โรคปอดบวมคืออะไร?
โรคปอดบวม หรือโรคปอดอักเสบติดเชื้อ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ ได้ทั้ง ไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา เกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทำให้ร่างกายมีปฏิกริยาทำลายเชื้อโรค มีการอักเสบ ซึ่งส่งผลให้เซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของปอดบวมและมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อเชื้อโรคถูกกำจัดจะเกิดปฏิกริยาของร่างกายทำให้มีของเหลวอยู่ในถุงลมของปอด ทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจเหนื่อยได้
อาการของโรคปอดบวมมีอะไรบ้าง?
ผู้ป่วยโรคปอดบวมจะมีอาการ ไข้ ไอ หายใจเร็วกว่าปกติ และหอบเหนื่อย โดยช่วงแรกอาจมีอาการไข้ต่ำ ๆ ไอนิด ๆ หน่อย ๆ คล้ายกับเป็นไข้หวัดธรรมดา ต่อมาจึงมีอาการไอมากขึ้นจนเหนื่อย และหายใจเร็วผิดปกติ
คุณพ่อคุณแม่สามารถนับอัตราการหายใจของลูกได้ โดยนับ การหายใจเข้าและออกเป็น 1 ครั้ง นับให้ครบ 1 นาที อัตราการหายใจปกติตามอายุเด็กเป็นดังนี้ค่ะ
อายุน้อยกว่า 2 เดือน หายใจ ไม่เกิน 60 ครั้ง ต่อ นาที
อายุ 2 เดือน ถึง 1 ปี หายใจ ไม่เกิน 50 ครั้ง ต่อ นาที
อายุ 1 ปีขึ้นไป ถึง 5 ปี หายใจ ไม่เกิน 40 ครั้ง ต่อ นาที
หากมีการหายใจที่เร็วกว่านี้ ถือว่าผิดปกติ โดยขณะที่นับเด็กควรจะสงบ ไม่ร้องดิ้นหรือกลั้นหายใจ ถ้ามีอาการหายใจและชายโครงบุ๋มหรือมีเสียงดังร่วมด้วยแสดงว่ามีอาการมาก
ทั้งนี้ ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกมีอาการหอบเหนื่อยหรือไม่ก็ควรรีบมาพบคุณหมอเพื่อประเมินอาการนะคะ
ลูกติดเชื้อโรคปอดบวมมาได้อย่างไร?
เนื่องจากโรคปอดบวมเป็นโรคติดต่อของระบบทางเดินหายใจ การติดต่อจึงเหมือนกับไข้หวัดธรรมดา จะเกิดขึ้นตอนที่ผู้ป่วยไอ-จาม แล้วลูกได้หายใจเอาเชื้อโรคเข้าไปในปอดโดยตรง โดยเฉพาะในบริเวณที่สาธารณะมีคนอยู่มาก ๆ
รวมทั้งโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ ลูกได้เข้าไปคลุกคลีใกล้ชิด สัมผัสเพื่อน ๆ หรือผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคปอดบวมโดยไม่รู้ตัว จึงเป็นสาเหตุให้โรคนี้ติดกันง่ายโดยเฉพาะในเด็ก ๆ
หากลูกเป็นโรคปอดบวมควรทำอย่างไร?
หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคปอดบวม คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบคุณหมอเพื่อประเมินอาการและความรุนแรงของโรคทันทีนะคะ ถ้าคุณหมอตรวจแล้วว่ามีอาการไม่รุนแรงก็จะให้ยามาทานและดูอาการที่บ้าน โดย ดื่มน้ำเยอะ ๆ ทานอาหารให้เพียงพอ พักผ่อนมาก ๆ แต่หากลูกมีอาการหายใจเหนื่อยมากขึ้น ซึม ไข้สูง ทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ ก็ควรรีบกลับไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลค่ะ
เราจะสามารถป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคปอดบวมได้อย่างไร?
คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันลูกจากการเป็นโรคนี้ได้โดยหลีกเลี่ยงการพาลูกไปยังสิ่งแวดล้อมที่มีคนหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ควรสอนให้ลูกหลีกเลี่ยงการไปใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือเพื่อนที่มีอาการไอ-จาม สอนลูกให้รู้จักการล้างมือที่ถูกต้อง นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปรับวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ นิวโมคอคคัส และ ฮิบ ได้ โดยอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนเหล่านี้ได้ในบทความเรื่อง “มารู้จักวัคซีนเสริมสำหรับเด็กกันดีกว่า” ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 ที่หมอเคยเขียนไว้ค่ะ
ลูกมีอาการคันตามากเกิดจากเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ได้หรือไม่?
5 อาการป่วยของลูกที่ยังไม่ต้องรีบไปพบคุณหมอ