ผ่านร่างกฎหมาย "พ.ร.บ.ห้ามตีเด็ก" ลงโทษลูก โดยไม่ตี ทำยังไง?

การลงโทษเด็กด้วยการตีเป็นวิธีที่ล้าสมัยและไม่ได้ผล เผยวิธีลงโทษลูกโดยไม่ต้องตี ทำยังไงให้ผลดี เมื่อการตีลูกเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามตีเด็ก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ปัจจุบัน กฎหมายไทยยังคงให้สิทธิพ่อแม่ในการลงโทษบุตรตามสมควร แต่ช่องว่างนี้กลับถูกนำไปใช้ในการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง ต่อมาได้มีการผลักดันให้แก้ไขกม.ดังกล่าว หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.ห้ามตีเด็ก ล่าสุดความหวังใกล้เป็นจริงแล้วค่ะ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรโหวตผ่านร่างกฎหมายห้ามตีเด็กวาระสาม เตรียมส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 นี้

เปิดไทม์ไลน์ พ.ร.บ.ห้ามตีเด็ก

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2478 เคยให้สิทธิพ่อแม่ในการลงโทษบุตร “ตามสมควร” เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่าการลงโทษ “ตามสมควร” นั้นหมายถึงอะไร ทำให้พ่อแม่สามารถตีหรือทำร้ายร่างกายลูกได้โดยไม่ผิดกฎหมายตราบเท่าที่ตนเองคิดว่าเป็นการลงโทษที่เหมาะสม
  • แม้ในปีพ.ศ. 2519 ได้มีการชำระปรับปรุง แต่ก็ไม่มีการแก้ไขมาตราดังกล่าว
  • ต่อมา 4 ตุลาคม 2566 เวลาผ่านไปถึง 88 ปีกว่าจะมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและองค์กรต่างๆ ได้ร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองเด็กและสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อแก้ไข มาตรา 1567 (2) พ่อแม่ยังคงมีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควรได้ แต่ต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษด้วยวิธีด้อยค่า
  • ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกนำเข้าสภา และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการอภิปรายถึงความสำคัญของการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษเด็ก โดยเน้นย้ำถึงผลกระทบทางลบที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงกับเด็ก ดังนี้

ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การตีหรือทำร้ายร่างกายเด็กส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก และการควบคุมตนเอง การถูกทำร้ายบ่อยครั้งจะทำให้เด็กมีความเครียดเรื้อรัง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า และพฤติกรรมก้าวร้าวในอนาคต

“เด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยความรุนแรงมักจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรง เราต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีการเลี้ยงลูกของเรา การอบรมสั่งสอนลูกควรทำด้วยความรัก ความเข้าใจ และการอดทนอดกลั้น ไม่ใช่การใช้กำลัง”

การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องสิทธิของเด็ก และส่งเสริมให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงดูลูกด้วยวิธีที่เหมาะสม การเลี้ยงลูกโดยไม่ใช้ความรุนแรงไม่เพียงแต่จะช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตที่ดี แต่ยังเป็นการสร้างสังคมที่สงบสุขและน่าอยู่มากขึ้นด้วย

  • ล่าสุด 30 ตุลาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ไม่ตีเด็ก วาระสาม ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อสามวาระในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ที่จะถึงนี้ โดยมีการตัดข้อความไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษด้วยวิธีด้อยค่าออก เปลี่ยนเป็น หรือกระทำโดยมิชอบ

[มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ] (2) ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม หรือกระทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ

พ.ร.บ. ไม่ตีเด็ก จึงถือเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยในการปกป้องสิทธิเด็กและส่งเสริมการเลี้ยงดูลูกด้วยวิธีที่เหมาะสม โดยกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กต้องเผชิญกับความรุนแรงทั้งทางกายและจิตใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและคุณภาพชีวิตของเด็กในระยะยาว

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ยกเลิกการลงโทษนักเรียนด้วยไม้เรียว

ก่อนหน้านี้ในปีพ.ศ.2543 ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2543 ได้ออกระเบียบการลงโทษใหม่ยกเลิกการใช้ไม้เรียว ครูบาอาจารย์ ไม่สามารถลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา โดยการตีหรือเฆี่ยนได้ สุภาษิต “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” จึงยังใช้ได้กับเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองเท่านั้น

 

สุภาษิต รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ยังใช้ได้อยู่ไหม?

ครอบครัวไทยเคยชินกับการลงโทษเด็กด้วยไม้เรียวมาตลอด ทั้งในบ้านและในโรงเรียน แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป วิธีการเลี้ยงลูกก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงเป็นวิธีที่ล้าสมัยและไม่ได้ผล เราควรหันมาใช้หลักการเลี้ยงลูกเชิงบวก ซึ่งเน้นการสื่อสาร การให้เหตุผล และการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้โดยไม่ต้องถูกตี

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยชี้ชัดว่า การใช้ความรุนแรง เช่น การตี จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจและกลัวที่จะแสดงออก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของสมองส่วนหน้า หรือ Executive Functions (EF) ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ส่งผลให้สมองส่วนหน้าของเด็กของเด็กไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ฝึกควบคุมตัวเองและอาจทำให้เด็กมีปัญหาทางพฤติกรรมตามมาในอนาคตได้

ทั้งที่ในความจริงแล้ว เด็กมีศักยภาพในการควบคุมตัวเองและอารมณ์ได้ตั้งแต่ยังเล็ก หากพ่อแม่เปลี่ยนจากการตี มาใช้วิธีเลี้ยงลูกเชิงบวก เด็กเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากว่า เช่น เมื่อเด็กอยากได้ของเล่น แต่เราไม่สามารถให้ได้ การบอกปฏิเสธอย่างนิ่งๆ พร้อมทั้งอยู่เคียงข้างให้กำลังใจ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะยอมรับความรู้สึกผิดหวังและค่อยๆ สงบลงเอง

การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงนั้นส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในหลายด้านอย่างรุนแรง และมีผลกระทบระยะยาวที่อาจตามมาได้ตลอดชีวิต ดังนี้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

รักวัวให้ผูก รักลูกอย่าตี

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก The Lancet ได้ทำการศึกษาผลกระทบระยะยาวของการลงโทษทางร่างกายต่อเด็กในหลายประเทศ พบว่าการตีลูกนั้นส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเพศไหน เชื้อชาติใด หรือมีพื้นฐานครอบครัวแบบใดก็ตาม

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • ยิ่งตีมาก ยิ่งมีปัญหา เด็กที่ถูกตีมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย และมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์มากขึ้นเมื่อโตขึ้น
  • ผลเสียสะสม การตีเพียงครั้งเดียวก็ส่งผลเสียต่อเด็กได้ และยิ่งถูกตีบ่อยเท่าไหร่ ผลกระทบก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
  • ไม่มีผลดี การศึกษาไม่พบหลักฐานใดๆ ที่สนับสนุนว่าการตีจะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น
  • เสี่ยงต่อการเข้าสู่ระบบคุ้มครองเด็ก ในหลายประเทศที่มีระบบคุ้มครองเด็กเข้มแข็ง การตีลูกอาจนำไปสู่การเข้าแทรกแซงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สรุปได้ว่า การตีลูกเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อเด็กในระยะยาว และไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น การเลี้ยงลูกด้วยความรัก ความเข้าใจ และการสื่อสารที่ดี จะเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก

นอกจากนี้ การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงยังขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่ดีและได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรง การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กอย่างร้ายแรง

เลี้ยงลูกเชิงบวก วิธีการลงโทษลูกโดยไม่ตี

พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์ ได้แนะนำวิธีลงโทษลูกที่เรียกว่า Logical Consequence ซึ่งเป็นวิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกวิธีหนึ่ง ที่เน้นการสอนให้ลูกเรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยไม่ต้องพึ่งพาความรุนแรงหรือการลงโทษที่รุนแรงเกินไป วิธีนี้จะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง

ง่ายๆ เลยก็คือ การให้ลูกได้เรียนรู้จากผลของการกระทำของตัวเองนั่นเอง เช่น ลูกทำผิดกฎที่ตั้งไว้ พ่อแม่ก็จะให้ลูกได้รับผลที่ตามมาจากการกระทำนั้นๆ โดยที่ผลลัพธ์ที่ได้จะต้องสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ลูกทำไป

ยกตัวอย่างเช่น

  • สถานการณ์ แม่บอกลูกว่าห้ามขี่จักรยานออกนอกหมู่บ้าน แต่ลูกก็ยังแอบขี่ไป
  • Logical Consequence แม่จะเก็บจักรยานของลูกไป 1 วัน เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าการฝ่าฝืนกฎจะทำให้เสียสิทธิ์บางอย่าง

หลักการสำคัญของ Logical Consequence มี 3 ข้อ

  1. Related (สัมพันธ์) บทลงโทษต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ถ้าลูกไม่ทำการบ้าน ก็อาจจะไม่ได้ดูการ์ตูน
  2. Respectful (เคารพ) การลงโทษต้องกระทำด้วยความสงบ ไม่ใช้อารมณ์โกรธ และให้ความรู้สึกว่าเราต้องการให้ลูกเข้าใจมากกว่าที่จะลงโทษ
  3. Reasonable (สมเหตุสมผล) บทลงโทษต้องมีความเหมาะสมกับอายุและความผิดของลูก ไม่รุนแรงเกินไป และไม่นานเกินไป

ทำไม Logical Consequence ถึงสำคัญ?

  • สอนให้ลูกรับผิดชอบ เมื่อลูกต้องรับผิดชอบผลของการกระทำของตัวเอง ลูกจะเรียนรู้ที่จะคิดก่อนตัดสินใจ
  • สร้างความเข้าใจ การให้เหตุผลและอธิบายผลของการกระทำจะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าทำไมต้องได้รับบทลงโทษ
  • สร้างความสัมพันธ์ที่ดี การใช้ Logical Consequence จะช่วยให้พ่อแม่และลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้อารมณ์
  • ลดพฤติกรรมซ้ำ เมื่อลูกได้เรียนรู้จากผลของการกระทำแล้ว ลูกจะไม่ทำผิดซ้ำอีก

ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่เริ่มต้นตั้งแต่ลูกยังเล็ก เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับวิธีการนี้ และใช้อย่างสม่ำเสมอจะทำให้ลูกเข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น รวมถึงควรปรับเปลี่ยนบทลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติกรรมและอายุของลูก โดยหลังจากได้รับบทลงโทษแล้ว ควรให้โอกาสลูกได้แก้ไขและเริ่มต้นใหม่ด้วย

ที่มา: workpoint today , ilaw , thaipbs , เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ , thaipbskids

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

วิจัยชี้! พ่อแม่จู้จี้ (แต่ไม่ขี้บ่น) อาจเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของลูกสาว!

7 พฤติกรรมของพ่อแม่ ที่ทำให้ลูกก้าวร้าว !

ทำไมเด็กไทยพบจิตแพทย์เพิ่มขึ้น หรือ “พ่อแม่ Toxic” มีส่วนทำลูกจิตป่วย?