รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ สูตินรีแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท ดังนี้
ภาวะ ปากมดลูกปิดไม่สนิท คือ ภาวะที่ปากมดลูกอ่อนแอ ไม่สามารถปิดชิดกันได้ ทำให้ไม่สามารถพยุงครรภ์ต่อไปได้ เป็นเหตุให้แท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด
สาเหตุของภาวะ ปากมดลูกปิดไม่สนิท อาจเกิดจากความผิดปกติของมดลูกหรือปากมดลูกเอง การฉีกขาดของปากมดลูกขณะคลอดในท้องก่อนหน้าทำให้ปากมดลูกหลวม หรือเคยผ่าตัดปากมดลูกมาก่อน เคยขูดมดลูกหลายครั้ง และการตั้งครรภ์แฝด หรือมีภาวะแฝดน้ำ หรือมีภาวะน้ำคร่ำมาก
อันตรายเมื่อแม่ท้องปากมดลูกปิดไม่สนิท ผู้หญิงมีภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท หรือปากมดลูกหลวม มักจะแสดงอาการในช่วงตั้งครรภ์ โดยจะมีอาการปวดหน่วงๆ บริเวณท้องน้อยและหลัง เป็นภาวะที่ทำให้เกิดการแท้งบุตรซ้ำโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 หากไม่แท้งมักคลอดก่อนกำหนดอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ และอาจทำให้ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บท้องคลอดได้ เนื่องจากเมื่อมดลูกขยายตัวมากขึ้นจะดันปากมดลูกให้เปิดมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถพยุงถุงการตั้งครรภ์ไปจนครบกำหนดคลอดได้
อย่างไรก็ตามภาวะนี้ไม่ได้ทำให้มีลูกยาก และไม่ได้มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ แต่เป็นภาวะที่ทำให้มีโอกาสแท้งได้ง่ายขึ้นเมื่อตั้งครรภ์แล้ว
การรักษาเมื่อแม่ท้องปากมดลูกปิดไม่สนิท คุณหมอจะพิจารณาเย็บปากมดลูกให้เมื่อพ้นไตรมาสแรกไปแล้ว เพื่อให้ปากมดลูกปิดและสามารถพยุงครรภ์ไปจนถึงกำหนดที่จะคลอดได้ คือไม่ต่ำกว่า 37 สัปดาห์ โดยเมื่อใกล้กำหนดคลอด คุณแม่ต้องมาให้คุณหมอทำการแก้ปมที่เย็บปากมดลูกไว้ออก เพื่อให้สามารถคลอดลูกออกมาได้ สำหรับในท้องต่อๆ ไปก็ต้องกลับมาเย็บปากมดลูกอีกเช่นเดิม
ขั้นตอนการเย็บปากมดลูก คุณหมอจะทำการบล็อกหลังคุณแม่ก่อนเย็บปากมดลูก และต้องนอนโรงพยาบาล 1-2 วัน จึงจะกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน ต้องทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ห้ามทำงานหนักเกินไป หากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บครรภ์ถี่ มีตกขาว มีไข้ ให้รีบไปพบคุณหมอทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
การเย็บปากมดลูกได้ผลแค่ไหน คุณแม่ท้องที่เย็บปากมดลูกแต่เนิ่นๆ สามารถพยุงการตั้งครรภ์จนถึงกำหนดคลอดได้ถึง 80% แต่หากมาเย็บตอนปากมดลูกเปิดมากแล้วจะได้ผลอยู่ที่ 30 – 60%
หากคุณแม่มีภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท ควรทำตามคำแนะนะของคุณหมออย่างเคร่งครัด ซึ่งคุณหมอมักแนะนำให้นอนพักผ่อนเยอะๆ อย่าเดิน อย่าขึ้นบันได อย่ายกของหนัก อย่าขับรถ เพื่อประคับประคองลูกน้อยให้เติบโตในครรภ์นานที่สุดและคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์ที่สุดค่ะ
ปากมดลูกหลวม พบบ่อยเพียงใด
โรคปากมดลูกหลวม พบได้น้อยในสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงร้อยละ 1-2 ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด แต่คาดว่าเป็นสาเหตุของการแท้งถึงร้อยละ 20-25 ในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของภาวะ ปากมดลูกหลวม หรือปากมดลูกปิดไม่สนิท
ภาวะปากมดลูกหลวม มักไม่มีสิ่งบ่งชี้หรือแสดงอาการใดๆ เนื่องจากปากมดลูกจะเริ่มเปิดในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ดี อาจมีความรู้สึกไม่สบายตัว หรือมีเลือดประจำเดือนออกมาแบบกะปริดกะปรอย เป็นเวลาหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ ซึ่งจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วง 14 ถึง 20 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ โดยควรเฝ้าระวังอาการดังต่อไปนี้
- ความรู้สึกหน่วงบริเวณเชิงกราน
- ปวดหลัง
- ปวดตะคริวที่ไม่รุนแรงบริเวณช่องท้อง
- สารคัดหลั่งในช่องคลอดเปลี่ยนแปลง
- เลือดออกจากช่องคลอดเล็กน้อย
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใดๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีข้อคำถามใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุภาวะปากมดลูกหลวม หรือปากมดลูกปิดไม่สนิท
ปากมดลูกหลวม หรืออาการปากมดลูกปิดไม่สนิท อาจเกิดขึ้นจากความบกพร่องในการทำงานของปากมดลูก ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางกายภาพ หรือการได้รับยาไดเอธิลสติลเบสโตรล (Diethylstilbestrol:DES) เพื่อป้องกันแท้ง หรือเกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับคอลลาเจน
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังการคลอด ได้แก่ ปากมดลูกฉีกขาดระหว่างคลอด การขยายปากมดลูกโดยใช้อุปกรณ์ ตลอดจนการตัดเนื้อเยื่อปากมดลูกเป็นรูปกรวยด้วยมีด เลเซอร์ หรือห่วงไฟฟ้า
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงภาวะ ปากมดลูกหลวม หรือปากมดลูกปิดไม่สนิท
มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการสำหรับการเกิดภาวะปากมดลูกหลวม เช่น
ภาวะที่มีมาแต่กำเนิด
ความผิดปกติของมดลูกและความผิดปกติทางพันธุกรรมส่งผลให้โปรตีนประเภทหนึ่งที่ทำหน้าที่สร้างคอลลาเจนทำงานผิดปกติ และอาจทำให้เกิดปากมดลูกหลวมได้ การใช้ยาไดเอธิลสติลเบสโตรล (Diethylstilbestrol: DES) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนสังเคราะห์ก่อนการคลอด ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคปากมดลูกหลวม
การเกิดบาดแผลบริเวณปากมดลูก
หากผู้ป่วยมีประวัติปากมดลูกฉีกขาดระหว่างการคลอดในครั้งก่อน อาจมีโอกาสเป็นโรคปากมดลูกหลวมได้ นอกจากนี้ การผ่าตัดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปากมดลูก เช่น การตรวจแปปสเมียร์ที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดความเสียหาย และเป็นสาเหตุของปากมดลูกหลวมได้
การขยายมดลูกและการขูดมดลูก
ขั้นตอนนี้จะใช้เพื่อวินิจฉัยหรือรักษาภาวะหรืออาการเกี่ยวกับมดลูกต่างๆ เช่น มีเลือดออกมาก หรือเพื่อกำจัดเยื่อบุมดลูกหลังการแท้ง ซึ่งทำให้อาจสร้างความเสียหายเกี่ยวกับโครงสร้างของปากมดลูก แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการปากมดลูกหลวม หรือปากมดลูกปิดไม่สนิท
หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ จะมีการตรวจร่างกายและตรวจหาภาวะที่มีมาแต่กำเนิด หรือบาดแผลฉีกขาด ที่อาจทำให้เกิด ปากมดลูกหลวม นอกจากนี้ อาจจมีการตรวจการหดตัวของมดลูกและเฝ้าระวังอาการดังกล่าวหากจำเป็น
การตรวจและทดสอบต่างๆ เพื่อการวินิจฉัยโรค ปากมดลูกหลวม ได้แก่
การตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด
หากเยื่อหุ้มทารกไม่อยู่ในโพรงมดลูกหรือช่องคลอด แพทย์จะใช้การตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดเพื่อประเมินความยาวของปากมดลูก และระบุว่าปากมดลูกขยายมากเท่าใด รวมทั้งตรวจเยื่อหุ้มทารกด้วย ในระหว่างการตรวจอัลตราซาวด์นี้ ตัวแปรสัญญาณขนาดเล็กจะถูกวางไว้ในช่องคลอดเพื่อส่งคลื่นเสียงออกไปและแสดงภาพของปากมดลูกและมดลูกส่วนล่างบนหน้าจอ
การทดสอบในห้องปฏิบัติการ
หากการตรวจอัลตราซาวด์สามารถแสดงภาพของเยื่อหุ้มทารกหรืออาการการติดเชื้อ แต่ผู้ป่วยกลับไม่มีอาการติดเชื้อใดๆ ผู้ให้การดูแลสุขภาพแพทย์อาจแนะนำการตรวจตัวอย่างน้ำคร่ำเพื่อวินิจฉัยหรือตรวจหา
การติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำเป็นขั้นตอนต่อไป
การรักษาปากมดลูกหลวมหรือปากมดลูกปิดไม่สนิท
ทางเลือกในการรักษาบางประการสำหรับ ปากมดลูกหลวม หรืออาการปากมดลูกปิดไม่สนิท ได้แก่
การเสริมฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
หากผู้ป่วยมีประวัติคลอดก่อนกำหนด แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการฉีดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า hydroxyprogesterone caproate (Makena) ทุกสัปดาห์ในระหว่างไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อกำหนดการใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เหมาะสมที่สุดเพื่อรักษาภาวะปากมดลูกหลวม ในปัจจุบัน การรักษาด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน อาจไม่ได้ผลสำหรับการตั้งครรภ์แฝดสองคนหรือมากกว่า
การตรวจอัลตราซาวด์ต่อเนื่อง
หากผู้ป่วยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดหรือปากมดลูกได้รับความเสียหายในการคลอดหรือการผ่าตัดก่อนหน้านี้ แพทย์อาจต้องเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของความยาวปากมดลูกอย่างระมัดระวังโดยการอัลตราซาวนด์ทุก 2 สัปดาห์ ในช่วงสัปดาห์ที่ 15 ถึง 24 ของการตั้งครรภ์หากปากมดลูกเริ่มเปิดหรือมีขนาดสั้นลง แพทย์อาจแนะนำให้เย็บปากมดลูก
การเย็บปากมดลูก
หากผู้ป่วยตั้งครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ หรือมีประวัติคลอดก่อนกำหนดโดยการตรวจอัลตราซาวด์แสดงให้เห็นว่าปากมดลูกกำลังเปิดออก การเย็บผูกปากมดลูกอาจช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ โดยปากมดลูกถูกเย็บปิดด้วยไหมอย่างแน่นหนา และจะถูกนำออกไปในระหว่างเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์หรือระหว่างคลอด
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับอาการปากมดลูกหลวมหรืออาการปากมดลูกปิดไม่สนิท
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้รับมือกับโรคปากมดลูกหลวมได้
- จำกัดการมีเพศสัมพันธ์หรือจำกัดการออกกำลังกายบางประเภท
- การนอนพักบนเตียงระหว่างตั้งครรภ์อาจจำเป็นในผู้ป่วยบางราย ถึงแม้ว่าจะไม่มีการพิสูจน์ว่า เป็นวิธีการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดที่ได้ผล
ที่มา haamor.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
แท้งเพราะปากมดลูกสั้น: ประสบการณ์ตรงจากคุณโอ๋