คลอดธรรมชาติไม่ได้ อาจต้องผ่าคลอด ถ้ามีสัญญาณเหล่านี้

ปัจจัยที่ทำให้แม่ท้องมีความเสี่ยงที่อาจจะต้องผ่าคลอด มีอะไรบ้างนะ

คลอดธรรมชาติไม่ได้ อาจต้องผ่าคลอด ถ้ามีสัญญาณเหล่านี้

แม้ว่าในปัจจุบัน แม่ท้องบางท่าน ก็จะเลือกวิธีผ่าคลอด ด้วยเหตุผลที่ว่า สามารถกำหนดวันคลอดได้ และไม่ต้องใช้เวลาในการคลอดนาน ในขณะที่คุณแม่อีกหลายท่าน ก็อยากคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ เพราะข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันระหว่างคลอดธรรมชาติ และการผ่าคลอด แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการ ก็อาจทำให้แม่ท้อง คลอดธรรมชาติไม่ได้ ต้องใช้วิธีผ่าคลอดแทน เรามาดูกันว่า สัญญาณเตือน ที่บ่งบอกว่าแม่ท้องมีความเสี่ยงที่จะต้องผ่าคลอดนั้นมีอะไรบ้าง

ปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการผ่าคลอด

1. มีโรคประจำตัว

ในกรณีที่แม่ท้องมีโรคประจำตัว และหากคุณหมอเห็นว่า คลอดธรรมชาติไม่ได้ การคลอดธรรมชาติจะทำให้ไม่ปลอดภัย คุณหมอก็อาจจะให้ทำการผ่าตัดคลอด เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งคุณแม่และลูกในท้อง ซึ่งโรคประจำตัวที่อาจทำให้แม่ท้องต้องผ่าคลอดนั้น มีดังนี้

  • โรคหัวใจ หากแม่ท้องเป็นโรคหัวใจ เช่นโรคหัวใจตีบบางชนิด หากคลอดธรรมชาติ เวลาเบ่งคลอดก็อาจจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน ได้แก่ หัวใจทำงานแย่ลง ระบบการหายใจทำงานถี่ เหนื่อยหอบ หายใจไม่ทัน หมดสติ น้ำท่วมปอดหรือหัวใจวาย ซึ่งจะเป็นอันตรายทั้งต่อคุณแม่และทารกได้
  • เบาหวาน แม่ท้องที่เป็นเบาหวานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์ตัวใหณ่ มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ ทำให้คลอดยาก และหากคุณหมอประเมินแล้วว่า ทารกในครรภ์มีน้ำหนักเกิน 4.2 – 4.5 กิโลกรัม ก็ควรจะต้องผ่าตัดคลอด เพราะถ้าคลอดธรรมชาติ ก็อาจจะทำให้ช่องคลอดเกิดการฉีกขาด คลอดไหล่ติด หรือมีภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อตัวคุณแม่และทารกได้
  • มะเร็งปากมดลูก หากแม่ท้องมีอาการของโรคมะเร็งปากมดลูก ก้อนมะเร็งอาจไปขวางช่องทางคลอด หรือทำให้มีเลือดออกรุนแรงจากก้อนมะเร็งได้
  • เนื้องอกในมดลูก การที่แม่ท้องมีเนื้องอกและยังไม่ได้ผ่าตัดออกไป อาจส่งผลให้ทารกไม่กลับหัว หรือทารกอาจจะไปอยู่ในตำแหน่งที่อุดกั้น ปิดขวางช่องทางการคลอด จนไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้

2. มีภาวะครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของแม่และลูกในท้อง จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยภาวะครรภ์เป็นพิษนั้น อาจพบในแม่ท้องที่มีสุขภาพดี โดยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • ตั้งครรภ์ในขณะอายุน้อยกว่า 20 ปี
  • ตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 35 ปี
  • เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก
  • มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
  • ตั้งครรภ์แฝด
  • เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษหรือโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัว

หากมีภาวะครรภ์เป็นพิษ เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูก คุณหมอจะแนะนำให้ผ่าคลอดครับ

3. รกเกาะต่ำ

คุณแม่ที่เคยมีประวัติรกเกาะต่ำมาก่อน เคยผ่าตัดมดลูก หรือเคยผ่าตัดคลอด ก็อาจทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำได้ หากมีการอักเสบบริเวณปากช่องคลอด ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการที่รกมาฝังตัวในตำแหน่งที่ไม่ปกติ เกิดภาวะรกเกาะต่ำได้เช่นกัน ซึ่งคุณหมอก็จะแนะนำให้ทำการผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูกในท้อง

4. กระดูกอุ้งเชิงกรานผิดปกติ

ความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกอุ้งเชิงกราน ที่อาจเกิดจากการที่แม่ท้องเคยได้รับอุบัติเหตุ มีภาวะกระดูกอุ้งเชิงกรานหัก ทำให้กระดูกผิดรูป ส่งผลให้ช่องทางการคลอดเปลี่ยนแปลง หรือแคบลงไปด้วย ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่บ่งบอกว่าแม่ท้องต้องผ่าคลอด เพราะถ้าโครงสร้างกระดูกอุ้งเชิงกรานมีความผิดปกติ ผิดรูป หรือแคบลง การที่ทารกจะคลอดผ่านออกมาจะเป็นไปลำบาก หรือคลอดออกไม่ได้ และบางครั้งทำให้ทารกที่คลอดออกมาได้รับความกระเทือน บอบช้ำ และบาดเจ็บได้

5. ทารกอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะต่อการคลอดธรรมชาติ

ในกรณีลูกไม่เอาหัวลง โดยเฉพาะทารกท่าก้น แต่คุณแม่เจ็บท้องจะคลอดแล้ว ก็จำเป็นต้องผ่าตัดคลอด และกรณีขนาดไม่สมดุล ไม่ว่าจะเป็นแม่ตัวเล็ก ลูกตัวใหญ่เกินไป หรืออุ้งเชิงกรานของแม่ไม่สมดุลกับตัวลูก ก็อาจต้องใช้วิธีผ่าคลอดเช่นกัน

6. เกิดภาวะคลอดเองไม่ได้

หากมีภาวะที่คลอดเองไม่ได้ อย่างเช่น ปากมดลูกเปิดค้างอยู่แค่ 6 เซนติเมตร หัวลูกเริ่มบวม ปากมดลูกไม่เปิดต่อ หรือกราฟหัวใจเด็กลดลง หากมีภาวะเหล่านี้ คุณหมอจะตัดสินใจผ่าตัดคลอด เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูกครับ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ข้อดีข้อเสียของการผ่าคลอดทีคุณอาจยังไม่รู้

วิธีดูแลตัวเองหลังคลอด จะคลอดเองหรือผ่าคลอด ก็ฟื้นตัวเร็วได้

“แอปเปิล” คนท้องควรกินแอปเปิลวันละกี่ลูก

ที่มา : Mamastory

บทความโดย

P.Veerasedtakul