ล้างจมูกให้ลูก อันตรายไหม ลูกจะสำลักลงปอดหรือเปล่าเมื่อลูกมีน้ำมูกเหนียวข้น หายใจลำบาก คุณหมอมักแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ ล้างจมูกให้ลูก มากกว่าที่จะให้กินยา แต่ลูกมักไม่ให้ความร่วมมือ ทั้งร้อง ทั้งดิ้น จนคุณพ่อคุณแม่กลัวว่า หากลูกสำลักน้ำเกลือจะเป็นอันตรายหรือเปล่า ล้างจมูกทารก อันตรายไหม เรามีคำตอบ
การล้างจมูกคืออะไร
การล้างจมูก เป็นการชะล้างเอาน้ำมูก หนอง สิ่งสกปรกในจมูก ซึ่งเกิดจากการอักเสบในโพรงจมูกและไซนัส ด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ เพื่อให้โพรงจมูกและบริเวณรูเปิดของไซนัสโล่ง บรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล
ล้างจมูกดีอย่างไร
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นสิ่งที่ดีมากเวลาที่ลูกเป็นหวัด เพราะจะทำให้น้ำมูกเหนียวข้นที่ไม่สามารถระบายออกได้เองถูกล้างออกมา ป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสไปสู่ปอด ให้ความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก บรรเทาอาการระคายเคืองในจมูก ทำให้อาการหวัดของลูกดีขึ้นเร็วกว่าการให้กินแต่ยาเพียงอย่างเดียว ทำให้โพรงจมูกสะอาด ลูกหายใจโล่งขึ้น
การล้างจมูกอันตรายไหม ลูกจะสำลักลงปอดหรือเปล่า
ล้างจมูกทารก อันตรายไหม การล้างจมูกนั้นเป็นวิธีที่ปลอดภัย และได้ผลดีในการรักษาโรคจมูก และไซนัสทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
น้ำเกลือที่ใช้ล้างจมูก เป็นน้ำเกลือที่มีความอ่อนโยนมาก จึงไม่เป็นอันตรายหากสำลักน้ำเกลือในกรณีที่ลูกดิ้นและร้อง ส่วนการสำลักถึงขั้นลงปอดนั้น การล้างจมูกในเด็กปกติ ที่ไม่ได้มีโรคเกี่ยวกับสมองหรือระบบประสาทโอกาสน้อยมากที่น้ำเกลือจะสำลักลงปอด เนื่องจากเวลาเด็กร้องตะเบ็งส่งเสียงออกมา กล่องเสียงจะปิด คนเราจึงไม่สามารถหายใจเข้าพร้อมกับเปล่งเสียงได้
และเมื่อฉีดน้ำเกลือเข้าไปส่วนใหญ่เด็กจะออกพ่นทางจมูก หรือบ้วนออกทางปากก่อน นอกจากนั้น ปริมาณน้ำเกลือเพียงน้อยนิด โอกาสน้อยมากที่จะไปถึงปอด และหากไปถึงปอดจริงก็ไม่เป็นปัญหาหากเป็นน้ำเกลือสะอาด
ควรล้างจมูกบ่อยแค่ไหน?
เมื่อรู้สึกว่ามีน้ำมูกข้นเหนียว แน่นจมูก หรือก่อนใช้ยาพ่นจมูก ควรล้างจมูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วงตื่นนอนตอนเช้า และก่อนเข้านอน ตอนท้องว่าง เพราะจะได้ไม่เกิดอาการอาเจียน
วิธีล้างจมูก
1. ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูกเสมอ
เพราะการใช้น้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่นล้างจมูก อาจทำให้เกิดการคัดจมูกหลังการล้างได้ ก่อนนำน้ำเกลือที่อุ่นแล้วนั้นมาล้างจมูก ควรทดสอบกับหลังมือเสียก่อน น้ำเกลือควรจะอุ่นในขนาดที่หลังมือทนได้
2. สำหรับเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะเองไม่ได้
ให้ใช้ผ้าห่อตัวเพื่อป้องกันการดิ้น จัดให้ลูกนอนศีรษะยกสูง จับหน้าให้นิ่ง ค่อย ๆ หยดน้ำเกลือครั้งละ 2 –3 หยด หรือค่อย ๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกข้างที่จะล้างโดยให้วางปลายกระบอกฉีดยาชิด ด้านบนของรูจมูก ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ ครึ่ง (0.5) ซีซี หรืออาจใช้น้ำเกลือในรูปสเปรย์พ่นจมูกซึ่งมีจำหน่าย พ่นเข้าไปในจมูกเด็ก แทนการหยด หรือฉีดน้ำเกลือ จากนั้นใช้ลูกยางแดง ดูดน้ำมูกในจมูกออกมา ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งในรูจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูก
3. สำหรับเด็กเล็กที่ให้ความร่วมมือและสั่งน้ำมูกได้
ให้เด็กนั่งหรือยืน แหงนหน้าเล็กน้อย ค่อย ๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น และค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 0.5 – 1 ซีซีหรือเท่าที่เด็กทนได้ หรืออาจใช้น้ำเกลือในรูปสเปรย์พ่นจมูกซึ่งมีจำหน่าย พ่นเข้าไปในจมูกเด็ก แทนการฉีดน้ำเกลือ พร้อมกับสั่งให้เด็กกลืนน้ำเกลือที่ไหลลงคอเป็นระยะ ๆ ระหว่างฉีดน้ำเกลือ หรือให้บ้วนทิ้ง จากนั้น สั่งน้ำมูกพร้อม ๆ กันทั้งสองข้าง ไม่ควรอุดรูจมูกอีกข้าง เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุได้
รู้อย่างนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่คงสบายใจขึ้นในการล้างจมูกให้ลูกนะครับ ที่เหลือก็คือกลยุทธ์ในการหลอกล่อให้เจ้าตัวน้อยให้ความร่วมมือแต่โดยดีแล้วล่ะ แรก ๆ อาจจะลำบากหน่อย แต่เมื่อล้างจมูกบ่อย ๆ ลูกจะเคยชินและหยิบอุปกรณ์ล้างจมูกมาจัดการตัวเองเรียบร้อยเลยด้วยซ้ำ
ที่มา si.mahidol.ac.th, www.sukumvithospital.com, www.rcot.org, pantip.com
บทความที่น่าสนใจ :
ครีมทาผิวที่มีมอยเจอร์ไรเซอร์สำหรับเด็ก ดีที่สุดในปี 2021
น้ำเข้าหูลูก ตอนอาบน้ำสระผม อาจนำสู่ภาวะหูชั้นนอกอักเสบ
อาหารติดคอเด็ก ภัยร้ายใกล้ตัว ที่ต้องคอยระแวดระวังอยู่เสมอ