วันเด็กญี่ปุ่น วันที่ 5 เดือน 5 วันแห่งการเฉลิมฉลองให้กับเด็กญี่ปุ่น สำหรับใครที่เคยดูการ์ตูน หรือภาพยนตร์ญี่ปุ่นก็อาจจะเคยผ่านหูผ่านตากันบ้าง เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าทำไมญี่ปุ่นถึงจะต้องมีการเฉลิมฉลองให้กับเด็ก ๆ นี้
วันเด็กญี่ปุ่น คือวันอะไร?
วันเด็ก หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Kodomo no hi (こどもの日) ถือว่าเป็นหนึ่งในวันหยุดประจำชาติของญี่ปุ่นที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญ โดยวันเด็กญี่ปุ่นนี้จะจัดขึ้นทุกวันที่ 5 เดือนพฤษภาคม หรือว่าวันที่ 5 เดือน 5 นั่นเอง เพื่อเป็นการอวยพร และเฉลิมฉลองให้เด็ก ๆ มีเจริญเติบโตด้วยสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง และเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณต่อคุณพ่อและคุณแม่ของเด็ก ๆ นั่นเอง ซึ่งนอกจากจะมีการเฉลิมฉลองแล้วยังมีการประดับตกแต่งธงปลาคราฟที่ดังไปทั่วโลกที่เป็นที่โด่งดังอีกด้วย
ประวัติของวันเด็กญี่ปุ่น
เท้าความประวัติความเป็นมาในอดีตของวันเด็กก่อน ในอดีตวันเด็กนั้นไม่ใช่วันเด็กที่มีไว้สำหรับเด็ก ๆ ทุกคน แต่เป็นแค่วันเด็กผู้ชายเท่านั้น โดยวันเด็กผู้ชายนั้นได้รับอิทธิพลมาจากประเพณีของประเทศจีน ที่ให้ความสำคัญกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งตรงกับยุคนาราและเฮอันของญี่ปุ่น นอกจากวันสำคัญแล้ว ในยุคนั้นประเทศญี่ปุ่นยังได้รับอิทธิพลทางด้านภาษา และอาหารอย่างชาเข้ามาด้วย เดิมวันที่ 5 เดือน 5 คือวันที่เรียกว่า Tango no Sekku (端午の節句) เป็นวันเฉลิมฉลองสำหรับเด็กผู้ชาย และวันที่ 3 เดือน 3 เป็นวันสำหรับเด็กผู้หญิง หรือวัน Hinamatsuri (雛祭り) แต่ไม่ได้ถูกนับเป็นวันหยุดประจำชาติแบบวันเด็กผู้ชาย ต่อในปี พ.ศ. 2491 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และความเท่าเทียมกับของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย จึงเปลี่ยนให้วันที่ 5 เดือน 5 กลายเป็นวันเด็กสำหรับเด็ก ๆ ทุกคนแทน
บทความที่น่าสนใจ : 300 คำคมครอบครัว แคปชั่นครอบครัว ฟังเเล้วรู้สึกอบอุ่นไปถึงหัวใจ
สัญลักษณ์ของวันเด็กญี่ปุ่น
สัญลักษณ์ของวันเด็กในประเทศญี่ปุ่นเรียกได้ว่ามีชื่อเสียงดังไปทั่วโลก เพราะว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่มักจะสอดแทรกวัฒนธรรม และประเพณีของจนเองไว้ในภาพยนตร์ แอนิเมชันต่าง ๆ ถ้าหากพูดถึงแล้วหละก็ทุกคนก็มักจะร้องอ๋อออกมา โดยสัญลักษณ์ของวันเด็กญี่ปุ่น มีดังต่อไปนี้
ธงปลาคราฟ 3 สี (Koinobori/鯉のぼり)
ธงที่มักจะถูกประดับไว้ประจำบ้านในช่วงวันเด็กญี่ปุ่น โดยเป็นสัญลักษณ์ของปลาคราฟ 3 สีประกอบไปด้วย
- ปลาคราฟด้านบนสุดของธงปลาคราฟ เป็นสีดำ ซึ่งสื่อถึงคุณพ่อ
- ปลาคราฟที่อยู่ในอันดับที่ 2 เป็นสีแดง ซึ่งสื่อถึงคุณแม่
- ปลาคราฟที่อยู่ด้านล่างสุดของธง เป็นสีฟ้า หรือสีน้ำเงิน สื่อถึงลูก (หรือเด็กผู้ชายในสมัยก่อน)
นอกจากนี้ในยุคใหม่ ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของวันเด็กจากที่เดิมเป็นเพียงเด็กผู้ชายอย่างเดียวแล้ว จึงมีการเพิ่มปลาคราฟสีอื่น ๆ เข้าไปเพิ่มด้วย อาทิ สีเขียว สีส้ม สีชมพู เป็นต้น ซึ่งจำนวนปลาคราฟในการแขวนนั้นจะเท่ากับจำนวนของเด็ก ๆ ที่อยู่ในบ้านนั่นเอง และที่ใช้สัญลักษณ์แทนเป็นปลาคราฟนั้นมาจากการได้รับอิทธิพลมาจากจีน เพราะคนจีนเชื่อว่าปลาคราฟนั้นสามารถว่ายทวนแม่น้ำหวงเหอขึ้นไปยังต้นน้ำ และได้กลายเป็นมังกรในที่สุด
ตุ๊กตานักรบญี่ปุ่น (Gogatsu Ningyo/五月人形)
นอกจากชาวญี่ปุ่นที่นิยมแขวนธงปลาคราฟที่หน้าบ้านแล้ว ภายในบ้านยังมีการประดับตกแต่งสำหรับการเฉลิมฉลองวันเด็กญี่ปุ่นด้วย ซึ่งเป็นการประดับตกแต่งด้วยตุ๊กตาที่เรียกว่า May Dolls หรือ Gogatsu Ningyo (五月人形) ซึ่งมีลักษณะเป็นตุ๊กตานักรบที่สวมใส่เกราะ สวมหมวกซามูไร (หมวก Kabuto ที่มีลักษณะเป็นเหมือนเขาของด้วง) และประดับตกแต่งด้านข้างด้วยดาบ และคันธนู หรือถ้าบ้านไหนไม่มีตุ๊กตานักรบก็มักจะใช้เป็นตุ๊กตาของคินทาโร่ ที่เป็นซามูไรที่มีชื่อเสียในอดีต โดยที่เขาออกไปสู้รบกับศัตรูตั้งแต่อายุเพียง 14-15 ปีเท่านั้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตานักรบ หรือตุ๊กตาคินทาโร่นั่นก็จะเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเข้มแข็ง ความกล้าหาญ และอำนาจ ที่จะช่วยเพิ่มความโชคดี และปกป้องเด็ก ๆ จากโรคภัย และสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก ๆ ในภายหลังมีการพับกระดาษเป็นรูปหมวกคาบูโตะ เพื่อให้เด็ก ๆ ใส่ออกไปเฉลิมฉลองเทศกาลนี้กันเป็นจำนวนมาก
บทความที่น่าสนใจ : ชื่อลูกโดน ๆ จากเทพญี่ปุ่น
ขนมที่ใช้ในการเฉลิมฉลอง
อย่างที่ทราบกันดีกว่าประเทศญี่ปุ่นมีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่งที่โด่งดังไปทั่วโลกนั่นก็คืออาหารและขนม โดยส่วนใหญ่แล้วขนมของประเทศญี่ปุ่นมักทำมาจากผลผลิตที่ได้จากธรรมชาติ และสามารถหาได้ง่ายในประเทศญี่ปุ่น อาทิ ข้าว แป้ง ถั่ว และพืชพรรณต่าง ๆ การทำขนมของญี่ปุ่นนั้น ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากของประเทศจีนเช่นเดียวกับประเพณีและวัฒนธรรมนั่นเอง โดยขนมที่เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองนี้ ได้แก่
- คะชิวะ โมจิ (柏餅)
ขนมโมจิห่อใบคะชิวะ หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า คะชิวะ โมจิ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วใบคะชิวะ คือใบของต้นโอ๊กนั่นเอง ตัวขนมจะเป็นขนมโมจิสีขาว ที่มีเนื้อสัมผัสเหนียวนุ่มที่ได้มาจากแป้งข้าวเจ้า ไส้ด้านในนิยมใช้เป็นไส้ถั่วแดงกวน หรือไส้ถั่วขาวกวนที่ใส่ใบชิโสะเข้าไปด้วย และห่อด้วยใบโอ๊กด้านนอกอีกที ถึงแม้ว่าใบโอ๊กนั้นจะไม่สามารถรับประทานได้ก็ตาม แต่กลิ่นของใบโอ๊กที่ห่ออยู่ด้านนอกจะเข้าไปสอดแทรกอยู่ภายในโมจิขณะที่กำลังนึ่งอยู่ ทำให้เวลาทานเราจะได้กลิ่นของใบโอ๊กอ่อน ๆ ซึ่งที่มีการนำใบโอ๊กนั้นก็เพราะว่าต้องโอ๊ตจะไม่มีการผลิใบใหม่จนกว่าใบเดิมที่อยู่บนต้นนั้นจะแก่และร่วงโรยไป ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของลูกหลาน และหมายถึงการไม่ขาดผู้สืบทอดสกุล หรือไม่ขาดทายาทนั่นเอง
- ชิมากิ (ちまき)
ขนมชิมากิ หรือขนมโมจิที่ถูกห่อด้วยใบไผ่ นิยมทานกันมากในแถบคันไซของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงวันเด็กญี่ปุ่นเช่นกัน แต่ชิมากินั้นจะใช้แป้งข้าวเหนียวในการทำ และไม่มีไส้ ห่อด้วยใบไผ่ และนำไปนึ่ง เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนิยมทานคู่กับผงถั่วเหลืองบด ที่นิยมกันมากในแถบคันไซเพราะว่าในแถบนั้นไม่ได้เป็นแหล่งของต้นโอ๊ก หรือมีใบคะชิวะ จึงได้นำใบไผ่มาใช้ในการห่อขนมแทน โดยมีความเชื่อว่าใบไผ่ช่วยเรื่องของการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากชีวิตได้เช่นกัน
ประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถเผยแพร่วัฒนธรรมของตนเอง ที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นสู่ประเทศอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าจะมีการรับอิทธิพลจากประเทศจีนมาก็ตาม วัฒนธรรม ประเพณี หรือแม้แต่อาหารของประเทศญี่ปุ่นนั้นก็ยังสะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีการส่งเสริมเรื่องของความเท่าเทียมระหว่างเพศจนกลายมาเป็นวันเด็กญี่ปุ่นได้จนมาถึงปัจจุบัน
บทความที่น่าสนใจ :
300 ชื่อญี่ปุ่น ชื่อเล่นเท่ๆ น่ารัก ลูกสาว ลูกชาย สาวกญี่ปุ่นต้องถูกใจ ปี 2020
เลี้ยงลูกคาดหวังมากไป ระวังลูกป่วยเป็น “ฮิคิโคโมริ” (Hikikomori)
ที่มา : workinjapan, tokyoweekender,web-japan,jw-webmagazine, today.line