ดวงตา ถือเป็นอวัยวะสำคัญที่เราจะต้องให้ความสำคัญดูแลรักษาอย่างดีที่สุด เพราะเมื่อเริ่มมีอายุที่เพิ่มขึ้นอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายก็ย่อมเสื่อมสภาพลง รวมถึงดวงตาด้วย ดังนั้น จึงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ โรคตา ต่าง ๆ ตามมา ซึ่งบางโรคที่เกี่ยวกับดวงตาก็อาจจะมีสัญญาณเตือน แต่บางโรคก็อาจจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะถึงรุนแรง เพื่อให้ทราบถึงสุขภาพตาว่ามีปัญหาหรือไม่ การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปีถือเป็นทางเลือกที่จะทำให้คุณเฝ้าระวังโรคร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ค่ะ วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคทางตา ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะในผู้สูงวัย ถ้าพร้อมแล้ว มาตามไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
1. โรคจอประสาทตาเสื่อม
เป็นภาวะเกิดจากความเสื่อมบริเวณส่วนกลางของจอประสาทตา ทำให้การมองเห็นลดประสิทธิภาพลง เช่น มองเห็นไม่ค่อยชัด, เห็นสีผิดเพี้ยน, มีจุดดำกลางภาพ หรือมองในที่สว่างไม่ชัด มีอาการแพ้แสง เป็นต้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม นั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายปัจจัย เช่น อาจจะเกิดจากการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เผชิญกับแสงยูวีเป็นประจำ มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นจอประสาทตาเสื่อมและอายุที่เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าโรคจอประสาทตาเสื่อมส่วนใหญ่แล้วมักจะพบในช่วงอายุ 50 ปี ขึ้นไป นอกจากนี้ โรคจอประสาทตาเสื่อม จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
-
จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD)
ประเภทนี้จะเป็นการเสื่อมที่เกิดจากตัวเซลล์ในจอประสาทตาเสื่อมสภาพลง และทำให้จอตาบางลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ส่งผลให้การมองเห็นของผู้ป่วยลดลงอย่างช้า ๆ ซึ่งจะพบได้มากถึง 85 – 90% ของผู้ป่วยที่โรคนี้
-
จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD)
เกิดจากเส้นเลือดที่ผิดปกติภายในจอประสาทตา เมื่อเส้นเลือดแตกออก ของเหลวในเลือดที่รั่วไหลออกมาก็จะไปโดนบริเวณจอประสาทตา ทำให้สูญเสียการมองเห็น ซึ่งสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมประเภทนี้จะพบได้เพียง 10 – 15% เท่านั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : โกจิเบอร์รี่ช่วยบำรุงสายตาและช่วยชะลอความเสี่ยงต่อโรคจอประสาทตาเสื่อม
2. ภาวะตาแห้ง
สำหรับภาวะตาแห้งนั้นเกิดจากระบบต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติ ทำให้มีปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้นมีหลากหลายปัจจัยมาก ๆ เช่น ใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน ๆ มีอาการภูมิแพ้ที่ตา ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล เกิดความเสื่อมของต่อมน้ำตาไมโบเมียน (meibomian gland dysfunction: MGD) จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือมือถือเป็นเวลานาน หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด, ยาแก้แพ้, ยาต้านซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดภาวะตาแห้ง และทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา แสบตา แพ้แสง แพ้ลม กระจกตาเป็นแผล และการอักเสบของเปลือกตา เป็นต้น หากเกิดขึ้น ไม่ควรปล่อยไว้ ควรรีบรับการรักษาจะดีที่สุด
3. โรค CVS หรือ โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome)
เป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นกับคนที่ทำงานจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะทำให้กล้ามเนื้อดวงตานั้นต้องทำงานอย่างหนัก ซึ่งโรคนี้มักจะมีอาการตาพร่ามัว ระคายเคืองตา ปวดศีรษะ มีอาการตาแห้ง หรือตาแดง ดังนั้น การใช้คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดิจิทัลที่มีหน้าจอต่าง ๆ เป็นประจำ และเป็นระยะเวลานาน ก็อาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นได้ ถ้าหากใครที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองนั้นมีอาการเข้าข่ายเป็นโรคนี้ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตา และให้แพทย์ทำการรักษาอย่างเหมาะสมค่ะ
4. ตาบอดกลางคืน (Night Blindness)
เป็นความผิดปกติทางสายที่ทำให้ประสิทธิภาพการมองเห็นในตอนกลางคืนนั้นลดประสิทธิภาพลง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้นั้นเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การขาดวิตามินเอ, พันธุกรรม, สายตาสั้น, โรคต้อกระจก, โรคต้อหิน, ความผิดปกติจอประสาทตา, และการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น และเพื่อความปลอดภัยของคนที่มีอาการตาบอดกลางคืน ควรหลีกเลี่ยงการขับรถเวลากลางคืน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ หรือเลือกใช้บริการรถสาธารณะจะดีที่สุดค่ะ
5. โรคต้อหิน (Glaucoma)
โรคนี้จะเกิดจากการเสื่อมของเส้นประสาทตา หรือเส้นประสาทตาถูกทำลาย โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นนั้นมาจากความดันในลูกตาสูง ทำให้การไหลเวียนเข้า และออกของน้ำหล่อเลี้ยงตาไม่สมดุล ความดันในตาเลยเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนไปทำลายประสาทตา นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดโรคต้อหินขึ้น เช่น พันธุกรรม การใช้ยาหยอดขยายม่านตา การใช้ยารักษาโรคอย่างยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น
สำหรับอาการของคนที่เป็นโรคต้อที่จะเกิดขึ้น คนที่เป็นระยะเริ่มแรกนั้นจะไม่มีอาการแสดงอำรออกมา แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ก็จะเริ่มส่งผลเสียต่อการมองเห็น เช่น มีอาการตามัว, ปวดศีรษะ, ตาแดง, และถ้าหากปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรงเรื่อย ๆ ก็อาจจะส่งผลเสียทำให้นำไปสู่การตาบอดในที่สุดค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคต้อหินในเด็ก ทารกเป็นโรคต้อหิน ลูกเป็นโรคต้อหินได้ตั้งแต่เล็ก ถ้าแม่ไม่ระวัง
เป็นอย่างไรกันบ้างคะข้อมูลเกี่ยวกับ โรคตา ที่เรานำมาฝากกันวันนี้ เพื่อสุขภาพดวงตาที่แข็งแรงอาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อไม่ให้สายตานั้นทำงานหนักจนเกินไป แล้วก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาประจำปีด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีภาวะสายตาผิดปกติหรือไม่ก็ตาม เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรคเกี่ยวกับดวงตาที่อาจเกิดขึ้นได้ และถ้าหากใครมีอาการที่เข้าข่ายกับโรคเกี่ยวกับดวงตาต่าง ๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นะคะ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการปรึกษา และรักษาอาการในขั้นตอนที่ถูกต้องและเหมาะสม หวังว่าบทความในวันนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูก คันตา เกิดจากสาเหตุอะไร เป็นเพราะเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ได้หรือไม่ ?
โรคตาในเด็ก และโรคตาของผู้ใหญ่ในแต่ละช่วงอายุมีอะไรบ้าง
ตาแดง โรคตาแดงมีอาการเป็นอย่างไร สาเหตุการเกิดโรคตาแดงมาจากอะไร พร้อมวิธีรักษา
ที่มา : pobpad.com, bumrungrad.com, pobpad.com, 4, pobpad.com