำหลอดเข็มขนาดเล็ก ฝังเข้าที่ไขสันหลังของคุณแม่ ซึ่งหลอดยาดังกล่าวจะถูกฝังตัวและค่อย ๆ ปล่อยยาชาออกมาอย่างช้า ๆ เข้าสู่ชั้นผิวหนัง คุณแม่จะเกิดอาการชาและไร้ความรู้สึกในที่สุด ซึ่งวิธีการบล็อกหลังแบบ Epidural นี้ เหมาะกับคุณแม่ที่เลือกคลอดแบบธรรมชาติ ที่บังเอิญเกิดความเจ็บปวดระหว่างคลอดจนทนไม่ไหวแล้วขอให้คุณหมอให้ยาชาด่วน

ข้อดี

  • สามารถทำได้ทันทีระหว่างคลอด
  • สามารถทำช่วงใดก็ได้ระหว่างคลอด ถ้าคุณแม่ทนความเจ็บปวดไม่ไหว
  • หลังจากฉีดยาเข้าไขสันหลังแล้ว ยาชาจะออกฤทธิ์หลัง 5-10 นาทีทันที
  • ร่างกายตั้งแต่ช่วงบั้นเอวลงไป จะไร้ความรู้สึกจากการบีบรัดของมดลูกระหว่างคลอด

ข้อเสีย

  • คุณแม่จะไม่มีความรู้สึกในการควบคุมอุ้งเชิงกรานของตนเองได้
  • หากไร้ความรู้สึกมาก ๆ บริเวณอุ้งเชิงกราน แพทย์อาจต้องอาศัยคีมช่วยดึงทารกขณะทำคลอด
  • อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้คือ ร่างกายสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะมาก
  • ถ้าคลอดแล้วแต่ยังมีอาการข้างเคียง คุณแม่ต้องได้รับการรักษาต่อไป

 

2. บล็อกหลังแบบ Spinal Block

การบล็อกหลังคลอดลูกธรรมชาติ และผ่าคลอด อีกวิธีหนึ่งคือ Spinal Block จะเป็นวิธีที่รวดเร็ว โดยแพทย์จะเจาะกระดูกเข้าไขสันหลังฉีดยาชาเข้าไป เพื่อให้ออกฤทธิ์ภายใน 1-2 นาที ซึ่งตั้งแต่บั้นเอวของคุณแม่ลงไปถึงช่วงล่างจะชาทันที เหมาะกับคุณแม่ที่ต้องคลอดด่วน เพราะฤทธิ์ยาจะอยู่ได้เพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น

ข้อดี

  • สำหรับคุณแม่ที่คลอดเร่งด่วน คุณหมอสามารถบล็อกยาเข้าไขสันหลังทันที
  • ยาออกฤทธิ์เร็ว คุณแม่จึงไม่ต้องทนกับความเจ็บปวดนานนัก

ข้อเสีย

  • ยาจะออกฤทธิ์แค่ 2-3 ชั่วโมง ถ้าลูกยังไม่คลอด ร่างกายจะปวดขึ้นเรื่อย ๆ
  • เมื่อกลับมาปวดอีก แพทย์ไม่สามารถบล็อกหลังด้วยยาชาเป็นครั้งที่ 2 ได้อีกแล้ว
  • ปากมดลูกจะบวมมากในคุณแม่บางท่าน
  • คุณแม่จะปวดศีรษะมาก เนื่องจากผลข้างเคียงของการฉีดยาเข้าไขสันหลังที่ต้องแทงในระดับลึกมาก

บทความที่เกี่ยวข้อง: ผ่าคลอด VS คลอดธรรมชาติ ส่งผลกับภูมิต้านทานตั้งต้นอย่างไร

 

3. บล็อกหลังแบบผสม Epidural และ Spinal Block

การบล็อกหลังแบบผสม วิธีนี้แพทย์จะใช้เข็มขนาดใหญ่บรรจุเข็มขนาดเล็กข้างใน แล้วแทงเข้าไปที่กระดูกสันหลัง ซึ่งเข็มเล็ก ๆ จะแทงลงลึกไปตามแนวไขสันหลังที่ค่อย ๆ ปล่อยยาชาเข้าไปแบบ Spinal เพื่อให้ยาออกฤทธิ์เร็ว หากทารกยังไม่คลอดจากมดลูก คุณหมอจะบล็อกหลังอีกครั้งในระดับ Epidural ทางเข็มหลอดใหญ่ โดยไม่ต้องแทงซ้ำเพื่อลดความเจ็บปวดของคุณแม่

ข้อดี

  • การบล็อกแบบผสมคือ ตัวยาออกฤทธิ์เร็ว และมีการฉีดยาเข้าทันทีได้โดยไม่ต้องแทงไขสันหลังซ้ำ

ข้อเสีย

  • คุณแม่จะมีอาการสั่นได้ คันตามเนื้อตัว มีทั้งอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนหลังคลอด

 

การคลอดลูกโดยใช้วิธีบล็อกหลังมีข้อดีอย่างไร

เชื่อว่าคุณแม่ตั้งครรภ์หลายท่าน อาจกำลังหวาดเสียวและกลัวการบล็อกหลัง กับภาพที่ถูกบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ต้องนอนงอหลังแล้วคุณหมอจะค่อย ๆ แทงเข็มบรรจุยาชาผ่านกระดูกเข้าไขสันหลัง แต่ทราบหรือไม่ว่า การบล็อกหลังนั้นก็มีข้อดี เช่น

  • คุณแม่ที่ไม่สามารถทนความเจ็บปวดระหว่างคลอดธรรมชาติได้ สามารถขอให้คุณหมอบล็อกหลังได้ทันที
  • คุณแม่จะรู้สึกตัวตลอดเวลาขณะที่คุณหมอทำคลอด สามารถพูดคุยกับคุณพ่อที่คอยให้กำลังใจข้างเตียงได้
  • ปลอดภัยต่อทารก เนื่องจากร่างกายลูกน้อยจะไม่ถูกกดลมหายใจ จากการดมยาสลบของคุณแม่
  • ระหว่างคุณหมอเย็บแผลผ่าคลอด คุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บเลย

 

การบล็อกหลักคลอด

อาการข้างเคียงจากการบล็อกหลังคลอดลูก

1. อาการเจ็บร้าวลงขา

เนื่องจากการบล็อกหลังจะมีการแทงเข็มขนาดเล็กเข้าที่กระดูกสันหลัง ในระดับเดียวกับบั้นเอว ตรงนี้อาจทำให้เจ็บร้าวตั้งแต่สันหลังลงไปถึงช่วงขา หลังคลอดลูก

 

2. ความดันโลหิตลดลงขณะคลอด

การบล็อกหลังอาจทำให้คุณแม่บางท่านมีความดันเลือดลดลง ส่งผลให้เลือดที่ไปหล่อเลี้ยงมดลูกและรก ลดลงตามไปด้วย หากเข้าขั้นร้ายแรง อาจทำให้ทารกอยู่ในภาวะขาดออกซิเจนจนทำให้หัวใจเต้นช้าลงหรือหยุดเต้น

 

3. มีอาการชาอย่างต่อเนื่อง

ปกติแล้วคุณแม่จะหายจากอาการชาสัก 1 ชั่วโมง แต่สำหรับคุณแม่บางท่านที่ผ่านการบล็อกหลัง แบบผสมอาจต้องใช้เวลานานถึง 2-4 ชั่วโมงจึงจะขยับตัวได้ อีกทั้งไม่สามารถให้นมลูกได้ทันที เนื่องจากร่างกายอ่อนเพลียมาก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ผ่าคลอด

 

4. การขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติ

คุณแม่ที่มีผลข้างเคียงต่อการบล็อกหลังจนชามาก ๆ จะเกิดอาการปัสสาวะไม่ออก ปวดกระเพาะปัสสาวะ หากภายใน 12 ชั่วโมงยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะทำการสวนปัสสาวะทันที

 

5. ปวดหลังอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากหลังของคุณแม่เกิดอาการบอบช้ำที่ไขสันหลัง คุณแม่บางท่านจะมีอาการปวดหลังในช่วง 2 เดือนแรก ถ้านานกว่านั้นต้องพบแพทย์ทันที

บทความที่เกี่ยวข้อง: เมื่อแม่ต้อง บล็อกหลัง ผลข้างเคียง ที่อาจเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง?

การเตรียมตัวก่อนบล็อกหลังคลอดลูก

ปกติแล้วการบล็อกหลังเพื่อทำการผ่าตัดใด ๆ ก็ตาม แพทย์จะต้องเตรียมความพร้อมก่อนกระทำการนี้ ดังนั้นคุณแม่ท้องก็เช่นกัน การปรึกษาคุณหมอบ่อย ๆ ระหว่างตั้งครรภ์เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะคลอดลูกไม่ว่าจะแบบธรรมชาติหรือผ่าคลอดก็ตาม ล้วนมีความสำคัญมาก ซึ่งการเตรียมตัวคลอดลูกแล้วต้องใช้การบล็อกหลังเข้าช่วย ควรปฏิบัติดังนี้

  • หากคุณแม่กินอาหารเสริมหรือสมุนไพรชนิดใดก็ตามควรแจ้งแพทย์ก่อน
  • งดน้ำและอาหารตามแพทย์สั่ง
  • งดแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ก่อนคลอดลูก (จริง ๆ แล้วระหว่างตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มเหล้าและสูบบุหรี่เลย)
  • หากต้องกินยาใด ๆ ก่อนบล็อกหลังควรดื่มน้ำน้อย ๆ ค่อย ๆ จิบ
  • วันคลอดลูก ควรมาก่อนเวลาและพาผู้ติดตามไม่ว่าจะครอบครัวหรือญาติมาด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การบล็อกหลังคลอดลูก ถือเป็นวิธีหนึ่งซึ่งช่วยระงับการเจ็บปวดต่อคุณแม่ขณะคลอด ทั้งนี้แพทย์จะเลือกวิธีอย่างเหมาะสม อาจจะบล็อกหลังหรือใช้การดมยาสลบ โดยประเมินจากสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์ และความเร่งด่วน ความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารก

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

16 เคล็ดลับ ช่วยแม่ท้อง คลอดธรรมชาติ

น้ำคร่ำแตก เป็นอย่างไร มีอาการแบบไหน ใกล้คลอดหรือยังแบบนี้

หลังผ่าคลอด เท้าบวม ทำไงดี? มีวิธีช่วยลดอาการเท้าบวมไหม

ที่มา 1 , 2 , 3

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!