คุณแม่เคยสังเกตสีอุจจาระทารกไหม ว่าแต่ละสีนั้นบ่งบอกอะไร การสังเกตการขับถ่ายอุจจาระของลูก สามารถบ่งบอกถึงสุขภาพของพวกเขาได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร ไม่ว่าจะเกิดจากการรับประทานนมแม่ นมผง หรืออาหารบางชนิด วันนี้ theAsianparent จะพามาเรียนรู้กันว่าอึของทารกแต่ละสีบ่งบอกถึงสุขภาพของลูกได้อย่างไร ลูกมีอุจจาระผิดปกติ สังเกตได้จากสีไหน ไปติดตามกันเลย
ความสำคัญของสีอุจจาระทารก
สีอุจจาระทารกมักเกี่ยวข้องกับอาหารที่ลูกกินเข้าไป เช่น ทารกที่กินนมจะมีอุจจาระสีเหลือง หรือทารกที่เริ่มกินอาหาร จะมีอุจจาระสีเขียวจากผักหรือผลไม้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสีอุจจาระของลูกจะเกิดจากสิ่งที่กินเข้าไปเท่านั้น เพราะเมื่อลูกป่วยหรือติดในร่างกาย สีอุจจาระก็สามารถบ่งบอกความผิดปกติเหล่านั้นได้ เช่น หากลูกอุจจาระเป็นสีแดง อาจแปลว่าลูกมีเลือดออกในลำไส้ หรือหากอุจจาระของลูกเป็นสีซีด อาจหมายถึงตับและถุงน้ำดีมีปัญหา เป็นต้น
สีอุจจาระทารกที่ปกติ เป็นอย่างไร
อุจจาระของทารกที่กินนมแม่หรือนมผงจะมีลักษณะนิ่มเหลว มีสีเหลืองนวลคล้ายกับสีคัสตาร์ด แต่บางครั้งก็มีลักษณะเหนียวข้นคล้ายกับเนยถั่ว ส่วนทารกที่เริ่มกินอาหารแล้ว อุจจาระจะเริ่มมีความแข็ง จับตัวเป็นก้อน เริ่มคล้ายกับอุจจาระของผู้ใหญ่ ส่วนสีอุจจาระจะมีลักษณะสีเหลือง เขียว หรือส้ม ขึ้นอยู่กับอาหารการกินของลูก
ลูกมีอุจจาระผิดปกติ แต่ละสีบอกอะไรบ้าง
เรื่องการขับถ่ายของเด็กทารกนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำคุณแม่มือใหม่หลายท่านกังวลใจอย่างมาก เพราะการที่สีอุจจาระของลูกมีการเปลี่ยนไปมาตั้งแต่แรกเกิด อาจเป็นเรื่องที่คุณแม่ไม่รู้มาก่อนเลยว่า เวลาที่ลูกน้อยอึออกมานั้น สีแบบไหนปกติ หรือไม่ปกติ และสีอุจจาระของลูก แต่ละสีบอกอะไรบ้าง เรามาเรียนรู้ และสังเกตกันว่า สีอึของทารก สีแบบไหนบ่งบอกอะไรต่อสุขภาพของลูกบ้าง
-
สีอุจจาระเป็นสีคล้ำ
อุจจาระทารกสีคล้ำ สีเขียวเข้มในช่วงแรกคลอด มีลักษณะเหนียวคล้ายยางมะตอย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ขี้เทา แบบนี้เป็นอาการปกติของทารกแรกคลอด ซึ่งตามธรรมชาติแล้ว ทารกจะอึออกมาภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเลย 24 ชั่วโมงไปแล้วลูกยังไม่ขับถ่ายขี้เทาออกมา แบบนี้ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจเป็นอาการลำไส้อุดตันได้ ต้องรีบแจ้งคุณหมอโดยเร็ว
-
สีอุจจาระเป็นสีเหลือง
อุจจาระทารกสีเหลืองอร่าม หรือเหลืองมัสตาร์ด สีแบบนี้เป็นลักษณะของอึทารกที่คลอดออกมาแล้วประมาณ 3-4 วัน โดยอึของลูกจะมีลักษณะเหลว และในช่วงนี้ลูกจะอึประมาณ 6-10 ครั้งในหนึ่งวัน หรือทุกครั้งหลังจากกินนมแม่ แต่สำหรับเด็กบางคนอาจจะไม่อึอยู่เป็นอาทิตย์ก็มี อย่างไรก็ตามสีอึทารกแบบนี้ถือว่าเป็นอาการปกติ
-
สีอุจจาระเป็นสีเขียวน้ำตาล
เมื่อลูกเริ่มกินอาหารแข็งได้แล้ว สีอึของลูกอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอาหารที่ลูกกิน บางครั้งคุณแม่อาจเห็นว่าสีของอึลูกอาจจะมีสีส้มหรือสีเขียวเหลือง ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน
-
สีอุจจาระเป็นสีเขียวเข้ม
อุจจาระของลูกที่มีสีเขียวเข้ม และมีลักษณะข้นเหนียวนั้น ถือว่าปกติ โดยอาจเกิดจากการที่คุณแม่กินผักใบเขียวในช่วงให้นมลูก หรืออาจเกิดจากการที่คุณแม่กินอาหารที่มีธาตุเหล็กเข้าไป ทำให้อึของลูกมีสีเขียวเข้มนั่นเอง
สีอุจจาระทารกที่ควรต้องรีบไปพบแพทย์
ปกติแล้วสีอุจจาระทารกในแต่ละวันจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่หากลูกมีอุจจาระเป็นสีที่แปลกไป ก็อาจเป็นอุจจาระที่ผิดปกติได้ หากลูกมีสีอุจจาระดังต่อไปนี้ คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที
-
สีอุจจาระเป็นสีแดง
อุจจาระของทารกโดยปกติแล้วไม่ควรเป็นสีแดง การที่อึของลูกเป็นสีแดงนั้น อาจเพราะมีเลือดปนมากับอึของลูก อาการเช่นนี้อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของลำไส้ หรือท้องเดินชนิดรุนแรง หรืออาจเกิดจากแผลบริเวณทวารหนัก เนื่องจากท้องผูก หรืออึเป็นก้อนแข็งมากก็เลยขูดบริเวณทวารหนักของทารกจนเลือดออกได้ นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับอาการแพ้นม คุณแม่จึงควรพาลูกไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
-
สีอุจจาระเป็นสีขาวซีด
หากอุจจาระของลูกเป็นสีขาวซีด อาจเกิดจากความผิดปกติของตับ หรือถุงน้ำดี และระบบย่อยอาหาร ซึ่งถือเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่ง ที่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป
-
สีอุจจาระเป็นสีดำ
หากอุจจาระของลูกเป็นสีดำหลังจากหมดขี้เทาแล้ว หรือหากอึของลูกเป็นสีดำคล้ำกว่าปกติ โดยอาจมีมูกเลือดติดออกมาด้วย อาการแบบนี้อาจเกิดจากระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี หรืออาจมีสาเหตุมาจากเลือดออกในทางเดินอาหาร รวมทั้งอาจเกิดลูกได้รับธาตุเหล็กที่มากเกินไป ซึ่งควรต้องรีบพาไปพบคุณหมอเช็กอาการให้เร็วที่สุด
ลักษณะอุจจาระของทารกที่กินนมแม่และนมผง
อย่างที่รู้กันว่า เรื่องของอาหารการกินส่งผลต่อสีและลักษณะของอุจจาระทารก เด็กที่กินนมแม่และนมผง หรือกินทั้งนมแม่และนมผงก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน เรามาดูว่าลักษณะอุจจาระของทารกที่กินนมแม่และนมผงต่างกันอย่างไรบ้าง
-
อุจจาระของทารกที่กินนมแม่
โดยทั่วไปแล้ว สีอุจจาระทารกที่กินนมแม่จะมีสีเหลืองคล้ายฟักทอง แต่ก็อาจมีสีอื่น ๆ ด้วย เช่น สีเหลืองปนเขียว สีเหลืองทอง หรือน้ำตาลปนเขียว ขึ้นอยู่กับอาหารการกินของคุณแม่ เพราะส่งผลโดยตรงกับน้ำนมที่ลูกกิน คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตสีอุจจาระทารกอยู่บ่อย ๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงตามอาหารการกินด้วยหรือไม่ ส่วนลักษณะของอุจจาระของทารกที่กินนมแม่นั้น อาจจะมีลักษณะเหลว ๆ ไม่เป็นก้อน แต่เมื่อลูกอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป ก็จะเริ่มเป็นเนื้อ มีความเหนียวคล้ายกับยาสีฟันมากขึ้น
ส่วนกลิ่นของอุจจาระทารกที่กินนมแม่ จะไม่ค่อยมีกลิ่น ไม่เหม็นมาก บางครั้งอาจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวเล็กน้อย แต่ถ้าหากอุจจาระของลูกมีกินเหม็น หรือมีมูกเขียว ๆ ก็อาจเกิดจากการติดเชื้อหรือแพ้อาหารที่แม่กินได้ ดังนั้น คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตสี ลักษณะ และกลิ่นของอุจจาระทารกว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร
-
อุจจาระของทารกที่กินผง
สำหรับสีอุจจาระของเด็กที่กินนมผง จะมีเป็นสีเขียว เหลือง ไปจนถึงน้ำตาล ซึ่งถือว่าปกติ แต่ก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนเร็วกว่าทารกที่กินนมแม่ เพราะนมผงจะตกค้างในลำไส้นานกว่า ทำให้ลูกอุจจาระเป็นสีน้ำตาลอ่อนนั่นเอง เด็กบางคนอาจมีสีอุจจาระเขียวเข้มจนเกือบดำ ขึ้นอยู่กับการกินนมผงบางสูตร ส่วนเนื้ออุจจาระของเด็กที่กินนมผงจะแข็งกว่าเด็กที่กินนมแม่ มีลักษณะคล้ายกับเนยถั่ว และจะถ่ายไม่บ่อยเท่าทารกที่กินนมแม่อีกด้วย
ขณะที่กลิ่นอุจจาระของทารกที่กินนมผงจะกินไม่แรงเหมือนทารกที่กินนมแม่ และไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เพราะมีความเป็นกรดน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ทารกที่กินนมผงอาจมีปัญหาท้องผูก เพราะในนมวัวมีส่วนประกอบเป็นน้ำน้อยกว่านมแม่ ทำให้ถ่ายอุจจาระยากกว่าเด็กที่กินนมแม่
ลูกมีอุจจาระผิดปกติ ท้องผูก ถ่ายยาก รับมืออย่างไร
โดยปกติแล้ว ทารกแรกเกิดจะอุจจาระวันละครั้ง แต่หากลูกถ่ายเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ 2-3 วัน ก็อาจเป็นสัญญาณอาการท้องผูกได้ คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตลักษณะของอุจจาระและอาการท้องผูกของลูก ซึ่งหากลูกมีภาวะท้องผูก หรือถ่ายยากนั้น ควรรับมือด้วยวิธีดังต่อไปนี้
-
เลือกโภชนาการย่อยง่ายให้ลูกน้อย
ทารกที่กินนมแม่มักมีระบบย่อยอาหารที่ดี ถ่ายง่าย ไม่ท้องผูก เพราะนมแม่เป็นนมที่ย่อยง่าย เหมาะสมกับระบบลำไส้ของลูก อีกทั้งยังมี MFGM และ DHA ที่ช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อเซลล์ประสาท ทำให้พัฒนาการสมองของลูกดียิ่งขึ้น
แต่ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการเลือกโภชนาการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูก โดยแพทย์อาจจะแนะนำโดยแพทย์อาจจะแนะนำโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนหรือ PHP (Partially Hydrolyzed Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีขนาดโมเลกุลเล็กที่ย่อยง่าย
-
รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์
สำหรับทารกที่เริ่มรับประทานอาหารแล้ว คุณแม่ควรให้ลูกกินอาหารที่มีกากใย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับถ่าย พยายามหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป และน้ำตาลสูง โดยเน้นผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์แทน เช่น ข้าวโพด แครอท บรอกโคลี มะละกอ กล้วย ส้ม และแอปเปิ้ล เป็นต้น
-
ดื่มน้ำในปริมาณพอเหมาะ
คุณแม่ควรให้ลูกกินนมและน้ำอย่างเหมาะสมตามวัย เพราะการดื่มน้ำจะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้และลดอาการท้องผูก ซึ่งโดยปกติแล้วทารกในช่วง 6 เดือนแรก จะได้รับสารน้ำจากนมแม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
-
กระตุ้นให้ลูกออกกำลังกาย
ฝึกให้ลูกได้ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายช่วยแก้อาการถ่ายยากได้ โดยคุณแม่อาจพาลูกทำท่าถีบจักรยาน เพราะเป็นท่าออกกำลังกายที่ช่วยระบายแก๊ส ซึ่งวิธีออกกำลังกายนี้ให้จับทารกนอนหงาย แล้วจับที่ข้อเท้าทั้งสองข้าง จากนั้นค่อยทำท่าถีบเท้าวน ๆ เหมือนกับปั่นจักรยาน
คุณแม่ควรหมั่นสังเกตสีและลักษณะของอุจจาระของลูก เพราะหากเกิดความผิดปกติกับพวกเขานั้น ก็จะสามารถรีบรักษาได้อย่างทันเวลา ถ้าหากปล่อยไว้นาน ๆ อาจส่งผลเสียเรื้อรังต่อสุขภาพของลูกในอนาคตได้ ฉะนั้นแล้ว คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตสีของอุจจาระลูก เพื่อจะได้พาไปพบแพทย์ได้ทันทีโดยไม่ต้องเกิดความกังวล สำหรับคุณแม่ที่กำลังหาข้อมูลของสีอุจจาระทารกและลักษณะอุจจาระทารกเพิ่มเติม สามารถศึกษาข้อมูลได้ ที่นี่
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกท้องเสียกินอะไรได้บ้าง อาหาร 6 อย่าง บรรเทาอาการทารกท้องเสีย
ทารกท้องผูก ทารกไม่อุจจาระ ลูกอึไม่ออก ทำอย่างไรให้ขับถ่ายเป็นปกติ
ลูกมี แก๊สในกระเพาะอาหารเยอะ ทำอย่างไรดี? อาหารอะไรที่ทำให้เกิดแก๊ส
ที่มา : s-momclub, Cottonbaby, Enfababy