อย่าละเลย! 9 อาการระหว่างตั้งครรภ์ ลูกอาจเสี่ยงอันตรายถ้าไม่เช็ก

ร่างกายคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ มีอาการหลายอย่างที่เป็นสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพครรภ์ได้ อย่าละเลยนะคะ มาเช็กไปพร้อมกัน
ร่างกายของคุณแม่ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ซึ่งมักเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แปลกใหม่ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ค่ะ แน่นอนว่าแม่ตั้งครรภ์เองทราบดีอยู่แล้วว่า ความรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว รวมถึงผลข้างเคียงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติที่พบเจอได้ในแม่ท้องทุกคน แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกนะคะที่คุณแม่บางคนจะมีคำถามว่า อาการที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์นั้นดีหรือไม่ดียังไง? เป็นภาวะปกติหรือเป็นสัญญาบ่งบอกปัญหาครรภ์ที่ต้องกังวล บทความนี้จะชวนคุณแม่มาเช็ก! 9 อาการระหว่างตั้งครรภ์ ที่ควรใส่ใจ หมั่นสังเกต และไม่ควรละเลยค่ะ
▼สารบัญ
9 อาการระหว่างตั้งครรภ์ สัญญาณที่แม่ท้องไม่ควรละเลย
ในช่วงตั้งครรภ์มีอาการไม่สบายบางอย่างที่เป็นเรื่องปกติ แต่ก็มีสัญญาณบางอย่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรละเลยค่ะ เพราะอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้ ต่อไปนี้คือ 9 อาการระหว่างตั้งครรภ์ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรให้ความสนใจ และเช็ก! อาการตัวเองให้ดีค่ะ
-
มีอาการบวมอย่างกะทันหัน หรือรุนแรง
อาการบวมบางอย่างในระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติมากค่ะ ซึ่งสิ่งที่คุณแม่อาจสังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ อาการเท้าบวม หรือข้อเท้าบวม นั่นเอง เป็นเพราะร่างกายแม่ท้องผลิตเลือดและของเหลวในร่างกายมากกว่าปกติประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย โดยคุณแม่ที่มีอาการเท้าบวมอาจใช้วิธีนอนลงและยกเท้าให้สูงกว่าหัวใจ จะช่วยลดอาการได้ค่ะ อย่างไรก็ตาม มีอาการบวมบางอย่างที่คุณแม่ไม่ควรละเลย ได้แก่
- อาการบวมอย่างกะทันหันหรือรุนแรง
โดยเฉพาะที่มือ ใบหน้า ขา ข้อเท้า หรือเท้า ในช่วงปลายไตรมาสที่สอง หรือระหว่างไตรมาสที่สาม คุณแม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ทันทีนะคะ เพราะอาการกะทันหันนี้อาจเป็นสัญญาณของ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขั้นอันตรายในระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ
- บวมพร้อมกับรอยแดงและอาการปวด
หรือบวมที่ขาข้างเดียว อาจเป็นสัญญาณของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่อันตรายมาก โดยลิ่มเลือดประเภทนี้สามารถเดินทางไปยังปอดและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น หากเกต อาการระหว่างตั้งครรภ์ แบบนี้ให้รีบพบแพทย์ทันทีค่ะ
-
อาการระหว่างตั้งครรภ์ ปวดหัวอย่างรุนแรง
ในช่วงไตรมาสแรก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจกระตุ้นอาการปวดหัวของแม่ท้องได้ค่ะ รวมถึงในบางกรณีที่การนอนหลับของคุณแม่ไม่ดีนัก ก็ทำให้เกิดอาการปวดหัวในภายหลังได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็น อาการระหว่างตั้งครรภ์ ที่ค่อนข้างสร้างความรำคาญให้คุณแม่พอสมควร ซึ่งโดยทั่วไปเป็นภาวะที่รักษาได้อย่างปลอดภัยด้วยยาแก้ปวดประเภทพาราเซตามอลทั่วไปค่ะ แต่ในกรณีที่กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือปวดในลักษณะที่เปลี่ยนไปจากเดิม ปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์อาจบ่งบอกถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ ที่เกี่ยวพันถึงภาวะความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้น ควรพบแพทย์ทันทีเมื่อคุณแม่มีอาการปวดหัวร่วมกับความสามารถในการพูดหรือการมองเห็นเปลี่ยนไป รู้สึกไวต่อแสง ร่างกายอ่อนแรง มีไข้ หรือปวดหัวจนนอนไม่หลับ
-
มีเลือดออกหรือมีจุดเลือด
คุณแม่ตั้งครรภ์มากถึง 25 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการเลือดออกหรือมีจุดเลือดออกค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสแรก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักไม่ถือว่าเป็นอันตราย เช่น
- เมื่อตัวอ่อนฝังตัวในมดลูก (เลือดออกจากการฝังตัว)
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- การมีจุดเลือดออกหลังการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากปากมดลูกนิ่มเป็นพิเศษ
แต่ไม่ใช่ว่าจะมองข้ามการมีจุดเลือดออกไปได้นะคะ คุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องบอกแพทย์ถึงอาการที่เกิดขึ้น เพราะอย่างไรก็ตามภาวะเลือดออกหรือมีจุดเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ควรได้รับการประเมินจากแพทย์เสมอค่ะ เนื่องจากในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ การมีเลือดออกอาจเป็นสัญญาณของการแท้ง หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก เช่น ในท่อนำไข่ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษา และในระหว่างการตั้งครรภ์การมีเลือดออกอาจบ่งบอกถึงการคลอดก่อนกำหนดหรือปัญหาเกี่ยวกับรกได้ด้วยค่ะ โดยเฉพาะหากเลือดออกด้วยภาวะต่อไปนี้
- เลือดไหลมาก
- มีอาการปวดท้องหรืออุ้งเชิงกรานร่วมด้วย
- ปวดเกร็ง
- รู้สึกวิงเวียนศีรษะ
-
มีไข้
การมีไข้ในช่วงตั้งครรภ์ เป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องให้ความใส่ใจทันทีค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสแรก ที่อาการไข้อาจเกี่ยวข้องไปถึงความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ เช่น กระดูกสันหลังโหว่ ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ หรือปากแหว่งเพดานโหว่ ยิ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายต่อทารก หรือเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ ทั้งนี้ ในระหว่างตั้งครรภ์ อุณหภูมิร่างกายที่สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ถือว่าเป็นไข้ค่ะ และหากมีไข้สูงกว่า 38.8 องศาเซลเซียส คุณแม่ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างเร่งด่วนค่ะ
-
ปัสสาวะแสบขัด
ปัสสาวะแสบขัด อาจเป็น อาการระหว่างตั้งครรภ์ ที่เกิดกับคุณแม่ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และนำไปสู่การติดเชื้อที่ไตได้หากไม่ได้รับการรักษา หากคุณแม่มีอาการปัสสาวะแล้วแสบ เจ็บขัด หรือมีเลือดในปัสสาวะ ควรได้รับการรักษาทันที เนื่องจากหากเกิดการติดเชื้อที่ไตในการตั้งครรภ์ ไตอักเสบ จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด การติดเชื้อในกระแสเลือด ไปจนถึงเกิดภาวะไตวาย โดยคุณแม่อาจเช็กสัญญาณของอาการไตอักเสบ ที่เกิดพร้อมปัสสาวะแสบขัดได้ดังนี้
- มีไข้
- ปวดหลัง
- หนาวสั่น
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
-
รู้สึกหายใจลำบาก
การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในช่วงตั้งครรภ์ทำให้คุณแม่ต้องสูดหายใจลึกขึ้นเพื่อรับอากาศเข้าไป ยิ่งเมื่อท้องโตขึ้น ลูกน้อยจะกดกะบังลม ทำให้การหายใจเข้ายากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นเรื่องปกติค่ะ แต่เมื่อไรก็ตามคุณแม่รู้สึกว่าหายใจลำบากขั้นรุนแรง หรือมีอาการปวด ไอ หายใจมีเสียงหวีด ใจสั่น หรือหากอาการแย่ลงอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะในขณะพักผ่อนให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขอย่างเหมาะสมค่ะ
-
น้ำหนักขึ้นพรวดพราด อาการระหว่างตั้งครรภ์ ที่เกิดกะทันหัน
สภาพร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละคนไม่เหมือนกันค่ะ รูปแบบการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวก็เช่นกัน โดยทั่วไปคุณแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 400-500 กรัมต่อสัปดาห์ ในช่วงไตรมาสที่สองและสาม รวมเป็น 11-15 กิโลกรัมตลอด 9 เดือนของการตั้งครรภ์
แต่หากน้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วมากอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาสที่สอง หรือระหว่างไตรมาสที่สาม อาจเกิดจากการกักเก็บน้ำ และอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ด้วยค่ะ เนื่องจากหลอดเลือดมีความเสียหายทำให้มีน้ำรั่วไหลเข้าไปในเนื้อเยื่อมากขึ้นและคงอยู่ในเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดการเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากคุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มมากกว่า 1.5-2.5 กิโลกรัมภายในหนึ่งสัปดาห์ หรือมีภาวะความดันโลหิตสูง คลื่นไส้ ปวดหัว และเวียนศีรษะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็กภาวะครรภ์เป็นพิษค่ะ
-
คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกซึมเศร้า
จริงๆ แล้วอารมณ์คุณแม่จะสวิงอย่างที่สุดค่ะในช่วงตั้งครรภ์ เพราะชีวิตต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ทั้งฮอร์โมน รูปร่าง อาการแพ้ท้อง รวมถึงความรู้สึกเศร้าเป็นครั้งคราวระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือคุณแม่ต้องใส่ใจโดยเฉพาะหากมีอาการเหล่านี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- อารมณ์ซึมเศร้าเกือบทั้งวัน เกือบทุกวัน
- หมดความสนใจในการทำงานหรือกิจกรรมอื่นๆ
- รู้สึกผิด เศร้า หดหู่ หรือไร้ค่า
- นอนมากเกินไป หรือมีปัญหาในการนอนหลับ
- เหนื่อยล้าตลอดเวลา หรือรู้สึกว่าร่างกายไร้พลังงาน
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือความอยากอาหารเพิ่มขึ้น และน้ำหนักเพิ่มขึ้น
- มีปัญหาในการจัดการอารมณ์ สมาธิ หรือการตัดสินใจ
- กระสับกระส่ายอย่างเห็นได้ชัด
- คิดถึงความตาย หรือการทำร้ายตัวเอง
อาการระหว่างตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ อาจบ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้าก่อนคลอด ซึ่งเป็นภาวะที่ร้ายแรงแต่รักษาได้ โดยเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อคุณแม่ประมาณ 1 ใน 10 คน ดังนั้น หากสังเกตเห็นสัญญาณเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ด้วยค่ะ
-
รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ลดลง
การเตะและการกลิ้งเล็กๆ น้อยๆ ของทารก ไม่ได้เป็นเพียงช่วงเวลาที่น่ารักและแสนพิเศษสำหรับคุณแม่เท่านั้น แต่ยังเป็นการบ่งบอกว่าลูกน้อยในครรภ์แข็งแรงและสบายดีด้วย อย่างไรก็ตาม ทารกในครรภ์สามารถนอนหลับได้นานถึง 40 นาทีต่อครั้ง ดังนั้น คุณแม่จึงไม่ควรรอให้มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สามหากกังวลว่าทารกไม่ได้เคลื่อนไหวมากเท่าปกติ แนะนำให้คุณแม่กินอะไรหวานๆ หรือเครื่องดื่มเย็นๆ เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลูกน้อยค่ะ
หรือนอนตะแคงซ้าย เดินไปมาสัก 5 นาที จากนั้นลองนับการดิ้นของทารกในครรภ์ หากการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นเป็นปกติก็สบายใจได้ แต่กรณีที่ผ่านไป 2 ชั่วโมง รู้สึกถึงการดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง ให้ติดต่อแพทย์ค่ะเพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียดค่ะ
การแยกให้ออกระหว่าง อาการตั้งครรภ์ปกติ และสัญญาณเตือนการตั้งครรภ์ที่ต้องให้ความสนใจ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายก็จริงค่ะ แต่อยากให้คุณแม่จำไว้ว่า คนที่รู้จักร่างกายคุณแม่ดีที่สุดก็คือตัวเอง ดังนั้น หากอาการรู้สึกรุนแรง ต่อเนื่อง หรือกังวลว่ามีความผิดปกติ อย่าลังเลที่จะรีบไปพบแพทย์นะคะ
ที่มา : www.thebump.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
7 โรคหน้าร้อนที่แม่ท้องต้องระวัง ! ดูแลยังไง? ให้ครรภ์ปลอดภัยในฤดูร้อน
12 เรื่องควรรู้ ! สำหรับคุณแม่ ตั้งครรภ์ท้องที่ 2 ท้องนี้มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง
แพ้ท้องกี่เดือนหาย อาการจะดีขึ้นเมื่อไหร่? รับมือยังไง แพ้ท้องแบบไหนต้องระวัง?