รู้จัก เชื้อเอนเทอโรไวรัส และ สัญญาณโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส
Enterovirus ไม่ใช่เชื้อใหม่ แต่ร้ายแรงกว่าที่คิด มาทำความรู้จัก เชื้อเอนเทอโรไวรัส ต้นเหตุ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส พรากชีวิตเด็กหญิง 3 ขวบ
เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ไม่ใช่เชื้อใหม่ แต่ร้ายแรงกว่าที่คิด มาทำความรู้จักเชื้อเอนเทอโรไวรัส ต้นเหตุโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส
กรณีเด็กหญิงวัย 3 ขวบติดเชื้อไวรัสในอากาศ และเชื้อได้ลงสู่หัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันจนเสียชีวิต เป็นเคสทำให้คนเป็นพ่อแม่ต่างตกใจและเป็นกังวลอย่างมาก เนื่องจากเป็นการสูญเสียที่รวดเร็วและไม่ทันตั้งตัว
จากที่คุณแม่ของน้องโพสต์เล่าอาการ “น้องมีแค่ไข้ต่ำๆ ไม่มีอาการอะไรเลย เช็ดตัวกินยา หายแล้ว อยู่ๆ ชักเกรง ไปโรงบาลทันที ต้องปั๊มหัวใจ ใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ หมอช่วยชีวิตปั๊มหัวใจนานมาก แต่น้อง ไม่กลับมา
หมอให้สาเหตุว่า ติดเชื้อไวรัส ละมันไปที่หัวใจ เลยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน มันไวมากไม่มีสัญญาณอะไรก่อนหน้าเลย หมอบอกไวรัสอยู่ในอากาศ มันโหดร้ายเกินไปไหม“
ต่อมา นายแพทย์ อนุ ทองแดง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า ข้อมูลจากผลเลือด ทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อไวรัสปกติ ทั่วไปในกลุ่มของ ENTEROVIRUS (เอนเทอโรไวรัส) แต่เชื้อได้ลงสู่หัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรงเฉียบพลันจนเสียชีวิต
จากเหตุการณ์นี้อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ยินชื่อ #โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส เป็นครั้งแรก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส เกิดจากเชื้อไวรัสอะไรได้บ้าง เพจพี่กัลนมแม่ ได้เผยแพร่ข้อมูลจาก สมาคมกุมารแพทย์อเมริกา (AAP ปี 2021) ระบุไว้ดังนี้
สารบัญ
20 เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- อะดีโนไวรัส
- อาโบไวรัส
- ชิคุนกุนยา
- ไวรัสเอคโค
- คางทูม
- พาร์โวไวรัส
- เอนเทอโรไวรัส (EV)
- โรคพิษสุนัขบ้า
- ไวรัสตับอักเสบบี
- ไวรัส RSV
- ไวรัสตับอีกเสบซี
- โรคหัด
- เริม
- โรคหัดเยอรมัน
- เอดส์ HIV
- โรคอีสุกอีใส
- ไข้หวัดใหญ่
- โรคฝีดาษ
- ไวรัสโปลิโอ
- โคโรน่าไวรัส (โควิด)
จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เราคุ้นเคย และพบได้ทั่วไป คุณพ่อคุณแม่อาจเป็นกังวลว่าจะป้องกันลูกน้อยอย่างไรไม่ให้เสี่ยงกับโรคนี้ ทางด้านคุณหมอแพม พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ เพจหมอแพมชวนอ่าน ได้อธิบายถึงสาเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็ก ไว้ว่า เชื้อไวรัสคือสาเหตุหลัก
ไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจเกือบทุกตัว ก็มีโอกาสทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้หมด ดังนั้น เราแทบจะป้องกันไม่ให้เหตุมาเกิดกับลูกเราแบบ 100% ไม่ได้เลย
เพราะอย่างไรเสีย เด็กๆ ก็ต้องเจ็บป่วย เป็นหวัด เราก็ป้องกันได้ เท่าที่เราทำได้เท่านั้น
เด็กทุกคน “ต้อง” ติดเชื้อทางเดินหายใจอยู่แล้ว เด็กทุกคนต้องเคยเป็นหวัด
เด็กทุกคนต้องเคยติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ ***แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ทางวิทยาศาสตร์ก็ยังพิสูจน์แน่ชัดไม่ได้ว่ากระบวนการเกิด มันมีความเสี่ยงอะไรบ้าง
รู้แต่เชื้อไวรัสไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งในแต่ละคน ก็ถูกกระตุ้นและตอบสนองได้ไม่เหมือนกัน
มีทั้งส่วนที่ไวรัส ทำร้ายเซลล์หัวใจเราโดยตรง หรือ เกิดจากเมื่อร่างกายติดเชื้อไวรัส
แล้วกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบ สารการอักเสบพวกนี้มาทำร้ายเซลล์หัวใจอีกที
สำหรับเคสนี้ ได้ตรวจพบว่ามาจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส ดังนั้น เรามาทำความรู้จักเชื้อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus Diseases) ให้ดียิ่งขึ้นกันค่ะ
โรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus Diseases) คืออะไร
เชื้อเอนเทอโรไวรัส ไม่ใช่เชื้อใหม่ เป็นกลุ่มของไวรัสที่มีมากกว่า 68 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์สามารถก่อให้เกิดโรคที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่โรคที่ไม่รุนแรง เช่น โรคมือ เท้า ปาก ไปจนถึงโรคร้าย เช่น โรคโปลิโอ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
โรคมือ เท้า ปาก โรคติดเชื้อยอดฮิตในเด็กเล็ก
โรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็กเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง เชื้อไวรัสชนิดนี้มักจะก่อให้เกิดอาการที่หลากหลาย แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรคมือ เท้า ปาก ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงและสามารถหายได้เอง โรคนี้มักระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นและชื้นเอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อ
ระยะฟักตัว 3 – 6 วันหลังได้รับเชื้อ
อาการของโรคมือ เท้า ปาก
- ไข้ ไข้ต่ำถึงปานกลาง เป็นอาการเริ่มแรกที่พบได้บ่อย
- เจ็บในปาก ปากจะเจ็บมากเนื่องจากมีตุ่มพองใสขนาดเล็กเกิดขึ้นที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเพดานปาก
- ผื่น ผื่นแดงหรือตุ่มพองใสจะเกิดขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจลามไปยังก้น หรืออวัยวะเพศ
- อาการอื่นๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หรือปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย
เนื่องจากยังไม่มียาที่รักษาโดยตรง การดูแลลูกน้อยมักจะเน้นไปที่
- การเช็ดตัวลดไข้ร่วมกับการใช้ยาลดไข้ หรือการใช้ยาชาทาบริเวณแผลในปากเพื่อลดอาการเจ็บ
- ในเด็กที่มีอาการรุนแรง เช่น ภาวะขาดน้ำ อาจจำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
- เฝ้าสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
อาการรุนแรงของโรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส
เชื้อเอนเทอโรไวรัสสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในระบบสำคัญของร่างกาย ได้แก่
- ระบบประสาทส่วนกลาง อาจทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน
- ระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต สามารถนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจวายเฉียบพลัน และน้ำท่วมปอดเฉียบพลัน
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส สังเกตอาการอย่างไร
อาการนำของโรคนี้มักจะคล้ายหวัดธรรมดา แต่หลังจากนั้น เด็กอาจแสดงอาการที่หลากหลาย ซึ่งบ่งบอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับหัวใจ เด็กอาจจะมีอาการเช่น
- งอแง ไม่ยอมกินอาหาร เพราะร่างกายอ่อนล้าและไม่มีแรง
- คลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากหัวใจทำงานไม่เต็มที่ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอ
- ซึม ไม่เล่น ร่างกายอ่อนเพลีย
- ไอ หายใจเหนื่อย เพราะหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงปอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ใจสั่น อาจมีหัวใจเต้นเร็ว เต้นช้า หรือเต้นผิดจังหวะ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบ
สำหรับเด็กโต อาจจะสามารถบอกอาการได้ชัดเจนขึ้น เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อย หากอาการดำเนินไปเรื่อยๆ จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เด็กอาจหายใจหอบเหนื่อยมากขึ้น และดูอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด
วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสในเด็ก
อย่างที่บอกไปแล้วว่า เชื้อไวรัสส่วนใหญ่สามารถทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ทั้งนั้น ดังนั้น การดูแลสุขภาพของลูกน้อยให้แข็งแรงและปฏิบัติตามวิธีป้องกันเหล่านี้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสต่างๆ ได้ค่ะ
สร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
- อาหารดีมีประโยชน์ ให้ลูกน้อยกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผักผลไม้สด เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป ลดการบริโภคอาหารแปรรูปที่มีสารกันบูดและวัตถุกันเสีย เพราะอาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น
ป้องกันการติดเชื้อ
- สอนให้ล้างมือ สอนลูกน้อยให้ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น
- ไอ จามถูกวิธี สอนให้ลูกน้อยปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
- ใส่หน้ากากอนามัย ในช่วงที่มีการระบาดของโรค ควรให้ลูกน้อยใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปในที่สาธารณะ
- หยุดเรียนเมื่อป่วย หากลูกน้อยมีอาการป่วย ควรหยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
- ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างระมัดระวัง ยาปฏิชีวนะใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่ไวรัส การใช้ยาปฏิชีวนะบ่อยๆ อาจทำให้เกิดการดื้อยา และทำลายแบคทีเรียดีในลำไส้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน
- ฉีดวัคซีนตามกำหนด การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้หลายชนิด แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสทุกชนิดได้ แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
อย่างไรก็ตาม คุณหมอแพมแนะนำไว้ดีมากว่า ท้ายที่สุดคือ เราต้องให้ลูกได้ใช้ชีวิต เด็กยังต้องป่วยไข้เป็นเรื่องปกติ เดินทางสายกลาง เลี้ยงสะอาดเกินไป ภูมิคุ้มกันในร่างกายก็อ่อนแอ เลี้ยงสกปรกเกินไป ก็เป็นการชักนำให้ลูกติดเชื้อ
หวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้รู้จัก เชื้อเอนเทอโรไวรัส และโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส มากขึ้น และนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปใช้ในการดูแลลูกน้อยให้สุขภาพแข็งแรงและปลอดภัยจากโรคร้ายที่รายล้อมรอบตัวนะคะ
ที่มา : สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว , หมอแพมชวนอ่าน , โรงพยาบาลวิภาวดี
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ควันบุหรี่มือสองในบ้าน ทำร้ายลูก-เมีย เสี่ยงโรคในผู้หญิงและเด็ก
วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก ปี 2567 อัปเดตล่าสุด ลูกน้อยต้องฉีดอะไรบ้าง
ระบาดหนัก! ไวรัส hMPV ทำปอดอักเสบ คล้ายไข้หวัดใหญ่ เด็ก-ผู้สูงอายุต้องระวัง