สาเหตุที่ทำให้ผมยาวช้า เกิดจากอะไรกันแน่ หลาย ๆ คนก็อาจจะเคยตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้กัน เพราะปัญหาผมยาวช้าก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หลาย ๆ คนจะต้องเคยพบเจอว่าทำไมผมของตัวเองนั้นถึงยาวช้า และทำไมบางคนผมถึงยาวไวเหลือเกิน ดังนั้น บทความวันนี้เราจะมาคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาผมยาวช้ากันค่ะ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกัน
วงจรการเจริญเติบโตของเส้นผมมีกี่ระยะ?
โดยปกติแล้วเส้นผมนั้นจะมีระยะเวลาของการขึ้น และร่วงสลับกัน และแต่ละวันเส้นผมจะมีผมร่วง 50-100 เส้น แต่ถ้าหากผมร่วงมากถึง 200 เส้น ก็ยังถือเป็นเรื่องปกติของวงจรชีวิตเส้นผมนะคะ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเส้นผมจะมีวงจรในการเจริญเติบโตทั้งหมด 3 ระยะ โดยจะแบ่งออกเป็น ดังนี้
1. ระยะเจริญเติบโต (Anagen Phase)
สำหรับระยะการเจริญเติบโตของเส้นผมระยะนี้จะเป็นช่วงที่เซลล์ในรากผมแบ่งตัวรวดเร็ว เพื่อสร้างเส้นผมให้งอกใหม่ขึ้นมาแทนที่เส้นผมที่หยุดการเจริญเติบโตแล้ว เพราะเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นระยะการเจริญเติบโตก็จะสั้นลง ซึ่งระยะนี้เส้นผมจะยาวขึ้น 1 เซนติเมตร ทุก ๆ 28 วันค่ะ
2. ระยะหยุดเจริญเติบโต (Catagen Phase)
สำหรับระยะหยุดการเจริญเติบโต ต่อมรากผมก็จะหยุดการแบ่งเซลล์ เส้นผมก็จะเริ่มเปราะ และเตรียมที่จะร่วง ซึ่งระยะนี้ถือเป็นระยะที่สั้นที่สุด เพราะเส้นผมจะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ ก่อนที่จะหลุดร่วงค่ะ
3. ระยะผมร่วง (Telogen Phase)
สำหรับระยะนี้ก็จะเป็นระยะที่เส้นผมหยุดการเจริญเติบโต หรือเป็นระยะที่เส้นผมหลุดร่วงนั่นเองค่ะ หากถอนเส้นผมออกมาจะพบว่ารากผมมีลักษณะแข็ง และมีสีขาว ซึ่งระยะนี้เส้นผมนั้นจะเกิดการหลุดร่วงประมาณ 25-100 เส้น และจะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 2-3 เดือน
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ผมร่วงหลังคลอด เรื่องไม่เล็กที่ต้องรู้! พร้อมวิธีการรับมือ
สาเหตุที่ทำให้ผมยาวช้า
-
ความไม่สมดุลของฮอร์โมน
การที่เส้นผมนั้นเกิดการยาวช้าในส่วนของเรื่องฮอร์โมนถือเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเส้นผมเป็นอย่างมาก เช่น แอนโดรเจน, เอสโตรเจน, เมลาโทนิน, คอร์ติซอล เป็นต้น ซึ่งถ้าหากฮอร์โมนเหล่านี้เกิดขาดความสมดุลต่ำหรือสูงเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเส้นผมทำให้เส้นผมนั้นยาวช้ายิ่งขึ้นค่ะ
-
การขาดวิตามิน
สาเหตุที่เส้นผมนั้นยาวช้าอาจจะเกิดจากการที่ร่างกายนั้นขาดวิตามินได้เช่นกันนะคะ รวมถึงผมร่วงก่อนเวลาอันควรได้ด้วย ซึ่งวิตามินที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ก็จะมีอย่างเช่น ธาตุเหล็ก, วิตามินบี 12, วิตามินบี 6, วิตามิน A, D, สังกะสี และกรดโฟลิก เป็นต้น ซึ่งสารอาหาร และวิตามินเหล่านี้ล้วนสามารถหารับประทานได้ง่ายพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น ผักผลไม้ มะเขือเทศ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว ปลา เนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น
ถือเป็นสารอาหารสำคัญที่จะช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม หรือคุณจะเลือกรับประทานวิตามินเสริม หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ทดแทนก็ได้เช่นกันค่ะ แต่ก่อนที่จะเลือกรับประทานอาหารเสริม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมจะดีกว่านะคะ เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพร่างกายค่ะ
-
ความเครียด หรืออาการป่วย
ความเครียด ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพจิต และร่างกายแล้ว ก็ยังส่งผลทำให้เกิดอาการผมร่วงขึ้นอีกด้วยนะคะ เพราะเมื่อเรารู้สึกเครียด การหายใจจะเปลี่ยนไปโดยที่ไม่รู้ตัว ส่งผลให้ร่างกายรับออกซิเจนน้อยลง และออกซิเจนก็ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น หัวใจ ปอด สมอง และอวัยวะอื่น ๆ และเมื่อร่างกายนั้นได้รับออกซิเจนน้อยโดยเฉพาะบริเวณรูขุมขน ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบรากผมนั่นเองค่ะ
และทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเส้นผมช้าลง และในส่วนของปัญหาอาการป่วยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคไทรอยด์, โรคตับ, โรคไต, โรคเอสแอลอี, ซิฟิลิส, โรคตับ, โรคไต เป็นต้น โรคเหล่านี้ก็มีส่วนทำให้การเจริญเติบโตของเส้นผมนั้นช้าลง รวมถึงทำให้เกิดปัญหาผมหลุดร่วงง่ายที่มักจะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยด้วยค่ะ แต่ก็อย่าลืมสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยนะคะ หรือไม่ก็ไปพบแพทย์เพื่อทำการปรึกษาจะดีที่สุด
-
การรับประทานยา
ยาบางชนิด ก็ส่งผลกระทบทำให้การเจริญเติบโตของเส้นผมนั้นช้าลงได้เช่นกันค่ะ เพราะอาจจะเกิดจากผลข้างเคียงของยานั่นเอง เช่น ยาเจือจางเลือด ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคหัวใจ ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น การรับประทานยาเหล่านี้นั้นจะส่งผลให้ผมยาวช้า ไม่มีน้ำหนักได้
-
ถูกทำร้ายจากความร้อน และสารเคมี
ผมที่เส้นผมนั้นถูกไดร์เป่าผม ที่หนีบผม ม้วนผม อยู่เป็นประจำ เพื่อจัดแต่งทรงผมให้สวยงามก็อาจจะส่งผลเสียต่อเส้นผมเป็นอย่างมาก และเมื่อเส้นผมนั้นเกิดการอ่อนแอ ก็จะทำให้เส้นผมนั้นเจริญเติบโตได้ช้าลงนั่นเองค่ะ ดังนั้น เวลาที่จะต้องจัดแต่งทรงผมด้วยอุปกรณ์ความร้อนต่าง ๆ แนะนำให้ลงผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมที่จะสามารถช่วยปกป้องเส้นผมจากความร้อนค่ะ นอกจากนี้ สารเคมีต่าง ๆ จากผลิตภัณฑ์ย้อมสีผม ยืด ดัด ก็สามารถส่งผลให้เส้นผมเจริญเติบโตช้าได้เช่นกัน เพราะสารเคมีสามารถเข้าไปทำลายการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระถึงรากผมได้เลยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : รวมทริค! เทคนิคการ ยืดผม แบบไหนที่เหมาะกับคุณ พร้อมวิธีดูแลผมหลังการยืด
-
การรับประทานอาหาร
การรับประทานอาหารบางชนิดก็ส่งผลทำให้ผมยาวช้าได้เช่นกัน เช่นอาหารหวานจัด หรือเค็มจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งอาหารเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม นอกจากจะทำให้ผมยาวช้าแล้วก็ยังทำให้ผมร่วงง่ายอีกด้วย
ดังนั้น ถ้าหากไม่อยากให้เส้นผมยาวช้า แนะนำให้เลือกอาหารที่มีประโยชน์และยังมีวิตามินที่ช่วยบำรุงเส้นผมจะดีที่สุด เช่น ถั่วเหลือง และงาดำ เพราะอาหารสองอย่างนี้จะอุดมไปด้วยประโยชน์ต่าง ๆ ที่ดีต่อร่างกาย ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของเส้นผม นอกจากการบำรุงเส้นผมแล้วก็ยังครอบคลุมไปถึง การบำรุงผิวพรรณ กระดูก และการขับถ่ายอีกด้วยค่ะ
-
การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมร่วงมากกว่าปกติ และทำให้เกิดอนุมูลอิสระมากขึ้นทำให้ผมยาวช้าลง นอกจากนี้ บุหรี่ยังทำให้ระบบไหลเวียนเลือดแย่ลง ทำให้เกิดความดันสูงขึ้น และเส้นเลือดฝอยถูกทำลาย และส่งผลกระทบทำให้ผมร่วง และผมยาวช้าลงได้ค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับ สาเหตุที่ทำให้ผมยาวช้า ที่เรานำมาฝากกันวันนี้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เส้นผมนั้นเจริญเติบโตได้ช้านั้นสามารถเกิดได้หลากหลายปัจจัยมาก ๆ เลยนะคะ ถ้าอยากให้ผมยาวเร็วขึ้น ก็ลองสำรวจสาเหตุที่ทำให้ผมยาวช้ากันก่อนนะคะ เพื่อที่จะได้มีแนวทางในการดูแลสุขภาพเส้นผมให้ยาวเร็วได้อย่างถูกต้อง หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
8 วิธีแก้ผมแตกปลาย ลดปัญหาผมแห้งเสีย ให้เส้นผมกลับมาสวยสุขภาพดี
6 วิธีดีท็อกซ์เส้นผม ล้างสารเคมีในผม เผยผมสวยจากธรรมชาติง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
วิธีดูแลผมหลังยืด เทคนิคและวิธีดูแลเส้นผมให้ตรง สวย อยู่ได้นาน
ที่มา : sevenplusclinic, absolutehairclinic