ท้องอยู่แล้วหันไปเจอแมวที่เลี้ยงมานาน จนเกิดความสงสัยว่า คนท้องเลี้ยงแมวได้ไหม ก็เลี้ยงมานานแล้วเราไม่เห็นเป็นอะไร แต่กับทารกในครรภ์นั้นคนละเรื่อง เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อจนมีอาการรุนแรง หากคุณแม่เลี้ยงแมวอยู่ หรือกำลังคิดว่าอยากจะเลี้ยงตอนนี้ เราขอเชิญชวนให้มาอ่านวิธีการปรับตัว เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ทั้งคนทั้งแมวอย่างปลอดภัยจากบทความนี้กัน
คนท้องเลี้ยงแมวได้ไหม
เมื่อเป็นทั้งทาสแมว และเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์ไปด้วย นอกจากเรื่องอาหารการกินแล้ว ก็ยังมีเรื่องแมวนี่แหละที่คุณแม่คงต้องระวังให้ดี เพราะหากไม่รู้วิธีที่จะอยู่ร่วมกับแมวบ้านในช่วงตั้งครรภ์ อาจนำอันตรายมาสู่ทารกในครรภ์ได้โดยไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากขี้แมวอาจมีเชื้อโรคร้ายที่สามารถส่งผ่านรกไปยังลูกน้อยในครรภ์ได้ หากทารกติดเชื้อ อาจทำให้มีอาการรุนแรงที่สุด ถึงขั้นเสียชีวิต และแมวยังถือว่าอันตรายต่อทารกเพิ่งคลอดด้วย ดังนั้นหากแม่ท้องมีแมวเลี้ยง ควรให้ความสำคัญกับสุขอนามัยทั้งของคนในบ้าน, ตัวของคุณแม่ และแมวที่เลี้ยง โดยเฉพาะขี้แมว ที่คุณแม่ไม่ควรเข้าใกล้หากไม่จำเป็น
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลี้ยงหมาตอนท้อง ได้ไหม ถ้าอยากตั้งครรภ์เเบบสุขภาพดีทั้งเเม่ทั้งลูก
วิดีโอจาก : DrNoon Channel
ทำไมแมวจึงอันตรายต่อคนท้อง ?
การเลี้ยงแมวถึงแม้จะดูแลความสะอาดเป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายที่โดยธรรมชาติแล้วแมวจะมีพยาธิกำเนิดโรค ซึ่งจะซ่อนอยู่ในลำไส้ต่างหาก โดยเชื้อตัวนี้มีชื่อว่า “ท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)” หรือ “โรคขี้แมวนั่นเอง” ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายกับแม่ท้องเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าตามชื่อของโรค คือ การส่งต่อเชื้อผ่านขี้แมว หากไม่ได้ทำความสะอาดให้ดีหลังเก็บขี้แมว เชื้อร้ายนี้จะเข้าสู่ร่างกายของคุณแม่ได้ ลำพังคุณแม่อาจไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงอย่างชัดเจน แต่สำหรับทารกนั้นคนละเรื่อง เชื้อนี้จะเข้าถึงทารกผ่านรกได้ จนทำให้เกิดอันตรายรุนแรง
โดยช่วงที่ถือว่ามีผลต่อทารกมากที่สุด คือ ช่วงไตรมาสแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์อ่อนแอมากที่สุด พัฒนาการที่มีไม่มากทำให้ทารกไม่สามารถทนต่อเชื้อท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) หากติดเชื้อจะส่งผลรุนแรงที่สุด คือ ทำให้ทารกน้อยเสียชีวิตในครรภ์ และถึงแม้ทารกจะคลอดออกมาแล้ว ความเสี่ยงก็ยังคงอยู่ เพราะระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรงเหมือนผู้ใหญ่ ในช่วง 6 – 7 เดือน จะส่งผลให้ตาบอด, สติปัญญาบกพร่อง และประสิทธิภาพการเรียนรู้ด้อยลง อย่างไรก็ตามความรุนแรงของอาการก็ยังขึ้นอยู่กับทารกแต่ละคนด้วย
ไม่มีอาการใช่ว่าจะไม่ติดเชื้อ
แม้ว่าจะเป็นเชื้อโรคที่ดูน่ากลัวแต่จากสถิตินั้นพบว่าทารกส่วนมากที่รับเชื้อจากรกไม่ได้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ เลย โดยแบ่งเป็นความเสี่ยง ได้แก่ ทารก 60 % ไม่มีอาการใด ๆ ทารก 30 % พบว่ามีอาการรุนแรง ส่งผลกระทบต่อทารกในหลายด้าน ตัวอย่างเช่น พิการแต่กำเนิด, จอตา และประสาทอักเสบ, สมองบวมน้ำ และมีอารมณ์ผิดปกติไป เป็นต้น ส่วนอีก 10 % ที่เหลือนั้นถือว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด แต่รุนแรงที่สุด คือ ทำให้ทารกเสียชีวิต กรณีที่แม่ท้องมีร่างกายแข็งแรงมาก จะยิ่งทำให้เชื้อทำอันตรายได้ยากขึ้น ในทางกลับกันหากคุณแม่ท้องร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัวก็จะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
แน่นอนว่าคงไม่มีคุณแม่คนไหนอยากจะเสี่ยงแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว และเป็นกังวลใจ เพราะอาจเลี้ยงแมวอยู่แล้ว และรักแมวมากด้วย การเรียนรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมกับแมวที่บ้านได้อย่างปลอดภัย เลี่ยงต่อเชื้อร้าย จึงกลายมาเป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องศึกษาอย่างเลี่ยงไม่ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ 10 โรคอันตราย โรคแทรกซ้อนแม่ท้องต้องระวัง
อย่าทิ้งแมว ยังมีการป้องกันสำหรับคนท้องอยู่
ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ แต่สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงแมวมาตั้งแต่ตั้งครรภ์ก็อย่าเพิ่งร้อนรนใจ เพราะถ้าหากมีกฎเกณฑ์ และมีระเบียบวินัยมากพอในการดูแลตนเอง และปรับลดความคลุกคลีกับแมวไปก่อน ก็สามารถเพิ่มความปลอดภัยได้แล้ว ดังนี้
- ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยทั้งการทานอาหาร ก่อนทาน หรือนำวัตถุดิบไปประกอบอาหารควรทำความสะอาดให้ดี พยายามไม่ให้แมวเข้าใกล้อาหาร และต้องล้างมือทั้งก่อน และหลังการทานอาหารเสมอ
- เลือกทานอาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น เลี่ยงอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบทุกประเภท เพราะอาหารดิบที่เราทานเข้าไป ก็เสี่ยงเชื้อโรคด้วยเช่นกัน
- ในช่วงนี้หากไม่มีความจำเป็น พยายามเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแมว โดยเฉพาะกระบะทรายแมว กรณีที่เลี่ยงไม่ได้ให้สวมถุงมือ และล้างมือทันทีหลังสัมผัส
- หากเคยให้แมวขึ้นมานอนด้วย ควรเลี่ยงไปก่อน ถึงแม้จะไม่เกี่ยวกับเชื้อ แต่ขนแมว อาจกระตุ้นความเสี่ยงที่จะทำให้คุณแม่เกิดอาการภูมิแพ้ได้
- ถึงเวลาบอกลาแมวจรจัด แม้จะรักแมวมาก แต่แม่ท้องควรเลี่ยงการสัมผัสแมวจรจัดไม่ว่าจะในช่วงตั้งครรภ์ หรือหลังคลอดใหม่ ๆ เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคมากกว่าแมวเลี้ยง
- ดูแลแมวเลี้ยงให้ดี ทั้งการพาไปฉีดวัคซีนตามมาตรฐานกำหนด และให้แมวกินอาหารที่ปรุงสุกแล้ว เนื่องจากอาหารดิบเป็นแหล่งที่มาของเชื้อร้ายด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีอีกทางเลือกหนึ่ง คือ การนำแมวไปฝากเลี้ยงกับญาติ หรือบุคคลที่ไว้ใจได้ ไปจนถึงโรงพยาบาลสัตว์ที่รับเลี้ยงหากมีความจำเป็น ก็ถือเป็นทางออกที่น่าสนใจเช่นกัน
ระวังแมวไม่ระวังอาหาร ความเสี่ยงไม่ลดลง !
ถึงแม้ว่าคุณแม่จะดูแลแมวเป็นอย่างดี ระวังเรื่องความสะอาดเป็นอย่างมาก ไม่ได้เข้าใกล้ขี้แมว หรือแมวเลย นำแมวไปฝากเลี้ยง ไปจนถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้เลี้ยงแมว ทั้งหมดที่เรากล่าวมานั้นไม่ได้ทำให้คุณแม่ปลอดภัยมากขึ้นเลย หากคุณแม่ไม่ทานอาหารที่ “ปรุงสุก” ด้วยปัจจุบันมีอาหารดิบหลายแบบที่นิยมนำมาทานกัน ถือเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับคนท้อง เพราะอาหารดิบมักมีเชื้อโรคตามธรรมชาติหลายชนิดติดมาด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเลี้ยงแมวหรือไม่ การทานอาหารที่สุกแล้วเท่านั้นจะเป็นผลดีต่อตัวของคุณแม่ และทารกน้อยในครรภ์ที่สุดแล้ว
ไม่ว่าจะเลี้ยงสัตว์ชนิดไหน สิ่งที่สำคัญ คือ ความสะอาดที่ต้องมีมากพอ ทุกครั้งที่สัมผัสกับสิ่งที่อาจปนเปื้อน การทำความสะอาดโดยเร็วที่สุดเป็นการป้องกันตัวที่ดี คุณแม่ต้องคิดเสมอว่าบางเชื้ออาจไม่ได้ทำให้คุณแม่เป็นอะไรเลย ไม่มีอาการใด ๆ ต่อคุณแม่ แต่ทารกในครรภ์ที่ยังไม่แข็งแรงนั้นอาจได้รับผลกระทบได้หากไม่ระวังในเรื่องนี้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินสลัดบ่อย ๆ ได้ไหม ใครว่าท้องแล้วกินสลัดจะดีเสมอไป ?
ห้ามเลย! 7 เรื่อง อันตรายต่อทารกในครรภ์ แม่ทำแบบนี้ไม่ดีแน่
คนท้องออกกำลังกายได้ไหม ? ควรทำหรือไม่ในขณะตั้งครรภ์
ที่มา : samitivejhospitals, ramamahidol